2022
ค้นพบพระเยซูคริสต์ในพันธสัญญาเดิม
มกราคม 2022


ค้นพบ พระเยซูคริสต์ ในพันธสัญญาเดิม

ความจริงห้าประการนี้จะช่วยให้เรารู้จักพระผู้ช่วยให้รอดในการศึกษาพระคัมภีร์ของเราในปีนี้

ภาพ
fine art painting of Jesus Christ

วันหนึ่งพระเยซูคริสต์ทรงพบสานุศิษย์สองคนของพระองค์บนถนนระหว่างกรุงเยรูซาเล็มกับเอมมาอูส ขณะเดินไป พระองค์ทรงสอนพวกเขาเกี่ยวกับบทบาทของพระองค์ตามที่อธิบายไว้ในพระคัมภีร์ซึ่งปัจจุบันเราเรียกว่าพันธสัญญาเดิม

“แล้วพระองค์ทรงอธิบายพระคัมภีร์ที่เล็งถึงพระองค์ทุกข้อให้เขาฟัง เริ่มต้นตั้งแต่โมเสสและบรรดาผู้เผยพระวจนะทั้งหมด” (ลูกา 24:27) การเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระพันธกิจของพระองค์เป็นประสบการณ์ทางวิญญาณที่ลึกซึ้งสำหรับเหล่าสานุศิษย์ และพวกเขาอ้อนวอนขอให้พระองค์ทรงอยู่นานขึ้น (ดู ลูกา 24:28–32)

เรามีโอกาสรู้จักพระผู้ช่วยให้รอดของเราในวิธีที่มีความหมายมากขึ้นเมื่อเราค้นคว้าพันธสัญญาเดิมในปีนี้เช่นเดียวกับผู้ติดตามของพระคริสต์ในยุคแรกๆ บันทึกนี้ประกอบกับหนังสือของโมเสสและอับราฮัมในไข่มุกอันล้ำค่าทำให้เราเข้าใจอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นว่าพระองค์ทรงเป็นใคร—พระลักษณะ พระพันธกิจ และสัมพันธภาพของพระองค์กับพระบิดาและกับเราแต่ละคน เราต้องการความเข้าใจนี้เพื่อรับของประทานแห่งชีวิตนิรันดร์ (ดู ยอห์น 17:3)

ด้านล่างคือความจริงห้าประการที่จะช่วยให้เรารู้และเข้าใจพระเยซูคริสต์มากขึ้นตลอดหนังสือโบราณและศักดิ์สิทธิ์เล่มนี้

ความจริงข้อที่ 1: พระเยซูคริสต์คือพระเยโฮวาห์

ในพันธสัญญาใหม่ เราอ่านเกี่ยวกับช่วงเวลาที่พระเยซูคริสต์ทรงระบุว่าพระองค์ทรงเป็นพระเยโฮวาห์ ประชาชนโกรธเคืองและพยายามเอาหินขว้างพระองค์ด้วยข้อหาลบหลู่ (ดู ยอห์น 8:59) พวกเขาไม่ได้ตระหนักถึงความจริงอันล้ำค่าที่หลายคนยังคงเข้าใจผิดอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือพระเยซูคริสต์คือพระเยโฮวาห์ พระผู้เป็นเจ้าแห่งพันธสัญญาเดิม1

บางทีเหตุผลส่วนหนึ่งที่พระอัตลักษณ์ของพระผู้ช่วยให้รอดในพันธสัญญาเดิมมักถูกเข้าใจผิดก็เพราะไม่มีการใช้ชื่อ “พระเยซูคริสต์” ในหนังสือ ในทางกลับกัน ผู้เขียนจะใช้ชื่อหลายชื่อเพื่ออ้างถึงพระองค์ เช่น “พระผู้เป็นเจ้า” “เราเป็น” หรือ “พระเจ้า”2 เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้ว เราจะเริ่มเห็นพระเยซูคริสต์ชัดเจนยิ่งขึ้นทั่วทั้งพระคัมภีร์ ตัวอย่างเช่น

