2016
พระคัมภีร์มอรมอนสอนอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับความสุข
กุมภาพันธ์ 2016


พระคัมภีร์มอรมอนสอนอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับ ความสุข

หลักธรรมเจ็ดข้อที่เราคัดมาจากพระคัมภีร์มอรมอนสองบทสอนเราว่าอะไรทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริง

ภาพ
What Can the Book of Mormon Teach Us About Happiness?

ภาพประกอบโดย เคย์ลีห์ จอลลีย์

ลีไฮสอนเจคอบบุตรชายว่า “มนุษย์เป็นอยู่, เพื่อพวกเขาจะมีปีติ” (2 นีไฟ 2:25)

เราทุกคนอยากมีความสุข เรามักโหยหาความเบิกบาน สันติสุข และความพอใจที่เราเห็นในสมาชิกครอบครัวและมิตรสหายผู้ซึ่งชีวิตพวกเขาดูเหมือนจะเปี่ยมด้วยความสุข ทุกคนเคยรู้สึกไม่มีความสุขในชีวิตมาบ้างแล้ว บางคนถึงกับสงสัยว่า “ฉันจะมีความสุขบ้างไหม”

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “พระเจ้าทรงฝังข่าวสารของพระองค์ใน [พระคัมภีร์มอรมอน] ไว้ให้ท่าน นีไฟ มอรมอน และโมโรไนรู้เรื่องนี้ และคนที่รวบรวมได้นำมาไว้ในข่าวสารให้ท่าน”1 เพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงปรารถนาให้บุตรธิดาทุกคนของพระองค์มีความสุขในชีวิตนี้ พระองค์จึงทรงฝังหลักธรรมนิรันดร์แห่งความสุขไว้ในพระคัมภีร์มอรมอน ถึงแม้ท่านจะพบหลักธรรมนี้ได้ตลอดเล่ม แต่เฉพาะสองบทนี้—2 นีไฟ 5 และ 4 นีไฟ 1—มีแนวทางชัดเจนที่จะนำเราให้มีความสุขเพิ่มขึ้นถ้าเราเต็มใจดำเนินชีวิตตามนั้น

2 นีไฟ 5

ไม่นานหลังจากลีไฮถึงแก่กรรม พระเจ้าทรงเตือนนีไฟว่าเลมันกับเลมิวเอลหาทางจะปลิดชีวิตท่าน พระเจ้ารับสั่งให้นีไฟพาคนที่จะไปด้วยหลบหนีเข้าไปในแดนทุรกันดาร แม้จะมีความยากลำบากแน่นอนกับการอพยพครั้งนี้ และต้องสถาปนาชุมชนใหม่แต่ใน 2 นีไฟ 5:27 นีไฟอธิบายว่า “เหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือเรามีชีวิตอยู่ตามทางแห่งความสุข” บทนี้วางรูปแบบของความสุขที่เราทำตามได้ในชีวิตเราเอง

ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นเรื่อยๆ

นีไฟบอกเราว่าคนที่หนีไปในแดนทุรกันดารกับท่านคือคนที่ “เชื่อในคำเตือนและการเปิดเผยของพระผู้เป็นเจ้า” (ข้อ 6) แหล่งสำคัญของความสุขคือแวดวงสังคมของเรา สำคัญที่เราต้องใช้เวลากับคนอื่นที่เชื่อเหมือนเราและคนที่อยู่ด้วยแล้วเราดีขึ้น นอกจากจะใช้เวลากับสมาชิกครอบครัวแล้ว เราสามารถมีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนๆ ผู้เสริมสร้างศรัทธาของเราด้วย การปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์เหล่านั้นมีผลอย่างยิ่งต่อความสุขของเรา คริสเตียน คาร์เตอร์ นักสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์เขียนว่า “ปริมาณและคุณภาพการเชื่อมสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคลหนึ่ง—มิตรภาพ ความสัมพันธ์กับสมาชิกครอบครัว ความสนิทสนมกับเพื่อนบ้าน ฯลฯ—เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับความผาสุกและความสุขส่วนตัวซึ่งแทบจะถือได้ว่าทั้งสองทัดเทียมกันในทางปฏิบัติ”2

