2016
เอาชีวิตของท่านรอด
มีนาคม 2016


เอาชีวิตของท่านรอด

จากคำปราศรัยการให้ข้อคิดทางวิญญาณระบบการศึกษาของศาสนจักรเรื่อง “ช่วยชีวิตท่านให้รอด” ที่มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2014 ดูบทความเต็มเป็นภาษาอังกฤษที่ devotionals.lds.org

ในการสละพระชนม์ชีพ พระคริสต์มิได้ทรงช่วยพระองค์เองให้รอดเท่านั้นแต่ทรงช่วยชีวิตเราทุกคนให้รอดด้วย พระองค์ทรงทำให้เราได้แลกสิ่งซึ่งสุดท้ายแล้วคงจะเป็นชีวิตมรรตัยที่ไร้ประโยชน์กับชีวิตนิรันดร์

ภาพ
crucifixion

ส่วนหนึ่งจากภาพ กางเขนสามต้น State two, by Rembrandt van Rijn, from The Pierpont Morgan Library/Art Resource, NY; gold background © iStock/Thinkstock

เมื่อพระเยซูและอัครสาวกของพระองค์มารวมกันในเมืองซีซารียาฟีลิปปี พระองค์ตรัสถามพวกท่านว่า “แล้วพวกท่านว่าเราเป็นใคร?” (มัทธิว 16:15) เปโตรผู้มีพลังและโวหารจับใจตอบว่า “พระองค์เป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่” (มัทธิว 16:16; ดู มาระโก 8:29; ลูกา 9:20ด้วย)

ข้าพเจ้าตื่นเต้นที่ได้อ่านถ้อยคำเหล่านั้น และตื่นเต้นที่ได้พูดถ้อยคำเหล่านั้น ไม่นานหลังจากช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์นี้ เมื่อพระเยซูตรัสกับเหล่าอัครสาวกเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ที่จวนจะเกิดขึ้น เปโตรทัดทานพระองค์ ส่งผลให้ท่านถูกตำหนิอย่างรุนแรงว่าไม่ยอมปรับตัวหรือไม่ “คิด” อย่างพระผู้เป็นเจ้าแต่ “คิดอย่างมนุษย์” (มัทธิว 16:21–23; ดู มาระโก 8:33ด้วย) จากนั้นพระเยซูทรงแสดง “ความรักเพิ่มขึ้นต่อคนที่ [พระองค์ทรง] ว่ากล่าว” (คพ. 121:43) โดยทรงสอนเปโตรกับพี่น้องของท่านอย่างอ่อนโยนเกี่ยวกับการรับกางเขนของตนแบกไว้และยอมเสียชีวิตอันเป็นวิธีพบชีวิตที่บริบูรณ์และนิรันดร์โดยพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อม (ดู มัทธิว 16:24–25)

ข้าพเจ้าต้องการพูดกับท่านเกี่ยวกับคำประกาศที่ดูเหมือนขัดกันเองของพระเจ้าว่า “ผู้ที่จะเอาชีวิตของตนรอด จะกลับเสียชีวิต แต่ผู้ที่เสียชีวิตของตนเพราะเห็นแก่เราก็จะได้ชีวิตรอด” (มัทธิว 10:39; ดู มัทธิว 10:32–41; 16:24–28; มาระโก 8:34–38; ลูกา 9:23–26; 17:33ด้วย) ข้อความนี้สอนหลักคำสอนอันทรงพลังที่เราจำเป็นต้องเข้าใจและประยุกต์ใช้

ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งให้ข้อคิดดังนี้ “ฟ้าสวรรค์สูงกว่าแผ่นดินโลกฉันใด งานของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตท่านใหญ่กว่าเรื่องราวที่ท่านประสงค์ให้ชีวิตท่านบอกเล่าฉันนั้น พระชนม์ชีพของพระองค์ใหญ่กว่าแผน เป้าหมาย หรือความกลัวของท่าน เพื่อช่วยชีวิตท่านให้รอด ท่านจะต้องทิ้งเรื่องราวของท่าน และคืนชีวิตท่านให้พระองค์ทุกนาที ทุกวัน”1

