คู่มือและการเรียก
27. ศาสนพิธีพระวิหารสำหรับคนเป็น


“27. ศาสนพิธีพระวิหารสำหรับคนเป็น” คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (2020)

“27. ศาสนพิธีพระวิหารสำหรับคนเป็น” คู่มือทั่วไป

ภาพ
เจ้าสาวและเจ้าบ่าว

27.

ศาสนพิธีพระวิหารสำหรับคนเป็น

27.0

บทนำ

ตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อใดก็ตามที่คนซื่อสัตย์อยู่บนแผ่นดินโลก พระผู้เป็นเจ้าประทานพรพวกเขาด้วยพันธสัญญาและศาสนพิธีพระวิหาร บางครั้งพระองค์ทรงยอมให้ปฏิบัติศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์นอกพระวิหารเมื่อไม่มีพระวิหารที่อุทิศแล้ว (ดู ปฐมกาล 28:12–22; อพยพ 24; อพยพ 25:8–9; อีเธอร์ 3) แต่เมื่อใดก็ตามที่พระเจ้าทรงสถาปนาศาสนจักร พระองค์ทรงบัญชาผู้คนของพระองค์ให้สร้างพระนิเวศน์ “แด่นาม [ของพระองค์]” ที่นั่นพระองค์ทรงเปิดเผยศาสนพิธีและรัศมีภาพแห่งอาณาจักรของพระองค์และทรงสอนหนทางแห่งความรอด (ดู 2 พงศาวดาร 3–5; 2 นีไฟ 5:16; หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:10–16; 124:29–39)

พระวิหารเป็นพระนิเวศน์ของพระเจ้า ชี้ทางเราไปหาพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์ ในพระวิหาร เรามีส่วนร่วมในศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์และทำพันธสัญญากับพระบิดาบนสวรรค์ที่ผูกมัดเราไว้กับพระองค์และกับพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พันธสัญญาและศาสนพิธีเหล่านี้เตรียมเราให้พร้อมกลับไปที่ประทับของพระบิดาบนสวรรค์และรับการผนึกด้วยกันเป็นครอบครัวชั่วนิรันดร์

ในพระวิหารมีพรอันสำคัญยิ่งให้กับบุตรธิดาที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ในชีวิตนี้เช่นกัน ในพันธสัญญาและศาสนพิธีพระวิหาร “พลังอำนาจของความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าจึงแสดงให้ประจักษ์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:20) พระวิหารเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสมาชิกสามารถนมัสการ เรียนรู้ รับการนำทางและการปลอบโยน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:13–16) คนที่เข้าพระวิหารสามารถเข้าถึงเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อช่วยทำงานของพระองค์ให้บรรลุผลสำเร็จ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:22–23; ดู 3.5 ในคู่มือนี้ด้วย)

พันธสัญญาและศาสนพิธีพระวิหารมีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรนำเรื่องสัญลักษณ์เกี่ยวกับพันธสัญญาพระวิหารมาสนทนานอกพระวิหาร ทั้งไม่ควรสนทนาข้อมูลศักดิ์สิทธิ์ที่เราสัญญาในพระวิหารว่าจะไม่เปิดเผย แต่เราอาจสนทนาจุดประสงค์เบื้องต้นและหลักคำสอนเรื่องพันธสัญญาและศาสนพิธีพระวิหารตลอดจนความรู้สึกทางวิญญาณที่เรามีในพระวิหาร

ผู้นำวอร์ดและผู้นำสาขาสนทนาข้อมูลในบทนี้กับสมาชิกที่กำลังเตรียมรับเอ็นดาวเม้นท์หรือศาสนพิธีการผนึก

27.1

การรับศาสนพิธีพระวิหาร

27.1.1

การเตรียมรับศาสนพิธีพระวิหาร

สมาชิกควรเตรียมตนเองให้พร้อมทางวิญญาณเพื่อรับศาสนพิธีพระวิหาร ทำและให้เกียรติพันธสัญญาพระวิหาร

บิดามารดามีหน้าที่รับผิดชอบเบื้องต้นในการช่วยบุตรธิดาเตรียมรับศาสนพิธีพระวิหาร ผู้นำสเตค ผู้นำวอร์ด บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ และครอบครัวเครือญาติสนับสนุนบิดามารดาในบทบาทนี้

ผู้นำสเตคและผู้นำวอร์ดกระตุ้นสมาชิกเป็นประจำให้เตรียมรับศาสนพิธีพระวิหารของตน ผู้นำเน้นความสำคัญของการให้เกียรติพันธสัญญาพระวิหาร การรักษาความมีค่าควรและการมีใบรับรองพระวิหารเช่นกัน

แหล่งช่วยที่จะช่วยสมาชิกเตรียมรับศาสนพิธีพระวิหารมีอยู่ที่ temples.ChurchofJesusChrist.org.

