2021
3 ข้อคิดในการสร้างรากฐานที่มั่นคงในการแต่งงาน
สิงหาคม 2021


ดิจิทัลเท่านั้น: คนหนุ่มสาว

3 ข้อคิดในการสร้างรากฐานที่มั่นคงในการแต่งงาน

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

ความท้าทายที่เราเผชิญในชีวิตแต่งงานสามารถขัดเกลาความสัมพันธ์ของเราได้

ภาพ
คู่รักหนุ่มสาวกำลังเดินบนทางที่มีหิมะล้อมรอบ

การแต่งงานไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป

แต่ส่วนลึกในใจของพวกเราหลายคนเชื่อว่าการแต่งงานควรจะเป็นอย่างนั้น

เป็นเรื่องไม่ยากเลยที่เราจะเข้าใจว่าทำไมเราคิดแบบนั้น หนังสือและภาพยนตร์ดังๆ ไม่ว่าจะประเภทใดมักสอนเราว่าความท้าทายที่แท้จริงในชีวิตคือการค้นหาและแสวงหารักแท้ของเรา แต่หลังจากที่เราแต่งงานไปแล้ว เราก็จะ อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดไป แม้แต่โพสต์บนโซเชียลมีเดียที่คัดมาของเพื่อนที่แต่งงานแล้วก็ดูเหมือนจะตอกย้ำความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนี้!

เราจะทำอย่างไรเมื่อเรารู้สึกว่าการแต่งงานของเราแตกต่างจากที่เราคาดไว้?

ในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เราได้รับพรเพื่อให้เข้าใจว่าความเป็นมรรตัย ออกแบบ มาให้มีความท้าทายอยู่ในนั้น เราสามารถบรรลุความสุขอันยิ่งใหญ่ในชีวิตแต่งงานได้เมื่อเรายอมรับว่าการแต่งงานเป็นโอกาสในการเติบโต พึ่งพาพระเยซูคริสต์ และยอมให้พระองค์ทรงขัดเกลาเรา

หากท่านรู้สึกว่าการมองว่าความท้าทายในชีวิตแต่งงานคือพรเป็นเรื่องยาก ให้พิจารณาข้อคิดต่อไปนี้

1. ความคาดหวังที่ไม่สมหวังอาจเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น

พวกเราหลายคนคาดหวังมากจากการแต่งงาน เช่น การเติมเต็มตนเองหรือความสุขสุดพิเศษบางอย่างที่เราหาไม่ได้ขณะเป็นโสด แต่ถ้าเราไม่ระวังให้ดี เราอาจเพิ่มความคาดหวังเกี่ยวกับสิ่งที่เราคิดว่าการแต่งงาน ควร จะเป็นแทนที่จะพยายามทำความเข้าใจว่าพระเจ้าทรงกำหนดให้การแต่งงานคืออะไร

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “การแต่งงานเป็นระเบียบอันศักดิ์สิทธิ์ตามพันธสัญญา หน้าที่ และการเสียสละตลอดชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับแนวคิดทางโลกยุคใหม่ของการแต่งงานอย่างสิ้นเชิง หลักเกณฑ์ทางโลกนั้นแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการทุ่มเทชีวิตเพื่อรับใช้ครอบครัวหรือการเสียสละตนเองเพื่อคู่สมรสและบุตรเลย”1

โชคดีที่การแต่งงานเป็นงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ! ถ้าเรามองว่านี่เป็นโอกาสที่จะเสียสละและรับใช้กัน เพื่อให้คนสองคนที่มีข้อบกพร่องต้องอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น เพื่อเติบโต และเพื่อเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น แทนที่จะคาดหวังว่าการแต่งงานจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้นโดยอัตโนมัติ

อาจดูน่ากลัวที่จะกำจัดความคาดหวังที่ว่าการแต่งงานควรเป็นความสุขชั่วนิรันดร์ออกไป แต่เมื่อเราแทนที่ความคาดหวังนี้ด้วยคำมั่นว่าจะเสียสละเพื่อกันและกัน ดังที่เอ็ลเดอร์เบดนาร์อธิบายไว้ เราจะปรับชีวิตของเราให้สอดคล้องกับพระคริสต์มากขึ้น ความงดงามของวิธีการนี้คือ พระเจ้าจะทรงทำให้การแต่งงานของเราเข้มแข็งขึ้นและช่วยทำให้เราบรรลุความสุขที่เราต้องการมาโดยตลอด!