ยิ่งข้าพเจ้านึกถึงเรื่องนี้ ข้าพเจ้ายิ่งอัศจรรย์ใจที่พระเยซูถวายพระชนม์ชีพแด่พระบิดาเสมอ พระองค์ทรงยอมเสียชีวิตตามพระประสงค์ของพระบิดา—ในชีวิตและในความตาย สิ่งนี้ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับเจตคติและวิธีของซาตาน ซึ่งนำมาใช้อย่างกว้างขวางในโลกทุกวันนี้ที่ถือตนเป็นใหญ่

ในสภาก่อนเกิด พระเยซูทรงอาสาทำบทบาทของพระผู้ช่วยให้รอดในแผนของพระบิดาโดยตรัสว่า “พระบิดา, ขอให้บังเกิดขึ้นตามพระประสงค์ ของพระองค์ เถิด, และให้รัศมีภาพเป็น ของพระองค์ ตลอดกาล” (โมเสส 4:2; เน้นตัวเอน) ลูซิเฟอร์ประกาศในทางกลับกันว่า “ดูเถิด, ข้าพระองค์อยู่นี่, ทรงส่งข้าพระองค์ไปเถิด, ข้าพระองค์ จะเป็นบุตรของพระองค์, และ ข้าพระองค์ จะไถ่มนุษยชาติทั้งปวง, จนสักจิตวิญญาณหนึ่งก็จะไม่หายไป, และแน่นอน ข้าพระองค์ จะทำ; ดังนั้นทรงให้เกียรติของพระองค์แก่ ข้าพระองค์ เถิด.” (โมเสส 4:1; เน้นตัวเอน)

พระบัญชาของพระคริสต์ให้ติดตามพระองค์คือพระบัญชาให้ปฏิเสธรูปแบบของซาตานอีกครั้งและยอมเสียชีวิตของเราเพื่อแลกกับชีวิตจริง ชีวิตที่แท้จริง ชีวิตที่ได้อาณาจักรซีเลสเชียลซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงเห็นควรให้เราแต่ละคน ชีวิตดังกล่าวจะเป็นพรแก่ทุกคนที่เราสัมผัสและจะทำให้เราเป็นวิสุทธิชน ด้วยวิสัยทัศน์ที่จำกัดของเราในปัจจุบัน ชีวิตจึงอยู่นอกเหนือความเข้าใจ โดยแท้แล้ว “สิ่งที่ตาไม่เห็น หูไม่ได้ยิน และสิ่งที่ใจมนุษย์คิดไม่ถึงคือสิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้สำหรับคนทั้งหลายที่รักพระองค์” (1 โครินธ์ 2:9)

ข้าพเจ้าอยากให้มีคำสนทนาระหว่างพระเยซูกับสานุศิษย์ของพระองค์มากกว่านี้ คงจะเป็นประโยชน์มากถ้าเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความหมายเชิงปฏิบัติของการยอมเสียชีวิตเพราะเห็นแก่พระองค์และด้วยวิธีนั้นจึงพบชีวิตใหม่ แต่ขณะไตร่ตรอง ข้าพเจ้าตระหนักว่าพระดำริของพระผู้ช่วยให้รอดก่อนและหลังคำประกาศของพระองค์ให้การนำทางอันทรงคุณค่า ขอให้เราพิจารณาความเห็นที่เกี่ยวข้องสามประการดังนี้

รับกางเขนของตนแบกทุกวัน

หนึ่งคือพระดำรัสที่พระเจ้ารับสั่งก่อนจะตรัสว่า “ใครต้องการจะเอาชีวิตรอด คนนั้นจะเสียชีวิต” (มัทธิว 16:25) ดังที่บันทึกไว้ในมัทธิว มาระโก ลูกา พระเยซูตรัสว่า “ถ้าใครต้องการจะติดตามเรา ให้คนนั้นปฏิเสธตนเอง รับกางเขนของตนแบกและตามเรามา” (มัทธิว 16:24) ลูกาเพิ่มคำว่า ทุกวัน—“ให้คนนั้น … รับกางเขนของตนแบกทุกวัน” (ลูกา 9:23) ในมัทธิว งานแปลของโจเซฟ สมิธขยายความข้อนี้ด้วยนิยามของพระเจ้าเกี่ยวกับความหมายของการรับกางเขนของตนแบกไว้ว่า “และบัดนี้ในการที่มนุษย์จะยกกางเขนของตนมาแบกไว้, หมายถึงการปฏิเสธตนเองจากความอาธรรม์ทั้งปวง, และตัณหาราคะทุกอย่างทางโลก, และรักษาบัญญัติของเรา” (มัทธิว 16:24, เชิงอรรถ e ในภาษาอังกฤษ)