ผู้นำกระตุ้นสมาชิกที่กำลังเตรียมรับเอ็นดาวเม้นท์ของตนหรือจะผนึกกับคู่สมรสให้เรียนหลักสูตรเตรียมเข้าพระวิหาร (ดู 25.2.8)

สมาชิกพบกับอธิการและประธานสเตคของพวกเขาเพื่อขอใบรับรองสำหรับศาสนพิธีคนเป็นเมื่อพวกเขา:

  • จะรับเอ็นดาวเม้นท์ของตน

  • จะผนึกกับคู่สมรส

ดูข้อมูลเกี่ยวกับการออกใบรับรองพระวิหารในสภาวการณ์เหล่านี้ใน 26.1 และ 26.3.1

ภาพ
เด็กในชุดขาว

27.1.2

การนัดทำศาสนพิธีของพระวิหาร

สมาชิกที่วางแผนจะรับเอ็นดาวเม้นท์ของตนหรือผนึกหรือแต่งงานควรนัดทำศาสนพิธีล่วงหน้ากับทางพระวิหารที่พวกเขาวางแผนจะไป ปกติพวกเขาทำนัดหลังจากได้ใบรับรองสำหรับศาสนพิธีคนเป็นแล้ว ดู temples.ChurchofJesusChrist.org สำหรับข้อมูลติดต่อพระวิหารแต่ละแห่ง

27.1.3

สมาชิกที่ร่างกายพิการ

สมาชิกที่มีค่าควรและร่างกายพิการอาจรับศาสนพิธีพระวิหารทั้งหมด (ดู 38.2.5) ขอให้สมาชิกเหล่านี้เข้าพระวิหารกับญาติหรือเพื่อนเพศเดียวกันที่รับเอ็นดาวเม้นท์แล้วผู้สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ ผู้ช่วยเหลือต้องมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบัน หากเข้าพระวิหารกับสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนไม่ได้ สมาชิกอาจโทรบอกทางพระวิหารล่วงหน้าเพื่อดูว่าจะเตรียมการอะไรได้บ้าง ดู temples.ChurchofJesusChrist.org สำหรับข้อมูลติดต่อพระวิหารแต่ละแห่ง

ไม่อนุญาตให้นำสัตว์นำทางและสัตว์บำบัดอารมณ์เข้าไปในพระวิหาร ประธานสเตคจะติดต่อแผนกพระวิหารที่ TempleDepartment@ChurchofJesusChrist.org หากมีคำถาม

27.1.4

ความช่วยเหลือด้านการแปลหรือการเป็นล่าม

หากสมาชิกต้องการความช่วยเหลือด้านการแปลหรือการเป็นล่าม พวกเขาควรติดต่อทางพระวิหารล่วงหน้าเพื่อดูว่ามีความช่วยเหลือในเรื่องนี้หรือไม่ ดู temples.ChurchofJesusChrist.org สำหรับข้อมูลติดต่อพระวิหารแต่ละแห่ง

27.1.5

เสื้อผ้าที่สวมใส่ไปพระวิหาร

เมื่อไปพระวิหาร สมาชิกจะสวมเสื้อผ้าแบบที่สวมมาการประชุมศีลระลึกตามปกติ พวกเขาควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าลำลองหรือไม่คลุมการ์เม้นท์พระวิหาร อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่เป็นทางการมากเกินไปเช่นชุดทักซิโด บิดามารดา บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ ผู้นำวอร์ด และผู้นำสเตคสอนเรื่องนี้ได้ดีที่สุดเมื่อสมาชิกเตรียมนมัสการในพระวิหาร

ดูข้อมูลเกี่ยวกับเสื้อผ้าที่จะสวมใส่ไปร่วมการแต่งงานหรือการผนึกในพระวิหารใน 27.3.2.6

ดู 38.5 สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ:

  • เสื้อผ้าที่จะสวมใส่ระหว่างศาสนพิธีเอ็นดาวเม้นท์และการผนึก

  • การจัดหา การสวมใส่ และการดูแลชุดพระวิหารและการ์เม้นท์

27.1.6

การดูแลเด็ก

เด็กต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแลหากพวกเขาอยู่บริเวณสนามด้านนอกพระวิหาร มีเจ้าหน้าที่พระวิหารคอยดูแลเด็กเฉพาะในสภาวการณ์ต่อไปนี้เท่านั้น:

  • หากเด็กจะผนึกกับบิดามารดา

  • หากเด็กจะดูการผนึกของพี่น้อง พี่น้องที่เป็นลูกติดของพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง หรือพี่น้องต่างพ่อหรือต่างแม่ของพวกเขาที่ยังมีชีวิตอยู่