  • เมื่อโมเสสพูดกับ “พระผู้เป็นเจ้า” ในพุ่มไม้ที่ลุกเป็นไฟ เขากำลังพูดกับพระเยซูคริสต์ (ดู อพยพ 3:6)3

  • ในทำนองเดียวกัน พระเยซูคริสต์ตรัสถึงพระองค์เองว่า “เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่” ต่อโจเซฟ สมิธ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:1)

  • ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาได้รับเรียกให้เตรียมทางของ “พระผู้เป็นเจ้า” (มัทธิว 3:3) นี่คือสัมฤทธิผลของ อิสยาห์ 40:3 ซึ่งพยากรณ์ถึงพระเยซูคริสต์

  • ดูแผนภูมิหน้า 17 สำหรับตัวอย่างอื่นๆ ของพระเยโฮวาห์ตลอดพระคัมภีร์

ความจริงข้อที่ 2: สิ่งของและเหตุการณ์สามารถสอนเราเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดของเรา

ภาพ
an angel appearing to Adam and Eve as they prepare a burnt offering

อาดัมและเอวาได้รับคำสั่งให้พลีบูชาสัตว์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการ การพลีบูชาดังกล่าวเตือนเราว่าพระเยซูคริสต์ พระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า ทรงยอมให้พระองค์ถูกสังหารโดยเป็นส่วนหนึ่งของการชดใช้ของพระองค์

อาดัมกับเอวาถวายเครื่องพลีบูชา โดย คีธ ลาร์สัน

พันธสัญญาเดิมเต็มไปด้วยสัญลักษณ์และเรื่องราวที่สามารถเตือนใจเราถึงความช่วยเหลือที่พระผู้ช่วยให้รอดประทาน ตัวอย่างเช่น

  • ข้อพระคัมภีร์จำนวนมากอธิบายถึงช่วงเวลาที่คนซื่อสัตย์ได้รับบัญชาให้พลีบูชา สัตว์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการนมัสการของพวกเขา ตัวอย่างเช่น ลูกหลานของอิสราเอลได้รับคำสั่งให้ถวายลูกแกะตัวหนึ่งและทำเครื่องหมายที่ประตูด้วยเลือดของแกะตัวนั้น ผู้ที่ทำเช่นนี้ได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัยจากโรคระบาดร้ายแรงในอียิปต์ การเสียสละดังกล่าวเตือนเราว่าพระเยซูคริสต์ พระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า ยอมให้พระองค์ถูกสังหารโดยเป็นส่วนหนึ่งของการชดใช้ของพระองค์ การเสียสละของพระองค์ช่วยเราให้รอดจากความตายทางร่างกายและทางวิญญาณ (ดู อพยพ 12:13)

  • เมื่อศาสดาพยากรณ์เอลียาห์ต้องหนีเอาชีวิตรอดและซ่อนตัวอยู่ในทะเลทราย เขารู้สึกโศกเศร้าและกล่าวว่าเขาปรารถนาที่จะตาย ขณะที่เขาหลับ อาหารและน้ำ ปรากฏขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยงและให้ความสดชื่นแก่เขา ทำให้เขามีกำลังที่จะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างน่าอัศจรรย์ สิ่งนี้สามารถเตือนเราว่าพระเยซูคริสต์คือน้ำดำรงชีวิตและอาหารแห่งชีวิต พระองค์ทรงเป็นแหล่งความหวังสูงสุดของเรา (ดู 1 พงศ์กษัตริย์ 19:1–8)4

  • “พระวจนะของพระองค์เป็น ตะเกียง แก่เท้าของข้าพระองค์,” ผู้เขียนหนังสือสดุดีคนหนึ่งเขียนไว้ (สดุดี 119:105; เน้นตัวเอน) มีคาห์เป็นพยานว่า “เมื่อข้านั่งอยู่ในความมืด พระยาห์เวห์จะทรงเป็น ความสว่าง แก่ข้า” (มีคาห์ 7:8; เน้นตัวเอน) ถ้อยคำของพวกเขาย้ำเตือนเราว่าพระเยซูคริสต์คือแสงสว่างของโลกซึ่งนำทางเรากลับสู่บ้านบนสวรรค์ของเรา

