เซมินารี
มาระโก 2:1–12


มาระโก 2:1–12

พระเยซูทรงรักษาคนง่อย

ภาพ
พระเยซูคริสต์ทอดพระเนตรชายที่นอนอยู่บนพื้นดินเบื้องพระพักตร์พระองค์ ชายคนนั้นมีผ้าห่มห่อตัวและทุกข์ทรมานจากการเป็นง่อย ผู้ป่วยถูกเพื่อนๆ หย่อนผ่านช่องหลังคาด้วยความหวังว่าจะได้รับการรักษา พระคริสต์ทรงยื่นพระหัตถ์ไปทางชายคนนั้น มีอัครสาวกหรือสาวกหลายคนอยู่กับพระคริสต์

พระเยซูทรงแสดงพระปรีชาสามารถในการรักษาผู้คนทางร่างกายและวิญญาณโดยรักษาคนง่อย (อัมพาต) และทรงให้อภัยบาปของเขา บทเรียนนี้จะช่วยเพิ่มความเข้าใจของท่านว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถรักษาความทุพพลภาพทุกชนิด

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่คนรู้จักได้รับพรที่จำเป็นจากพระผู้เป็นเจ้า พรของบุคคลนี้มีผลต่อคนอื่นๆ เช่น เพื่อนและสมาชิกในครอบครัวอย่างไร? ขอให้นักเรียนพิจารณาสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ผ่านการเห็นสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้บุคคลนั้น

กิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำได้

ท่านเต็มใจทำอะไร?

สำหรับสถานการณ์สมมุติต่อไปนี้ ท่านอาจเพิ่มรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงเพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น รายละเอียดเหล่านี้อาจบอกว่าเจ็บป่วยเป็นอะไร ต้องรักษาเร็วแค่ไหน หรือต้องใช้อะไรรักษา

สมมติว่าคนที่ท่านรักกำลังทุกข์ทรมานจากโรคที่อันตรายถึงชีวิต ต้องได้รับการรักษาพิเศษและมีแพทย์คนเดียวเท่านั้นที่จะช่วยชีวิตเธอได้ ท่านเต็มใจทำอะไรเพื่อจะได้รับความช่วยเหลือ? ท่านจะทำอย่างไรถ้าหมอมีนัดเต็มแล้วหรือถ้าหมออยู่อีกประเทศหนึ่ง?

คนเราจะเต็มใจทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองหรือคนที่ตนรักได้รับการรักษา ขณะที่ความเจ็บป่วยทางกายมักจะรักษาได้โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะ ความทุพพลภาพทางวิญญาณจะหายสนิทได้โดยพระเยซูคริสต์เท่านั้น เขียนลงในสมุดบันทึกการศึกษาว่าท่านมีอะไรบ้าง

ขณะศึกษาบทเรียนนี้ ให้ไตร่ตรองว่าท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้คนที่ท่านรักและตัวท่านเองมาหาพระคริสต์เพื่อรับความช่วยเหลือที่มีพระองค์เท่านั้นทรงสามารถให้ได้

“คนหนึ่งป่วยเป็นง่อย”

ทักษะที่สามารถช่วยให้ท่านเรียนรู้เพิ่มเติมขณะศึกษาเรื่องราวพระคัมภีร์ คืออ่านจากมุมมองของบุคคลต่างๆ ในเรื่อง ขณะทำเช่นนั้น ให้หยุดบ่อยๆ เพื่อพยายามจินตนาการว่าบุคคลนั้นจะรู้สึกอย่างไรหรือคิดอะไรในช่วงต่างๆ ของเรื่อง

เพื่อฝึกทักษะนี้ โดยเลือกให้ความสนใจบุคคลเหล่านี้หนึ่งคนขณะศึกษาเรื่องที่พระเยซูทรงสอนในคาเปอรนาอุม:

เพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้หลากหลายมุมมอง ท่านอาจแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสามคนและขอให้นักเรียนแต่ละคนในกลุ่มให้ความสนใจแต่ละบุคคลในเรื่องแตกต่างกันไป

  • คนเป็นอัมพาต (“คนง่อย” ตามที่ใช้ในเรื่องนี้หมายความว่าเขาเป็นอัมพาต)

  • หนึ่งในสี่คนที่หามคนเป็นอัมพาต

  • หนึ่งในคนที่ฟังพระเยซูอยู่ในบ้าน

อ่าน มาระโก 2:1–3 โดยสมมติว่าท่านเป็นคนที่ท่านเลือก

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ในกลุ่มสามคน

  • ท่านคิดว่าบุคคลนี้น่าจะประสบความท้าทายอะไรบ้าง หากมี?

