2018
ความสุข: มากกว่าอารมณ์
April 2018


ความสุข: มากกว่าอารมณ์

ภาพ
happy breakfast plate

เราได้รับการสอนว่าการมีปีติเป็นจุดประสงค์ของการดำรงอยู่ของเรา (ดู 2 นีไฟ 2:25) แล้วเหตุใดบางครั้งจึงดูเหมือนจะหาความสุขได้ยากมาก อาจเป็นเพราะเราไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วอะไรคือความสุข … และอะไรไม่ใช่ความสุข

ความสุขคืออะไร

ในระดับง่ายที่สุด ความสุขคือการยกสภาพจิตใจของท่านให้สูงกว่าสภาพอารมณ์ปกติของท่านชั่วคราว1 กล่าวอีกนัยหนึ่ง หมายถึงความรู้สึกดี

มีวิธีทำให้อารมณ์ดีขึ้นหลายวิธี อาทิ —คุยเรื่องตลกกับเพื่อนๆ เล่นเกมสนุกๆ หรือแม้กระทั่งกินชีสเค้กสักชิ้น—แต่นั่นไม่ใช่ความสุขที่ยั่งยืน เรามักจะลงเอยด้วยการเปลี่ยนแหล่งความพอใจจากแหล่งหนึ่งเป็นอีกแหล่งหนึ่งอย่างรวดเร็วเพื่อพยายามทำให้ตนเองอารมณ์ดีขึ้นอีกครั้ง แต่ไม่มีความสุขที่ยั่งยืนหรอกหรือ

มี—แต่ละเอียดอ่อนกว่าที่ท่านคิดมาก จึงเป็นสาเหตุให้เราพลาดเป้าบ่อยครั้ง โลกบอกเราว่าชีวิตที่คุ้มค่าต้องเต็มไปด้วยการผจญภัย วันของเราควรเป็นการขับขี่หวาดเสียวอย่างไม่มีที่สิ้นสุดไปตามถนนที่น่าพอใจและสะดวกสบายตลอดทาง แต่ความจริงคือท่านไม่จำเป็นต้องมีความตื่นเต้นตลอดเวลาเพื่อดำเนินชีวิต “ตามทางแห่งความสุข” (2 นีไฟ 5:27) ความสุขอันยั่งยืน—สิ่งที่เราอาจจะเรียกว่าความสุขที่ แท้จริง —เป็นความรู้สึกถึงความผาสุกเงียบๆ อย่างต่อเนื่องมากกว่าความรู้สึกครึ้มใจที่เห็นชัดแจ้ง ความสนุกและความพอใจจืดจาง แต่ความสุขที่แท้จริงไม่ใช่อารมณ์ชั่วแล่น—เป็นอารมณ์ที่ยั่งยืนกว่านั้นมาก หากการประสบความพอใจทำให้อารมณ์ของท่านดีกว่าปกติ การบรรลุความสุขที่แท้จริงก็เหมือนการทำให้อารมณ์ดียิ่งกว่าปกติ2

ท่านอาจจะคิดว่าความสุขอย่างต่อเนื่องต้องมีความสำเร็จอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาและเป็นอิสระจากความเจ็บปวดหรือการทดลอง แต่งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าสภาวการณ์ที่ราบรื่นไม่รับประกันความสุข และสภาวการณ์ที่ไม่ราบรื่นไม่ได้ทำให้หมดความสุข แต่ในบรรดาเหตุปัจจัยทั้งหมดที่ส่งผลต่อความสุขของท่านนั้น การเลือกของท่านมีอิทธิพลมากที่สุด3 เอ็ลเดอร์อูลิส์เสส ซวาเรสแห่งฝ่ายประธานสาวกเจ็ดสิบ สอนว่า “นิสัย ความประพฤติ และรูปแบบความคิดที่เราสามารถควบคุมได้ด้วยการกระทำอย่างตั้งใจเป็นตัวกำหนดความสุข” ความสุขเป็นมากกว่าอารมณ์ดีหรือชีวิตที่ไร้กังวล—ความสุขเป็นวิธีคิดและดำเนินชีวิตที่เราสามารถควบคุมได้ แน่นอนว่าพันธุกรรมและการเลี้ยงดูมีผลต่อระดับอารมณ์ทั่วไป แต่การเลือกของเราเองมีบทบาทสำคัญยิ่ง สรุปว่า “ความสุขเป็นการเลือกที่ใครๆ ก็ทำได้”4