สิ่งนี้สอดคล้องกับคำประกาศของยากอบที่ว่า “ธรรมะที่บริสุทธิ์ไร้มลทินเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าพระบิดานั้น คือการช่วยเหลือเด็กกำพร้าและหญิงม่ายที่มีความทุกข์ร้อน และการรักษาตัวให้พ้นจากราคีของโลก” (ยากอบ 1:27) นี่คือชีวิตประจำวันของการหลีกเลี่ยงทุกสิ่งที่ไม่สะอาดขณะยืนยันว่าจะรักษาพระบัญญัติสองข้อใหญ่—นั่นคือรักพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อนมนุษย์—ซึ่งพระบัญญัติอื่นทั้งหมดขึ้นอยู่กับสองข้อนี้ (ดู มัทธิว 22:37–40) ฉะนั้น องค์ประกอบหนึ่งของการยอมเสียชีวิตเราเพื่อเห็นแก่ชีวิตยิ่งใหญ่กว่าที่พระเจ้าทรงเห็นควรให้เราจึงประกอบด้วยการรับกางเขนของพระองค์แบกไว้ทุกวัน

รับพระคริสต์ต่อหน้าผู้อื่น

ข้อความที่สองต่อจากนั้นแนะนำว่าการเอาชีวิตของเรารอดโดยยอมเสียชีวิตเพราะเห็นแก่พระองค์และพระกิตติคุณเรียกร้องให้เราเต็มใจทำให้การเป็นสานุศิษย์เปิดสู่สาธารณชน “ใครมีความละอายเพราะเราและคำสอนของเราในยุคที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าและอธรรมนี้ บุตรมนุษย์ก็จะมีความละอายเพราะคนนั้นด้วย เมื่อพระองค์จะเสด็จมาด้วยพระรัศมีของพระบิดาพร้อมกับพวกทูตสวรรค์บริสุทธิ์” (มาระโก 8:38; ดู ลูกา 9:26ด้วย)

อีกที่หนึ่งในมัทธิว เราพบข้อความคู่กัน

“เพราะฉะนั้นทุกคนที่จะรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์

“แต่ผู้ใดจะไม่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราก็จะไม่ยอมรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ด้วย” (มัทธิว 10:32–33)

ความหมายที่ชัดเจนและค่อนข้างจริงจังอีกประการหนึ่งของการยอมเสียชีวิตโดยรับพระคริสต์คือยอมเสียชีวิตจริงๆ ทางร่างกายในการสนับสนุนและปกป้องความเชื่อในพระองค์ เราคุ้นเคยกับการคิดว่าข้อเรียกร้องสูงสุดนี้ใช้กับประวัติศาสตร์ขณะที่เราอ่านเกี่ยวกับผู้เป็นมรณสักขีในอดีต รวมไปถึงอัครสาวกส่วนใหญ่ในสมัยโบราณ แต่เวลานี้เราเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์กำลังกลายเป็นปัจจุบัน2

เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แต่หากพวกเราคนใดต้องประสบความบอบช้ำของการสูญเสียชีวิตจริงๆ ในอุดมการณ์ของพระอาจารย์ ข้าพเจ้าวางใจว่าเราจะแสดงความกล้าหาญและความภักดีแบบเดียวกัน

