เซมินารี
โคโลสี 1–2


โคโลสี 1–2

“จงหยั่งรากและก่อร่างสร้างขึ้นในพระองค์”

ภาพ
ภาพแสดงรากของต้นไม้ที่เติบโตในสภาพลมแรง

มีพลังธรรมชาติที่สามารถถอนรากถอนโคนหรือทำลายต้นไม้ได้ฉันใด ย่อมมีพลังที่พยายามถอนรากถอนโคนเราแต่ละคนจากรากฐานทางวิญญาณในพระเยซูคริสต์ฉันนั้น (ดู ฮีลามัน 5:12) เปาโลเขียนสาส์นถึงชาวโคโลสีเพราะคำสอนและการปฏิบัติเทียมเท็จคุกคามศรัทธาของพวกเขา บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านรับรู้พลังที่คุกคามศรัทธาของท่านและวิธีที่ท่านจะแน่วแน่มากขึ้นในพระเยซูคริสต์

ท่านเป็นเหมือนต้นไม้อย่างไร?

1. วาดภาพต้นผลไม้ที่ท่านชอบเป็นพิเศษและทำตามคำแนะนำให้เติมภาพนั้นตลอดบทเรียน:

  • คิดดูว่าท่านเป็นเหมือนต้นไม้ต้นนี้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ให้นึกถึงพลังที่พยายามถอนรากถอนโคนหรือทำลายศรัทธาของท่านในพระคริสต์ คิดถึงสาเหตุที่ท่านต้องการความช่วยเหลือขณะยืนหยัดต่อต้านพลังเหล่านั้นเพื่อรับผลของพระกิตติคุณ

เปาโลใช้สัญลักษณ์ของต้นไม้ช่วยให้วิสุทธิชนในโคโลสีมองเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ของตนกับพระเยซูคริสต์ เขาใช้ต้นไม้เสริมความแข็งแกร่งให้คนเหล่านั้นต่อต้านคำสอนและการปฏิบัติเทียมเท็จซึ่งคุกคามศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์ แสวงหาการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อเข้าใจถ้อยคำของเปาโลได้ดีขึ้นและมุ่งมั่นประยุกต์ใช้ถ้อยคำเหล่านั้น

ผลของต้นไม้

คิดถึงผลไม้ที่มาจากต้นที่ท่านวาดและเหตุผลที่ท่านชอบผลไม้นั้น

อ่าน โคโลสี 1:10–22 หา “ผล” (หรือพร) ที่เปาโลพูดถึง และคิดว่าเหตุใดท่านจึงปรารถนาผลไม้เหล่านี้ วาดผลไม้บนต้นไม้ของท่านแล้วเขียนคำสอนของเปาโลไว้ที่ผลเหล่านั้น

  • เปาโลพูดถึงผลหรือพรอะไรบ้าง?

  • ท่านได้รับผลใดเหล่านี้ในปัจจุบัน?

  • ท่านต้องการได้รับผลใด? เพราะเหตุใด?

เขียนข้อความต่อไปนี้ลงในบันทึกการศึกษาของท่านและเขียนคำตอบของคำถามก่อนหน้านี้ลงในช่องว่างช่องแรก:

  • ถ้าฉันต้องการ ฉันต้อง

อ่าน โคโลสี 1:23 เพื่อมองหาสิ่งที่เปาโลกล่าวว่าเราต้องทำก่อนจึงจะได้รับผลเหล่านี้ เติมสิ่งที่ท่านพบลงในช่องที่สอง

  • การ “ดำรงอยู่ในความเชื่ออย่างแน่วแน่มั่นคง” เป็นอย่างไร? (โคโลสี 1:23)

  • ท่านรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่กระตุ้นท่านให้ยังคงแน่วแน่มั่นคงในพระองค์?

  • ท่านพบความจริงเพิ่มเติมอะไรบ้างเกี่ยวกับพระองค์ในข้อเหล่านี้ที่เพิ่มความมั่นใจหรือความปรารถนาจะแน่วแน่มั่นคงของท่านในพระองค์?

อ่าน โคโลสี 2:6–7 เพื่อมองหาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับรากต้นไม้ของเรา เขียนรอบต้นไม้ของท่านตามที่เปาโลกล่าว

  • เปาโลสอนว่าเราจะต้องปลูกรากของเราที่ใด?

  • ท่านคิดว่าการ “หยั่งราก” ในพระคริสต์หมายถึงอะไร?