ทำให้การกระทำสอดคล้องกับความเชื่อ

ใน ข้อ 10 นีไฟเขียนว่าผู้คนของท่านรักษา “พระบัญญัติของพระเจ้า” การเชื่อฟังพระบัญญัติเป็นส่วนสำคัญของการมีชีวิตที่เป็นสุข กษัตริย์เบ็นจามินกระตุ้นให้ผู้คนของท่าน “พิจารณาถึงสภาพอันเป็นพรและเป็นสุขของคนที่รักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 2:41) เราจะมีความสุขได้ยากเมื่อเราเชื่อในพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าแต่ไม่ดำเนินชีวิตตาม การเชื่อฟังทำให้เกิดสันติสุขในใจและสันติสุขในมโนธรรม มีคนกล่าวว่ามหาตมะ คานธีผู้นำทางศาสนาและการเมืองของอินเดียเขียนไว้ว่า “ความสุขคือเมื่อสิ่งที่ท่านคิด สิ่งที่ท่านพูด และสิ่งที่ท่านทำสอดคล้องกัน” เมื่อความเชื่อและการกระทำของเราสวนทางกัน การกลับใจเป็นกุญแจช่วยสร้างความปรองดองอีกครั้งในชีวิตเรา

ทำงานยากให้สำเร็จ

ภาพ
Illustration depicting a stick figure digging a whole in a book (The Book or Mormon. Plants are depicting growing from the book.

ใน 2 นีไฟ 5 ข้อ 11 และ 15 นีไฟเขียนว่าผู้คนของท่านเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผล เลี้ยงสัตว์ สร้างอาคาร และทำงานกับแร่หลายชนิด ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้า, นีไฟ, ทำให้ผู้คนของข้าพเจ้ามีอุตสาหะ, และทำงานด้วยมือตน” (ข้อ 17) จากข้อเหล่านี้เราเห็นชัดเจนว่าการทำงานเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งในการได้รับความสุข ทุกๆ วันให้เรามีโอกาสทำงานในบ้าน รอบบ้าน ในชุมชน หรือในงานอาชีพของเรา ประธานโธมัส เอส. มอนสันกล่าวไว้ว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงปล่อยโลกไว้โดยไม่ตกแต่งเพื่อให้มนุษย์ทำงานด้วยฝีมือของตนเองบนนั้น พระองค์ทรงปล่อยให้กระแสไฟฟ้าอยู่ในเมฆ ให้น้ำมันอยู่ในดิน พระองค์ทรงปล่อยแม่น้ำไว้ไม่ให้มีสะพานข้าม ทรงปล่อยต้นไม้ไว้ไม่ทรงโค่น และทรงปล่อยเมืองไว้ไม่ทรงสร้าง พระผู้เป็นเจ้าทรงให้มนุษย์เผชิญความท้าทายเรื่องวัตถุดิบ ไม่ใช่ความสะดวกสบายของสิ่งทำเสร็จแล้ว พระองค์ทรงปล่อยภาพไว้ไม่ลงสี ทรงปล่อยเพลงไว้ไม่ขับร้อง ทรงปล่อยปัญหาไว้ไม่แก้ไข เพื่อให้มนุษย์รู้จักปีติและความรุ่งโรจน์ของการสร้าง”3 พูดให้เข้าใจง่ายคือ ความเบิกบานใจของการสร้างสรรค์และความรู้สึกประสบผลสำเร็จที่มักมาคู่กับความขยันขันแข็งจะทำให้เกิดความสุข

เน้นเรื่องพระวิหาร

นีไฟบอกเราเช่นกันว่าท่านกับผู้คนของท่านใช้เวลาสร้างพระวิหาร (ข้อ 16) ขณะพวกท่านสร้างชุมชนใหม่ พรพระวิหารและความสุขแยกจากกันไม่ออก พระวิหารสอนเราเรื่องแผนแห่งความรอดและเตือนเราว่าเหตุใดเราจึงอยู่บนแผ่นดินโลก เราเรียนรู้ว่าเราเป็นลูกของพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงรักเราและชีวิตเรามีจุดประสงค์อันสำคัญยิ่งในแผนของพระองค์ ในพระวิหารเรารู้สึกใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น เรารู้สึกถึงพระสิริของพระองค์ เดชานุภาพ และความเห็นชอบของพระองค์ ถึงแม้เราจะเข้าพระวิหารเป็นประจำไม่ได้ แต่การมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันและการมีภาพพระวิหารในบ้านสามารถเตือนเราให้นึกถึงประสบการณ์พระวิหารที่เราเคยมีและความจริงที่เราได้เรียนรู้ในนั้น

4 นีไฟ 1

ใน 4 นีไฟมอรมอนนักประวัติศาสตร์และศาสดาพยากรณ์บอกเราว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเยือนผู้คนของนีไฟ เมื่อท่านพูดถึงผู้คนเหล่านี้ ท่านบันทึกว่า “ไม่มีผู้คนใดมีความสุขยิ่งกว่านี้ได้ในบรรดาผู้คนทั้งปวงที่พระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้นมา” (4 นีไฟ 1:16)

แบ่งปันสิ่งที่เรามี

ภาพ
What Can the Book of Mormon Teach Us About Happiness?

