2021
พันธสัญญาสามารถเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเราได้
ตุลาคม 2021


คนหนุ่มสาว

พันธสัญญา สามารถเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเราได้

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

พันธสัญญาสามารถให้พลังแก่เราเพื่อรักตนเอง รับใช้ผู้อื่น และกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดของเรา

ภาพ
Boston Massachusetts Temple

ภาพถ่ายพระวิหารบอสตัน แมสซาชูเซตส์ โดย คริสตินา สมิธ

เมื่อฉันยังเด็ก ฉันภูมิใจที่สามารถนิยามคำที่ซับซ้อนอย่าง พันธสัญญา เมื่อใดก็ตามที่มีการหยิบยกหัวข้อนี้ขึ้นมาในศาสนจักร ฉันจะเปล่งเสียงออกมาอย่างภาคภูมิใจว่า “พันธสัญญาเป็นสัญญาระหว่างฉันกับพระผู้เป็นเจ้า!”

ขณะที่ฉันเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ฉันทำพันธสัญญาผ่านบัพติศมาและในพระวิหาร และคำนิยามของฉันส่วนมากยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ฉันเห็นพันธสัญญาเป็นกฎชุดหนึ่งให้ฉันปฏิบัติตาม จากนั้นพระผู้เป็นเจ้าจะทรงรักษาส่วนที่เป็นข้อตกลงของพระองค์ด้วยการประทานพรที่ทรงสัญญาไว้

สำหรับฉัน พันธสัญญาเป็นเหมือนสิ่งที่ต้องขีดฆ่าในรายการสิ่งที่ต้องทำในชีวิต ฉันเห็นว่าวิธีฝึกฝนพระกิตติคุณวิธีอื่นๆ อย่างการสวดอ้อนวอนและการอดอาหาร คือการพัฒนา ความสัมพันธ์ กับพระบิดาบนสวรรค์ แต่พันธสัญญาดูเหมือนจะเกี่ยวกับ กฎ ของพระบิดาบนสวรรค์

สรุปแล้วคำนิยามในวัยเด็กของฉันคือจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ยังต้องการความหมายเพิ่มเติมหากพันธสัญญาจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของฉันในแนวทางที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์

การเติมเต็มส่วนที่หายไป

ถ้อยคำเหล่านี้จากเอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยู. กองแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเป็นจุดเริ่มต้นที่มีประโยชน์ในการพัฒนานิยาม พันธสัญญา ของฉัน:

“เราเป็นพวกเดียวกับพระผู้เป็นเจ้าและเป็นพวกเดียวกันตามพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ การเป็นคนในพันธสัญญาคือปาฏิหาริย์ …

“… ไม่หมดหวังในตัวเรา ในกันและกัน หรือในพระผู้เป็นเจ้า”1

นับตั้งแต่ฉันค้นพบคำกล่าวนั้น ฉันจึงรู้ว่าพันธสัญญามีผลต่อชีวิตเราในแต่ละวัน เมื่อเราดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาที่เราทำไว้อย่างแท้จริง เราจะไม่ยอมแพ้ต่อตัวเราเอง ผู้คนรอบข้าง หรือต่อพระผู้เป็นเจ้า พันธสัญญาของเราช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของความสัมพันธ์ของเราและให้พลังที่เราต้องการเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์เหล่านั้น

พันธสัญญาเป็นมากกว่ากฎที่ต้องทำตาม เพราะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น!2

เรามาดูความสัมพันธ์สามข้อที่สำคัญในชีวิตเราและวิธีที่พันธสัญญาของเราสามารถเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เหล่านั้น ซึ่งได้แก่ ความสัมพันธ์กับตัวเราเอง กับผู้อื่น กับพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดของเรา

ตระหนักในอัตลักษณ์นิรันดร์ของเรา

ทุกคนต่างก็ต้องการความรู้สึกมีตัวตน สมัยฉันยังเรียนอยู่โรงเรียนมัธยมปลาย ฉันค้นพบอัตลักษณ์ส่วนใหญ่ของฉันจากความรักในการเต้น ขณะที่ฉันเรียนเต้นและแสดงอย่างต่อเนื่อง “นักเต้น” จึงเป็นแกนหลักของตัวตนของฉัน

แต่หลังจากจบโรงเรียนมัธยมปลาย ชีวิตก็พาฉันไปยังเส้นทางที่ห่างไกลจากการเต้น ปราศจากการเต้น ฉันก็ขาดแรงกระตุ้นในแต่ละวัน และฉันถวิลหาความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอีกครั้ง ฉันประสบปัญหากับความรู้สึกหมดกำลังใจไปหลายสัปดาห์ ขณะที่ฉันพยายามค้นหาอีกครั้งว่าฉันเป็นใครและว่าฉันเป็นส่วนหนึ่งของที่ใด ประสบการณ์ที่ยากลำบากครั้งนี้สอนฉันว่าขณะที่อัตลักษณ์บางอย่างคงอยู่ชั่วคราว แต่อัตลักษณ์อื่นๆ ก็สามารถเติมชีวิตของเราให้สมบูรณ์ได้ตลอดกาล