ขณะที่ท่านอ่าน ท่านอาจค้นพบสิ่งอื่นๆ ที่ทำให้ท่านนึกถึงพระเยซูคริสต์และความสามารถของพระองค์ที่จะช่วยให้เรารอด—เช่น เมื่อครอบครัวของโนอาห์ได้รับความรอดจากน้ำท่วมในเรือ หรือเมื่อโยนาห์ได้รับเวลาให้กลับใจขณะอยู่ในปลาวาฬ เหตุการณ์เหล่านี้สามารถเตือนใจเราว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถอุ้มเราผ่านพายุแห่งชีวิตและพระองค์จะประทานโอกาสให้เรากลับไปยังเส้นทางที่ถูกต้องเสมอ (ดู ปฐมกาล 7:1; โยนาห์ 1:17)

ความจริงข้อที่ 3: พระเยโฮวาห์คือพระผู้เป็นเจ้าส่วนบุคคล

บางครั้งอาจดูเหมือนว่าพระผู้เป็นเจ้าแห่งพันธสัญญาเดิมทรงพระพิโรธและผูกพยาบาท เราควรระลึกไว้เสมอว่าผู้เขียนต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้เป็นผู้มีวัฒนธรรมโบราณซึ่งมีขนบธรรมเนียมและคำอธิบายที่เราในปัจจุบันอาจทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ได้ยาก คู่มือศึกษา จงตามเรามา การสนทนากลุ่ม และการได้รับความสว่างจากพระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถช่วยให้เราทำความเข้าใจสิ่งที่เราอ่านในพันธสัญญาเดิมกับสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จากพระคัมภีร์เล่มอื่นได้

และต่อไปนี้คือพระคุณลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของพระเยโฮวาห์ซึ่งนักเรียนที่เรียนเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดมีความคุ้นเคยนั่นคือ พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้า ส่วนบุคคล การแทรกแซงของพระองค์ทั้งในวิธีที่สง่างามและเล็กน้อยแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงพร้อมที่จะปลดปล่อยผู้ที่วางใจในพระองค์เสมอ ต่อไปนี้คือตัวอย่างบางส่วนของการปฏิบัติศาสนกิจในพันธสัญญาเดิมของพระองค์

  • หลังจากอาดัมและเอวาล่วงละเมิด พระเจ้าทรงสวมหรือคลุมทั้งสองด้วยเสื้อหนังสัตว์ (ดู ปฐมกาล 3:21) คำภาษาฮีบรูสำหรับการชดใช้หมายถึง “คลุม” หรือ “ให้อภัย”

  • พระองค์ทรงเชิญเอโนคให้เดินไปกับพระองค์ (ดู โมเสส 6:34) และทรงยกผู้คนแห่งไซอัน (ดู โมเสส 7:69)

  • พระองค์ทรงเตรียมโยเซฟเพื่อปลดปล่อยครอบครัวของเขาและคนอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนจากความอดอยาก (ดู ปฐมกาล 37–46)

  • พระองค์ทรงนำลูกหลานแห่งอิสราเอลผ่านแดนทุรกันดาร (ดู อพยพ 13:21–22)

  • พระองค์เสด็จเยี่ยมอาโรนและมิเรียมเพื่อเสริมสร้างศรัทธาของพวกเขาในศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต (ดู กันดารวิถี 12:5)

  • พระองค์ทรงนำทางนางรูธและทรงปกปักรักษาบรรพชนของพระองค์ผ่านเชื้อสายของนาง (ดู นางรูธ 3:10–11; 4:14–17)

  • พระองค์ทรงเรียกซามูเอลผู้เป็นเด็กชายด้วยชื่อ (ดู 1 ซามูเอล 3:3–10)

