คู่มือและการเรียก
23. การแบ่งปันพระกิตติคุณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา


“23. การแบ่งปันพระกิตติคุณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา” คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (2020)

“23. การแบ่งปันพระกิตติคุณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา” คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

ภาพ
คนกำลังดูแผนที่

23.

การแบ่งปันพระกิตติคุณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา

23.0

บทนำ

การเชื้อเชิญให้ทุกคนรับพระกิตติคุณเป็นส่วนหนึ่งของงานแห่งความรอดและความสูงส่ง (ดู 1.2 ในคู่มือนี้; มัทธิว 28:19–20) ซึ่งรวมถึง:

  • การมีส่วนร่วมในงานเผยแผ่ศาสนาและการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา

  • การช่วยให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมาก้าวหน้าตามเส้นทางพันธสัญญา

23.1

แบ่งปันพระกิตติคุณ

23.1.1

รัก

เราทุกคนเป็นบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงรักบุตรธิดาของพระองค์อย่างสมบูรณ์ พระองค์ทรงมอบโอกาสให้ทุกคนเปี่ยมด้วยความรักของพระองค์ผ่านพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ (ดู ยอห์น 3:16; 2 นีไฟ 26:24–28; แอลมา 26:37; หลักแห่งความเชื่อ 1:3)

วิธีหนึ่งที่เราแสดงความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าคือรักและรับใช้บุตรธิดาของพระองค์ (ดู มัทธิว 22:36–39; 25:40) เราพยายามรักและรับใช้เฉกเช่นพระเยซูคริสต์ ความรักนี้สร้างแรงบันดาลใจให้เราออกไปหาคนทุกศาสนา เชื้อชาติ และวัฒนธรรม (ดู กิจการของอัครทูต 10:34; 2 นีไฟ 26:33)

23.1.2

แบ่งปัน

เพราะเรารักพระผู้เป็นเจ้าและบุตรธิดาของพระองค์ เราจึงต้องการแบ่งปันพรที่พระองค์ประทานแก่เรา (ดู ยอห์น 13:34–35) และช่วยรวบรวมอิสราเอล เราพยายามช่วยให้ผู้คนรู้สึกถึงปีติที่เรารู้สึก (ดู แอลมา 36:24) ในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ เราชูแสงสว่างของพระองค์ (ดู 3 นีไฟ 18:24–25) เราพูดถึงพระผู้ช่วยให้รอดและอิทธิพลของพระองค์ในชีวิตเราอย่างเปิดเผย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 60:2) เราแบ่งปันความรัก เวลา ประสบการณ์ และโปรแกรมต่างๆ ของศาสนจักรเพื่อเป็นพรแก่บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าและช่วยให้พวกเขาเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น เราแบ่งปันสิ่งเหล่านี้ในวิธีปกติและเป็นธรรมชาติอันเป็นส่วนหนึ่งของปฏิสัมพันธ์ส่วนตัว ทางออนไลน์ และอื่นๆ

23.1.3

เชื้อเชิญ

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้ทุกคนรับพระกิตติคุณของพระองค์และเตรียมรับชีวิตนิรันดร์ (ดู แอลมา 5:33–34) ในฐานะสานุศิษย์ของพระองค์ เราทำตามแบบอย่างของพระองค์โดยเชื้อเชิญให้ทุกคน “มาหาพระคริสต์, และได้รับการทำให้ดีพร้อมในพระองค์” (โมโรไน 10:32)

เราสวดอ้อนวอนขอการดลใจและการนำทางเกี่ยวกับวิธีเชื้อเชิญให้ผู้อื่น:

  • มาดูพรที่มีให้ผ่านพระเยซูคริสต์ พระกิตติคุณ และศาสนจักรของพระองค์ (ดู ยอห์น 1:37–39, 45–46)

  • มาช่วยเรารับใช้คนขัดสน

  • มาเป็นส่วนหนึ่งของศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์

เมื่อคำเชื้อเชิญของเรายึดความต้องการและความสนใจของบุคคลเป็นหลัก เขาย่อมมีแนวโน้มจะยอมรับคำเชื้อเชิญเหล่านั้นมากขึ้น บ่อยครั้งการเชื้อเชิญแค่หมายถึงการรวมครอบครัว มิตรสหาย และเพื่อนบ้านของเราไว้ในสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น เราสามารถเชื้อเชิญให้พวกเขา:

  • มาร่วมกิจกรรมต่างๆ ในบ้านเรา

  • มาร่วมนมัสการและเรียนรู้พระกิตติคุณกับเรา

  • เข้าร่วมเหตุการณ์พิเศษ เช่น การให้พรเด็กหรือบัพติศมา

  • มีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือการรับใช้ของวอร์ดและชุมชน รวมถึงโครงการต่างๆ ที่จัดผ่าน JustServe.org (หากมี)

  • มีส่วนร่วมในโปรแกรมและกิจกรรมต่างๆ ของศาสนจักร อาจรวมถึงกิจกรรมปฐมวัย กิจกรรมเยาวชน ประวัติครอบครัว หลักสูตรการพึ่งพาตนเอง BYU–Pathway Worldwide หลักสูตรการอ่านออกเขียนได้และภาษาอังกฤษ

  • พบผู้สอนศาสนาเต็มเวลาและฟังข่าวสารของพวกเขา

ดูแนวคิดและแหล่งช่วยเพิ่มเติมที่ share.ChurchofJesusChrist.org และ “แบ่งปันพระกิตติคุณ” ในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ

หลักธรรมของการรัก แบ่งปัน และเชื้อเชิญประยุกต์ใช้กับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมาได้เช่นกัน

23.2

เสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่

การเข้าร่วมศาสนจักรเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมอีกทั้งท้าทายสำหรับหลายๆ คน นำพรยิ่งใหญ่มาให้ แต่เรียกร้องให้ปรับตัวเข้ากับความเชื่อใหม่ๆ นิสัยใหม่ๆ และความสัมพันธ์ใหม่ๆ เช่นกัน (ดู 1 เธสะโลนิกา 1:6)

สมาชิกใหม่แต่ละคนต้องการมิตรภาพ โอกาสให้รับใช้ และการบำรุงเลี้ยงทางวิญญาณ ในฐานะสมาชิกของศาสนจักร เราให้ความรักและสนับสนุนสมาชิกใหม่ (ดู โมไซยาห์ 18:8–10) เราช่วยให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในศาสนจักร เราช่วยให้พวกเขาก้าวหน้าตามเส้นทางพันธสัญญาและ “เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาหาพระเจ้า” (แอลมา 23:6) ลึกซึ้งมากขึ้น เราช่วยให้พวกเขาได้รับการ “บำรุงเลี้ยงด้วยพระวจนะอันประเสริฐของพระผู้เป็นเจ้า, เพื่อให้พวกเขาอยู่ในทางที่ถูกต้อง, … โดยวางใจแต่ในคุณความดีของพระคริสต์” (โมโรไน 6:4)

นอกจากนี้เรายังสามารถช่วยให้สมาชิกใหม่:

  • เรียนรู้และประสบปีติของการเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์

  • เรียนรู้วิธีรับรู้การกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณ

  • พัฒนานิสัยของการสวดอ้อนวอนและการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวและกับครอบครัว

  • แบ่งปันพระกิตติคุณให้กับครอบครัวและมิตรสหาย

  • หาชื่อบรรพชนและเตรียมรับศาสนพิธีพระวิหารแทนคนเหล่านั้น

  • เติบโตผ่านการทำงานมอบหมายในศาสนจักรให้ลุล่วงและมีส่วนร่วมในโอกาสอีกมากมายที่ศาสนจักรมอบให้

23.3

เสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกที่กลับมา

สมาชิกบางคนเลือกหยุดมีส่วนร่วมในศาสนจักร “แก่คนเช่นนั้น” พระผู้ช่วยให้รอดตรัส “เจ้าจงปฏิบัติต่อไป; เพราะเจ้าหารู้ไม่ว่าเผื่อพวกเขาจะกลับมาและกลับใจ, และมาหาเราด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว, และเราจะรักษาพวกเขา; และเจ้าจะเป็นวิถีทางแห่งการนำความรอดมาสู่พวกเขา” (3 นีไฟ 18:32) ถ้อยคำเหล่านี้ประยุกต์ใช้กับทุกคนที่เราต้องปฏิบัติศาสนกิจต่อไปด้วยเหตุผลใดก็ตาม

