2021
มุ่งมั่นที่จะเป็น—แบบแผนสำหรับการเติบโตรวมถึงสุขภาพจิตและอารมณ์ทีดี
สิงหาคม 2021


มุ่งมั่นที่จะเป็น—แบบแผนสำหรับการเติบโตรวมถึงสุขภาพจิตและอารมณ์ที่ดี

แบบแผนการเติบโตที่ระบุไว้ในโปรแกรมเด็กและเยาวชนสามารถช่วยเราทุกคนขณะที่เราพยายามเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

ภาพ
woman hanging from rope over pink bar graph

ภาพถ่ายจาก Getty Images

การเติบโตที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อเรามุ่งมั่นที่จะเติบโตในหลายๆ ด้าน เราเรียนรู้ว่า “พระเยซูเจริญขึ้นในด้านสติปัญญาและด้านร่างกาย เป็นที่ชอบต่อพระพักตร์พระเจ้าและต่อหน้าคนทั้งหลายด้วย” (ลูกา 2:52) เรารู้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับช่วงเวลานี้ของพระชนม์ชีพพระอาจารย์ แต่จากข้อนี้เราเรียนรู้ว่าพระองค์ทรง “เพิ่มพูน” —พระองค์ทรงเจริญวัย—ทางสติปัญญา ร่างกาย วิญญาณ และสังคม ผลการศึกษาจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าการพยายามทำให้ชีวิตของเราเติบโตในหลากหลายด้าน จะช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตและอารมณ์ที่ดี1

การเติบโตและศักยภาพนิรันดร์เป็นแก่นของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ ศักยภาพของเราที่จะเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์เป็นศูนย์กลางของพระกิตติคุณและช่วยให้เรารู้สึกถึงความรัก ความหวัง และความกตัญญู 2

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า “การพิพากษาครั้งสุดท้ายไม่เพียงเป็นการประเมินความดีชั่วทั้งหมด—สิ่งที่เรา ทำ แต่เป็นการยอมรับผลในบั้นปลายของการกระทำและความคิด—ที่เรา เป็น ด้วย การแสดงออกภายนอกเท่านั้นจึงยังไม่พอ พระบัญญัติ ศาสนพิธี และพันธสัญญาแห่งพระกิตติคุณไม่ได้เป็นรายการเงินฝากที่กำหนดให้ทำไว้ในบัญชีสวรรค์ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์คือแผนซึ่งแสดงให้เราเห็นว่าจะเป็นอย่างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์ให้เราเป็นอย่างไร”3

แบบแผนสำหรับการเติบโต

เด็กและเยาวชนได้รับการเชิญชวนให้ทำตามรูปแบบของการค้นพบสิ่งที่พวกเขาต้องปรับปรุง วางแผนว่าพวกเขาจะทำอย่างไร ปฏิบัติตามแผนของพวกเขาด้วยศรัทธา และไตร่ตรองถึงสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้4 แบบแผนนี้สามารถช่วยเราทุกคนขณะที่เราพยายามเติบโตและเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น แอลมาสอนว่า “หากท่านทำไม่ได้มากไปกว่าปรารถนาที่จะเชื่อ, ก็ขอให้ความปรารถนานี้เกิดผลในท่าน” (แอลมา 32:27) เมื่อเราหล่อเลี้ยงความปรารถนานั้น ความปรารถนาก็จะเติบโตเป็นสิ่งที่อมิวเล็คเรียกว่า “ศรัทธาสู่การกลับใจ”(แอลมา 34:16) ความปรารถนาที่แอลมาพูดและศรัทธาที่อมิวเล็คเป็นพยานจะไม่หยุดนิ่ง ความปรารถนาและศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ทำให้เรากลับใจอย่างแท้จริง และกระบวนการกลับใจนี้ทำให้เราเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันอธิบายว่า “ไม่มีสิ่งใดเป็นอิสระ มีเกียรติ หรือสำคัญต่อความก้าวหน้าของเรามากไปกว่าการมุ่งเน้นที่การกลับใจทุกวันอย่างสม่ำเสมอ การกลับใจไม่ใช่เหตุการณ์ แต่เป็นกระบวนการ เป็นกุญแจสู่ความสุขและจิตใจที่สงบ เมื่อร่วมกับศรัทธา การกลับใจเปิดประตูสู่พลังแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์”5

