คู่มือและการเรียก
18. การประกอบศาสนพิธีและการให้พรฐานะปุโรหิต


“18. การประกอบศาสนพิธีและการให้พรฐานะปุโรหิต” คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (2020)

“18. การประกอบศาสนพิธีและการให้พรฐานะปุโรหิต” คู่มือทั่วไป

ภาพ
ครอบครัวเดินอยู่ใกล้พระวิหาร

18.

การประกอบศาสนพิธีและการให้พรฐานะปุโรหิต

18.0

บทนำ

ศาสนพิธีและการให้พรเป็นการปฏิบัติอันศักดิ์สิทธิ์โดยผู้มีสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตและในพระนามของพระเยซูคริสต์ เมื่อผู้ดำรงฐานะปุโรหิตประกอบศาสนพิธีและให้พร พวกเขาทำตามแบบอย่างการให้พรผู้อื่นของพระผู้ช่วยให้รอด ศาสนพิธีและการให้พรฐานะปุโรหิตทำให้เข้าถึงพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:20)

พึงประกอบศาสนพิธีและการให้พรด้วยศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ และตามการนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้นำพึงแน่ใจว่ามีการประกอบศาสนพิธีและให้พรด้วยการอนุมัติที่ถูกต้อง (เมื่อจำเป็น) ด้วยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่กำหนด ถูกวิธี และโดยผู้ร่วมประกอบพิธีที่มีค่าควร (ดู 18.3)

ดูนโยบายเกี่ยวกับศาสนพิธีและการให้พรฐานะปุโรหิตใน 38.2

18.1

ศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่ง

ฐานะปุโรหิตรวมถึงสิทธิอำนาจให้ปฏิบัติศาสนพิธีพระกิตติคุณที่จำเป็นต่อความรอดและความสูงส่ง ผู้คนทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์กับพระผู้เป็นเจ้าเมื่อพวกเขารับศาสนพิธีเหล่านี้ ศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่งมีดังนี้:

  • บัพติศมา

  • การยืนยันและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • การประสาทฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่ง (สำหรับผู้ชาย)

  • เอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร

  • การผนึกในพระวิหาร

ดูข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบศาสนพิธีเหล่านี้ให้ผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญาดังนี้:

  • สำหรับบัพติศมาและการยืนยัน (38.2.8.1)

  • สำหรับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค (38.2.9.7)

  • สำหรับเอ็นดาวเม้นท์และการผนึกในพระวิหาร (27.2.1.3 และ 27.3.1.2)

หากเด็กที่เกิดในพันธสัญญาสิ้นชีวิตก่อนอายุ 8 ขวบ ไม่จำเป็นต้องประกอบศาสนพิธีใดๆ หากเด็กไม่เกิดในพันธสัญญา ศาสนพิธีเดียวที่เขาต้องได้รับคือการผนึกกับบิดามารดา เพราะการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด เด็กทุกคนที่สิ้นชีวิตก่อนอายุ 8 ขวบจึง “รอด​ใน​อาณาจักร​ซี​เลสเชีย​ลแห่งสวรรค์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:10; ดู โมโรไน 8:8–12 ด้วย)

18.2

ศาสนพิธีและการให้พรอื่นๆ

ศาสนพิธีและการให้พรอื่นๆ ทำให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าได้รับเดชานุภาพ การเยียวยา การปลอบประโลม และการนำทางของพระองค์ ศาสนพิธีและการให้พรเหล่านี้ได้แก่:

  • การตั้งชื่อและให้พรเด็ก

  • ศีลระลึก

  • การประสาทฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่ง (สำหรับเยาวชนชายและผู้ใหญ่ชาย)

  • การวางมือมอบหน้าที่ให้สมาชิกรับใช้ในการเรียกต่างๆ

  • การทำให้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์

  • การปฏิบัติและให้พรผู้ป่วย

  • พรของการปลอบประโลมและคำแนะนำ รวมถึงพรของบิดา

  • การอุทิศบ้าน

  • การอุทิศหลุมฝังศพ

  • ปิตุพรโดยผู้ประสาทพรที่ได้รับการแต่งตั้ง

ภาพ
ทารกได้รับพร

18.3

การมีส่วนร่วมในศาสนพิธีหรือการให้พร

ผู้มีส่วนร่วมหรือประกอบศาสนพิธีหรือการให้พรต้องมีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่จำเป็นและมีค่าควร โดยทั่วไปมาตรฐานความมีค่าควรเกี่ยวข้องกับการถือใบรับรองพระวิหาร อย่างไรก็ดี เมื่อพระวิญญาณทรงนำและตามคำแนะนำในบทนี้ อธิการและประธานสเตคอาจยินยอมให้บิดาและสามีผู้ดำรงตำแหน่งฐานะปุโรหิตที่จำเป็นมีส่วนร่วมหรือประกอบศาสนพิธีและการให้พรบางอย่างแม้พวกเขาไม่มีค่าควรอย่างเต็มที่ในการเข้าพระวิหาร ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ทำบาปร้ายแรงและยังไม่ได้แก้ไขจะไม่มีส่วนร่วม

โดยทั่วไป เฉพาะผู้นำฐานะปุโรหิตและผู้ดำรงฐานะปุโรหิตคนอื่นๆ ที่เป็นคนสนิทในครอบครัวและเพื่อนสนิทเท่านั้นจึงจะมีส่วนร่วมในศาสนพิธีและการให้พร

บุคคลที่รับศาสนพิธี สมาชิกครอบครัว และผู้นำฐานะปุโรหิตหารือกันเพื่อตัดสินใจว่าจะให้ใครและกี่คนมีส่วนร่วม การตัดสินใจนี้ควรทำก่อนประกอบศาสนพิธี

เมื่อผู้ดำรงฐานะปุโรหิตมีส่วนร่วมเพียงหนึ่งหรือสองคน แต่ละคนวางมือทั้งสองข้างอย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ เมื่อมีส่วนร่วมหลายคน พวกเขายืนเป็นวงกลมล้อมผู้รับศาสนพิธีหรือการให้พร แต่ละคนวางมือขวาอย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ (หรือใต้ตัวทารก) และวางมือซ้ายบนบ่าของพี่น้องชายที่อยู่ด้านซ้าย หนึ่งคนทำหน้าที่กล่าวออกเสียงเพื่อประกอบศาสนพิธีหรือให้พร

การประกอบหรือการรับศาสนพิธีหรือการให้พรบางอย่างต้องได้รับอนุมัติจากผู้นำที่เป็นประธานผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตที่จำเป็น (ดู 3.4.1) เมื่อจำเป็น อาจต้องได้รับอนุมัติจากที่ปรึกษาที่เขามอบอำนาจ ดูแผนภูมิต่อไปนี้ การอ้างถึงประธานสเตคใช้กับประธานคณะเผยแผ่ด้วย การอ้างถึงอธิการใช้กับประธานสาขาด้วย

ผู้นำคนใดถือกุญแจเพื่ออนุมัติให้รับหรือประกอบศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่ง?