27.1.7

การพบกับสมาชิกหลังจากพวกเขารับศาสนพิธีพระวิหาร

สมาชิกมักมีคำถามหลังจากได้รับศาสนพิธีพระวิหาร สมาชิกครอบครัวที่รับเอ็นดาวเม้นท์แล้ว อธิการ ผู้นำวอร์ดคนอื่นๆ บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจอาจพบกับสมาชิกเพื่อสนทนาประสบการณ์พระวิหารของพวกเขา

ผู้นำกระตุ้นให้สมาชิกแสวงหาคำตอบของคำถามที่ตนมีผ่านการดลใจของพระวิญญาณบริสุทธิ์เช่นกัน ในพระวิหาร พระวิญญาณทรงสามารถให้คำตอบของคำถามมากมายที่สมาชิกอาจมีเกี่ยวกับประสบการณ์พระวิหารของพวกเขา

แหล่งช่วยที่จะช่วยตอบคำถามมีอยู่ที่ temples.ChurchofJesusChrist.org.

27.2

เอ็นดาวเม้นท์

คำว่า เอ็นดาวเม้นท์ หมายถึง “ของประทาน” เอ็นดาวเม้นท์พระวิหารเป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อประทานพรบุตรธิดาของพระองค์ สมาชิกจะได้รับเอ็นดาวเม้นท์เฉพาะในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น ของประทานบางอย่างที่สมาชิกได้รับผ่านเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารได้แก่:

  • ความรู้มากขึ้นในเรื่องจุดประสงค์และคำสอนของพระเจ้า

  • พลังความสามารถในการทำทุกอย่างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้บุตรธิดาของพระองค์ทำ

  • การทรงนำเมื่อรับใช้พระเจ้า ครอบครัวของพวกเขา และคนอื่นๆ

  • ความหวัง การปลอบประโลม และสันติสุขเพิ่มขึ้น

พรที่สัญญาไว้ทั้งหมดของเอ็นดาวเม้นท์มีผลทั้งในชีวิตนี้และชั่วนิรันดร สัมฤทธิผลของพรเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ต่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

เอ็นดาวเม้นท์พระวิหารมีให้รับสองส่วน ในส่วนแรก บุคคลรับศาสนพิธีเบื้องต้นเรียกว่าศาสนพิธีขั้นเตรียม ศาสนพิธีขั้นเตรียมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าการล้างและการเจิม (ดู อพยพ 29:4–9) ทั้งนี้รวมถึงพรพิเศษเกี่ยวกับมรดกและศักยภาพอันสูงส่งของบุคคลด้วย

ระหว่างศาสนพิธีขั้นเตรียม สมาชิกได้รับอนุญาตให้สวมการ์เม้นท์พระวิหาร การ์เม้นท์เป็นสิ่งแทนความสัมพันธ์ส่วนตัวของสมาชิกกับพระผู้เป็นเจ้าและคำมั่นสัญญาว่าจะเชื่อฟังพันธสัญญาที่ทำในพระวิหาร เมื่อสมาชิกซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาและสวมการ์เม้นท์อย่างถูกต้องตลอดชีวิต การ์เม้นท์จะทำหน้าที่ป้องกันด้วย ดูข้อมูลเกี่ยวกับการสวมและการดูแลการ์เม้นท์ใน 38.5.5

ในส่วนที่สองของเอ็นดาวเม้นท์จะสอนเรื่องแผนแห่งความรอด รวมถึงการสร้าง การตกของอาดัมกับเอวา การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ การละทิ้งความเชื่อ และการฟื้นฟู สมาชิกได้รับการสอนให้รู้วิธีกลับไปที่ประทับของพระเจ้าด้วย

ในเอ็นดาวเม้นท์สมาชิกได้รับการเชื้อเชิญให้ทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ว่าจะ:

  • ดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการเชื่อฟังและพยายามรักษาพระบัญญัติของพระบิดาบนสวรรค์

  • เชื่อฟังกฎแห่งการเสียสละ ซึ่งหมายถึงการเสียสละเพื่อสนับสนุนงานของพระเจ้าและการกลับใจด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด

  • เชื่อฟังกฎแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นกฎสูงขึ้นที่พระองค์ทรงสอนขณะประทับบนแผ่นดินโลก

  • รักษากฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ ซึ่งหมายถึงสมาชิกมีความสัมพันธ์ทางเพศเฉพาะกับคนที่พวกเขาแต่งงานด้วยอย่างถูกกฎหมายตามกฎของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

