เซมินารี
2 ทิโมธี 4


2 ทิโมธี 4

“ข้าพเจ้าได้รักษาความเชื่อไว้แล้ว”

ภาพ

การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นพรแก่เราหลายด้าน แม้เราจะพบเจอการทดลองและการข่มเหง แต่โดยผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราจะยังองอาจได้จนกว่าชีวิตจะหาไม่ หลังจากมุ่งมั่นติดตามพระผู้ช่วยให้รอดหลายสิบปี เปาโลทราบว่าอีกไม่นานเขาจะถูกฆ่า ในจดหมายฉบับสุดท้ายถึงทิโมธี เขาบอกว่าเหตุใดการมีศรัทธาอยู่เสมอจึงคุ้มค่าสำหรับเขาและทุกคนที่เลือกอดทนด้วยศรัทธา บทเรียนนี้มุ่งหมายจะช่วยให้ท่านมุ่งมั่นหรือยังคงมุ่งมั่นเป็นสานุศิษย์ชั่วชีวิตของพระเยซูคริสต์

อดทนอย่างซื่อสัตย์

จินตนาการว่าจะเป็นอย่างไรถ้าท่านรู้ว่ากำลังจะตาย

  • ท่านหวังจะพูดอะไรเกี่ยวกับชีวิตท่านเมื่อวันนั้นมาถึง?

  • อะไรจะสำคัญต่อท่าน ณ เวลานั้น? อะไรจะไม่สำคัญ?

  • ท่านคิดว่าการพยายามติดตามพระผู้ช่วยให้รอดตลอดชีวิตท่านจะส่งผลต่อท่านในเวลานั้นอย่างไร?

หลังจากรับใช้อย่างองอาจมาหลายทศวรรษในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ เปาโลเขียนถึงทิโมธีจากคุกโรมันโดยทราบว่าอีกไม่นานเขาจะถูกประหาร นี่น่าจะเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายที่เปาโลเขียนซึ่งรวมอยู่ในพันธสัญญาใหม่ เราได้รับพรให้สามารถอ่านข้อคิดสุดท้ายบางอย่างของชายที่ยิ่งใหญ่ผู้นี้ขณะเขาใคร่ครวญชีวิตตนและความตายที่ใกล้เข้ามา

เปาโลเปรียบเทียบการพยายามมีศรัทธาอยู่เสมอกับการกระทำสองอย่างแตกต่างกัน อ่าน 2 ทิโมธี 4:6–7 และมองหาการเปรียบเทียบของเปาโล

ภาพ
ชายสองคนกำลังชกมวยบนสังเวียนโดยมีชายคนหนึ่งเป็นกรรมการ
ภาพ
ชายหนุ่มสองคนอยู่ข้างนอก พวกเขากำลังวิ่งบนลู่วิ่ง ที่นี่คือลิสบอน โปรตุเกส
  • เหตุใดการต่อสู้อย่างเต็มกำลังและการวิ่งแข่งจนถึงเส้นชัยจึงเป็นการเปรียบเทียบที่มีประสิทธิภาพกับการรักษาศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ไว้ตลอดชีวิต?

ไตร่ตรองหนึ่งนาทีว่าท่านเป็นอย่างไร ณ จุดนี้ของชีวิตท่านในการวิ่งแข่งหรือการต่อสู้ของท่านเพื่อเปี่ยมด้วยศรัทธาต่อพระคริสต์อยู่เสมอ ท่านเคยรู้สึกเหนื่อย ถูกโบยตี หรือได้รับบาดเจ็บหรือไม่? ท่านเคยถูกล่อลวงให้ยอมแพ้หรือไม่? พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยท่านในสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร? ขณะที่ท่านศึกษาในวันนี้ ให้คิดว่าเหตุใดจึงคุ้มค่าที่ท่านจะวิ่งแข่งต่อไปหรือต่อสู้ในการเป็นสานุศิษย์

สิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมอบให้กับผู้เปี่ยมด้วยศรัทธา

อ่าน 2 ทิโมธี 4:8 เพื่อดูพรที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตรียมไว้ให้เปาโลและทุกคนที่อดทนอย่างซื่อสัตย์

มงกุฎนี้เป็นสัญลักษณ์แทนชีวิตนิรันดร์กับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าความสูงส่ง

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเปาโลจึงเรียกถึงพรนี้ที่พระเยซูคริสต์ทรงมอบให้เราว่าเป็น “มงกุฎแห่งความชอบธรรม”?

ความจริงอย่างหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้จากข้อนี้คือ: เพราะพระเยซูคริสต์ ทุกคนที่อดทนอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่จะได้รับชีวิตนิรันดร์

1. ตอบคำถามต่อไปนี้อย่างน้อยสองข้อลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน:

  • วลี “อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่” มีความหมายต่อท่านอย่างไร? ตอนนี้ท่านต้องอดทนในด้านใดบ้าง? อะไรทำให้การอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่เป็นเรื่องท้าทาย?

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของการอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ในด้านใดบ้าง? (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16–19)

  • การอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ของพระผู้ช่วยให้รอดส่งผลต่อเราอย่างไร?