สมาชิกที่ไม่ได้มีส่วนร่วมเต็มที่มีแนวโน้มจะกลับมามากขึ้นหากพวกเขามีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับสมาชิกศาสนจักร ความรักและการสนับสนุนของเราสามารถช่วยพวกเขาเอาชนะความท้าทาย เฉกเช่นสมาชิกใหม่ พวกเขาต้องการมิตรภาพ โอกาสให้รับใช้ และการบำรุงเลี้ยงทางวิญญาณ การเข้าใจสภาวการณ์และความท้าทายของพวกเขาจะช่วยให้เราปฏิบัติศาสนกิจต่อพวกเขาด้วยความละเอียดอ่อนและความรัก

23.4

ผู้นำระดับสเตค

23.4.1

ฝ่ายประธานสเตค

ประธานสเตคถือกุญแจในสเตคสำหรับการแบ่งปันพระกิตติคุณและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา เขากับที่ปรึกษาให้ทิศทางโดยรวมสำหรับความพยายามเหล่านี้ เขาต้องแน่ใจว่ามีการสนทนาเรื่องงานนี้เป็นประจำในการประชุมต่างๆ ของสเตค

โดยปกติประธานสเตคประชุมกับประธานคณะเผยแผ่ทุกเดือนเพื่อประสานความพยายามระหว่างผู้นำระดับสเตคและผู้นำระดับวอร์ดกับผู้สอนศาสนาเต็มเวลา คนอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมได้แก่:

  • ที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสเตคและในฝ่ายประธานคณะเผยแผ่

  • สมาชิกสภาสูงที่ได้รับมอบหมาย

  • ประธานสมาคมสงเคราะห์สเตค

  • ผู้สอนศาสนาที่ประธานคณะเผยแผ่มอบหมาย

23.4.2

คณะกรรมการผู้นำผู้ใหญ่สเตค

คณะกรรมการผู้นำผู้ใหญ่สเตคได้แก่:

  • ฝ่ายประธานสเตค

  • ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สเตค

  • สมาชิกสภาสูงที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานกับโควรัมเอ็ลเดอร์

ผู้นำเหล่านี้แนะนำและสนับสนุนฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ในงานของการแบ่งปันพระกิตติคุณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา (ดู 23.5.2) จะแนะนำเป็นกลุ่มหรือเป็นรายบุคคลก็ได้ และอาจเชิญหัวหน้าเผยแผ่วอร์ดให้รับการแนะนำนี้

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมของคณะกรรมการชุดนี้ใน 29.3.9

23.4.3

สมาชิกสภาสูง

ฝ่ายประธานสเตคอาจมอบหมายให้สมาชิกสภาสูงแนะนำและสนับสนุนฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และหัวหน้าเผยแผ่วอร์ด อาจมอบหมายให้สมาชิกสภาสูงหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นนำความพยายามเหล่านี้ แต่สมาชิกสภาสูงทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบเหล่านี้สำหรับวอร์ดและโควรัมที่พวกเขาได้รับมอบหมายให้ดูแล

23.4.4

ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สเตค

ภายใต้การกำกับดูแลของประธานสเตค ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สเตคแนะนำและสนับสนุนฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์วอร์ดในหน้าที่รับผิดชอบของพวกเธอต่อการแบ่งปันพระกิตติคุณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา

ภาพ
เพื่อนบ้านพูดคุยกัน

23.5

ผู้นำระดับวอร์ด

23.5.1

ฝ่ายอธิการ

ฝ่ายอธิการประสานงานกับฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ขณะพวกเขานำความพยายามของวอร์ดในการแบ่งปันพระกิตติคุณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา ผู้นำเหล่านี้ปรึกษากันเป็นประจำ

ฝ่ายอธิการพึงแน่ใจว่ามีการสนทนาและประสานความพยายามเหล่านี้ในสภาวอร์ดและการประชุมสภาเยาวชนวอร์ด ฝ่ายอธิการทบทวนและอนุมัติแผนวอร์ดสำหรับการแบ่งปันพระกิตติคุณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมาด้วย (ดู 23.5.6)

ฝ่ายอธิการปรึกษากับประธานสเตคเพื่อลงความเห็นว่าจะเรียกหัวหน้าเผยแผ่วอร์ดหรือไม่ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมใน 23.5.3)