ศาสนพิธี

ผู้ถือกุญแจ

ศาสนพิธี

บัพติศมา

ผู้ถือกุญแจ

อธิการ (สำหรับเด็กอายุ 8 ขวบและสำหรับสมาชิกในบันทึกที่อายุ 9 ขวบขึ้นไปที่บัพติศมาล่าช้าเนื่องด้วยความบกพร่องทางสติปัญญา)

ประธานคณะเผยแผ่ (สำหรับผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส)

ศาสนพิธี

การยืนยันและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

ผู้ถือกุญแจ

อธิการ (สำหรับเด็กอายุ 8 ขวบและสำหรับสมาชิกในบันทึกที่อายุ 9 ขวบขึ้นไปที่บัพติศมาล่าช้าเนื่องด้วยความบกพร่องทางสติปัญญา)

ประธานคณะเผยแผ่ (สำหรับผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส)

ศาสนพิธี

การประสาทฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่ง (สำหรับผู้ชาย)

ผู้ถือกุญแจ

ประธานสเตค

ศาสนพิธี

เอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร

ผู้ถือกุญแจ

อธิการและประธานสเตค

ศาสนพิธี

การผนึกในพระวิหาร

ผู้ถือกุญแจ

อธิการและประธานสเตค

ผู้นำคนใดถือกุญแจเพื่ออนุมัติให้รับหรือประกอบศาสนพิธีและการให้พรอื่น?

ศาสนพิธีหรือการให้พร

ผู้ถือกุญแจ

ศาสนพิธีหรือการให้พร

การตั้งชื่อและให้พรเด็ก

ผู้ถือกุญแจ

อธิการ

ศาสนพิธีหรือการให้พร

ศีลระลึก

ผู้ถือกุญแจ

อธิการ

ศาสนพิธีหรือการให้พร

การประสาทฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่ง (สำหรับเยาวชนชายและผู้ใหญ่ชาย)

ผู้ถือกุญแจ

อธิการ

ศาสนพิธีหรือการให้พร

การวางมือมอบหน้าที่ให้สมาชิกรับใช้ในการเรียกต่างๆ

ผู้ถือกุญแจ

ดู 30.8

ศาสนพิธีหรือการให้พร

การทำให้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์

ผู้ถือกุญแจ

ไม่จำเป็นต้องอนุมัติ

ศาสนพิธีหรือการให้พร

การปฏิบัติและให้พรผู้ป่วย

ผู้ถือกุญแจ

ไม่จำเป็นต้องอนุมัติ

ศาสนพิธีหรือการให้พร

พรของการปลอบประโลมและคำแนะนำ รวมถึงพรของบิดา

ผู้ถือกุญแจ

ไม่จำเป็นต้องอนุมัติ

ศาสนพิธีหรือการให้พร

การอุทิศบ้าน

ผู้ถือกุญแจ

ไม่จำเป็นต้องอนุมัติ

ศาสนพิธีหรือการให้พร

การอุทิศหลุมฝังศพ

ผู้ถือกุญแจ

ผู้นำฐานะปุโรหิตที่เป็นประธานในพิธี

ศาสนพิธีหรือการให้พร

ปิตุพร

ผู้ถือกุญแจ

อธิการ

18.4

ศาสนพิธีสำหรับบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะได้รับพร บัพติศมา การยืนยัน การแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต หรือการวางมือมอบหน้าที่สู่การเรียกด้วยความเห็นชอบของ (1) บิดามารดาผู้มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะร่วมตัดสินใจ หรือ (2) ผู้ปกครองตามกฎหมายเท่านั้น หากมีคำถามเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายของบิดามารดาที่ไม่ได้เป็นผู้ดูแล อธิการหรือประธานสเตคจะขอคำแนะนำด้านกฎหมายจาก Church’s Office of General Counsel หรือจากสำนักงานภาค (ดู 38.8.23)

ดูแนวทางเกี่ยวกับการให้บัพติศมาและการยืนยันบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะใน 38.2.8.2

18.5

ศาสนพิธีที่ประกอบให้ผู้พิการหรือโดยผู้พิการ

ดู 38.2.4 และ 38.2.5

18.6

การตั้งชื่อและให้พรเด็ก

“สมาชิกทุกคนในศาสนจักรของพระคริสต์ที่มีบุตรธิดาต้องพาพวกเขามาหาเอ็ลเดอร์ต่อหน้าศาสนจักร, ผู้จะวางมือบนพวกเขาในพระนามของพระเยซูคริสต์, และให้พรพวกเขาในพระนามของพระองค์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:70)

โดยปกติเด็กได้รับการตั้งชื่อและให้พรระหว่างการประชุมอดอาหารและแสดงประจักษ์พยานในวอร์ดที่บิดามารดาอยู่ โดยไม่คำนึงว่าบิดามารดาของเด็กจะแต่งงานกันหรือไม่ หากบิดามารดาไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน ปกติจะประกอบศาสนพิธีในวอร์ดที่เด็กอยู่เป็นหลัก

ข้อยกเว้นเรื่องเวลาและสถานที่ให้พรเด็กต้องได้รับอนุมัติจากอธิการ ข้อยกเว้นอาจได้แก่การให้พรในวันที่ไม่ใช่วันอาทิตย์อดอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวอร์ดที่มีทารกใหม่หลายคน การให้พรในอีกวอร์ดหนึ่งที่ปู่ย่าตายายหรือสมาชิกครอบครัวหลายคนของเด็กอาศัยอยู่ อธิการอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคให้พรเด็กในบ้านได้เช่นกัน สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการเป็นประธาน

ดูข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งชื่อและให้พรเด็กในสภาวการณ์พิเศษใน 38.2.7

18.6.1

ผู้ให้พร

ศาสนพิธีของการตั้งชื่อและให้พรเด็กประกอบโดยผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค สอดคล้องกับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:70 ผู้นำฐานะปุโรหิตแจ้งสมาชิกเรื่องนี้ก่อนตั้งชื่อและให้พรเด็ก ผู้นำควรพยายามทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้บุคคลหรือครอบครัวรู้สึกอับอายหรือขุ่นเคือง

บุคคลหรือครอบครัวผู้ปรารถนาจะให้เด็กได้รับชื่อและพรจะประสานงานกับอธิการเรื่องศาสนพิธี อธิการถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการตั้งชื่อและให้พรเด็กในวอร์ด

อธิการอาจยินยอมให้บิดาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคตั้งชื่อและให้พรบุตรของตนแม้บิดาไม่มีค่าควรอย่างเต็มที่ในการเข้าพระวิหาร (ดู 18.3) อธิการกระตุ้นให้บิดาเตรียมตนเองในการให้พรบุตรของตน

เพื่อทำหน้าที่กล่าวออกเสียงในการให้พรเด็ก บุคคลที่อยู่นอกวอร์ดของเขาเองต้องแสดงใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันต่อผู้นำที่เป็นประธาน หรือเขาอาจแสดง ใบรับรองเพื่อประกอบศาสนพิธี ที่เซ็นโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการของเขา

18.6.2

คำแนะนำ

ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายอธิการ ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดครวมกันเป็นวงกลมเพื่อตั้งชื่อและให้พรเด็ก พวกเขาวางมือใต้ทารก หรือวางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะของเด็กโต จากนั้นคนหนึ่งทำหน้าที่กล่าวออกเสียง:

  1. เอ่ยพระนามพระบิดาบนสวรรค์เหมือนในการสวดอ้อนวอน

  2. กล่าวว่ากำลังให้พรโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

  3. ให้ชื่อเด็ก

  4. เอ่ยชื่อเด็ก

  5. ให้พรเด็กตามที่พระวิญญาณทรงนำ

  6. จบในพระนามของพระเยซูคริสต์

18.6.3

แบบฟอร์มบันทึกเด็กและใบสำคัญการให้พร

ก่อนให้พรเด็ก พนักงานใช้ แหล่งช่วยผู้นำและพนักงาน (LCR) เตรียม แบบฟอร์มบันทึกเด็ก หลังจากให้พร เขาสร้างบันทึกสมาชิกภาพในระบบนั้นและเตรียม ใบสำคัญการให้พร อธิการเซ็นชื่อในใบสำคัญและมอบให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองของเด็ก

ชื่อบนบันทึกสมาชิกภาพและใบสำคัญต้องตรงกับสูติบัตร ใบแจ้งเกิด หรือชื่อปัจจุบันตามกฎหมาย

18.7

บัพติศมา

บัพติศมาโดยการลงไปในน้ำทั้งตัวโดยผู้มีสิทธิอำนาจจำเป็นต่อผู้จะเป็นสมาชิกของศาสนจักรและรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทุกคนที่แสวงหาความสูงส่งต้องทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยรับศาสนพิธีเหล่านี้ (ดู มัทธิว 3:13–17; ยอห์น 3:3–7; กิจการ 2:37–38; 2 นีไฟ 31:5–21)

ดูข้อมูลเกี่ยวกับบัพติศมาในสภาวการณ์พิเศษใน 38.2.8

ภาพ
เด็กชายกำลังรับบัพติศมา

18.7.1

การอนุมัติให้บุคคลรับบัพติศมาและการยืนยัน

18.7.1.1

เด็กที่เป็นสมาชิกในบันทึก

อธิการถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการให้บัพติศมาสมาชิกในบันทึกที่อายุ 8 ขวบในวอร์ด เด็กเหล่านี้ควรรับบัพติศมาและการยืนยันในวันเกิดปีที่ 8 หรือหลังจากนั้นเร็วที่สุดเท่าที่เห็นสมควร (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:27) เด็กเหล่านี้มีบันทึกสมาชิกภาพศาสนจักรอยู่แล้ว (ดู 33.6.2) เมื่อพวกเขาอายุครบ 8 ขวบอธิการต้องแน่ใจว่าเด็กมีโอกาสยอมรับพระกิตติคุณพร้อมกับรับบัพติศมาและการยืนยัน

ดูข้อมูลเกี่ยวกับการบัพติศมาและการยืนยันผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญาใน 38.2.4 และ 38.2.8.1

อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายสัมภาษณ์เด็กในบันทึกสำหรับบัพติศมาและการยืนยัน คำแนะนำมีอยู่ใน 31.2.3.1

ดูข้อมูลเกี่ยวกับการกรอกบันทึกบัพติศมาและการยืนยันใน 18.8.3

อธิการเอาใจใส่เด็กอายุ 7 ขวบในวอร์ดเป็นพิเศษ โดยต้องแน่ใจว่าบิดามารดา ผู้นำและครูปฐมวัย และผู้ปฏิบัติศาสนกิจต่อครอบครัวของเด็กช่วยเด็กเตรียมรับบัพติศมาและการยืนยัน ผู้นำโควรัมเอ็ลเดอร์และผู้นำสมาคมสงเคราะห์กระตุ้นให้บิดามารดาเตรียมบุตรธิดาสำหรับศาสนพิธีเหล่านี้เช่นกัน

18.7.1.2

ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส

ประธานคณะเผยแผ่ถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการให้บัพติศมาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสในคณะเผยแผ่ เพราะเหตุนี้ผู้สอนศาสนาเต็มเวลาจึงสัมภาษณ์ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสสำหรับบัพติศมาและการยืนยัน คำแนะนำมีอยู่ใน 31.2.3.2

ดูข้อมูลเกี่ยวกับการกรอกบันทึกบัพติศมาและการยืนยันใน 18.8.3

18.7.2

พิธีบัพติศมา

พิธีบัพติศมาควรเรียบง่าย กระชับ และยกระดับจิตวิญญาณ พิธีจะประกอบด้วย:

  1. เพลงก่อนการประชุม

  2. การกล่าวต้อนรับสั้นๆ จากบราเดอร์ผู้ดำเนินพิธี

  3. เพลงสวดเปิดและการสวดอ้อนวอนเปิด

  4. ข่าวสารสั้นๆ หนึ่งหรือสองคนเกี่ยวกับพระกิตติคุณ เช่น บัพติศมาและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

  5. เพลงพิเศษ

  6. บัพติศมา

  7. เวลาของความคารวะขณะผู้มีส่วนร่วมในบัพติศมาเปลี่ยนใส่ชุดแห้ง (อาจร้องหรือบรรเลงเพลงสวดหรือเพลงปฐมวัยระหว่างนี้)

  8. การยืนยันสมาชิกในบันทึกที่อายุ 8 ขวบ การยืนยันผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสหากอธิการกำหนด (ดู 18.8)

  9. การแสดงประจักษ์พยานโดยผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่หากประสงค์

  10. เพลงสวดปิดและการสวดอ้อนวอนปิด

  11. เพลงหลังการประชุม

เมื่อเด็กในบันทึกกำลังเตรียมรับบัพติศมา สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการและในฝ่ายประธานปฐมวัยหารือกับครอบครัวเพื่อวางแผนและกำหนดเวลาจัดพิธีบัพติศมา สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการเป็นผู้ดำเนินพิธี หากเด็กมากกว่าหนึ่งคนจะรับบัพติศมาในเดือนเดียวกัน พวกเขาจะทำพิธีบัพติศมารวมกันได้

ในสเตคที่มีเด็กในบันทึกหลายคน เด็กจากหลายวอร์ดจะทำพิธีบัพติศมารวมกันได้ ในกรณีดังกล่าว สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคหรือในฝ่ายประธานปฐมวัยสเตคหรือสมาชิกสภาสูงคนหนึ่งหารือกับครอบครัวของเด็กที่จะรับบัพติศมาเพื่อวางแผนและกำหนดเวลาจัดพิธีบัพติศมา สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคหรือสมาชิกสภาสูงที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดำเนินพิธี วอร์ดหรือครอบครัวอาจแยกกันทำพิธีบางส่วนเพื่อจะได้รู้จักเด็กเป็นรายบุคคล ตัวอย่างเช่น อาจแยกกันทำศาสนพิธีบัพติศมา การยืนยัน หรือผู้พูดโดยสมาชิกวอร์ดหรือสมาชิกครอบครัว สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการเป็นผู้ดำเนินพิธีส่วนนั้น