การเติบโตต้องอาศัยความมุ่งมั่น

ภาพ
woman running on turquoise arrows

เช่นเดียวกับการกลับใจที่ต้องอาศัยการทำงานและความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง การเติบโตที่แท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อเราพยายามถวาย “ทั้งจิตวิญญาณ” ของเรา (ออมไน 1:26) ในหลากหลายด้าน เราแต่ละคนมีของประทานฝ่ายวิญญาณที่ใช้ในการสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าได้ ในการแสวงหาการเป็น “คนที่ถูกสร้างใหม่” (2 โครินธ์ 5:17) เราได้รับเชิญให้รับใช้พระเจ้าด้วย “สุดใจ, พลัง, ความนึกคิด และพละกำลัง” ของเรา (หลักคำสอนและพันธสัญญา 4:2) ขณะที่เราพยายามเติบโตในด้านต่างๆ เราจะสร้างความสามารถในการปรับตัวและเสริมสร้างศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ซึ่งจะช่วยให้เราสนองความท้าทายในชีวิต

เด็กและเยาวชนรวมถึงพวกเราทุกคนที่ตั้งเป้าหมายระยะสั้นง่ายๆ เพื่อเติบโตทางวิญญาณ สังคม ร่างกาย และสติปัญญา จะประสบสุขภาพทางอารมณ์และจิตใจที่ดีมากขึ้น หลักการเหล่านี้อยู่นอกเหนือแนวคิดการช่วยเหลือตนเอง แนวทางเหล่านี้เป็นแนวทางที่ดีในการพยายามเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์เพื่อ “เมื่อพระองค์จะเสด็จมาปรากฏเราจะเป็นเหมือนพระองค์, เพราะเราจะเห็นพระองค์ดังที่พระองค์ทรงดำรงอยู่; เพื่อเราจะมีความหวังนี้; เพื่อพระองค์จะทรงทำให้เราบริสุทธิ์แม้ดังที่พระองค์ทรงบริสุทธิ์” (โมโรไน 7:48)

การเติบโตต้องอาศัยความอดทนและความขยันหมั่นเพียร

ขณะที่เรามุ่งมั่นที่จะเติบโตและก้าวไปข้างหน้า เราควรจำไว้ว่า “ไม่จำเป็นที่ [เรา] จะวิ่งไปเร็วเกินกำลังของ [เรา]” (โมไซยาห์ 4:27) เรามุ่งมั่นพากเพียร และเมื่อเราตกเรามุ่งมั่นลุกขึ้นอีก (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 117:13) การเติบโตส่วนตัวต้องอาศัยความอดทน เมื่อพระเยซูทรงรักษาชายตาบอด ชายตาบอดมองเห็น “คนเหมือนต้นไม้เดินได้” เป็นสิ่งแรก พระเยซู “วางพระหัตถ์บนตาของเขาอีก … และตาก็หายเป็นปกติมองเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจน” (มาระโก 8:24–25) การรักษาและการเติบโตไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย อารมณ์ หรือจิตใจ อาจเกิดขึ้นเป็นขั้นๆ และอาจไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

การเติบโตต้องใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่เราสามารถใช้ได้

ไม่มีวิธีรักษาแบบง่ายๆ ครอบคลุมสำหรับสุขภาพทางอารมณ์และจิตที่ดี เราจะพบกับความเครียดและความวุ่นวายเพราะเราอยู่ในโลกที่ตกพร้อมกับร่างกายที่ตก นอกจากนี้ ปัจจัยเอื้ออำนวยหลายอย่างอาจนำไปสู่การวินิจฉัยความเจ็บป่วยทางจิตได้ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจและอารมณ์ของเรา การมุ่งเน้นไปที่การเติบโตมีสุขภาพดีกว่าการหมกมุ่นอยู่กับข้อบกพร่องของเรา เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “ศาสนจักรไม่ใช่โชว์รูมรถยนต์—ไม่ใช่สถานที่โชว์ตัวให้คนอื่นได้ชื่นชมความเข้มแข็งทางวิญญาณ ความสามารถ หรือความรุ่งเรืองของเรา ศาสนจักรเหมือนศูนย์บริการมากกว่า ศูนย์ที่ยานพาหนะต้องรับการซ่อมแซม มาซ่อมบำรุงและซ่อมให้ดีเหมือนเดิม”6