  • รักษากฎแห่งการอุทิศถวาย ซึ่งหมายถึงการอุทิศเวลา พรสวรรค์ และทุกสิ่งซึ่งพระเจ้าประทานแก่พวกเขาเพื่อการเสริมสร้างศาสนจักรของพระเยซูคริสต์บนแผ่นดินโลก

พระบิดาบนสวรรค์ทรงสัญญาเป็นการตอบแทนว่าคนที่ยังคงซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาพระวิหารจะได้รับการประสาท “อำนาจจากเบื้องบน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:32, 38; ดู ลูกา 24:49; หลักคำสอนและพันธสัญญา 43:16 ด้วย)

27.2.1

ใครจะรับเอ็นดาวเม้นท์

ศาสนจักรเชิญชวนสมาชิกผู้ใหญ่ทุกคนที่รับผิดชอบได้ให้เตรียมตัวรับเอ็นดาวเม้นท์ของตนเอง ต้องทำและบันทึกศาสนพิธีที่ต้องได้รับก่อนทั้งหมด สมาชิกจึงจะรับเอ็นดาวเม้นท์ได้ (ดู 26.3.1) ดูข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินใจว่าจะรับเอ็นดาวเม้นท์เมื่อใดใน 27.2.2

27.2.1.1

สมาชิกที่เพิ่งรับบัพติศมา

สมาชิกใหม่ที่เป็นผู้ใหญ่และมีค่าควรจะได้รับเอ็นดาวเม้นท์ของตนนับจากวันยืนยันของพวกเขาครบหนึ่งปีเต็มเป็นอย่างน้อย (ดู 26.5.2)

27.2.1.2

สมาชิกที่คู่สมรสไม่ได้รับเอ็นดาวเม้นท์

สมาชิกที่มีค่าควรผู้ซึ่งคู่สมรสไม่ได้รับเอ็นดาวเม้นท์จะได้รับเอ็นดาวเม้นท์ของตนเมื่อบรรลุเงื่อนไขต่อไปนี้:

  • คู่สมรสที่ไม่ได้รับเอ็นดาวเม้นท์ให้ความยินยอม

  • สมาชิก อธิการ และประธานสเตคเชื่อมั่นว่าหน้าที่รับผิดชอบที่ติดมากับพันธสัญญาพระวิหารจะไม่รบกวนชีวิตสมรส

ใช้เงื่อนไขเหล่านี้ไม่ว่าคู่สมรสเป็นสมาชิกของศาสนจักรหรือไม่ก็ตาม

27.2.1.3

สมาชิกที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

สมาชิกที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาจะได้รับเอ็นดาวเม้นท์ของตนหาก:

  • พวกเขาได้รับศาสนพิธีที่ต้องได้รับก่อนครบหมดแล้ว (ดู 26.3.1)

  • พวกเขามีสติปัญญามากพอจะเข้าใจ ทำ และรักษาพันธสัญญาที่เกี่ยวข้อง

อธิการปรึกษากับสมาชิกและบิดามารดาของเขาหากทำได้ เขาแสวงหาการทรงนำของพระวิญญาณด้วย เขาอาจปรึกษากับประธานสเตค ประธานสเตคจะส่งคำถามไปสำนักงานฝ่ายประธานสูงสุดโดยตรงหากจำเป็น ดู 38.2.4

27.2.2

การตัดสินใจว่าจะรับเอ็นดาวเม้นท์เมื่อใด

การตัดสินใจจะรับเอ็นดาวเม้นท์เป็นเรื่องส่วนตัวและควรทำร่วมกับการสวดอ้อนวอน เอ็นดาวเม้นท์คือพรแห่งพลังอำนาจและการเปิดเผยแก่ทุกคนที่เตรียมรับ สมาชิกอาจเลือกรับเอ็นดาวเม้นท์เมื่อพวกเขาบรรลุเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้:

  • พวกเขาอายุอย่างน้อย 18 ปี

  • เรียนจบหรือไม่ได้เรียนมัธยมปลาย หรือเทียบเท่าอีกแล้ว

  • ผ่านมาหนึ่งปีเต็มตั้งแต่รับการยืนยัน

  • พวกเขารู้สึกปรารถนาจะรับและให้เกียรติพันธสัญญาพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ตลอดชีวิต

สมาชิกที่ได้รับหมายเรียกเป็นผู้สอนศาสนาหรือกำลังเตรียมรับการผนึกในพระวิหารควรได้รับเอ็นดาวเม้นท์ อธิการปรึกษากับสมาชิกผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่ปรารถนาจะรับเอ็นดาวเม้นท์ด้วย

ก่อนออกใบรับรองพระวิหารให้สมาชิกไปรับเอ็นดาวเม้นท์ อธิการและประธานสเตคควรรู้สึกว่าสมาชิกพร้อมจะเข้าใจและรักษาพันธสัญญาพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ พึงพิจารณากฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นรายบุคคล ผู้นำไม่ใช้เกณฑ์ทั่วไปเช่นที่ระบุไว้ด้านล่างเมื่อพิจารณาว่าสมาชิกพร้อมรับเอ็นดาวเม้นท์หรือไม่:

  • อายุครบตามกำหนด

  • ออกจากบ้านไปเรียนวิทยาลัย ไปประกอบอาชีพ หรือเป็นทหาร

  • ปรารถนาจะดูการผนึกพระวิหารของสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อน

27.2.3

การวางแผนและทำนัดเอ็นดาวเม้นท์

27.2.3.1

การได้ใบรับรองสำหรับศาสนพิธีคนเป็น

สมาชิกต้องได้ใบรับรองสำหรับศาสนพิธีคนเป็นเพื่อเข้าพระวิหารและรับเอ็นดาวเม้นท์ ดูข้อมูลเกี่ยวกับใบรับรองเหล่านี้ใน 26.5.1

27.2.3.2

การติดต่อพระวิหาร

สมาชิกที่กำลังวางแผนจะรับเอ็นดาวเม้นท์ควรติดต่อทางพระวิหารล่วงหน้าเพื่อนัดทำศาสนพิธี (ดู 27.1.2) ทางพระวิหารจะให้คำแนะนำ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับชุดพระวิหารเมื่อทำนัดแล้ว

27.2.3.3

พี่เลี้ยงสำหรับสมาชิกที่จะรับเอ็นดาวเม้นท์

สมาชิกที่จะรับเอ็นดาวเม้นท์ของตนอาจเชิญสมาชิกเพศเดียวกันที่รับเอ็นดาวเม้นท์แล้วมาทำหน้าที่พี่เลี้ยงและช่วยเหลือพวกเขาในรอบเอ็นดาวเม้นท์ พี่เลี้ยงต้องมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบัน ทางพระวิหารสามารถจัดหาพี่เลี้ยงให้ได้หากต้องการ

27.3

การผนึกสามีภรรยา

“ครอบครัวได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า การแต่งงานระหว่างชายและหญิงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อแผนนิรันดร์ของพระองค์” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”) การผนึกในพระวิหารรวมสามีภรรยาไว้ด้วยกันเพื่อกาลเวลาและชั่วนิรันดร คู่สามีภรรยาที่รับการผนึกในพระวิหารได้รับสัญญาว่าจะมีรัศมีภาพและปีติตลอดนิรันดร (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:19–20) พวกเขาจะได้รับพรเหล่านี้หากซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาที่ทำในพระวิหาร โดยผ่านศาสนพิธีดังกล่าว บุตรของพวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนิรันดร์เช่นกัน

ผู้นำศาสนจักรกระตุ้นให้สมาชิกเตรียมแต่งงานและผนึกในพระวิหาร ที่ใดกฎหมายไม่ยอมรับการแต่งงานในพระวิหาร ผู้นำศาสนจักรหรือคนอื่นๆ ที่ได้รับมอบอำนาจสามารถทำพิธีแต่งงานทางกฎหมายที่ตามด้วยการผนึกในพระวิหาร (ดู 38.3) อาจทำตามแบบแผนนี้เช่นกันเมื่อการแต่งงานในพระวิหารจะเป็นเหตุให้บิดามารดาหรือสมาชิกครอบครัวที่ใกล้ชิดรู้สึกถูกกีดกันเพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าร่วมพิธีพระวิหารได้

ภาพ
ครอบครัวอยู่นอกพระวิหาร

27.3.1

ใครจะรับการผนึกในพระวิหาร

ศาสนจักรเชิญชวนสมาชิกทุกคนที่รับผิดชอบได้และยังไม่แต่งงานให้เตรียมรับการผนึกในพระวิหาร อีกทั้งกระตุ้นให้คนที่แต่งงานตามกฎหมายรับการผนึกเพื่อกาลเวลาและนิรันดรในพระวิหารทันทีที่พวกเขาพร้อม สมาชิกต้องได้รับเอ็นดาวเม้นท์ก่อนจึงจะผนึกได้ (ดู 27.2)

คู่ชายหญิงที่จะผนึกในพระวิหารต้อง (1) แต่งงานตามกฏหมายก่อนจะผนึก หรือ (2) แต่งงานและผนึกในพิธีพระวิหารเดียวกัน ดู 27.3.2

27.3.1.1

สมาชิกที่ผนึกกับคู่สมรสคนก่อน

ดู 38.4.1

27.3.1.2

สมาชิกที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

สมาชิกที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาจะผนึกกับคู่สมรส หรือคู่หมั้นของพวกเขาหาก:

  • พวกเขาได้รับศาสนพิธีที่ต้องได้รับก่อนครบหมดแล้ว รวมทั้งเอ็นดาวเม้นท์ (ดู 27.2.1.3)

  • พวกเขามีสติปัญญามากพอจะเข้าใจ ทำ และรักษาพันธสัญญาที่เกี่ยวข้อง

อธิการปรึกษากับสมาชิกและคู่สมรส หรือคู่หมั้นของเขา เขาแสวงหาการทรงนำของพระวิญญาณด้วย เขาอาจปรึกษากับประธานสเตค ประธานสเตคจะส่งคำถามไปสำนักงานฝ่ายประธานสูงสุดโดยตรงหากจำเป็น ดู 38.2.4

27.3.2

การวางแผนและทำนัดการแต่งงานหรือการผนึกในพระวิหาร

27.3.2.1

การได้ใบรับรองสำหรับศาสนพิธีคนเป็น

สมาชิกต้องได้รับใบรับรองสำหรับศาสนพิธีคนเป็นเพื่อผนึกกับคู่สมรสของเขา ดูข้อมูลเกี่ยวกับใบรับรองเหล่านี้ใน 26.3

27.3.2.2

การติดต่อพระวิหาร

สมาชิกที่กำลังวางแผนจะแต่งงานหรือผนึกกับคู่สมรสควรติดต่อพระวิหารล่วงหน้าเพื่อนัดทำศาสนพิธี (ดู 27.1.2) ทางพระวิหารจะให้คำแนะนำเมื่อทำนัดแล้ว

27.3.2.3

การจดทะเบียนสมรส

ก่อนแต่งงานในพระวิหาร คู่ชายหญิงต้องมีทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายของเมืองที่จะทำพิธี หากคู่ชายหญิงวางแผนจะแต่งงานและผนึกในพิธีเดียวกัน พวกเขาต้องนำทะเบียนสมรสที่ถูกต้องมาที่พระวิหารด้วย

คู่ชายหญิงที่จะผนึกหลังจากแต่งงานตามกฎหมายแล้ว ไม่จำเป็นต้องนำทะเบียนสมรสมาที่พระวิหาร แต่พวกเขาจะให้วันที่และสถานที่แต่งงานตามกฎหมายอันเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการตรวจสอบบันทึก

27.3.2.4

พี่เลี้ยงสำหรับเจ้าบ่าวเจ้าสาว

พี่น้องสตรีที่รับเอ็นดาวเม้นท์แล้วจะไปเป็นเพื่อนเจ้าสาวเพื่อช่วยเหลือเธอในห้องแต่งตัว พี่น้องชายที่รับเอ็นดาวเม้นท์แล้วจะไปเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว พี่เลี้ยงต้องมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบัน ทางพระวิหารสามารถจัดหาพี่เลี้ยงให้ได้หากต้องการ

27.3.2.5

ผู้ทำพิธีแต่งงานหรือการผนึกในพระวิหาร

การแต่งงานหรือการผนึกในพระวิหารปกติจะทำพิธีโดยผู้ผนึกที่ได้รับมอบหมายในพระวิหารที่คู่ชายหญิงจะแต่งงานหรือผนึก หากสมาชิกครอบครัวหรือคนรู้จักดำรงสิทธิอำนาจการผนึกและได้รับมอบหมายในพระวิหารที่คู่ชายหญิงจะแต่งงานหรือผนึก พวกเขาอาจเชิญคนนั้นทำพิธีแต่งงานหรือผนึก

ผู้ผนึกอาจขออนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุดเพื่อทำพิธีผนึกให้สายสกุลของตน (ลูก หลาน และเหลน) ในพระวิหารอื่นที่ตนไม่ได้รับมอบหมายก็ได้เช่นกัน เขาต้องได้รับจดหมายอนุญาตจากฝ่ายประธานสูงสุดสำหรับการผนึกแต่ละครั้ง เขายื่นจดหมายที่พระวิหาร

ศาสนจักรไม่สนับสนุนให้สมาชิกขอเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ทำพิธีแต่งงานหรือผนึกในพระวิหารให้พวกเขา

27.3.2.6

เสื้อผ้าที่เหมาะสำหรับการแต่งงานหรือการผนึกในพระวิหาร

ชุดเจ้าสาว ชุดที่เจ้าสาวสวมในพระวิหารควรเป็นสีขาว แบบและเนื้อผ้าสุภาพเรียบร้อย ไม่มีลวดลายวิจิตรพิสดาร และคลุมการ์เม้นท์พระวิหารด้วย เนื้อผ้าโปร่งบางควรมีซับใน

เพื่อให้เข้ากับชุดอื่นที่สวมในพระวิหาร ชุดเจ้าสาวควรมีแขนยาวหรือแขนสามส่วน ชุดไม่ควรมีหางกระโปรงเว้นแต่ส่วนหางสามารถกลัดขึ้นไปหรือถอดออกได้เมื่อทำพิธีผนึก