ใน ข้อ 3 มอรมอนเขียนว่าผู้คนเหล่านี้มี “สิ่งของทั้งหมดเพื่อใช้ร่วมกันในบรรดาพวกเขา” และ “ไม่มีคนรวยและคนจน” เมื่อเราแสวงหาความสุขในชีวิตเราทุกวันนี้ สำคัญที่เราต้องฝึกแบ่งปันสิ่งที่เรามีกับผู้อื่น

งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าเวลาที่เรารับใช้และเงินที่เราใช้กับผู้อื่นมีผลโดยตรงต่อความสุขของเรา4 ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่กษัตริย์เบ็นจามินบอกผู้คนของท่านว่า “ข้าพเจ้าอยากให้ท่านมอบทรัพย์สินของท่านแก่คนจน, ทุกคนตามทรัพย์สินที่ตนมี, เป็นต้นว่าเลี้ยงอาหารคนหิวโหย, ให้เสื้อผ้าคนเปลือยเปล่า, เยี่ยมคนเจ็บป่วยและให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์คนเหล่านั้น, ทั้งฝ่ายวิญญาณและฝ่ายโลก, ตามความต้องการของพวกเขา” (โมไซยาห์ 4:26) เรามีโอกาสมากมายให้ช่วยคนตกทุกข์ได้ยากผ่านการรับใช้ เงินบริจาคอดอาหาร และเงินทุนอื่นๆ ที่ศาสนจักรบริหารจัดการ

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวดังนี้ “ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความยากจนเป็นเรื่องท้าทายที่หนักหนาสาหัสและแพร่หลายที่สุดเรื่องหนึ่งของมนุษยชาติ การสูญเสียที่เห็นได้ชัดเนื่องจากความยากจนมักเป็นเรื่องทางกาย แต่ความเสียหายทางวิญญาณและทางอารมณ์ที่เกิดจากความยากจนอาจทำให้ทรุดหนักลงไปอีก ในกรณีใดก็ตาม พระผู้ไถ่ที่ยิ่งใหญ่ไม่เคยทรงขอร้องอย่างไม่ลดละขนาดนี้ให้เราร่วมมือกับพระองค์ในการยกภาระนี้ออกจากผู้คน”5 เมื่อเราสละเวลา ความพยายาม และทรัพย์สินเงินทองช่วยคนอื่นมากขึ้น เราจะพบว่าเรามีความสุขเพิ่มขึ้น

เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว

ภาพ
What Can the Book of Mormon Teach Us About Happiness?

มอรมอนบอกเราว่าคนเหล่านี้ “แต่งงาน, และยกให้แต่งงานกัน” (4 นีไฟ 1:11) การแต่งงานและการเลี้ยงดูบุตร (ดู ข้อ 10) จะเป็นบ่อเกิดอันสำคัญยิ่งของความสุขสำหรับคนที่มีโอกาสเหล่านี้ ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ (1920–2007) ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “ความสุขในชีวิตแต่งงานและการเป็นบิดามารดาจะมากกว่าความสุขแบบอื่นเป็นพันเท่า”6

แต่เราไม่จำเป็นต้องแต่งงานหรือมีบุตรของเราเองจึงจะมีสัมพันธภาพกับสมาชิกครอบครัวอันนำมาซึ่งความสุข ผู้ใหญ่โสด เยาวชน และเด็กสามารถเข้าไปมีส่วนในพรเหล่านี้ได้เช่นกัน เพื่อจะมีความสุขในชีวิตครอบครัว เราต้องพยายามมอบมิตรภาพ ความเข้าใจ และความรักให้สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวเรา ครอบครัวสามารถให้ความปลอดภัยทางอารมณ์และทางกายตลอดจนความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งได้ ซึ่งจำเป็นต่อการประสบความสุข