ควรกำหนดเวลาทำพิธีบัพติศมาสำหรับผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสทันทีที่พวกเขามีคุณสมบัติครบตามที่ระบุไว้ใน 31.2.3.2 ไม่ควรเลื่อนบัพติศมาของสมาชิกครอบครัวจนกว่าบิดาได้รับฐานะปุโรหิตและสามารถประกอบพิธีบัพติศมาด้วยตนเอง

ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายอธิการ หัวหน้าเผยแผ่วอร์ด (ถ้าคนหนึ่งได้รับเรียก) หรือสมาชิกในฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ผู้เป็นหัวหน้างานเผยแผ่ศาสนาจะวางแผนและดำเนินพิธีบัพติศมาสำหรับผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส พวกเขาประสานงานกับผู้สอนศาสนาเต็มเวลา

18.7.3

ผู้ประกอบศาสนพิธี

ผู้ประกอบพิธีบัพติศมาคือปุโรหิตหรือผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ผู้ประกอบพิธีบัพติศมาต้องได้รับอนุมัติจากอธิการ (หรือจากประธานคณะเผยแผ่หากผู้สอนศาสนาเต็มเวลาจะประกอบพิธีบัพติศมา)

อธิการอาจยินยอมให้บิดาผู้เป็นปุโรหิตหรือเป็นผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคให้บัพติศมาบุตรของตนแม้บิดาไม่มีค่าควรอย่างเต็มที่ในการเข้าพระวิหาร (ดู 18.3) อธิการกระตุ้นให้บิดาเตรียมตัวให้บัพติศมาบุตรของตน

เพื่อประกอบพิธีบัพติศมา บุคคลที่อยู่นอกวอร์ดต้องแสดงใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันต่อผู้นำที่เป็นประธาน หรือเขาอาจแสดง ใบรับรองเพื่อประกอบศาสนพิธี ที่เซ็นโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการของเขา

18.7.4

สถานที่ประกอบศาสนพิธี

ควรประกอบพิธีบัพติศมาในอ่างบัพติศมาหากมี หากไม่มีอ่าง ให้ใช้แหล่งน้ำที่ปลอดภัย อ่างบัพติศมาควรใหญ่พอให้ทั้งผู้ประกอบพิธีและผู้รับบัพติศมาลงไปยืนในนั้นได้ ไม่ต้องอุทิศน้ำสำหรับบัพติศมา

หากใช้อ่างบัพติศมา ต้องนัดเวลาใช้ผ่านสมาชิกที่ได้รับมอบหมายในวอร์ดของอธิการตัวแทน

เพื่อความปลอดภัย ผู้ใหญ่ที่เชื่อถือได้คนหนึ่งต้องอยู่ขณะเติมน้ำลงอ่างและอยู่จนกว่าระบายน้ำออก ทำความสะอาด และปลอดภัย ระบายน้ำออกจากอ่างทันทีหลังพิธีบัพติศมาแต่ละครั้ง ต้องล็อกประตูห้องอ่างบัพติศมาเมื่อไม่ใช้

18.7.5

ชุดบัพติศมา

ผู้ประกอบพิธีบัพติศมาและผู้รับบัพติศมาสวมชุดขาวที่ไม่โปร่งบางเมื่อเปียกน้ำ ผู้รับเอ็นดาวเม้นท์แล้วสวมการ์เม้นท์พระวิหารไว้ใต้ชุดนี้ขณะประกอบพิธีบัพติศมา หน่วยท้องที่ซื้อชุดบัพติศมาด้วยเงินงบประมาณและไม่คิดค่าใช้ชุด

18.7.6

พยาน

พยานสองคนที่อนุมัติโดยผู้นำที่เป็นประธานจะสังเกตบัพติศมาแต่ละครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าประกอบพิธีถูกต้อง สมาชิกที่รับบัพติศมาแล้วของศาสนจักร รวมทั้งเด็กและเยาวชน อาจทำหน้าที่พยาน

ต้องทำบัพติศมาซ้ำหากผู้ประกอบพิธีพูดไม่ตรงกับคำที่ให้ไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:73 ต้องทำซ้ำหากส่วนใดของร่างกาย ผม หรือชุดไม่จมน้ำจนมิด

18.7.7

คำแนะนำ

เพื่อประกอบศาสนพิธีบัพติศมา ปุโรหิตหรือผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค:

  1. ยืนในน้ำกับผู้รับบัพติศมา

  2. ใช้มือซ้ายของเขาจับข้อมือขวาของผู้รับบัพติศมา (เพื่อความสะดวกและความปลอดภัย) ผู้รับบัพติศมาใช้มือซ้ายจับข้อมือซ้ายของผู้ดำรงฐานะปุโรหิต

  3. ยกมือขวาทำแขนตั้งฉาก

  4. เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับและกล่าว “โดยได้รับมอบหมายจากพระเยซูคริสต์, ข้าพเจ้าให้บัพติศมาท่านในพระนามของพระบิดา, และของพระบุตร, และของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เอเมน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:73)

  5. ให้ผู้รับบัพติศมาใช้มือขวาบีบจมูกของตน (เพื่อความสะดวก) แล้วผู้ประกอบพิธีใช้มือขวารองหลังผู้รับบัพติศมา และทำให้ผู้รับบัพติศมารวมทั้งชุดบัพติศมาลงไปในน้ำจนมิด การลงไปในน้ำทั้งตัวจะง่ายขึ้นหากผู้รับย่อเข่า

  6. ช่วยผู้รับขึ้นมาจากน้ำ

18.7.8

บันทึกบัพติศมา

ดูข้อมูลเกี่ยวกับการทำบันทึกบัพติศมาใน 18.8.3

18.8

การยืนยันและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

หลังจากรับบัพติศมา บุคคลรับการยืนยันเป็นสมาชิกของศาสนจักรและรับพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยการวางมือ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:41; กิจการ 19:1–6) บุคคลกลายเป็นสมาชิกของศาสนจักรหลังจากรับศาสนพิธีครบทั้งสองอย่างและลงบันทึกไว้อย่างถูกต้อง (ดู ยอห์น 3:5; หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:11; 3 นีไฟ 27:20)

ดูข้อมูลเกี่ยวกับการยืนยันในสภาวการณ์พิเศษใน 38.2.8

อธิการถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการยืนยันสมาชิกในบันทึกที่อายุ 8 ขวบในวอร์ดของเขา ประธานคณะเผยแผ่ถือกุญแจสำหรับการยืนยันผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส (ดูนิยามของบัพติศมาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใน 31.2.3.2)