2. ความขัดแย้งสามารถนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

เมื่อคนสองคนต้องใช้ชีวิตร่วมกัน พวกเขามักไม่ได้เห็นพ้องต้องกันไปทุกเรื่อง เช่น

เราจะอยู่ที่ไหน? เราจะใช้เงินอย่างไร? เราจะใช้เวลากับญาติของอีกฝ่ายมากน้อยแค่ไหน? เราจะทำความสะอาดบ้านกันบ่อยแค่ไหน?

ทว่าความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเลวร้ายเสมอไป อันที่จริง การเรียนรู้ที่จะไม่เห็นด้วยอย่างมีเมตตาและการเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการสร้างความอ่อนน้อมถ่อมตนและความเห็นอกเห็นใจ เมื่อท่านพยายามทำความเข้าใจมุมมองของคู่สมรส ความรักของท่านทั้งคู่จะลึกซึ้งยิ่งขึ้นเมื่อท่านรู้จักเขาหรือเธอมากขึ้นจริงๆ

ประธานจีน บี. บิงแฮม ประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอนเกี่ยวกับวิธีที่เราจะทำเช่นนั้นได้ เธอกล่าวว่า “ความเป็นหนึ่งเดียวกันสำคัญอย่างยิ่งต่องานศักดิ์สิทธิ์ที่เราได้รับเกียรติและได้รับเรียกให้ทำ แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเอง ต้องใช้ความอุตสาหะและเวลาที่จะปรึกษากันอย่างจริงจัง—เพื่อฟังกัน เพื่อเข้าใจมุมมองของอีกฝ่าย และแบ่งปันประสบการณ์—แต่กระบวนการนี้ส่งผลให้การตัดสินใจมาจากการดลใจมากขึ้น”2

เราสามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้ง่าย เมื่อเกิดความไม่ลงรอยกันขึ้น โดยคำนึงถึงเป้าหมายที่ใหญ่กว่า แทนที่จะมุ่งความสนใจไปที่ความขัดแย้งในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แนวคิดนี้ใช้ได้ดีกับหลายๆ แง่มุมของการแต่งงานทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่

ตัวอย่างเช่น บางทีคู่สมรสของท่านอาจจัดเรียงถ้วยชามลงในเครื่องล้างจานในลักษณะที่ทำให้ท่านหงุดหงิด เช่น ถ้วยควรจะอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่ชาม!

เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าคืออะไร? เพื่อให้มีถ้วยชามที่สะอาด วิธีที่ท่านแต่ละคนจัดเรียงถ้วยชามทำให้ถ้วยชามเข้าไปอยู่ในเครื่องล้างจานหรือไม่? เยี่ยมเลย! ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาหรือไม่มีเหตุผลที่จะขัดแย้งกันอีกต่อไป

เราลองมาดูปัญหาในการแต่งงานที่ร้ายแรงมากขึ้นนั่นคือการเลี้ยงดูลูก บางทีคนหนึ่งอาจเชื่อในระบบที่มีระเบียบแบบแผน ขณะที่อีกคนหนึ่งเชื่อว่าควรมีความยืดหยุ่นและการอะลุ่มอล่วย ความคิดเห็นทั้งสองแบบนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไร? โดยการให้ความสำคัญกับเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น

เป้าหมายที่ใหญ่กว่าที่ท่านมีร่วมกันคือการเลี้ยงดูลูกๆ ที่มีความสุข มีความรับผิดชอบ และอยู่กับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ท่านมีเป้าหมายในสิ่งสำคัญที่สุดเหมือนกันแล้วเห็นไหม!