  • พระองค์ทรงมอบอำนาจให้เอสเธอร์ช่วยชีวิตผู้คนของเธออย่างกล้าหาญ (ดู เอสเธอร์ 2:17; 8:4–11)

ความจริงข้อที่ 4: พระเยซูคริสต์ทรงช่วยเราสู้รบ

บางครั้งชีวิตประจำวันก็เหมือนการสู้รบ จริงๆ แล้วเราอยู่ท่ามกลางการสู้รบทางวิญญาณระหว่างความดีกับความชั่ว ไม่ต่างจากสงครามที่อธิบายไว้ในพันธสัญญาเดิม เราร้องทูลร่วมกับทหารในสมัยโบราณว่า “พระเยโฮวาห์โปรดทรงนำเรา”5 เราได้ยินพระดำรัสตอบให้ความมั่นใจของพระองค์ในพระคัมภีร์เหล่านี้ ได้แก่

  • “เราจะไม่ละเลยหรือทอดทิ้งเจ้า” (โยชูวา 1:5)

  • “อย่ากลัว และอย่าท้อแท้เพราะคนมากมายเหล่านี้เลย เพราะการรบนั้นไม่ใช่เรื่องของท่าน แต่เป็นของพระเจ้า” (2 พงศาวดาร 20:15)

  • “เราจะเสริมกำลังเจ้า; … เราจะชูเจ้า” (อิสยาห์ 41:10)

  • “เราอยู่กับเจ้า เพื่อช่วยกู้เจ้า” (เยเรมีย์ 1:8)

ความจริงข้อที่ 5: คำสัญญาของพระเจ้าจะดำเนินต่อไป

เราเชื่อมโยงกับคนที่ซื่อสัตย์ในพันธสัญญาเดิมมากกว่าที่เราคิด ผู้หยั่งรู้ในสมัยโบราณตั้งตาคอยและเขียนเกี่ยวกับพระชนม์ชีพมรรตัยของพระเยซูคริสต์ ตัวอย่างเช่น อิสยาห์บรรยายถึงพระเจ้าด้วยถ้อยคำที่มีพลังมากจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเพลงที่เรามักจะร่วมร้องกันในวันอีสเตอร์และวันคริสต์มาส (ดู อิสยาห์ 7; 9; 40; และ 53)6

เราตั้งตารอการเสด็จมาของพระคริสต์เช่นเดียวกับศาสดาพยากรณ์เหล่านั้น—คราวนี้รอการเสด็จกลับมาครองราชย์เป็นการส่วนพระองค์บนแผ่นดินโลก7 และเมื่อเราเตรียมโลกให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ เราจะดึงความเข้มแข็งจากความจริงและคำสัญญาที่บันทึกไว้ครั้งแรกในพันธสัญญาเดิม เช่น

  • ปิตุพรซึ่งรวมถึงการประกาศเชื้อสายแห่งอิสราเอลที่เราอยู่ พันธสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้กับอับราฮัมเมื่อหลายพันปีก่อนประยุกต์ใช้กับเราในฐานะสมาชิกของศาสนจักรแห่งพันธสัญญาในปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะอยู่ในเผ่าใด (ดู ปฐมกาล 13:14–17; อับราฮัม 2:9–11)

  • พระบัญญัติให้รักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพระเจ้าตรัสว่าจะเป็น “หมายสำคัญระหว่างเรากับพวกเจ้าตลอดชั่วชาติพันธุ์ของพวกเจ้า เพื่อจะรู้ว่าเราคือพระเจ้า ผู้ชำระเจ้าทั้งหลายให้บริสุทธิ์” (อพยพ 31:13)

  • การชำระล้าง การเจิม และวัตถาภรณ์อันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการในพระวิหารทุกวันนี้ มอบให้อาโรนและลูกหลานของเขาเป็นครั้งแรก (ดู เลวีนิติ 8)