ภาพ
Peter and John at the temple

เปโตรกับยอห์นที่ประตูพระวิหาร โดย Rembrandt Van Rijn

อย่างไรก็ดีการประยุกต์ใช้คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดโดยทั่วไป (และบางครั้งยากกว่านั้น) เกี่ยวข้องกับวิธีที่เราดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เกี่ยวข้องกับถ้อยคำที่เราพูด แบบอย่างที่เราวาง ชีวิตเราควรเป็นการยอมรับพระคริสต์ และถ้อยคำของเราควรเป็นพยานถึงศรัทธาและความภักดีที่เรามีต่อพระองค์ เราต้องกล้าปกป้องประจักษ์พยานนี้ขณะเผชิญการเย้ยหยัน การเลือกปฏิบัติ หรือการหมิ่นประมาทจากผู้ต่อต้านพระองค์ “ในยุคที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าและอธรรมนี้” (มาระโก 8:38)

ครั้งหนึ่งพระเจ้าทรงเพิ่มข้อความที่ไม่ธรรมดานี้เกี่ยวกับความจงรักภักดีต่อพระองค์

“อย่าคิดว่าเรามาเพื่อจะนำสันติภาพมาสู่โลก เราไม่ได้นำสันติภาพมาให้ แต่เรานำดาบมา

“เรามาเพื่อจะให้ลูกชายหมางใจกับบิดาของตน ลูกสาวหมางใจกับมารดา ลูกสะใภ้หมางใจกับแม่ผัว

“และผู้ที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกันก็จะเป็นศัตรูต่อกัน

“ใครที่รักบิดามารดายิ่งกว่ารักเราก็ไม่มีค่าควรกับเรา และใครที่รักบุตรชายหญิงยิ่งกว่ารักเรา คนนั้นก็ไม่มีค่าควรกับเรา

“และใครที่ไม่รับกางเขนของตนและตามเราไป คนนั้นก็ไม่มีค่าควรกับเรา” (มัทธิว 10:34–38)

การที่พระองค์ตรัสว่าพระองค์ไม่ทรงนำสันติภาพมาให้ แต่นำดาบมา ความรู้สึกแรกดูเหมือนจะขัดกับพระคัมภีร์ที่เรียกพระคริสต์ว่า “องค์สันติราช” (อิสยาห์ 9:6) และคำประกาศเมื่อพระองค์ประสูติว่า—“พระสิริจงมีแด่พระเจ้าในที่สูงสุด ส่วนบนแผ่นดินโลก สันติสุขจงมีท่ามกลางมนุษย์ทั้งหลาย” (ลูกา 2:14)—และพระคัมภีร์อ้างอิงข้ออื่นที่รู้จักกันดี อาทิ “เรามอบสันติสุขไว้กับพวกท่าน สันติสุขของเราที่ให้กับท่าน” (ยอห์น 14:27)

“เป็นความจริงที่พระคริสต์ทรงนำสันติสุขมา—สันติสุขระหว่างผู้เชื่อกับพระผู้เป็นเจ้าและสันติสุขท่ามกลางมนุษย์ ทว่าผลที่ไม่อาจเลี่ยงได้ของการเสด็จมาของพระคริสต์คือความขัดแย้ง—ระหว่างพระคริสต์กับผู้ต่อต้านพระคริสต์ ระหว่างความสว่างกับความมืด ระหว่างลูกของพระคริสต์กับลูกของมาร ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นได้แม้ระหว่างสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน”3

ข้าพเจ้ามั่นใจว่าหลายท่านในกลุ่มผู้ฟังของเราทั่วโลกค่ำคืนนี้เคยประสบสิ่งที่พระเจ้าตรัสในข้อเหล่านี้มาแล้ว บิดามารดาและพี่น้องของท่านเคยปฏิเสธและตัดสัมพันธ์กับท่านเมื่อท่านยอมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และเข้าสู่พันธสัญญาของพระองค์ ด้วยเหตุใดก็ตาม การที่ท่านรักพระคริสต์มากกว่าเรียกร้องให้ท่านเสียสละความสัมพันธ์อันมีค่า และท่านหลั่งน้ำตามากมาย ทว่าด้วยความรักที่ไม่ลดน้อยถอยลง ท่านจึงแน่วแน่ภายใต้กางเขนนี้ โดยแสดงให้เห็นว่าท่านไม่ละอายเพราะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