อธิการสัมภาษณ์สมาชิกใหม่ที่อยู่ในวัยเหมาะสมเพื่อออกใบรับรองพระวิหารให้รับบัพติศมาและการยืนยันแทนผู้วายชนม์ (ดู 26.4.2) เขาสัมภาษณ์พี่น้องชายที่อยู่ในวัยเหมาะสมให้รับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนด้วย (ดู 38.2.9.1) โดยปกติเขาดำเนินการสัมภาษณ์เหล่านี้ภายในหนึ่งสัปดาห์ของการยืนยันสมาชิก

ฝ่ายอธิการประสานงานกับผู้นำคนอื่นๆ เพื่อให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมามีโอกาสรับใช้ โอกาสเช่นนั้นจะช่วยให้สมาชิกเหล่านี้เติบโตทางวิญญาณและรู้สึกถึงเดชานุภาพของพระเจ้าในชีวิตพวกเขา การรับใช้จะช่วยให้สมาชิกรู้สึกปีติและสร้างความสัมพันธ์แนบแน่นกับคนอื่นๆ ในวอร์ดได้เช่นกัน โอกาสเหล่านี้ควรยึดความต้องการและความสามารถของสมาชิกเป็นหลัก ในบางกรณีการเรียกจะเหมาะสม แต่ในหลายกรณีงานมอบหมายที่เป็นทางการน้อยกว่าจะดีที่สุด

23.5.2

ฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์

ฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์เป็นผู้นำในความพยายามแต่ละวันของวอร์ดเพื่อแบ่งปันพระกิตติคุณและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่กับสมาชิกที่กลับมา (ดู 8.2.3 และ 9.2.3) ฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์นำความพยายามเหล่านี้สำหรับสมาชิกของโควรัมเอ็ลเดอร์ ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์นำความพยายามเหล่านี้สำหรับสมาชิกของสมาคมสงเคราะห์ พวกเขาทำงานด้วยกันเพื่อนำความพยายามเหล่านี้กับสภาวอร์ด ภายใต้การประสานงานของอธิการ

ผู้นำเหล่านี้มีหน้าที่รับผิดชอบดังนี้:

  • ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกรักบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า แบ่งปันพระกิตติคุณ และเชื้อเชิญให้ผู้อื่นรับพรของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู 23.1)

  • ปรึกษากับสมาชิกโควรัมหรือสมาชิกสมาคมสงเคราะห์เกี่ยวกับวิธีแบ่งปันพระกิตติคุณ สนทนาวิธีหาคนให้ผู้สอนศาสนาสอนและวิธีสนับสนุนคนที่กำลังเรียนกับผู้สอนศาสนา ปรึกษากันเกี่ยวกับความต้องการของสมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมาและวิธีให้การสนับสนุน

  • มอบหมายบราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจให้ดูแลสมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา (ดู 21.2.1) อาจมอบหมายบราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจให้ดูแลคนที่ผู้สอนศาสนากำลังสอนด้วย (ทำการมอบหมายโดยประสานงานกับผู้สอนศาสนา) หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ผู้นำมอบหมายสมาชิกที่เป็นเพื่อนสนิทหรือสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ฉันเพื่อนสนิทให้ดูแลบุคคลเหล่านี้ ผู้นำกระตุ้นให้บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจให้ความรักและการสนับสนุนเหมือนพระคริสต์

  • เปิดโอกาสให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมาได้รับใช้เป็นซิสเตอร์หรือบราเดอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจใน บทที่ 21

  • ช่วยสภาวอร์ดพัฒนาแผนสำหรับการแบ่งปันพระกิตติคุณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา (ดู 23.5.6)

  • เป็นผู้นำในงานของหัวหน้าเผยแผ่วอร์ด หากไม่ได้เรียกหัวหน้าเผยแผ่วอร์ด สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์รับบทบาทนี้ (ดู 23.5.3)

ประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และประธานสมาคมสงเคราะห์ต่างมอบหมายให้สมาชิกฝ่ายประธานคนหนึ่งช่วยนำความพยายามเหล่านี้ สมาชิกฝ่ายประธานสองคนนี้ทำงานด้วยกัน พวกเขาเข้าร่วมการประชุมประสานงานทุกสัปดาห์ (ดู 23.5.7)