  • การหยั่งรากตัวเราเองในพระเยซูคริสต์ช่วยให้เราแน่วแน่มั่นคงอย่างไร? มีลักษณะอย่างไร?

นึกถึงคนที่ท่านรู้จักผู้แสดงให้เห็นว่าแน่วแน่ มั่นคง และหยั่งรากในพระเยซูคริสต์

ต่อไปนี้เป็นสองตัวอย่างของคนที่หยั่งรากในพระคริสต์ สตีเวน เจ. ลันด์ประธานเยาวชนชายสามัญยกตัวอย่างบุตรชายที่ป่วยหนักของท่านแต่ยังคงทำหน้าที่ฐานะปุโรหิตของเขาอย่างซื่อสัตย์ หากทำได้ ให้ดู “ค้นพบปีติในพระคริสต์” ตั้งแต่รหัสเวลา 0:09 ถึง 3:57 เพื่อฟังเรื่องนี้

บราเดอร์เอ็ม. โจเซฟ บรัฟผู้รับใช้ในฝ่ายประธานเยาวชนชายสามัญเล่าเรื่องบุตรสาววัยรุ่นของท่านที่อดทนอย่างซื่อสัตย์ต่อความท้าทายของการย้ายไปที่ใหม่และเลือกรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา หากทำได้ ให้ดู “จงเงยหน้าขึ้นและชื่นชมยินดีเถิด” ตั้งแต่รหัสเวลา 5:48 ถึง 7:48 เพื่อฟังเรื่องนี้

วาดรากลึกและแข็งแรงสำหรับต้นไม้ของท่าน ที่รากบางรากให้เขียนคุณลักษณะที่ผู้คนเหล่านี้มีหรือการกระทำที่พวกเขาทำซึ่งท่านรู้สึกว่าเชื่อมโยงกับพระเยซูคริสต์อย่างมั่นคง

ทบทวน โคโลสี 1:23; 2:6–7 แล้วอ่าน โคโลสี 2:8, 12 และคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด ที่รากของต้นไม้ของท่านให้เขียนวิธีเพิ่มเติมที่เราสามารถเชื่อมโยงกับพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ถ่ายเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2018

เราต้องพยายามหยั่งรากอย่างมั่นคงและเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (ดู โคโลสี 2:6–7) เราบรรลุการเปลี่ยนใจเลื่อมใสนี้โดยการสวดอ้อนวอน โดยการอ่านพระคัมภีร์ โดยการรับใช้ และโดยการรับส่วนศีลระลึกเป็นประจำเพื่อจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเราตลอดเวลา เราต้องแสวงหาการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจด้วย (ดู แอลมา 5: 12–14) เพื่อให้ความรักของพระผู้เป็นเจ้าและความปรารถนาจะรับใช้พระองค์และลูกๆ ของพระองค์มาแทนที่ความปรารถนาอันชั่วร้ายและความกังวลอันเห็นแก่ตัว

(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “อุปมาเรื่องผู้หว่านพืช,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 35)

  • ชีวิตท่านจะต่างจากนี้อย่างไรหากท่านแน่วแน่มั่นคงในพระคริสต์มากขึ้น?

คนจำนวนมากอาจเลือกทำสิ่งที่จะทำให้รากลึกของตนในพระคริสต์หยั่งลึกมากขึ้น แต่วิธีที่พวกเขาทำตามการเลือกเหล่านั้นไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีความหมายแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น บางคนอาจอ่านพระคัมภีร์ทุกวันแต่ไม่ได้ใช้เวลาระบุ ไตร่ตรอง และประยุกต์ใช้ความจริงจากพระคัมภีร์ ไตร่ตรองว่าท่านจะทำตามการเลือกของท่านอย่างไรและท่านต้องทำการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ต้านพลังที่ถอนรากถอนโคน

มีพลังธรรมชาติที่สามารถถอนรากถอนโคนหรือทำลายต้นไม้ได้ฉันใด ย่อมมีพลังที่พยายามถอนรากถอนโคนเราจากรากฐานทางวิญญาณในพระเยซูคริสต์ได้ฉันนั้น

วาดลมหรือพายุรอบต้นไม้ของท่านที่อาจถอนรากถอนโคนต้นไม้ของท่าน ที่ลมและพายุเหล่านี้ให้เขียนพลังที่อาจถอนรากถอนโคนท่านทางวิญญาณจากการแน่วแน่มั่นคงในพระเยซูคริสต์ ท่านอาจต้องการอ่าน โคโลสี 2:4, 8 เพื่อดูพลังบางอย่างที่วิสุทธิชนในโคโลสีกำลังประสบ

  • รากที่ท่านระบุในวันนี้จะช่วยให้ท่านได้รับพลังจากพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อยืนหยัดต้านพลังที่ท่านระบุไว้ได้อย่างไร?