ทางพระวิหารสามารถจัดเตรียมชุดให้ได้หากต้องการ

ชุดเจ้าบ่าว เจ้าบ่าวสวมชุดพระวิหารปกติระหว่างพิธีแต่งงานหรือผนึก (ดู 38.5.1 และ 38.5.2) เขาอาจสวมชุดทางการนอกพระวิหารเพื่อถ่ายรูปหลังพิธี

เสื้อผ้าของแขกรับเชิญ คนที่เข้าร่วมพิธีแต่งงานหรือพิธีผนึกควรสวมเสื้อผ้าคล้ายกับที่พวกเขาสวมมาการประชุมศีลระลึก แขกรับเชิญไม่ควรสวมชุดขาวเว้นแต่ต้องผ่านห้องซีเลสเชียลเข้าไปในห้องผนึก สมาชิกที่มาการผนึกจากรอบเอ็นดาวเม้นท์โดยตรงจะสวมชุดพระวิหาร

คู่ชายหญิงควรบอกข้อมูลนี้กับแขกรับเชิญให้ชัดเจนก่อนการแต่งงานหรือการผนึก

ดอกไม้ คู่ชายหญิงและแขกรับเชิญไม่ควรกลัดดอกไม้ระหว่างพิธีแต่งงานหรือพิธีผนึก อาจกลัดดอกไม้นอกพระวิหารเพื่อถ่ายรูปหลังพิธี คู่ชายหญิงควรบอกข้อมูลนี้กับแขกรับเชิญให้ชัดเจนก่อนการแต่งงานหรือการผนึก

27.3.2.7

การแลกแหวนหลังจากแต่งงานหรือการผนึกในพระวิหาร

การแลกแหวนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีผนึกในพระวิหาร แต่คู่ชายหญิงอาจแลกแหวนหลังพิธีในห้องผนึก และไม่ควรแลกแหวนเวลาอื่นหรือที่อื่นในพระวิหารหรือบริเวณสนามรอบพระวิหาร การทำเช่นนั้นจะลดคุณค่าของพิธีได้

คู่ชายหญิงที่แต่งงานและผนึกในพิธีเดียวกันอาจแลกแหวนในภายหลังเพื่อจัดให้สมาชิกครอบครัวที่ไม่สามารถเข้าร่วมการแต่งงานในพระวิหารได้ การแลกแหวนควรสอดคล้องกับความสง่างามของการแต่งงานในพระวิหาร และไม่ควรทำซ้ำส่วนใดของพิธีแต่งงานหรือพิธีผนึกในพระวิหาร คู่ชายหญิงจะไม่แลกคำสาบานหลังการแต่งงานและการผนึกในพระวิหาร

คู่ชายหญิงที่แต่งงานตามกฎหมายก่อนการผนึกในพระวิหารอาจแลกแหวนที่พิธีตามกฎหมาย ที่การผนึกในพระวิหาร หรือที่ทั้งสองพิธี

27.3.3

การแต่งงานในพระวิหารเพื่อกาลเวลาเท่านั้น

จุดประสงค์ของพระวิหารคือปฏิบัติศาสนพิธีเพื่อนิรันดร เพราะเหตุนี้ในพระวิหารจึงไม่มีการทำพิธีเฉพาะการแต่งงานเพื่อกาลเวลาอีก

ดูนโยบายการผนึกคู่ชายหญิงที่แต่งงานในพระวิหารเพื่อกาลเวลาเท่านั้นใน 38.4.1.6

27.3.4

ใครจะเข้าร่วมการแต่งงานหรือการผนึกในพระวิหาร

คู่ชายหญิงควรเชิญเฉพาะคนสนิทในครอบครัวและเพื่อนสนิทมาการแต่งงานหรือการผนึกในพระวิหาร สมาชิกที่รับผิดชอบได้ต้องรับเอ็นดาวเม้นท์แล้วและมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันเพื่อเข้าร่วม

ประธานสเตคอาจอนุญาตให้บุคคลที่ไม่ได้รับบัพติศมาหรือเอ็นดาวเม้นท์เนื่องด้วยความบกพร่องทางสติปัญญาเข้ามาดูการแต่งงานหรือการผนึกของพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ บุคคลนั้นต้อง:

  • อายุอย่างน้อย 18 ปี

  • ยังคงคารวะระหว่างพิธีได้

ประธานสเตคเขียนจดหมายระบุว่าอนุญาตให้บุคคลนั้นดูการผนึก บุคคลยื่นจดหมายฉบับนี้ที่พระวิหาร