การเพิ่มความเข้มแข็งทางวิญญาณของเราเป็นส่วนสำคัญของความผาสุกทางจิตใจและอารมณ์ แต่บ่อยครั้งที่เราทำได้มากกว่านี้ และพระเจ้าทรงคาดหวังให้เราใช้เครื่องมือทั้งหมดที่พระองค์ทรงจัดเตรียมไว้ให้เรา บางครั้งอาจเกิดความรู้สึกอัปยศที่มากับการใช้ทรัพยากรเพิ่มเติมขณะที่เราพยายามพัฒนาสุขภาพจิตและอารมณ์ที่ดีของเรา แต่ผู้นำศาสนจักรสอนว่าทรัพยากรเหล่านี้มีความสำคัญ

ซิสเตอร์เรย์นา ไอ. อะบูร์โต ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอนว่า “เหมือนกับอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย สมองอาจป่วย บาดเจ็บ และเกิดความไม่สมดุลทางเคมีได้ เมื่อเรามีความทรมานทางจิตใจ เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะขอความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า จากคนรอบข้าง และจากแพทย์กับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต”7

เรามีความรับผิดชอบที่จะ “ทำสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจของเรา; และจากนั้นขอให้เรายืนนิ่ง, ด้วยความมั่นใจอย่างที่สุด, เพื่อเห็นความรอดแห่งพระผู้เป็นเจ้า, และเพื่อพระองค์จะทรงเผยพระพาหุของพระองค์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:17) เราอาจไม่เห็นพระหัตถ์ของพระองค์ในแบบที่เราคาดหวังหรือปรารถนา แต่ผู้ที่วางใจในพระองค์สามารถมองเห็นได้

แบบอย่างการเติบโตของพระผู้ช่วยให้รอด

แบบอย่างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการเติบโตคือพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์ พระคัมภีร์สอนว่า “พระองค์หาได้รับความสมบูรณ์ไม่ในตอนแรก, แต่ได้รับพระคุณแทนพระคุณ;

“และพระองค์หาได้รับความสมบูรณ์ไม่ในตอนแรก, แต่ดำเนินต่อไปจากพระคุณสู่พระคุณ, จนพระองค์ได้รับความสมบูรณ์;

และด้วยเหตุนี้ จึงเรียกพระองค์พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า, เพราะพระองค์หาได้รับความสมบูรณ์ไม่ในตอนแรก (หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:12–14)

เมื่อเราพยายามเติบโตและก้าวหน้าเราจะได้รับ “พระคุณแทนพระคุณ” เช่นกัน เมื่อชีวิตมีเรื่องหนักใจ เราอาจคิดว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทอดทิ้งเรา อย่างไรก็ตาม เราสามารถพบสันติสุขและการปลอบโยนในความจริงที่ว่า พระผู้เป็นเจ้า พระบิดา และพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ทรงตระหนักถึงเราและรู้วิธีช่วยให้เราผ่านการทดลองของเรา การเชื่อในพระเยซูคริสต์ไม่ได้หมายความว่าความท้าทายในมรรตัยจะสิ้นสุดลง แต่เราเชื่อว่าพระเจ้าสามารถประทานกำลังให้เราเพื่อรับมือกับความท้าทายขณะที่เราพยายามเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น8

อ้างอิง

  1. ดู Dale E. Bredesen, “Reversal of Cognitive Decline: A Novel Therapeutic Program,” Aging, Sept. 2014, aging-us.com.

  2. ดู Gospel Topics, “Becoming Like God,” topics.ChurchofJesusChrist.org.

  3. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “การท้าทายเพื่อที่จะเป็น,” พ.ย. 2000, 32.

  4. ดู การพัฒนาตนเอง: หนังสือแนะแนวสำหรับเยาวชน (2019), 7.

  5. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “เราสามารถทำได้ดีขึ้นและเป็นคนดีขึ้น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 67.

  6. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “การเป็นคนจริงใจ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 83.

  7. เรย์นา ไอ. อะบูร์โต, “ยามทุกข์หรือสุข โปรดทรงสถิตกับข้า!” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 57–59; ดู เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “เหมือนภาชนะแตก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 41 ด้วย.

  8. ดู “Receive the Savior’s Divine Empathy” mentalhealth.ChurchofJesusChrist.org.