สนุกไปกับเส้นทางแห่งการเรียนรู้ว่าเราจะร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นได้อย่างไร หากท่านยอมรับความแตกต่างและแนวทางในการใช้ชีวิต ลูกๆ ของท่านแต่ละคนซึ่งมีบุคลิกเฉพาะตัว จะมีวิธีในการมีส่วนร่วมกับท่านทั้งคู่ที่แตกต่างกัน

สองหัว สองโลกทัศน์ สองชุดความคิดเห็นที่ต่างกัน ย่อมดีกว่าหนึ่งเสมอ!

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดสอนไว้อย่างสวยงามว่าความแตกต่างช่วยให้เราเติมเต็มซึ่งกันและกันในการแต่งงานได้อย่างไร

“ข้าพเจ้ากลายเป็นคนที่ดีขึ้นเมื่อข้าพเจ้าได้รักและได้อยู่กับ [ภรรยาของข้าพเจ้า] เราเติมเต็มให้กันเกินกว่าข้าพเจ้าวาดหวัง ความสามารถของเธอในการเอาใจใส่ผู้อื่นพัฒนาในตัวข้าพเจ้าเมื่อเราเป็นหนึ่งเดียว ความสามารถของข้าพเจ้าในการวางแผน กำกับดูแล และเป็นผู้นำในครอบครัวของเราเติบโตขึ้นในตัวเธอเมื่อเราเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการแต่งงาน ตอนนี้ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่าเราเติบโตร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว—ค่อยๆ เสริมสร้างและหล่อหลอมเข้าด้วยกันในทุกๆ ปี เมื่อเราซึมซับความเข้มแข็งจากกันและกัน ของประทานส่วนตัวของเราก็ไม่ได้ลดน้อยลงไป

“ความแตกต่างของเรารวมเข้าด้วยกันราวกับว่าได้รับการออกแบบมาเพื่อสร้างสิ่งที่สมบูรณ์ที่ดีขึ้น ความแตกต่างผูกมัดเราไว้ด้วยกันแทนที่จะแยกเราออกจากกัน”3

3. เรามีหน้าที่รับผิดชอบต่อความสุขส่วนตัวของเรา

บ่อยครั้งที่เราคาดหวังกับคู่สมรสของเราเพื่อให้เรารู้สึกมั่นใจ รู้สึกได้รับความรัก และรู้สึกปลอดภัย ทั้งๆ ที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะสร้างความรู้สึกเหล่านั้นให้กับตัวเราเองได้อย่างไร! การคาดหวังให้คู่สมรสของท่านตอบสนองความต้องการและความจำเป็นทั้งหมดเหล่านี้อาจนำไปสู่ความผิดหวังและความขุ่นเคืองในการแต่งงานได้

ท่านมีหน้าที่รับผิดชอบต่อความสุขส่วนตัวของท่านเอง เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเคยแบ่งปันข้อคิดนี้ไว้ว่า

“ยิ่งอายุมากขึ้น เรายิ่งมองกลับไปและตระหนักมากขึ้นว่าสภาวการณ์ภายนอกไม่ได้สำคัญหรือกำหนดความสุขของเราแต่อย่างใด

“… เรา ต่างหากที่กำหนดความสุขของเรา”4

เรียนรู้สิ่งที่ท่านต้องใช้เพื่อจัดการสุขภาพทางอารมณ์ของท่าน คู่สมรสของท่านไม่สามารถจัดการอารมณ์แทนท่านได้ เขาหรือเธออยู่ตรงนั้นเพื่อจัดการอารมณ์ของตนเอง เคียงข้าง ท่าน

ความจริงที่ปลดเปลื้องท่านที่สุดประการหนึ่งเกี่ยวกับการแต่งงานคือการรู้ว่าอารมณ์ของเราไม่ได้ถูกกำหนดโดยคำพูดหรือการกระทำของคู่สมรสของเรา กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราสามารถกระทำด้วยตนเองและมิถูกกระทำได้ (ดู 2 นีไฟ 2:26; หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:27–28) เรามีอำนาจเหนือวิธีที่เราจะคิด ดังนั้นเราจึงมีอำนาจเหนือความรู้สึกในชีวิตแต่งงานของเราด้วย