ต้นทุนของการเป็นสานุศิษย์

ราวสามปีก่อนสมาชิกคนหนึ่งของศาสนจักรให้พระคัมภีร์มอรมอนแก่เพื่อนชาวอามิชในโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เพื่อนคนนั้นเริ่มอ่านจนวางไม่ลง เขากับภรรยารับบัพติศมา และภายในเจ็ดเดือนมีชาวอามิชอีกสามคู่เปลี่ยนใจเลื่อมใสและรับบัพติศมาเป็นสมาชิกของศาสนจักร หลายเดือนต่อมา ลูกๆ ของพวกเขารับบัพติศมา

ทั้งสามครอบครัวตัดสินใจอยู่ในชุมชนของตนและยังคงใช้ชีวิตแบบชาวอามิชแม้ไม่นับถือศาสนาอามิชแล้ว แต่เพราะพวกเขารับบัพติศมา พวกเขาจึงถูกเพื่อนบ้านชาวอามิชที่สนิทกัน “รังเกียจ” รังเกียจหมายถึงไม่มีใครในชุมชนชาวอามิชพูดคุย ทำงาน ทำธุรกิจ หรือคบหากับพวกเขา ไม่เฉพาะเพื่อนเท่านั้นแต่สมาชิกครอบครัวเช่นกัน

ตอนแรก วิสุทธิชนชาวอามิชเหล่านี้รู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายมาก แม้แต่ลูกๆ ของพวกเขาก็ถูกรังเกียจและต้องออกจากโรงเรียนชาวอามิช ลูกๆ ของพวกเขาถูกปู่ย่าตายาย ญาติๆ และเพื่อนบ้านที่สนิทกันรังเกียจ แม้แต่ลูกที่โตแล้วบางคนของครอบครัวเหล่านี้ที่ไม่ยอมรับพระกิตติคุณก็ไม่พูดคุย หรือแม้ยอมรับพ่อแม่ของตน ครอบครัวเหล่านี้พยายามฟื้นตัวจากผลทางสังคมและเศรษฐกิจเนื่องจากความรังเกียจ แต่พวกเขาทำสำเร็จ

ศรัทธาของพวกเขายังคงแข็งแกร่ง ความทุกข์ยากและการต่อต้านเนื่องจากความรังเกียจทำให้พวกเขาแน่วแน่และไม่หวั่นไหว หนึ่งปีหลังจากบัพติศมา ครอบครัวรับการผนึกในพระวิหารและยังคงเข้าพระวิหารทุกสัปดาห์ พวกเขาพบพลังผ่านการรับศาสนพิธี การเข้าสู่พันธสัญญาและให้เกียรติพันธสัญญา พวกเขาทุกคนแข็งขันในกลุ่มศาสนจักรและยังคงหาวิธีแบ่งปันความสว่างและความรู้ในพระกิตติคุณกับเครือญาติและชุมชนผ่านการแสดงความเมตตาและการรับใช้

ต้นทุนการเข้าร่วมศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายสูงมาก แต่การตักเตือนให้รักพระคริสต์มากกว่าใครอื่น แม้คนสนิทที่สุดในครอบครัวเรา นำมาใช้กับคนที่เกิดในพันธสัญญาได้เช่นกัน พวกเราหลายคนเป็นสมาชิกของศาสนจักรโดยไม่มีการต่อต้าน บางทีตั้งแต่เด็ก ความท้าทายที่เราอาจพบเจอคือยังคงภักดีต่อพระผู้ช่วยให้รอดและศาสนจักรเสมอ ต่อหน้าพ่อแม่ ญาติฝ่ายเขยหรือสะใภ้ พี่น้องชายหญิง หรือแม้แต่ลูกๆ ของเราผู้ซึ่งความประพฤติ ความเชื่อ หรือการเลือกของพวกเขาบ่งบอกว่าไม่สนับสนุนทั้งพระองค์และเรา