23.5.3

ภาพ
ไอคอน แนวทางการปรับ
หัวหน้าเผยแผ่วอร์ด

ฝ่ายอธิการปรึกษากับประธานสเตคเพื่อลงความเห็นว่าจะเรียกหัวหน้าเผยแผ่วอร์ดหรือไม่ หากพวกเขาตัดสินใจให้การเรียกนี้ ฝ่ายอธิการปรึกษากับประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และประธานสมาคมสงเคราะห์ในการลงความเห็นว่าจะเรียกใคร บุคคลนี้ควรเป็นผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค หากไม่เรียกหัวหน้าเผยแผ่วอร์ด สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์รับบทบาทนี้

หัวหน้าเผยแผ่วอร์ดสนับสนุนฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ในหน้าที่รับผิดชอบด้านงานเผยแผ่ศาสนาของพวกเขา หัวหน้าเผยแผ่วอร์ดมีหน้าที่รับผิดชอบดังนี้:

  • ประสานงานของสมาชิกกับผู้นำวอร์ด ผู้สอนศาสนาวอร์ด และผู้สอนศาสนาเต็มเวลา อาจรวมถึงการประสานงานการสอน พิธีบัพติศมา และการพยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่ รวมถึงการวางแผนวิธีช่วยสมาชิกวอร์ดแบ่งปันพระกิตติคุณเช่นกัน

  • นำการประชุมประสานงานประจำสัปดาห์ (ดู 23.5.7)

  • เข้าร่วมการประชุมสภาวอร์ดเมื่อได้รับเชิญ

  • ช่วยสภาวอร์ดพัฒนาและปฏิบัติตามแผนวอร์ดสำหรับการแบ่งปันพระกิตติคุณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา (ดู 23.5.6)

  • เตรียมการให้ผู้สอนศาสนาเต็มเวลารับประทานอาหารกับสมาชิกหากที่ใดอนุญาตให้ทำได้ หาโอกาสให้ผู้สอนศาสนาได้รับประทานอาหารกับครอบครัวแข็งขันน้อยและครอบครัวที่มีบางคนเป็นสมาชิกหากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันข่าวสารพระกิตติคุณกับครอบครัวเหล่านี้

  • ทำงานกับหัวหน้างานพระวิหารและประวัติครอบครัววอร์ดและผู้ให้คำแนะนำด้านพระวิหารและประวัติครอบครัวเพื่อช่วยให้คนที่กำลังเรียนพระกิตติคุณ สมาชิกใหม่ และสมาชิกที่กลับมามีส่วนร่วมในงานพระวิหารและประวัติครอบครัว

23.5.4

ผู้สอนศาสนาวอร์ด

ผู้สอนศาสนาวอร์ดช่วยให้สมาชิกวอร์ดประสบปีติของการแบ่งปันพระกิตติคุณดังอธิบายไว้ใน 23.1 พวกเขารับใช้ภายใต้การกำกับดูแลของหัวหน้าเผยแผ่วอร์ดหรือสมาชิกในฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ที่รับบทบาทนี้ ประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และประธานสมาคมสงเคราะห์อาจเสนอชื่อสมาชิกที่สามารถรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาวอร์ดได้

ผู้สอนศาสนาวอร์ดสอนโดยคำพูดและแบบอย่างว่าจะรักผู้อื่น แบ่งปันศรัทธาของพวกเขา และเชื้อเชิญให้ผู้อื่นรับพรแห่งพระกิตติคุณได้อย่างไร พวกเขาช่วยสมาชิกวอร์ดปฏิบัติศาสนกิจต่อสมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมาเช่นกัน

ผู้สอนศาสนาวอร์ดเข้าร่วมการประชุมประสานงานประจำสัปดาห์ (ดู 23.5.7)

23.5.5

สภาวอร์ดและสภาเยาวชนวอร์ด

ควรสนทนาเรื่องการแบ่งปันพระกิตติคุณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมาในการประชุมสภาวอร์ดเป็นประจำ อธิการอาจขอให้ประธานโควรัมเอ็ลเดอร์หรือประธานสมาคมสงเคราะห์นำการสนทนาเหล่านี้ซึ่งควรเน้นเป็นรายบุคคล อธิการอาจเชิญหัวหน้าเผยแผ่วอร์ดเข้าร่วมการประชุมสภาวอร์ด