อธิการสอดส่องดูแลการประกอบการยืนยัน โดยปกติเด็กอายุแปดขวบได้รับการยืนยันในวันที่พวกเขารับบัพติศมา ปกติผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสรับการยืนยันในการประชุมศีลระลึกในวอร์ดที่พวกเขาอยู่ ถ้าจะให้ดีคือในวันอาทิตย์หลังบัพติศมาของพวกเขา แต่อธิการอาจมีข้อยกเว้นให้ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสรับการยืนยันที่พิธีบัพติศมา

สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการทำตามแนวทางใน 29.2.1.1 เมื่อแนะนำให้รู้จักสมาชิกใหม่

ภาพ
เยาวชนหญิงรับการยืนยัน

18.8.1

ผู้ประกอบศาสนพิธี

ศาสนพิธีของการยืนยันประกอบโดยผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ผู้ทำหน้าที่กล่าวออกเสียงต้องได้รับอนุมัติจากอธิการ (หรือประธานคณะเผยแผ่หากผู้สอนศาสนาเต็มเวลาประกอบพิธียืนยัน)

เฉพาะผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคที่มีค่าควรเข้าพระวิหารเท่านั้นจึงจะทำหน้าที่กล่าวออกเสียงสำหรับการยืนยัน แต่อธิการอาจยินยอมให้บิดาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคยืนในวงกลมสำหรับการยืนยันบุตรของเขาแม้บิดาไม่มีค่าควรอย่างเต็มที่ในการเข้าพระวิหาร (ดู 18.3)

สมาชิกในฝ่ายอธิการอย่างน้อยหนึ่งคนมีส่วนร่วมในศาสนพิธีนี้ เมื่อเอ็ลเดอร์ผู้สอนศาสนาได้สอนผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส อธิการเชิญพวกเขาร่วมการยืนยัน

เพื่อทำหน้าที่กล่าวออกเสียงในศาสนพิธีนี้ ผู้อยู่นอกวอร์ดของเขาต้องแสดงใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันต่อผู้นำที่เป็นประธาน หรือเขาอาจแสดง ใบรับรองเพื่อประกอบศาสนพิธี ที่เซ็นโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการของเขา

18.8.2

คำแนะนำ

ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายอธิการ ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งคนขึ้นไปจะมีส่วนร่วมในการยืนยัน พวกเขาวางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ จากนั้นคนหนึ่งทำหน้าที่กล่าวออกเสียง:

  1. เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับ

  2. กล่าวว่าศาสนพิธีประกอบโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

  3. ยืนยันผู้รับเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

  4. กล่าวว่า “จงรับพระวิญญาณบริสุทธิ์” (ไม่ใช่ “จงรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์”)

  5. ให้พรตามที่พระวิญญาณทรงนำ

  6. จบในพระนามของพระเยซูคริสต์

18.8.3

บันทึกและใบสำคัญบัพติศมาและการยืนยัน

ก่อนเด็กผู้เป็นสมาชิกในบันทึกรับการสัมภาษณ์สำหรับบัพติศมา พนักงานใช้ LCR เตรียม แบบฟอร์มบัพติศมาและการยืนยัน อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายดำเนินการสัมภาษณ์และเซ็นแบบฟอร์ม หลังจากบัพติศมาและการยืนยัน พนักงานใช้แบบฟอร์มนี้อัปเดตบันทึกสมาชิกภาพของเด็กใน LCR

เมื่อผู้สอนศาสนาเต็มเวลาสัมภาษณ์ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสสำหรับบัพติศมา เขาใช้แอป Area Book Planner (ABP) กรอกบันทึกบัพติศมาและการยืนยัน หลังจากบัพติศมาและการยืนยัน ผู้สอนศาสนาบันทึกข้อมูลลงใน ABP และส่งให้พนักงานวอร์ดทางอิเล็กทรอนิกส์ พนักงานวอร์ดทบทวนข้อมูลใน LCR และสร้างบันทึกสมาชิกภาพ

หลังจากสร้างบันทึกสมาชิกภาพ พนักงานวอร์ดเตรียมใบสำคัญบัพติศมาและการยืนยัน อธิการเซ็นใบสำคัญนี้และมอบให้สมาชิก

ชื่อบนบันทึกสมาชิกภาพและใบสำคัญต้องตรงกับสูติบัตร ใบแจ้งเกิด หรือชื่อปัจจุบันตามกฎหมาย

18.9

ศีลระลึก

สมาชิกศาสนจักรประชุมกันในวันสะบาโตเพื่อนมัสการพระผู้เป็นเจ้าและรับส่วนศีลระลึก (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:75; 59:9; โมโรไน 6:5–6) ระหว่างศาสนพิธีนี้ สมาชิกรับส่วนขนมปังและน้ำเพื่อระลึกถึงการพลีพระมังสาและพระโลหิตของพระผู้ช่วยให้รอดและเพื่อต่อพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา (ดู มัทธิว 26:26–28; งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มาระโก 14:20–25; ลูกา 22:15–20; 3 นีไฟ 18; โมโรไน 6:6) ทุกคนควรแสดงความคารวะระหว่างการให้พรและส่งผ่านศีลระลึก

18.9.1

การอนุมัติให้ปฏิบัติศีลระลึก

อธิการถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการปฏิบัติศีลระลึกในวอร์ด ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการเตรียม ให้พร และส่งผ่านศีลระลึกต้องได้รับอนุมัติจากอธิการหรือคนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเขา

หากสมาชิกในวอร์ดของเขาไม่สามารถรับส่วนศีลระลึกเพราะถูกจำกัดให้อยู่แต่ในบ้าน ศูนย์ดูแล หรือโรงพยาบาล อธิการอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตปฏิบัติศีลระลึกให้สมาชิกเหล่านี้ อธิการอาจมอบอำนาจให้ทำเช่นนี้แม้สมาชิกจะอยู่นอกเขตวอร์ดของอธิการชั่วคราวก็ตาม แต่เขาจะไม่มอบอำนาจให้ปฏิบัติศีลระลึกแก่สมาชิกนอกเขตวอร์ดในสภาวการณ์อื่น

ในสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยมาก อาจไม่มีการจัดศีลระลึกเป็นระยะเวลาหนึ่ง ในสถานการณ์เหล่านี้ อธิการอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่มีค่าควรในวอร์ดเตรียมและปฏิบัติศีลระลึกในบ้านของพวกเขาทุกวันสะบาโต อธิการอาจมอบอำนาจให้พวกเขาเตรียมและปฏิบัติศีลระลึกให้กับสมาชิกวอร์ดที่ไม่มีผู้ดำรงฐานะปุโรหิตในบ้านด้วย

เมื่ออธิการมอบอำนาจให้เตรียมและปฏิบัติศีลระลึกนอกพิธีมาตรฐานของศาสนจักร จะยังใช้คำแนะนำใน 18.9.2 เกี่ยวกับผู้ประกอบศาสนพิธี

18.9.2

ผู้ประกอบศาสนพิธี

  • ผู้สอน ปุโรหิต และผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคจะเตรียมศีลระลึก

  • ปุโรหิตและผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคจะให้พรศีลระลึก

  • มัคนายก ผู้สอน ปุโรหิต และผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคจะส่งผ่านศีลระลึก

เมื่อมีผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนมากพอ โดยปกติพวกเขาจะทำหน้าที่เหล่านี้ เมื่อมีมัคนายกไม่พอให้ส่งผ่านศีลระลึก ประธานโควรัมมัคนายกปรึกษากับอธิการเกี่ยวกับคนที่จะเชิญมาช่วย โดยทั่วไป เขาขอให้ผู้สอนและปุโรหิตช่วยก่อนขอเอ็ลเดอร์หรือมหาปุโรหิต

18.9.3

แนวทางสำหรับศีลระลึก

เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของศีลระลึก ผู้นำฐานะปุโรหิตควรเตรียมอย่างระมัดระวังเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความคารวะ ผ้าปูโต๊ะศีลระลึกควรเป็นสีขาว สะอาด และรีดเรียบ ถาดศีลระลึกต้องสะอาด ถาดและถ้วยศีลระลึกควรสั่งไว้ล่วงหน้า

ผู้ปฏิบัติศีลระลึกควรปฏิบัติด้วยความสง่างามโดยตระหนักว่าพวกเขากำลังเป็นตัวแทนของพระเจ้า ฝ่ายอธิการขอให้ผู้ปฏิบัติศีลระลึกไตร่ตรองการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดขณะเตรียม ให้พร และส่งผ่านศีลระลึก

ผู้ปฏิบัติศีลระลึกควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อยและสะอาดหมดจด พวกเขาจะไม่สวมเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่อาจเบนจากการนมัสการและการทำพันธสัญญาอันเป็นจุดประสงค์ของศีลระลึก หากอธิการจำเป็นต้องแนะนำผู้ดำรงฐานะปุโรหิตเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เขาจะทำด้วยความรัก เขาคำนึงถึงวุฒิภาวะของบุคคลในศาสนจักรด้วย

การส่งผ่านศีลระลึกควรเป็นไปตามธรรมชาติและไม่เป็นทางการเกินไป ตัวอย่างเช่น ไม่จำเป็นต้องทำท่าบางอย่าง (เช่นกำมือซ้ายไปด้านหลัง) หรือสร้างภาพลักษณ์บางอย่าง (เช่นแต่งกายเหมือนกัน)

ผู้เข้าร่วมประชุมร้องเพลงสวดศีลระลึกขณะผู้ปฏิบัติฉีกขนมปัง จะไม่ใช้การร้องเดี่ยวหรือเพลงบรรเลงแทนเพลงสวดศีลระลึก จะไม่เล่นดนตรีระหว่างส่งผ่านศีลระลึกหรือทันทีหลังจากนั้น

หากสมาชิกแพ้อาหารหรือกลูเตน พวกเขาพูดคุยกับสมาชิกในฝ่ายอธิการเพื่อดูว่าจะปรับอะไรได้บ้างสำหรับศีลระลึก ฝ่ายอธิการอาจปรับขั้นตอนการปฏิบัติศีลระลึกต่อพวกเขาเมื่อจำเป็น

โดยทั่วไปต้องฉีกขนมปังอันเป็นส่วนหนึ่งของศาสนพิธีศีลระลึก แต่เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของสมาชิก สมาชิกคนนั้นอาจเตรียมขนมปังปลอดกลูเตนหรือสิ่งทดแทนคล้ายขนมปังที่ฉีกแล้วใส่ถุงพลาสติกหรือถ้วยปิดผนึกมาเอง แล้วมอบให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตวางไว้บนถาดแยกต่างหาก ฝ่ายอธิการช่วยให้ผู้ส่งผ่านรู้ว่าจะส่งผ่านขนมปังปลอดสารภูมิแพ้ให้สมาชิกคนใด

ดู disability.ChurchofJesusChrist.org สำหรับแนวทางเกี่ยวกับการแพ้อาหาร

ถึงแม้ศีลระลึกมีไว้สำหรับสมาชิกศาสนจักร แต่ไม่ควรทำสิ่งใดเพื่อกีดกันไม่ให้ผู้อื่นรับส่วน

ภาพ
เยาวชนชายส่งผ่านศีลระลึก

18.9.4

คำแนะนำ

  1. ผู้เตรียม ให้พร หรือส่งผ่านศีลระลึกล้างมือด้วยสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดก่อน

  2. ผู้สอน ปุโรหิต หรือผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคต้องจัดวางถาดขนมปังที่มีขนมปังยังไม่ได้ฉีก ถาดน้ำที่มีถ้วยน้ำสะอาด และผ้าปูโต๊ะที่สะอาดก่อนการประชุม

  3. ขณะสมาชิกวอร์ดร้องเพลงสวดศีลระลึก ผู้จะให้พรศีลระลึกยืนอย่างคารวะ เปิดผ้าคลุมถาดขนมปัง และฉีกขนมปังให้เป็นชิ้นเล็กพอดีคำ

  4. หลังจากเพลงสวด ผู้ให้พรขนมปังคุกเข่าและกล่าวคำสวดศีลระลึกสำหรับขนมปัง (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77)

  5. อธิการต้องแน่ใจว่าผู้สวดศีลระลึกกล่าวชัดเจน ถูกต้อง และด้วยการให้เกียรติ หากผู้สวดกล่าวผิดและแก้ไขด้วยตนเองแล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้ไขอีก หากผู้สวดไม่แก้ไข อธิการขอร้องอย่างนุ่มนวลให้เขาสวดอ้อนวอนซ้ำ อธิการใช้ดุลพินิจเมื่อขอให้สวดอ้อนวอนซ้ำ เขาต้องแน่ใจว่าการขอเช่นนั้นไม่เป็นเหตุให้เกิดความอับอายโดยมิควรหรือลดความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนพิธี อีกคนที่โต๊ะศีลระลึกช่วยได้เมื่อจำเป็น

  6. หลังจากสวดอ้อนวอน ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตส่งผ่านขนมปังให้สมาชิกด้วยความคารวะ ผู้นำที่เป็นประธานรับก่อน หลังจากนั้นไม่ต้องเรียงลำดับ เมื่อยื่นถาดให้สมาชิก พวกเขาอาจส่งต่อให้อีกคน

  7. สมาชิกรับส่วนด้วยมือขวาเมื่ออยู่ในวิสัยที่ทำได้

  8. เมื่อส่งผ่านขนมปังให้สมาชิกครบแล้ว ผู้ส่งผ่านคืนถาดที่โต๊ะศีลระลึก ผู้ให้พรศีลระลึกปิดผ้าคลุมถาดขนมปังแล้วเปิดผ้าคลุมถาดน้ำ

  9. ผู้ให้พรน้ำคุกเข่าและกล่าวคำสวดศีลระลึกสำหรับน้ำ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:79) เขาใช้คำว่า น้ำ แทน เหล้าองุ่น