  • ท่านจินตนาการว่าบุคคลนี้เห็น ได้ยิน คิดอะไร และรู้สึกอย่างไร?

  • บุคคลนี้น่าจะหวังได้รับอะไรเวลาพวกเขาอยู่กับพระเยซูคริสต์?

อ่าน มาระโก 2:4 โดยดูว่ากลุ่มคนที่หามชายคนนั้นทำอะไรบ้างเพื่อให้เขาได้เข้าใกล้พระเยซูคริสต์ ท่านอาจต้องการดูวีดิทัศน์เรื่อง “Jesus Forgives Sins and Heals a Man Stricken with Palsy” บน ChurchofJesusChrist.org ตั้งแต่รหัสเวลา 0:00 ถึง 1:07 ด้วย

เชิญนักเรียนอย่างน้อยสามคนตอบคำถามของแต่ละคนในเรื่องโดยออกเสียง

  • ท่านจินตนาการว่าในเรื่องนี้คนที่ท่านเลือกกำลังคิดอะไรและรู้สึกอย่างไร ณ ตอนนี้? เพราะอะไร?

  • ท่านคิดว่าพวกเขาคาดหวังให้พระเยซูทรงทำหรือตรัสอะไร?

อ่าน มาระโก 2:5 เพื่อทราบว่าพระเยซูตรัสอะไรกับชายคนนั้น

เชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ในกลุ่มสามคน

  • เหตุใดพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดใน ข้อ 5 อาจทำให้คนที่ท่านให้ความสนใจประหลาดใจ?

บางคนที่อยู่ในเหตุการณ์นี้สงสัยสิทธิอำนาจของพระผู้ช่วยให้รอดในการให้อภัยบาป อ่าน มาระโก 2:6–12 โดยดูว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเพื่อแสดงสิทธิอำนาจของพระองค์ในการให้อภัย วลี “บุตรมนุษย์” ใน ข้อ 10 อ้างถึงพระเยซูคริสต์ที่ทรงเป็นพระบุตรของ “มหาบุรุษแห่งความบริสุทธิ์,” คือพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา (ดู โมเสส 6:57) ท่านอาจต้องการดูวีดิทัศน์เรื่อง “Jesus Forgives Sins and Heals a Man Stricken with Palsy” ต่อตั้งแต่รหัสเวลา 1:07 ถึง 2:57

  • นึกถึงคนที่ท่านให้ความสนใจในเรื่อง ท่านนึกภาพคนนี้มีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสและทำ?

  • ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อให้ความสนใจเป็นคนๆ ในเรื่อง?

เดชานุภาพการเยียวยาของพระเยซูคริสต์

ความจริงข้อหนึ่งที่ท่านอาจค้นพบเมื่อศึกษาเรื่องนี้คือ พระเยซูคริสต์ทรงมีเดชานุภาพเยียวยาเราทางร่างกายและทางวิญญาณ

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟเป็นพยานเมื่อครั้งอยู่ในฝ่ายประธานสูงสุดถึงเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดในการเยียวยาความเจ็บป่วยทางวิญญาณ

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการของเอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง, 2006 ได้รับเรียกเป็นที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการที่ถ่ายในปี 2008 ใช้แทนภาพที่ถ่ายในปี 2004

บางครั้งความเจ็บป่วยทางวิญญาณเกิดขึ้นเนื่องจากบาปหรือบาดแผลทางอารมณ์ …

แม้แต่บาดแผลทางวิญญาณที่ลึกที่สุด—แม้แต่บาดแผลที่ดูเหมือนจะรักษาไม่หาย—ก็สามารถหายได้