เป็นผู้สร้างสันติ

ใน 4 นีไฟมอรมอนบอกเราสี่ครั้งว่าผู้คนเหล่านี้ “ไม่มีความขัดแย้ง” ในบรรดาพวกเขา (ดู ข้อ 2, 13, 15, และ 18) “เพราะความรักของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งสถิตอยู่ในใจผู้คน” (ข้อ 15) ความขัดแย้งและความสุขอยู่คนละขั้ว—อย่างหนึ่งพาออกห่างจากอีกอย่างหนึ่ง พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนชาวนีไฟเรื่องอันตรายของความขัดแย้งเมื่อพระองค์ตรัสว่า “คนที่มีวิญญาณของความขัดแย้งย่อมไม่เป็นของเรา, แต่เป็นของมาร, ผู้เป็นบิดาแห่งความขัดแย้ง” (3 นีไฟ 11:29) เราต้องแน่ใจว่าเราใช้ความพยายามมากที่จะไม่ทำหรือพูดสิ่งใดอันก่อให้เกิดวิญญาณของความขัดแย้งในที่ทำงาน โรงเรียน และบ้านของเรา แต่เราต้องทำสุดความสามารถเพื่อหล่อเลี้ยงความรักของพระผู้เป็นเจ้าในใจเรา

ความขัดแย้งมักเกิดจากความไม่อดทน ด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณ เราสามารถเปลี่ยนธรรมชาติวิสัยของเราและอดทนมากขึ้นได้ ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “การไม่อดทน … เป็นอาการของความเห็นแก่ตัว เป็นลักษณะของการหมกมุ่นอยู่กับตนเอง เกิดจากสภาพที่แพร่หลายไปทั่วเรียกว่าโรค ‘เอาตนเองเป็นที่ตั้ง’ ซึ่งทำให้ผู้คนเชื่อว่าโลกหมุนรอบตัวเองและคนอื่นเป็นเพียงตัวประกอบในโรงละครโรงใหญ่ของความเป็นมรรตัยซึ่งตนเองรับบทนำ”7

มีวิธีที่ดีกว่า ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) เชื้อเชิญให้เรา “บ่มเพาะศิลปะของการให้คำตอบที่อ่อนโยน นั่นจะเป็นพรแก่บ้านของท่าน จะเป็นพรแก่ชีวิตท่าน”8

คำเชื้อเชิญให้แสวงหาความสุข

ภาพ
What Can the Book of Mormon Teach Us About Happiness?

พระคัมภีร์มอรมอนประกอบด้วยหลักธรรมแห่งความสุข เราพูดครอบคลุมเพียงส่วนเดียวของสิ่งที่พบในสองบทนี้ เราจะพบอะไรได้บ้างในส่วนที่เหลือของหนังสือนี้ คงจะดีถ้าเราเริ่มค้นคว้าพระคัมภีร์มอรมอนด้วยตนเองเพื่อให้ได้แนวทางเพิ่มเติมสู่ชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994) สัญญากับวิสุทธิชนว่า “ทันทีที่ท่านเริ่มศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนอย่างจริงจัง … ท่านจะพบชีวิตที่มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ”9 พระเจ้าได้ประทานเครื่องมืออันเหลือเชื่อนี้แก่เรา เราสามารถฝึกใช้เครื่องมือดังกล่าวให้เป็นพรแก่ชีวิตเราและชีวิตคนที่เรารัก

อ้างอิง

  1. เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “The Book of Mormon Will Change Your Life,Liahona, Feb. 2004, 15.

  2. คริสตีน คาร์เตอร์, “Happiness Is Being Socially Connected,Oct. 31, 2008, greatergood.berkeley.edu.

  3. โธมัส เอส. มอนสัน, “In Quest of the Abundant Life,Ensign, Mar. 1988, 2.

  4. ดูตัวอย่างใน Dunn et al., “Spending Money on Others Promotes Happiness,Science, vol. 319 (2008), 1687–1688; Netta Weinstein and Richard M. Ryan,When helping helps: Autonomous motivation for prosocial behavior and its influence on well-being for the helper and recipient,Journal of Personality and Social Psychology, vol. 98 (2010), 222–24; และ Aknin et al., Prosocial spending and well-being: Cross-cultural evidence for a psychological universal,Journal of Personality and Social Psychology, vol. 104 (2013), 635–52.

  5. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “เราทั้งหลายไม่ได้เป็นขอทานหรอกหรือ?” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 40.

  6. เจมส์ อี. เฟาสท์, “The Enriching of Marriage,Ensign, Nov. 1977, 11.

  7. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “จงอดทนต่อไป,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 71.

  8. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “Cornerstones of a Happy Home” (address given at a satellite broadcast for husbands and wives, Jan. 29, 1984), 8.

  9. เอสรา แทฟท์ เบนสัน, “The Book of Mormon—Keystone of Our Religion,Ensign, Nov. 1986, 7.