ฉันจะมีความสุขได้อย่างไร

เราจะ “เลือก” มีความสุขได้อย่างไร อะไรเป็นสูตรลับของชีสเค้กแห่งความสุขของเรา ดังที่เอ็ลเดอร์ซวาเรสอธิบาย ความสุขที่แท้จริงเรียกร้อง “ความพยายามต่อเนื่องยาวนานเพื่อให้ได้สิ่งสำคัญมากขึ้นในชีวิต” วิคเตอร์ ฟรังเกิลผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่และจิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงแนะนำว่าความสุขเป็น “ผลข้างเคียงของการอุทิศตนให้กับวิถีที่ดียิ่งกว่าตนเอง”5

และวิถีใดเล่าจะดียิ่งกว่าวิถีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดไว้ให้เรา ในการค้นหาความสุขของเรา เราต้องไม่มองข้ามแผนของพระบิดาบนสวรรค์ แผนนั้นเรียกว่า “แผนแห่งความสุข” เพราะมีเหตุผล! (แอลมา 42:8, 16) พระคัมภีร์หลายต่อหลายข้อเป็นพยานว่าการทำตามแผนของพระผู้เป็นเจ้าทำให้เกิดความสุข (ดู 2 นีไฟ 2:13; ฮีลามัน 13:38) ถึงแม้การดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมจะไม่ช่วยให้เรารอดพ้นจากความปวดร้าวใจทั้งหมด แต่จะทำให้เราอยู่ในจุดที่เราสามารถประสบความสุขได้มากขึ้นในชีวิตนี้ และนำเราไปสู่ความสูงส่งและปีตินิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง

ความสุขเหมือนศรัทธามาก ความสุขจะลดลงหรือเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา หากท่านใช้เวลาตามหาความครื้นเครงชั่วครู่ ความสุขของท่านจะ “ถูกพัดไปพัดมาด้วยลม” (เอเฟซัส 4:14) แต่หากท่านพยายามดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม ท่านจะมีความรู้สึกผาสุกและสันติอย่างต่อเนื่องจนท่านสามารถต้านมรสุมได้ทุกลูก และเมื่อท่านให้ศรัทธามาก่อนความสนุก ท่านจะค้นพบปีติที่แท้จริง—ปีติที่ “ผู้สำนึกผิดอย่างแท้จริงและผู้แสวงหาความสุขด้วยความอ่อนน้อม” เท่านั้นจะพบ (แอลมา 27:18)

อ้างอิง

  1. ดู Carolyn Gregoire, “This Is Scientific Proof That Happiness Is a Choice,” HuffPost, Dec. 13, 2013, huffingtonpost.com/2013/12/09/scientific-proof-that-you_n_4384433.html.

  2. ดู Alex Lickerman, “How to Reset Your Happiness Set Point,” Pyschology Today, Apr. 21, 2013, psychologytoday.com/blog/happiness-in-world/201304/how-reset-your-happiness-set-point.

  3. ดู Michael Mendelsohn, “Positive Psychology: The Science of Happiness,” ABC News, Jan. 11, 2008, abcnews.go.com/Health/story?id=4115033&page=1.

  4. Carolyn Gregoire, “This Is Scientific Proof That Happiness Is a Choice.”

  5. วิคเตอร์ อี. ฟรังเคิล, Man’s Search for Meaning (1984), 17.