สมาชิกต้องรับเอ็นดาวเม้นท์แล้วและมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันจึงจะสามารถดูการผนึกบิดามารดาของตนได้

27.3.5

งานเลี้ยงฉลองการแต่งงาน

ดูข้อมูลเกี่ยวกับการจัดงานเลี้ยงฉลองการแต่งงานในอาคารศาสนจักรใน 35.5.15

27.4

การผนึกบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่กับบิดามารดา

บุตรที่เกิดหลังจากมารดารับการผนึกกับสามีในพระวิหารแล้วถือว่าเกิดในพันธสัญญาของการผนึกนั้น พวกเขาไม่ต้องรับศาสนพิธีการผนึกกับบิดามารดา

บุตรที่ไม่ได้เกิดในพันธสัญญาจะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนิรันดร์ได้โดยผนึกกับบิดามารดาผู้ให้กำเนิดหรือบิดามารดาบุญธรรม บุตรเหล่านี้มีสิทธิ์ได้รับพรเดียวกันกับบุตรที่เกิดในพันธสัญญา

ดูนโยบายการผนึกบุตรกับบิดามารดาใน 38.4.2

27.4.1

การออกใบรับรองสำหรับการผนึกบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่กับบิดามารดา

สมาชิกที่รับผิดชอบได้อายุ 8 ขวบขึ้นไปต้องมีใบรับรองเพื่อผนึกกับบิดามารดาของตน พวกเขาต้องมีใบรับรองด้วยเพื่อดูการผนึกของพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ พี่น้องบุญธรรม หรือพี่น้องต่างบิดาหรือต่างมารดาของพวกเขา (ดู 27.4.4) บุตรที่อายุ 8 ขวบขึ้นไปต้องรับบัพติศมาและการยืนยันจึงจะได้ใบรับรองพระวิหาร ผู้ชายที่อายุอย่างน้อย 11 ขวบและกำลังจะครบ 12 ขวบในปีที่ประกอบศาสนพิธีนั้นต้องดำรงฐานะปุโรหิตด้วย

สมาชิกที่อายุ 21 ปีขึ้นไปต้องรับเอ็นดาวเม้นท์แล้วและมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันจึงจะรับการผนึกกับบิดามารดาของตนได้

ประธานสเตคอาจอนุญาตให้บุคคลที่ไม่ได้รับบัพติศมาหรือเอ็นดาวเม้นท์เนื่องด้วยความบกพร่องทางสติปัญญาได้รับการผนึกกับบิดามารดาของพวกเขา ประธานสเตคเขียนจดหมายระบุว่าอนุญาตให้บุคคลนั้นผนึก บุคคลยื่นจดหมายฉบับนี้ที่พระวิหาร

ดูข้อมูลเกี่ยวกับการออกใบรับรองให้บุตรใน 26.4.4

27.4.2

การติดต่อพระวิหาร

คู่ชายหญิงที่ต้องการให้บุตรผนึกกับตน หรือบุตรที่ปรารถนาจะผนึกกับบิดามารดาที่ถึงแก่กรรม ควรติดต่อพระวิหารล่วงหน้าเพื่อนัดทำศาสนพิธี (ดู 27.1.2) ในบางกรณีอาจต้องทำศาสนพิธีอื่นก่อนจึงจะผนึกได้

ภาพ
เยาวชนชายนอกพระวิหาร

27.4.3

การดูแลเด็ก

ดู 27.1.6

27.4.4

ใครจะเข้าร่วมการผนึกของบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่กับบิดามารดาได้

เพื่อดูการผนึกพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ พี่น้องบุญธรรม หรือพี่น้องต่างบิดาหรือต่างมารดากับบิดามารดาของพวกเขา สมาชิกอายุน้อยกว่า 21 ปีที่ไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์ต้องเกิดในพันธสัญญาหรือผนึกกับบิดามารดาแล้ว นอกจากนี้บุตรที่อายุ 8 ขวบขึ้นไปต้องได้รับบัพติศมาและการยืนยัน และต้องมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันด้วย (ดู 26.4.4) ผู้ชายที่อายุอย่างน้อย 11 ขวบและกำลังจะครบ 12 ขวบในปีที่ประกอบศาสนพิธีนั้นต้องดำรงฐานะปุโรหิตด้วย

สมาชิกที่อายุ 21 ปีขึ้นไปต้องรับเอ็นดาวเม้นท์แล้วและมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันจึงจะดูการผนึกดังกล่าวได้

สมาชิกอายุน้อยกว่า 21 ปีที่แต่งงานแล้วไม่ต้องได้รับเอ็นดาวเม้นท์เพื่อดูการผนึกดังกล่าว อย่างไรก็ดี พวกเขาต้องมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบัน (ดู 26.4.4)