เมื่อสามีไม่นำขยะไปทิ้ง ฉันสามารถเลือกที่จะเชื่อว่าเป็นเพราะเขาไม่เห็นค่าฉันก็ได้ ท้ายที่สุดแล้ว เขาก็รู้ว่าฉันเกลียดเวลาที่ถังขยะในครัวมีขยะอัดแน่นมากเกินไป

แต่ผลที่ได้จากความคิดนั้นคืออะไร? ฉันรู้สึกไม่ดีเลย และบางทีก็อาจทำให้ฉันรู้สึกขาดการเชื่อมต่อจากเขา แล้วถ้าฉันคิดว่าเขาแค่ลืมล่ะ? หรือยิ่งกว่านั้น ถ้าฉันเลือกที่จะเชื่อว่าการที่เขาไม่ได้ทิ้งขยะไม่ได้เกี่ยวข้องกับความความรู้สึกที่เขามีต่อฉันเลยล่ะ? เขาอาจจะไม่รู้สึกว่าขยะพวกนั้นทำให้เขารำคาญใจ เขาเลยลืมเอามันไปทิ้ง และถ้าขยะพวกนั้นทำให้ฉันหงุดหงิด ฉันก็ควรจะเอาไปทิ้งเอง!

การเปลี่ยนความคิดเพื่อเปลี่ยนประสบการณ์การแต่งงานอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็คุ้มค่า และง่ายกว่าการพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมของคู่สมรสอย่างแน่นอน!

การแต่งงานคือเส้นทางแห่งการเติบโต

การแต่งงานมักจะมีทั้งเรื่องดีและไม่ดี แต่การเดินทางผ่านเรื่องดีและไม่ดีเหล่านั้นอาจเป็นปีติและการผจญภัยเมื่อเราระลึกได้ว่าการแต่งงานเป็นโอกาสที่จะช่วยให้เราพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ชีวิตนี้เป็นช่วงเวลาที่ต้องเตรียมเป็นเหมือนพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ของเรา และการแต่งงานช่วยให้เราทำอย่างนั้นได้!

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “เราต้องไม่ท้อใจหากความพยายามอย่างจริงใจของเราในการไปสู่ความดีพร้อมตอนนี้ดูเหมือนลำบากและไม่สิ้นสุด ความดีพร้อมอยู่ระหว่างดำเนินการ ความดีพร้อมจะมาครบถ้วนหลังจากการฟื้นคืนชีวิตและผ่านพระเจ้าเท่านั้น”5

ฉันรู้สึกขอบคุณพลังแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์อย่างยิ่ง ซึ่งทำให้ชีวิตแต่งงานของฉันดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ฉันสำนึกคุณชั่วนิรันดร์ต่อพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงสามารถช่วยให้เราเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น และผู้ทรงทำให้การแต่งงานของเราเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ซีเลสเชียล” ได้อย่างแท้จริง แม้จะมีความอ่อนแอแต่ฉันกับสามีก็ยังพยายามกันต่อไป

อ้างอิง

  1. David A. Bednar, “The Divine Pattern of Eternal Marriage,” Ensign, Sept. 2020, 37.

  2. จีน บี. บิงแฮม, “เป็นหนึ่งเดียวกันในการทำงานของพระผู้เป็นเจ้าให้สำเร็จ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 62.

  3. Henry B. Eyring, “Renaissance of Marriage: To Become as One” (คำปราศรัยที่ The Complementarity of Man and Woman: An International Interreligious Colloquium, Vatican City, Rome, Nov. 18, 2014), ChurchofJesusChrist.org.

  4. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “เรื่องความเสียใจและปณิธาน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 23.

  5. Russell M. Nelson, “Perfection Pending,” Ensign, Nov. 1995, 88.