  10. หลังจากสวดอ้อนวอน ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตส่งผ่านน้ำให้สมาชิกด้วยความคารวะ ผู้นำที่เป็นประธานรับก่อน หลังจากนั้นไม่ต้องเรียงลำดับ

  11. เมื่อส่งผ่านน้ำให้สมาชิกครบแล้ว ผู้ส่งผ่านคืนถาดที่โต๊ะศีลระลึก ผู้ให้พรศีลระลึกปิดผ้าคลุมถาด ผู้ให้พรและส่งผ่านนั่งที่ของตนด้วยความคารวะ

  12. หลังการประชุม ผู้เตรียมศีลระลึกทำความสะอาด พับผ้าคลุมโต๊ะ และทิ้งขนมปังที่ไม่ได้ใช้

18.10

การประสาทฐานะปุโรหิตและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่ง

ฐานะปุโรหิตแบ่งเป็นสองส่วนคือ ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค (ดู 3.3; หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:1, 6) เมื่อประสาทฐานะปุโรหิตให้บุคคลหนึ่ง เขาได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตนั้นด้วย หลังจากประสาทฐานะปุโรหิตอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้แล้ว ผู้ชายเพียงต้องได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งอื่นในฐานะปุโรหิตนั้น

ดูข้อมูลเกี่ยวกับการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตในสภาวการณ์พิเศษใน 38.2.9

18.10.1

ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

ประธานสเตคถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการประสาทฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งเอ็ลเดอร์และมหาปุโรหิต แต่ปกติอธิการเป็นผู้เสนอชื่อสำหรับการแต่งตั้งเหล่านี้

18.10.1.1

เอ็ลเดอร์

พี่น้องชายที่มีค่าควรจะได้รับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและได้รับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ได้เมื่ออายุ 18 ปีขึ้นไป อธิการพิจารณาตามสภาวการณ์ของแต่ละคนว่าเยาวชนชายควรได้รับการเสนอชื่อให้รับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ทันทีหลังจากวันเกิดปีที่ 18 หรืออยู่กับโควรัมปุโรหิตต่อไป สภาวการณ์เหล่านี้ของเยาวชนชายได้แก่:

  • ประจักษ์พยานและวุฒิภาวะ

  • การสำเร็จการศึกษา

  • ความปรารถนาจะอยู่กับเพื่อนวัยเดียวกัน

  • การเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

ในการตัดสินใจเรื่องนี้อธิการปรึกษากับเยาวชนชายและบิดามารดาหรือผู้ปกครองของเยาวชนชายก่อน ผู้ชายที่มีค่าควรจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์เมื่ออายุ 19 ปีหรือก่อนพวกเขาออกจากบ้านไปเรียนมหาวิทยาลัย รับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา รับราชการทหาร หรือรับงานประจำ

ผู้ชายอายุ 18 ปีขึ้นไปที่เพิ่งรับบัพติศมาจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์หลังจากพวกเขา:

  • ได้รับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและรับใช้เป็นปุโรหิตแล้ว

  • มีความเข้าใจพระกิตติคุณมากพอ

  • แสดงให้เห็นถึงความมีค่าควรของตน

ไม่มีข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาการเป็นสมาชิกศาสนจักร

18.10.1.2

มหาปุโรหิต

ผู้ชายได้รับแต่งตั้งเป็นมหาปุโรหิตเมื่อได้รับการเรียกเป็นฝ่ายประธานสเตค สมาชิกสภาสูง หรือฝ่ายอธิการ พวกเขาอาจได้รับการแต่งตั้งเวลาอื่นด้วยตามที่ประธานสเตคเห็นควรผ่านการพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนและการดลใจ

18.10.1.3

การสัมภาษณ์และการสนับสนุน

โดยได้รับอนุมัติจากฝ่ายประธานสเตค อธิการสัมภาษณ์พี่น้องชายตามคำแนะนำในบันทึกการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค จากนั้นสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคสัมภาษณ์เขาด้วย ด้วยการอนุมัติจากประธานคณะเผยแผ่ ประธานท้องถิ่นอาจสัมภาษณ์พี่น้องชายเพื่อรับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ (ดู 6.3) ดูคำแนะนำเกี่ยวกับการสัมภาษณ์เหล่านี้ใน 31.2.6

หลังการสัมภาษณ์ ฝ่ายประธานสเตคขอให้สภาสูงสนับสนุนการตัดสินใจแต่งตั้งพี่น้องชายคนนี้ สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคเสนอชื่อเขาเพื่อการสนับสนุนในการประชุมใหญ่สเตคภาคทั่วไป (ดู 18.10.3) ด้วยการอนุมัติจากประธานคณะเผยแผ่ ประธานท้องถิ่นจะเสนอชื่อพี่น้องชายเพื่อการสนับสนุนให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ (ดู 6.3)

18.10.2

ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน

อธิการถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการประสาทฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งมัคนายก ผู้สอน และปุโรหิต โดยปกติพี่น้องชายที่มีค่าควรได้รับแต่งตั้งสู่ตำแหน่งตามอายุต่อไปนี้ แต่ไม่เร็วกว่านี้:

  • มัคนายกตอนต้นปีที่พวกเขาอายุครบ 12 ปี

  • ผู้สอนตอนต้นปีที่พวกเขาอายุครบ 14 ปี

  • ปุโรหิตตอนต้นปีที่พวกเขาอายุครบ 16 ปี

อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายสัมภาษณ์ผู้จะรับการแต่งตั้งเป็นมัคนายกหรือผู้สอนเพื่อพิจารณาว่าพวกเขาพร้อมทางวิญญาณหรือไม่ อธิการสัมภาษณ์พี่น้องชายผู้จะรับการแต่งตั้งเป็นปุโรหิต

ก่อนการสัมภาษณ์เยาวชนชายเพื่อการแต่งตั้งฐานะปุโรหิต สมาชิกในฝ่ายอธิการขออนุญาตจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองของเยาวชนก่อน หากบิดามารดาหย่าร้าง เขาจะขออนุญาตจากบิดาหรือมารดาที่เป็นผู้ดูแลตามกฎหมาย

หากสัมภาษณ์แล้วพบว่าเขามีค่าควร สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการเสนอชื่อเขาเพื่อการสนับสนุนในการประชุมศีลระลึก (ดู 18.10.3)

ดูข้อมูลเกี่ยวกับการแต่งตั้งพี่น้องชายที่เพิ่งรับบัพติศมาใน 38.2.9.1

18.10.3

การเสนอชื่อสมาชิกให้ได้รับการสนับสนุนก่อนแต่งตั้งเขา

หลังจากสัมภาษณ์และพบว่าพี่น้องชายมีค่าควรได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต เขาจะได้รับการเสนอชื่อเพื่อการสนับสนุน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:65, 67) สมาชิกในฝ่ายประธานสเตคเสนอชื่อพี่น้องชายที่จะรับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์หรือมหาปุโรหิตในการประชุมใหญ่สเตคภาคทั่วไป (ดูคำแนะนำสำหรับประธานท้องถิ่นใน 6.3) สมาชิกในฝ่ายอธิการเสนอชื่อพี่น้องชายที่จะรับการแต่งตั้งเป็นมัคนายก ผู้สอน หรือปุโรหิตในการประชุมศีลระลึก