เอ็ลเดอร์กองสอนว่า:

“ด้วยความรักที่ไม่มีขอบเขต [พระผู้เป็นเจ้า] ทรงเชื้อเชิญให้เรามาเชื่อและเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญา

“…ปฏิทรรศน์โบราณยังคงเป็นความจริง ในการทิ้งตัวตนทางโลกมาเป็นคนในพันธสัญญา เราค้นพบและกลายเป็นตัวตนนิรันดร์ในแบบที่ดีที่สุด—อิสระ มีชีวิต เป็นอยู่จริง”3

การเป็นสมาชิกของกลุ่มเต้นเป็นประสบการณ์ที่มีความหมายและได้ความรู้ แต่การมุ่งเน้นมากเกินไปกับการตีตราฉันในฐานะนักเต้นก็ทำให้ฉันเขวจากอัตลักษณ์นิรันดร์ของฉัน

สิ่งที่ช่วยให้ฉันกลับมามุ่งเน้นอัตลักษณ์นิรันดร์ของฉันเตือนตัวฉันเองถึงพันธสัญญาบัพติศมาของฉัน เมื่อฉันตัดสินใจสร้างอัตลักษณ์ของฉันให้เกี่ยวกับการเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์เป็นอันดับแรก ฉันค้นพบความเป็นส่วนหนึ่งที่ฉันหมายปอง

ฉันยังตระหนักด้วยว่าการทำและรักษาพันธสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์กับพระผู้เป็นเจ้าช่วยให้เรายังคงมุ่งเน้นไปที่พระคริสต์ ซึ่งจะช่วยให้เราเป็นเลิศในทุกด้านของชีวิต ฉันเชื่อว่าพระคริสต์ใส่ใจต่อความรักการเต้นของฉันและช่วยให้ฉันประสบความสำเร็จในการเต้น ฉันแค่ต้องเรียนรู้ที่จะไม่ปล่อยให้การเต้นเป็นพื้นฐานอัตลักษณ์ของฉัน

หนทางของมรรตัยครั้งนี้จะแตกต่างกันไปสำหรับทุกคน แต่การรักษาพันธสัญญาและการดำรงอยู่บนเส้นทางพันธสัญญาสามารถทำให้เราทุกคนได้รับพลังที่ต้องการเพื่อเปลี่ยนเป็นตัวเองในรูปแบบที่ดีที่สุด4

ทำให้ความรักของเราต่อผู้อื่นมีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ภาพ
two women hugging

ความสัมพันธ์ที่เปี่ยมด้วยความรักคือส่วนหนึ่งที่เติมเต็มชีวิตได้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็ยากที่จะสร้างและรักษาไว้ เราจะเข้าใจดีขึ้นถึงวิธีรักผู้คนรอบข้างผ่านพันธสัญญาของเรา เอ็ลเดอร์กองกล่าวว่า “ในการเปิดเผยเกี่ยวกับตัวตนที่แท้จริงและสูงส่งของเราผ่านพันธสัญญาของเรากับพระผู้เป็นเจ้า เราเรียนรู้ว่าต้องยอมรับและรักพี่น้องชายหญิงของเราดังที่พระองค์ทรงรัก”5

พันธสัญญาสามารถเปลี่ยนแปลงมุมมองของความสัมพันธ์ทางโลกของเรา ตัวอย่างเช่น หลังจากเพื่อนคนหนึ่งของฉันรับบัพติศมาเมื่ออยู่ในวัยสี่สิบ เธอบอกว่าเธอมีความเข้าใจที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับบทบาทของเธอในฐานะแม่ การรู้ว่าพระบิดาบนสวรรค์จะแนะนำเธอผ่านของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยให้เธอมั่นใจว่าเธอสามารถช่วยให้ลูกๆ ของเธอเอาชนะความท้าทายของตนเองได้

การเป็นผู้รักษาพันธสัญญาสามารถเป็นพรแก่ความสัมพันธ์ทางโลกของเราได้หลายวิธี รวมถึงวิธีต่อไปนี้:

  • เมื่อเราระลึกถึงธรรมชาตินิรันดร์ของพันธสัญญา เราจะพบความหวัง ความเข้มแข็ง และความอดทนที่เพิ่มขึ้นในความสัมพันธ์ที่ยากลำบาก

  • เมื่อเราทำตามพันธสัญญาได้ดีขึ้น เราจะสามารถพัฒนาระดับความไว้วางใจกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้6

  • “โศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้า” (โมไซยาห์ 18:9) สามารถช่วยให้เราเกิดความรู้สึกใกล้ชิดและความรัก

  • เมื่อเราตระหนักว่าเราทุกคนล้วนเป็นบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ ใจเราสามารถได้รับการเติมเต็มด้วยความรักแม้แต่กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–11)

ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางประการ แต่ฉันสำนึกคุณเพราะในขณะที่เรารักษาพันธสัญญาของเรา พระบิดาบนสวรรค์สามารถประทานพลังแก่เราเพื่อพัฒนาคุณลักษณะและมุมมองที่จำเป็นต่อความสัมพันธ์ที่ประสบความสำเร็จ

เสริมสร้างความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้าและพระเยซูคริสต์

แม้จะเป็นความจริงที่ว่ามีการนำถ้อยคำที่เหมือนกันไปใช้เมื่อแต่ละบุคคลทำพันธสัญญาบางประการ (เช่น บัพติศมาและเอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร) แต่ก็มีคำสองคำที่กล่าวออกมาเมื่อฉันทำพันธสัญญาเหล่านี้ซึ่งทำให้พันธสัญญามีความพิเศษเฉพาะตัว นั่นคือ เอมิลี อาเบล สองคำนี้ทำให้พันธสัญญาที่เป็นสากลกลายเป็นคำเชิญส่วนตัวเพื่อให้พระคริสต์ทรงอยู่ในชีวิตของฉัน เนื่องจากพันธสัญญาเหล่านั้น บัดนี้ฉันจึงผูกพันกับพระคริสต์ผ่านการ “ผสานด้วยรัก”7 และบัดนี้พระองค์ทรงผูกพันกับฉันแล้ว และเป็นจริงเช่นเดียวกันสำหรับทุกคนที่ทำพันธสัญญา

ดร. เอลลี่ แอล. ยังก์ รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาคลินิกและการศึกษาพิเศษแห่งมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์กล่าวว่า: “การผูกพันกับพระคริสต์หมายความว่าเรารู้จักพระองค์ เรารู้สึกถึงความรักอันปลอบโยนของพระองค์ เรารู้สึกถึงพระหัตถ์แห่งการนำทางในชีวิตของเรา”8

อย่างน้อยพันธสัญญาของเราก็มีส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ที่จะรักพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดของเรา และรู้จักสุรเสียงของทั้งสองพระองค์ (ดู แอลมา 5:60) การมองพันธสัญญาของเราเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ส่วนตัวและความสัมพันธ์ที่กำลังพัฒนากับทั้งสองพระองค์ ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการหวนคืนสู่เส้นทางพันธสัญญาที่เราเคยออกนอกเส้นทาง เมื่อเราเดินทางผิดขณะพยายามเดินทางไปตามเส้นทางพันธสัญญา พระองค์ทรงเรียกเราและเชื้อเชิญให้เรากลับไป พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ต่างก็ทรงยินดีที่จะยกโทษให้เสมอเมื่อเราต้องการใกล้ชิดกับพระองค์อย่างจริงใจ

บัดนี้ฉันรู้แล้วว่าการให้เกียรติพันธสัญญาของฉันหมายถึงการมี ความสัมพันธ์ อันแน่นแฟ้นกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ แม้หลังจากที่เรากระทำความผิดบาปอันร้ายแรง พันธสัญญาของเราก็ไม่เป็นโมฆะไปชั่วนิรันดร์หากเรากลับใจ พระบิดาในสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดของเราทรงเชิญให้เรามาเริ่มแก้ไข ดังที่เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “เป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะจมดิ่งลงไปลึกกว่าความสว่างอันไม่มีขอบเขตจากการชดใช้ของพระคริสต์จะส่องถึง”9

ในโลกที่มีการแข่งขันสูงเหลือเกิน ฉันสำนึกคุณต่อพันธสัญญาที่ช่วยให้ฉันระลึกถึงคุณค่าอันไม่มีที่สิ้นสุดของฉัน ในโลกที่เต็มไปด้วยความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ฉันสำนึกคุณที่พันธสัญญาสามารถนำทางปฏิสัมพันธ์ของฉันกับผู้อื่น และในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ฉันสำนึกคุณต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอด ผู้ทรงนำทางฉันให้กลับบ้านอย่างปลอดภัย

อ้างอิง

  1. เกอร์ริท ดับเบิลยู. กอง, “ปาฏิหาริย์ของการเป็นคนในพันธสัญญา,” เลียโฮนา, ก.พ. 2019, 28–29.

  2. ดู เจราลด์ คอสเซ, “เกี่ยวกับคนล้วนๆ” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 111.

  3. เกอร์ริท ดับเบิลยู. กอง, “การเป็นคนในพันธสัญญา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 80.

  4. ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ท่านสำคัญต่อพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 23.

  5. เกอร์ริท ดับเบิลยู. กอง, “ปาฏิหาริย์ของการเป็นคนในพันธสัญญา,” 28.

  6. ดู โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์, “รักษาสัญญาและพันธสัญญาของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 53–56.

  7. “รักของพระผู้ช่วย” เพลงสวด บทเพลงที่ 47.

  8. Ellie L. Young, “The Transformative Power of Covenants” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 11 มิถุนายน 2019), 2, speeches.byu.edu.

  9. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “คนงานในสวนองุ่น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 33.