นี่ไม่ใช่ปัญหาความรัก เราสามารถรักกันและต้องรักกันเฉกเช่นพระองค์ทรงรักเรา ดังที่พระองค์ตรัสว่า “ถ้าท่านรักกันและกัน ดังนี้แหละทุกคนก็จะรู้ว่าท่านเป็นสาวกของเรา” (ยอห์น 13:35) ดังนั้นถึงแม้ความรักครอบครัวยังอยู่ แต่ความสัมพันธ์อาจหยุดชะงัก และตามสภาพการณ์ แม้แต่การสนับสนุนหรือการยอมรับอาจหยุดชั่วคราวเพราะเห็นแก่ความรักที่สูงกว่าของเรา (ดู มัทธิว 10:37)

ในความเป็นจริง วิธีช่วยคนที่เรารักได้ดีที่สุด—วิธีรักพวกเขาได้ดีที่สุด—คือยังคงให้พระผู้ช่วยให้รอดมาก่อน หากเราปล่อยให้ตนเองเคว้งคว้างห่างจากพระเจ้าไม่เห็นใจคนที่เรารักซึ่งกำลังทุกข์ทรมานหรือเศร้าโศก เมื่อนั้นเราย่อมมองไม่เห็นหนทางที่เราจะช่วยพวกเขาได้ อย่างไรก็ดี หากเรายังคงหยั่งรากมั่นคงด้วยศรัทธาในพระคริสต์ เราย่อมอยู่ในฐานะทั้งรับและให้ความช่วยเหลือ

หากถึงเวลาที่สมาชิกครอบครัวเราต้องหันมาพึ่งแหล่งความช่วยเหลืออันแท้จริงและยั่งยืนแหล่งเดียวนั้น เขาจะรู้ว่าต้องไว้ใจใครเป็นผู้นำทางและเพื่อนร่วมทาง ในขณะเดียวกัน โดยมีของประทานแห่งพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์นำทาง เราสามารถปฏิบัติศาสนกิจเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดจากการเลือกผิดและพันบาดแผลเท่าที่เราได้รับอนุญาต หาไม่แล้วเราคงไม่ได้รับใช้ทั้งคนที่เรารักและตัวเราเอง

ภาพ
Jesus healing the sick

ส่วนหนึ่งจากภาพ พระเยซูทรงรักษาคนป่วย, โดย พอล กุสตาฟ โดเร

ละทิ้งโลก

องค์ประกอบข้อสามของการยอมเสียชีวิตเพราะเห็นแก่พระเจ้าอยู่ในพระดำรัสของพระองค์ “เพราะเขาจะได้ประโยชน์อะไร ถ้าได้สิ่งของหมดทั้งโลกแต่ต้องเสียชีวิตของตน? หรือคนนั้นจะนำอะไรไปแลกชีวิตของตนกลับคืนมา?” (มัทธิว 16:26) ตามที่ให้ไว้ในงานแปลของโจเซฟ สมิธ พระดำรัสของพระองค์อ่านว่า “เพราะเขาจะได้ประโยชน์อะไร ถ้าได้สิ่งของสิ้นทั้งโลกแต่หารับพระองค์ผู้ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้ง และเขาเสียจิตวิญญาณของตน และสูญเสียตัวเองไป” (ลูกา 9:25 [ใน Bible appendix])

เราไม่ได้กล่าวเกินจริงเลยเมื่อพูดว่าการละทิ้งโลกเพื่อรับ “พระองค์… ผู้ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้ง” ไม่ใช่บรรทัดฐานในโลกทุกวันนี้ ความสำคัญก่อนหลังและความสนใจที่เราเห็นบ่อยที่สุดรอบตัวเรา (และบางครั้งในตัวเรา) นับว่าเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง คนหิวโหยต้องการให้คนนึกถึง คนดื้อรั้นเรียกร้องให้เคารพสิทธิ์ของตน ความปรารถนาเงินทอง สิ่งของ และอำนาจ ความรู้สึกว่าตนควรมีชีวิตที่สุขสบาย มุ่งหมายจะลดความรับผิดชอบ ไม่ยอมเสียสละตนเองเพื่อประโยชน์ของอีกฝ่าย และอื่นๆ