ถ้าทำได้ ให้ดู “ลมหมุนทางวิญญาณ” (2:24) ดูว่าการแน่วแน่มั่นคงในพระคริสต์จะช่วยท่านได้อย่างไร

ขอความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์ผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อระบุสิ่งที่ท่านทำได้ดีและสิ่งที่ท่านสามารถจะทำได้ดีกว่านี้เพื่อแน่วแน่มั่นคงมากขึ้นในพระเยซูคริสต์ เขียนความคิดและความประทับใจของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน และให้คำมั่นว่าจะทำตามสิ่งเหล่านั้น

เลือกได้: ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมหรือไม่?  

เหตุใดเราจึงต้องหยั่งรากในพระคริสต์?

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า:

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการภาพสุดท้ายของเอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ ปี 1992

เหตุการณ์และสภาวการณ์ในยุคสุดท้ายทำให้เราเหล่าสมาชิกศาสนจักรจำเป็นต้องมั่นคง หยั่งราก ยืนหยัด และแน่วแน่มากขึ้น (ดู โคโลสี 1:23; 2:7; 2 เปโตร 1:12) พระเยซูตรัสกับบรรดาสานุศิษย์ของพระองค์ “จงตั้งใจแน่วแน่ว่าเจ้าจะทำสิ่งที่เราจะสอน และบัญชาเจ้า” [Joseph Smith Translation, Luke 14:28] หากไม่แน่วแน่ คลื่นลมปั่นป่วนรุนแรงแน่นอน หากแน่วแน่ เราจะไม่ถูก “ซัดไปซัดมา” [เอเฟซัส 4:14] ไม่ว่าจะตามข่าวลือ หลักคำสอนเท็จ หรือตามกระแสพฤติกรรมและสติปัญญาของโลก …

อย่างไรก็ตาม เราจะแน่วแน่ในการทำสิ่งที่พระเยซูทรงบัญชาไม่ได้ เว้นแต่ เราจะแน่วแน่เกี่ยวกับพระองค์ก่อน … ดังนั้นภารกิจของเราคือทำให้ “[ตัวเราเอง] คืนดีกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า, และมิใช่กับความประสงค์ของ … เนื้อหนัง” (2 นีไฟ 10:24)

(นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “Overcome … Even As I Also Overcame,” Liahona, May 1987, 70)

ท่านอาจต้องการดูเรื่อง “พบที่พักพิงจากมรสุมชีวิต” ตั้งแต่รหัสเวลา 0:00 ถึง 3:49 เพื่อดูเอ็ลเดอร์ริคาร์โด พี. ฮิเมเนซให้ข้อคิดเพิ่มเติม

โคโลสี 2:13–15 เปาโลสอนอะไรวิสุทธิชนในโคโลสีเกี่ยวกับสัญลักษณ์ของการตรึงกางเขนพระผู้ช่วยให้รอด?

เปาโลย้ำเตือนวิสุทธิชนว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงให้อภัยพวกเขาแล้ว (ดู โคโลสี 1:14, 20, 22) จินตภาพที่เปาโลใช้ใน โคโลสี 2:14–15 เน้นว่าการชดใช้ของพระคริสต์ทำให้เราได้รับการอภัยบาปอย่างไร ในสมัยของเปาโลชาวโรมันมีธรรมเนียมว่าต้องเขียนป้ายประกาศความผิดที่ผู้ถูกกล่าวโทษทำไว้ เมื่อผู้ทำผิดถูกตรึงกางเขน ป้ายนั้นจะถูกตอกตะปูติดกับไม้กางเขนให้คนที่สัญจรไปมามองเห็น (ดู ยอห์น 19:19–22) เปาโลใช้จินตภาพนี้ใน ข้อ 13–15 เพื่อสอนชาวโคโลสีว่าพวกเขาได้รับการอภัยแล้ว ประหนึ่งข้อกล่าวหาและคำกล่าวหาทางวิญญาณทั้งหมดต่อวิสุทธิชนชาวโคโลสีที่ถูกเขียนลงบนป้ายประกาศและตอกตะปูติดกับไม้กางเขน ได้ถูกลบหรือลบล้างผ่านการตรึงกางเขนพระเยซูคริสต์แล้ว