เพื่อนรักทั้งหลาย เดชานุภาพการเยียวยาของพระเยซูคริสต์ยังมีอยู่ในยุคสมัยของเรา

สัมผัสการเยียวยาของพระผู้ช่วยให้รอดสามารถเปลี่ยนชีวิตในยุคสมัยของเราเหมือนที่เคยเปลี่ยนมาแล้วในยุคสมัยของพระองค์ ขอแค่เรามีศรัทธา พระองค์จะทรงจับมือเรา เติมแสงจากสวรรค์และการเยียวยาให้จิตวิญญาณเราและตรัสกับเราด้วยพระคำอันเป็นพรว่า “ลุกขึ้นเถิด จงยกแคร่ของท่านเดินไป” [ ยอห์น 5:8 ]

(ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ผู้ดำรงแสงจากสวรรค์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 78)

  • ตัวอย่างบาดแผลทางวิญญาณที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาหายมีอะไรบ้าง?

ท่านอาจเขียนบนกระดานว่า พระเยซูคริสต์เท่านั้นสามารถรักษา ________ให้หายขาด แล้วเชื้อเชิญให้นักเรียนเติมคำในช่องว่าง

  • การรู้ว่าพระองค์ทรงสามารถรักษาบาดแผลทางวิญญาณจะเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร?

ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้เกี่ยวกับความจริงนี้ ท่านอาจบันทึกความคิดลงในสมุดบันทึกการศึกษา

  • มีบาดแผลทางวิญญาณในชีวิตท่านที่ต้องรักษาหรือไม่?

  • ท่านจะแสวงหาเดชานุภาพการเยียวยาของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?

  • ท่านรู้จักคนอื่นๆ ที่ต้องการเดชานุภาพการเยียวยาของพระเยซูคริสต์หรือไม่? ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าถึงเดชานุภาพนั้น?

แสดงประจักษ์พยานถึงความรักที่พระเยซูคริสต์ทรงมีให้เราแต่ละคนและเดชานุภาพที่พระองค์จะทรงเยียวยาเรา

แบ่งปันสิ่งที่ท่านเรียนรู้

ขณะศึกษาเรื่องอื่นๆ ในพระคัมภีร์ปีนี้ ท่านอาจใช้ทักษะของการให้ความสนใจเป็นคนๆ อาจเป็นประโยชน์ถ้าอ่านข้อหนึ่งหลายๆ ครั้ง โดยไตร่ตรองทุกครั้งว่าแต่ละคนในเรื่องราวน่าจะได้เรียนรู้อะไร

สมมติว่าคนที่ท่านให้ความสนใจขณะศึกษาเรื่องนี้ต้องการอธิบายกับเพื่อนว่าพวกเขาเห็นอะไรและรู้สึกอย่างไรวันนั้น ใช้เวลาสักครู่เขียนในสมุดบันทึกการศึกษาว่าท่านนึกภาพพวกเขาอธิบายประสบการณ์โดยละเอียดอย่างไร รวมสิ่งที่ท่านคิดว่าพวกเขาเรียนรู้และรู้สึกเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ไว้ด้วย

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ศรัทธาของฉันจะมีอิทธิพลต่อคนที่ฉันรักได้หรือไม่?

เอ็ลเดอร์ชี ฮอง (แซม) วองแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่า

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการของเอ็ลเดอร์ชี ฮอง (แซม) วอง ถ่ายเมื่อเดือนมีนาคม 2017

ข้าพเจ้าขอแบ่งสมบัติอีกชิ้นหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในพระคัมภีร์เรื่องนี้ให้กับท่าน สมบัตินั้นอยู่ในข้อ 5: “เมื่อพระเยซูทรงทอดพระเนตรเห็นความเชื่อ ของพวกเขา” (เพิ่มตัวเอน) ข้าพเจ้าไม่เคยสังเกต—ความเชื่อของพวกเขา มาก่อน การผนวกศรัทธาของเราจะส่งผลต่อความผาสุกของผู้อื่น