นี่มิได้หมายความว่าเราไม่ควรหมายมั่นทำให้สำเร็จ หรือดีเลิศในความบากบั่นที่คุ้มค่า ซึ่งรวมถึงการศึกษาและงานที่มีเกียรติ แน่นอนว่าผลสำเร็จที่คุ้มค่านั้นน่ายกย่อง แต่ถ้าเราต้องช่วยชีวิตเราไว้ เราพึงจำไว้เสมอว่าความสำเร็จเช่นนั้นไม่ใช่ที่สุดในตัวมันเอง แต่เป็นหนทางไปสู่จุดหมายที่สูงกว่า ด้วยศรัทธาของเราในพระคริสต์ เราต้องมองว่าความสำเร็จทางการเมือง ธุรกิจ วิชาการ และรูปแบบที่คล้ายกันไม่ใช่คำนิยามให้ตัวเราแต่ทำให้เรารับใช้พระผู้เป็นเจ้าและเพื่อนมนุษย์ได้—เริ่มที่บ้านและขยายออกไปในโลก

การพัฒนาตนเองมีคุณค่าตราบที่เอื้อต่อการพัฒนาอุปนิสัยเหมือนพระคริสต์ ในการวัดความสำเร็จนั้นเรายอมรับความจริงอันลึกซึ้งที่แฝงอยู่—นั่นคือชีวิตเราเป็นของพระผู้เป็นเจ้า พระบิดาบนสวรรค์ของเรา และพระเยซูคริสต์ พระผู้ไถ่ของเรา ความสำเร็จหมายถึงการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์

ตรงข้ามกับชีวิตที่หลงตัวเอง ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (1895–1985) แสดงความคิดเห็นที่เรียบง่ายเกี่ยวกับวิธีที่ดีกว่านั้นดังนี้

“เมื่อเรามีส่วนในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ การกระทำของเราไม่เพียงช่วยพวกเขาเท่านั้น แต่เราจะมีมุมมองใหม่ขึ้นในปัญหาของเรา เมื่อเรานึกถึงผู้อื่นมากขึ้น เราจะมีเวลานึกถึงตนเองน้อยลง! ท่ามกลางปาฏิหาริย์แห่งการรับใช้ มีคำสัญญาของพระเยซูที่ว่าเมื่อเราเพลินอยู่กับการรับใช้ เราพบตัวตนของเรา! [ดู มัทธิว 10:39]

“เราไม่เพียง ‘พบ’ ตัวตนของเราในแง่ของการยอมรับการนำทางจากสวรรค์ในชีวิตเราเท่านั้น แต่ยิ่งเรารับใช้เพื่อนมนุษย์ในวิธีที่เหมาะสม จิตวิญญาณของเราจะยิ่งมีแก่นสารมากขึ้น … เรามีแก่นสารมากขึ้นเมื่อเรารับใช้ผู้อื่น—โดยแท้แล้ว เราจะ ‘พบ’ ตัวตนของเราง่ายขึ้นเพราะมีให้เราพบมากกว่าเดิมมาก!”4

ยอมเสียชีวิตในการรับใช้พระองค์

เมื่อเร็วๆ นี้ข้าพเจ้าทราบเรื่องหญิงสาวคนหนึ่งที่ตัดสินใจรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา เธอพัฒนาความสามารถในการติดต่อและเชื่อมสัมพันธ์กับคนเกือบทุกระบบความเชื่อ ความเชื่อทางการเมือง และเชื้อชาติ เธอกังวลว่าการติดป้ายชื่อผู้สอนศาสนาทั้งวันทุกวันอาจกลายเป็นตัวขัดขวางไม่ให้เธอสร้างความสัมพันธ์ได้ ไม่กี่สัปดาห์หลังจากเป็นผู้สอนศาสนาเธอเขียนบอกทางบ้านเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เรียบง่ายแต่มีความหมายว่า

“ซิสเตอร์ลีกับหนูนำยามานวดมือที่เป็นข้ออักเสบของสตรีสูงอายุคนหนึ่ง—เรานวดคนละข้าง—ขณะนั่งอยู่ในห้องรับแขกของบ้านเธอ เธอไม่อยากฟังข่าวสารที่เราพูด แต่ให้เราร้องเพลง ชอบให้เราร้องเพลง ขอบคุณป้ายชื่อผู้สอนศาสนาสีดำที่อนุญาตให้หนูมีประสบการณ์ส่วนตัวกับคนแปลกหน้าโดยสิ้นเชิง”