สภาจะสนทนาเรื่องแผนของวอร์ดสำหรับการแบ่งปันพระกิตติคุณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา ทั้งยังสนทนาเรื่องงานมอบหมายที่ต้องประสานงานข้ามองค์การด้วย แบบฟอร์มดังต่อไปนี้จะช่วยในการสนทนาเหล่านี้:

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาวอร์ดใน 29.2.5

ในการสนทนาเรื่องความต้องการของเยาวชนในวอร์ด สภาเยาวชนวอร์ดให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อสมาชิกใหม่ สมาชิกที่กลับมา และเยาวชนที่ผู้สอนศาสนากำลังสอน สภาสนทนาวิธีที่เยาวชนจะมีส่วนร่วมในแผนของวอร์ดสำหรับการแบ่งปันพระกิตติคุณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมาด้วย ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาเยาวชนวอร์ดใน 29.2.6

23.5.6

แผนวอร์ดสำหรับการแบ่งปันพระกิตติคุณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา

แต่ละวอร์ดควรมีแผนที่เรียบง่ายสำหรับการแบ่งปันพระกิตติคุณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา แผนดังกล่าวจะช่วยกำหนดทิศทางการประชุม การรับใช้ และกิจกรรมต่างๆ ทั้งยังสามารถรวมแผนและแนวคิดสำหรับการทำสิ่งต่อไปนี้ไว้ด้วย:

  • การช่วยให้ทุกคนรู้สึกถึงการต้อนรับในการประชุมและกิจกรรมต่างๆ ของวอร์ด

  • การช่วยให้สมาชิกประสบปีติของการแบ่งปันพระกิตติคุณ

  • การสนับสนุนคนที่ผู้สอนศาสนากำลังสอน

  • การช่วยให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมาก้าวหน้าทางวิญญาณ

ประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และประธานสมาคมสงเคราะห์ช่วยสภาวอร์ดสร้างแผน หัวหน้าเผยแผ่วอร์ดช่วยสร้างเช่นกัน อธิการทบทวนแผนและอนุมัติแผน

สมาชิกของสภาวอร์ดเป็นผู้นำในการปฏิบัติตามแผน พวกเขารายงานความก้าวหน้าในการประชุมสภาวอร์ด และอัปเดตแผนเมื่อจำเป็นด้วย

23.5.7

การประชุมประสานงาน

ทุกสัปดาห์จะจัดการประชุมสั้นๆ แบบไม่เป็นทางการเพื่อประสานงานการพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา หากเรียกหัวหน้าเผยแผ่วอร์ด เขาดำเนินการประชุมเหล่านี้ หากไม่เรียก สมาชิกในฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ที่รับบทบาทนี้จะดำเนินการประชุม

คนอื่นที่ได้รับเชิญได้แก่:

  • สมาชิกในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์และสมาชิกในฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ที่ได้รับมอบหมาย

  • ผู้สอนศาสนาวอร์ด

  • ผู้ช่วยในโควรัมปุโรหิต (หรือประธานโควรัมผู้สอนหรือประธานโควรัมมัคนายกหากไม่มีปุโรหิตในวอร์ด)

  • สมาชิกในฝ่ายประธานชั้นเรียนเยาวชนหญิงที่อายุมากที่สุด

  • ผู้สอนศาสนาเต็มเวลา

พวกเขาจะสนทนาเรื่อง:

  • การปฏิบัติตามแผนของวอร์ดสำหรับการแบ่งปันพระกิตติคุณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา พวกเขาประสานแผนนี้กับแผนและเป้าหมายของผู้สอนศาสนาเต็มเวลา

  • งานมอบหมายที่ให้ไว้ในการประชุมคราวก่อน

  • วิธีสนับสนุนคนที่ผู้สอนศาสนากำลังสอน

  • แผนสำหรับพิธีบัพติศมาที่จะมาถึงและการเชื้อเชิญให้สมาชิกเข้าร่วม

จะจัดการประชุมเหล่านี้แบบพบหน้ากันหรือทางไกลก็ได้ การประสานงานเกิดขึ้นในวิธีอื่นได้เช่นกัน รวมถึงการโทรศัพท์ ส่งข้อความ และอีเมล