ใครคือคนเหล่านั้นที่พระเยซูตรัสถึง? พวกเขาอาจได้แก่คนสี่คนนั้นที่หามคนง่อย คนง่อยเอง คนที่สวดอ้อนวอนให้เขา ทุกคนที่กำลังฟังการสั่งสอนของพระเยซูและคอยเอาใจช่วยอยู่เงียบๆ ให้เกิดปาฏิหาริย์ในไม่ช้า อาจได้แก่คู่สมรส พ่อหรือแม่ ลูกชายหรือลูกสาว ผู้สอนศาสนา ประธานโควรัม ประธานสมาคมสงเคราะห์ อธิการ และมิตรสหายที่อยู่แดนไกลด้วย เราทุกคนสามารถช่วยเหลือกัน เราควรใจจดใจจ่อเสมอกับการหาทางช่วยเหลือคนเดือดร้อนขัดสน

(ดู ชี ฮอง [แซม] วอง, “ให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นเอกภาพ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 16)

พระเยซูทรงพิสูจน์อะไรกับพวกธรรมาจารย์โดยทรงรักษาคนง่อย?

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า:

ภาพ
ภาพครึ่งตัวเฉพาะช่วงศีรษะถึงไหล่ของเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

ทั้งพระเยซูและ “อาจารย์สอนธรรมบัญญัติ” ผู้อยู่ที่นั่นตอนนั้นรู้ว่าไม่มีใครให้อภัยบาปได้นอกจากพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้ ในฐานะพยานที่เห็นโดยตรงว่าเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ในพระองค์ … พระเยซูทรงทำสิ่งที่ไม่มีตัวปลอมคนใดทำได้—พระองค์ทรงพิสูจน์เดชานุภาพของพระองค์โดยทรงรักษาชายที่ได้รับการอภัย สำหรับคำถามของเขาว่า “ต้องใช้เดชานุภาพในการอภัยบาปมากกว่าการทำให้คนป่วยลุกขึ้นเดินไหม” คำตอบมีเพียงหนึ่งเดียว! เดชานุภาพทั้งสองอย่างเป็นหนึ่งเดียว พระองค์ผู้ทรงสามารถทำอย่างหนึ่งได้ ย่อมทรงสามารถทำอีกอย่างหนึ่งได้

(บรูซ อาร์. แมคคองกี, Doctrinal New Testament Commentary [1973], 1:177–178)

กิจกรรมเสริมการเรียนรู้

การนำผู้อื่นมาหาพระผู้ช่วยให้รอด

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทำตามแบบอย่างของคนสี่คนที่ตัดสินใจพาคนเป็นอัมพาตมาหาพระคริสต์ เชื้อเชิญให้พวกเขานึกถึงคนที่พวกเขารักเป็นพิเศษผู้ต้องการให้ช่วยมาหาพระผู้ช่วยให้รอดและวางแผนช่วยเหลือพวกเขา พวกเขาอาจรวมคนอื่นไว้ในแผนด้วย เหมือนที่คนเป็นอัมพาตได้รับความช่วยเหลือจากคนมากกว่าหนึ่งคน ข้อความจากเอ็ลเดอร์วองในหมวด “บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง” ของบทเรียนนี้ (หรือคำปราศรัยทั้งหมดของท่าน) อาจช่วยให้นักเรียนเข้าใจความสำคัญของการผนึกศรัทธาของพวกเขากับผู้อื่น

การช่วยเหลือผู้อื่น

ท่านอาจฉายวีดิทัศน์เรื่อง “Dayton’s Legs” (3:02) ที่ ChurchofJesusChrist.org วีดิทัศน์เรื่องนี้เป็นเรื่องของเด็กชายวัย 13 ปีช่วยเพื่อนที่สมองพิการลงแข่งไตรกีฬา หลังจากฉายวีดิทัศน์แล้ว ให้นักเรียนไตร่ตรองความสำคัญของการช่วยผู้อื่นทำสิ่งที่พวกเขายังไม่แข็งแรงพอจะทำด้วยตนเอง พวกเขาอาจนึกถึงตัวอย่างของการช่วยเหลือผู้อื่น เช่น ชวนเพื่อนมาโบสถ์หรือไปพระวิหารถ้าเพื่อนไปเองไม่ได้