จากสิ่งที่ท่านทนทุกข์ทรมาน ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเรียนรู้จากสิ่งที่ท่านประสบว่าต้องยอมเสียชีวิตในการรับใช้พระอาจารย์และพระผู้ทรงเป็นมิตรของท่าน ท่านกล่าวไว้ครั้งหนึ่ง “ข้าพเจ้าตั้งกฎให้ตนเองว่า เมื่อพระเจ้าบัญชา จงทำ”5

ข้าพเจ้าคิดว่าเราทุกคนคงอยากมีระดับความซื่อสัตย์เท่ากับบราเดอร์โจเซฟ ถึงกระนั้น ท่านเคยถูกบังคับให้ต้องทรมานอยู่ในคุกที่ลิเบอร์ตี้ รัฐมิสซูรีหลายเดือน ทุกข์ทางกายแต่อาจทุกข์ยิ่งกว่านั้นทางอารมณ์และวิญญาณโดยไม่สามารถช่วยภรรยาที่ท่านรัก ลูกๆ ของท่าน และวิสุทธิชนขณะพวกเขาถูกทารุณและข่มเหง การเปิดเผยและการนำทางของท่านนำพวกเขาไปมิสซูรีเพื่อสถาปนาไซอันและเวลานี้พวกเขาถูกไล่ออกจากบ้านในฤดูหนาวข้ามรัฐทั้งรัฐ

แต่ในสภาพเหล่านั้นในคุก ท่านเขียนจดหมายให้กำลังใจศาสนจักร เป็นความเรียงที่หนุนใจและสละสลวยที่สุด ซึ่งเวลานี้ประกอบเป็นภาค 121,122 และ 123 ของหลักคำสอนและพันธสัญญา โดยทิ้งท้ายดังนี้ “ให้เราทำสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจของเราอย่างรื่นเริงเถิด; และจากนั้นขอให้เรายืนนิ่ง, ด้วยความมั่นใจอย่างที่สุด, เพื่อเห็นความรอดแห่งพระผู้เป็นเจ้า, และเพื่อพระองค์จะทรงเผยพระพาหุของพระองค์” (คพ. 123:17)

ภาพ
Jesus praying in Gethsemane

รายละเอียดจาก พระเยซูทรงสวดอ้อนวอนในสวน, โดยกุสตาฟ โดเร

แน่นอนว่าแบบอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดของการช่วยชีวิตคนๆ หนึ่งให้รอดโดยยอมเสียชีวิตคือแบบอย่างนี้ “ข้าแต่พระบิดาของข้าพระองค์ ถ้าถ้วยนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพระองค์ไม่ได้ และข้าพระองค์จำต้องดื่มแล้ว ก็ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” (มัทธิว 26:42) ในการสละพระชนม์ชีพ พระคริสต์มิได้ทรงช่วยพระองค์เองให้รอดเท่านั้นแต่ทรงช่วยชีวิตเราทุกคนให้รอดด้วย พระองค์ทรงทำให้เราได้แลกชีวิตมรรตัยที่มิฉะนั้นสุดท้ายแล้วไร้ประโยชน์กับชีวิตนิรันดร์

ประเด็นหลักของพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดคือ “เราทำตามชอบพระทัย [พระบิดา] เสมอ” (ยอห์น 8:29) ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนว่าท่านจะทำให้สิ่งนั้นเป็นประเด็นหลักของชีวิตท่าน หากท่านทำ ท่านจะช่วยให้ชีวิตท่านรอด

อ้างอิง

  1. อดัม เอส. มิลเลอร์, Letters to a Young Mormon (2014), 17–18.

  2. ดู มาร์ติน ชูลอฟ, “Iraq’s Largest Christian Town Abandoned as ISIS Advance Continues,” The Guardian, Aug. 7, 2014, theguardian.com.

  3. Kenneth Barker, ed., The NIV Study Bible, 10th anniversary ed. (1995), 1453.

  4. คำสอนของประธานศาสนจักร: สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (2006), 93–95.

  5. คำสอนของประธานศาสนจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 172.