ใช้เวลาคิดสักครู่ว่าใครอาจจะได้รับผลจากการที่ท่านเลือกอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ความหวังของเราอยู่ในพระเยซูคริสต์

เอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์ (1922–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าเนื่องความการอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่เป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง เราจึงไม่สามารถอดทนได้เพียงลำพัง ท่านสอนว่า:

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการภาพสุดท้ายของเอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ปี 2004 ถึงแก่กรรมเมื่อ 30 พฤษภาคม ปี 2015

การอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ไม่ใช่โครงการที่ทำเองได้ … ต้องอาศัยเดชานุภาพการไถ่ของพระผู้ช่วยให้รอด

(ดู แอล. ทอม เพอร์รีย์, “พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 56)

เหมือนเปาโล หลายคนอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ด้วยความช่วยเหลือของพระผู้ช่วยให้รอด อ่านพระคัมภีร์มอรมอนข้อต่อไปนี้อย่างน้อยสองข้อ ดูว่าความสัมพันธ์กับพระผู้ช่วยให้รอดมีอิทธิพลต่อศาสดาพยากรณ์แต่ละท่านเหล่านี้อย่างไรเมื่อพวกท่านอดทนอย่างซื่อสัตย์และใกล้ตาย

  • สานุศิษย์เหล่านี้พูดถึงความสัมพันธ์ของตนกับพระเยซูคริสต์ว่าอย่างไร?

  • ความสัมพันธ์นั้นส่งผลต่อความรู้สึกของสานุศิษย์เหล่านี้อย่างไรเกี่ยวกับความตายของพวกเขา?

ท่านจะให้คำแนะนำอะไร?

2. ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน:

  • ท่านจะให้คำแนะนำอะไรกับคนที่เปี่ยมด้วยศรัทธาผู้กังวลว่าตนไม่เข้มแข็งพอจะอดทน?

  • ท่านจะพูดอะไรกับคนที่เลิกติดตามพระผู้ช่วยให้รอดไปแล้ว และตอนนี้รู้สึกว่าสายเกินกว่าจะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง? ท่านจะใช้แบบอย่างชีวิตของเปาโลช่วยให้พวกเขาเห็นได้อย่างไรว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถช่วยเราเปลี่ยนและเริ่มต้นใหม่ได้?

  • พวกเขาจะทำขั้นตอนใดได้บ้างเพื่อหันมาขอความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอด?

อะไรคือข่าวสารสำหรับท่าน?

กลับไปที่ 2 ทิโมธี 4 และอ่าน ข้อ 6–8, 18 นึกภาพตัวท่านในอนาคตสามารถพูดสิ่งที่เปาโลพูดขณะท่านใกล้ถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แล้วตอบคำถามต่อไปนี้:

  • ท่านรู้สึกว่าอะไรคือข่าวสารของพระบิดาบนสวรรค์ถึงท่าน?

  • สิ่งที่ท่านได้เรียนรู้และรู้สึกวันนี้ช่วยให้ท่านเข้าใจความจำเป็นของการมีพระเยซูคริสต์ดีขึ้นอย่างไร?

  • ท่านรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ทำอะไร?

เลือกได้: ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมหรือไม่?

เราอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่อย่างไร?

เอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์ (1922–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า:

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการภาพสุดท้ายของเอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ปี 2004 ถึงแก่กรรมเมื่อ 30 พฤษภาคม ปี 2015

การอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่เรียกร้องความศรัทธาจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เหมือนในกรณีของเปาโลผู้บอกทิโมธีว่า “ข้าพเจ้าได้ต่อสู้อย่างเต็มกำลัง ข้าพเจ้าได้วิ่งแข่งจนครบถ้วน ข้าพเจ้าได้รักษาความเชื่อไว้แล้ว” (2 ทิโมธี 4:7) เห็นได้ชัดว่านี่ไม่ใช่งานง่าย งานนี้จงใจให้เป็นงานยาก ท้าทาย และสุดท้ายคือขัดเกลาขณะที่เราเตรียมกลับไปอยู่กับพระบิดาในสวรรค์ของเราและรับพรนิรันดร์

(ดู แอล. ทอม เพอร์รีย์, “พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 56)

ดูวีดิทัศน์เรื่อง “อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่” (2:04) ที่ ChurchofJesusChrist.org เพื่อดูว่าประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ อดีตฝ่ายประธานสูงสุดช่วยตอบคำถามนี้อย่างไร

จะทำอย่างไรถ้าบางครั้งเรามองไม่ค่อยเห็นพรของการมีศรัทธาอยู่เสมอ?

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า:

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ ถ่ายเมื่อเดือนมกราคม ปี 2018

อย่าหยุด เดินต่อไป พยายามต่อไป มีความช่วยเหลือและความสุขอยู่ข้างหน้า … สุดท้ายทุกอย่างจะดี วางใจพระผู้เป็นเจ้าและเชื่อในสิ่งดีๆ ที่จะมาถึง

… พรบางอย่างมาเร็ว บางอย่างมาช้า และบางอย่างไม่มาจนวาระสุดท้ายของชีวิต แต่สำหรับผู้ที่น้อมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พรจะมา

(ดู เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “มหาปุโรหิตแห่งสิ่งประเสริฐซึ่งจะมาถึง,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 45)