ลองนึกถึงจำนวนชายหญิงที่ชอบธรรมซึ่งเสียสละเพื่อนำเรามาถึงจุดนี้ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เราต่อยอดจากความพยายามอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาและมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโลกที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงนำเหมือนกัน ดังที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “หลังจากราว 4,000 ปีของการรอคอยและเตรียมพร้อม นี่คือวันเวลาที่กำหนดไว้เมื่อพระกิตติคุณจะออกไปสู่บรรดาตระกูลบนแผ่นดินโลก นี่คือช่วงเวลาของการรวมอิสราเอลตามที่สัญญาไว้ และเราได้มีส่วนร่วม!”8

ปีอันยิ่งใหญ่แห่งการศึกษา

ภาพ
Christ in red robe

พระคริสต์ทรงฉลองพระองค์สีแดง โดย มิเนอร์วา ไทเชิร์ท เอื้อเฟื้อโดยพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสนจักร

เรามีเรื่องราวการเริ่มต้นของมนุษยชาติอยู่ในมือ—เรื่องราว ของเรา ในฐานะชาวคริสต์แห่งพันธสัญญา เรารู้ว่าการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่นี้จะจบลงอย่างไรเนื่องจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ซาตานจะถูกทำลาย และผู้ชอบธรรมจะได้รับชัยชนะ แต่เรื่องราวส่วนตัวของเราจะเปิดเผยออกมาอย่างไร?

เราจะเลือกเดินไปกับพระเยซูคริสต์ในปีนี้หรือไม่? เราจะวิงวอนให้พระองค์ทรงอยู่กับเราโดยตั้งใจฟังสิ่งที่พระองค์ทรงสอนหรือไม่?

พระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดผู้เปี่ยมด้วยความรักและเป็นส่วนตัวซึ่งเราได้ยินสุรเสียงของพระองค์ในหลักคำสอนและพันธสัญญา พระชนม์ชีพของพระองค์ได้รับการบันทึกไว้ในพันธสัญญาใหม่ และพระดำรัสสอนของพระองค์สอนไว้อย่างชัดเจนในพระคัมภีร์มอรมอน ด้วยการฝึกฝนเพียงเล็กน้อย เราจะสามารถพบการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์เกิดขึ้นทั่วทุกหน้าของพันธสัญญาเดิมเช่นกัน พระองค์ทรงเป็นศูนย์กลางของอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของมนุษยชาติ พระองค์ทรงอยู่เคียงข้างเราเสมอมา—และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป

อ้างอิง

  1. ดูย่อหน้าที่สองของ “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก,” ChurchofJesusChrist.org.

  2. ในการแปลภาษาอังกฤษ การกล่าวพระนามพระเยซูคริสต์มักเขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ เช่น LORD (พระยาห์เวห์) 1 ซามูเอล 1:15 ยกตัวอย่างคำสองคำ ได้แก่ “lord (เจ้านาย)” หมายถึงบุคคล และ “LORD (พระยาห์เวห์)” หมายถึงพระเยซูคริสต์ ดู James E. Talmage, Jesus the Christ (1916), 36 ด้วย.

  3. ในฉบับต่างๆ ของพระคัมภีร์ไบเบิลที่จัดพิมพ์โดยศาสนจักร เชิงอรรถสามารถช่วยชี้แจงได้เมื่อพระคัมภีร์กล่าวถึงพระผู้ช่วยให้รอด ตัวอย่างเช่น ดู อพยพ 3:6, เชิงอรรถ a.

  4. สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัญลักษณ์ของเรื่องนี้ ดู Marissa Widdison, “The Bread and Water of Hope,” Ensign, Sept. 2019, 56.

  5. “พระเยโฮวาห์โปรดทรงนำเรา,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 35.

  6. บางข้อจากอิสยาห์ใช้เป็นคำร้องในเพลง โอราโตริโอ พระเมสสิยาห์ ของฮันเดล.

  7. ดู หลักแห่งความเชื่อ 1:10.

  8. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “พันธสัญญา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 112.