ผู้ดำเนินการสนับสนุนขอให้พี่น้องชายยืนขึ้น เขาประกาศการเสนอให้ประสาทฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนหรือฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค (หากต้องประสาท) และให้แต่งตั้งพี่น้องชายสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต จากนั้นเขาเชื้อเชิญให้สมาชิกสนับสนุนการเสนอ ตัวอย่างเช่น เพื่อเสนอพี่น้องชายให้รับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ เขาจะใช้คำพูดดังนี้:

“เราขอเสนอให้ [ชื่อนามสกุล] ได้รับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและรับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ ผู้เห็นชอบโปรดแสดงให้ประจักษ์โดยยกมือ [หยุดครู่หนึ่ง] ผู้คัดค้าน หากมี โปรดแสดงให้ประจักษ์ [หยุดครู่หนึ่ง]”

ผู้ได้รับการเสนอชื่อจะร่วมออกเสียงสนับสนุนด้วย หากมีการเสนอชื่อมากกว่าหนึ่งคน พวกเขาจะได้รับการสนับสนุนเป็นกลุ่ม

หากสมาชิกที่อยู่ในสถานะน่าเชื่อถือคัดค้านการแต่งตั้ง ผู้นำที่เป็นประธานหรือผู้นำฐานะปุโรหิตอีกคนหนึ่งที่เขามอบหมายจะพบกับสมาชิกคนนั้นเป็นการส่วนตัวหลังเลิกประชุม ผู้นำพยายามเข้าใจสาเหตุที่สมาชิกคัดค้าน เขาถามว่าสมาชิกทราบเรื่องความประพฤติที่อาจทำให้บุคคลนั้นขาดคุณสมบัติที่จะรับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตหรือไม่

เฉพาะสมาชิกในสถานะดีเท่านั้นจึงจะร่วมออกเสียงสนับสนุนได้ อย่างไรก็ดี หากสมาชิกในสถานะดีหรือผู้ไม่เป็นสมาชิกออกเสียงคัดค้าน อธิการหรือประธานสเตคจะรับฟังข้อกังวลของคนนั้นเป็นส่วนตัวหลังเลิกประชุม

ในบางกรณีพี่น้องชายอาจต้องรับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์หรือมหาปุโรหิตก่อนจะเสนอชื่อเขาในการประชุมใหญ่สเตค กรณีนี้จะเสนอชื่อเขาเพื่อการสนับสนุนในการประชุมศีลระลึกวอร์ด จากนั้นจะเสนอชื่อเขาในการประชุมใหญ่สเตคครั้งถัดไปเพื่อรับรองการแต่งตั้ง (การปรับขั้นตอนการสนับสนุนอธิบายไว้ข้างต้น) ทั้งนี้รวมถึงการเปิดโอกาสให้สมาชิกสเตคสนับสนุนหรือคัดค้านการดำเนินการด้วย

ภาพ
ผู้ชายได้รับการแต่งตั้ง

18.10.4

ผู้ประกอบศาสนพิธี

ประธานสเตคหรือผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคนหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลของเขาจะแต่งตั้งผู้ชายสู่ตำแหน่งเอ็ลเดอร์ โดยได้รับอนุมัติจากประธานคณะเผยแผ่ ประธานท้องถิ่นหรือคนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเขาจะประกอบพิธีแต่งตั้ง (ดู 6.3) เฉพาะผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคเท่านั้นจึงจะยืนในวงกลมได้

ประธานสเตคหรือมหาปุโรหิตคนหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลของเขาจะแต่งตั้งผู้ชายสู่ตำแหน่งมหาปุโรหิต เฉพาะมหาปุโรหิตเท่านั้นจึงจะยืนในวงกลมได้

บุคคลผู้แต่งตั้งผู้ชายสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคจะต้องมีค่าควรเข้าพระวิหาร ประธานสเตคหรือผู้ที่เขากำหนดต้องอยู่ที่นั่นด้วย

ปุโรหิตหรือผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคจะแต่งตั้งพี่น้องชายสู่ตำแหน่งมัคนายก ผู้สอน หรือปุโรหิต เขาต้องได้รับมอบอำนาจจากอธิการ อธิการหรือคนที่เขากำหนดต้องอยู่ที่นั่นด้วย

เพื่อมีส่วนร่วมในการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน บุคคลต้องเป็นปุโรหิตหรือผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

อธิการอาจยินยอมให้บิดาผู้เป็นปุโรหิตหรือผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคแต่งตั้งบุตรชายของตนสู่ตำแหน่งมัคนายก ผู้สอน หรือปุโรหิตแม้บิดาไม่มีค่าควรอย่างเต็มที่ในการเข้าพระวิหาร (ดู 18.3) อธิการกระตุ้นให้บิดาเตรียมตัวแต่งตั้งบุตรชายของตน

เพื่อทำหน้าที่กล่าวออกเสียงในศาสนพิธีนี้ ผู้อยู่นอกวอร์ดของเขาเองต้องแสดงใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันต่อผู้นำที่เป็นประธาน หรือเขาอาจแสดง ใบรับรองเพื่อประกอบศาสนพิธี ที่เซ็นโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการของเขา

18.10.5

คำแนะนำ

เพื่อประสาทฐานะปุโรหิตและแต่งตั้งบุคคลสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ได้รับมอบอำนาจหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นวางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ จากนั้นคนหนึ่งทำหน้าที่กล่าวออกเสียง:

  1. เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับ

  2. กล่าวถึงสิทธิอำนาจที่เขาดำรงอยู่เพื่อประกอบศาสนพิธี (ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนหรือฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค)

  3. ประสาทฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนหรือฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค เว้นแต่ได้รับการประสาทแล้ว

  4. แต่งตั้งบุคคลสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนหรือฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค และมอบสิทธิ พลังอำนาจ และสิทธิอำนาจของตำแหน่งนั้น (ไม่มอบกุญแจฐานะปุโรหิตเมื่อประสาทฐานะปุโรหิตหรือแต่งตั้งสู่ตำแหน่ง ยกเว้นเมื่อแต่งตั้งอธิการ)

  5. ให้พรตามที่พระวิญญาณทรงนำ

  6. จบในพระนามของพระเยซูคริสต์

เพื่อแต่งตั้งบุคคลสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตหลังจากเขาได้รับการประสาทฐานะปุโรหิตที่เหมาะสมแล้ว ผู้ประกอบศาสนพิธีข้ามขั้นตอน 3

การแต่งตั้งเป็นโอกาสให้พร คำแนะนำและการสอนโดยละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่ของบุคคลจะให้ก่อนหรือหลังการแต่งตั้ง คำแนะนำเหล่านั้นไม่ควรเป็นจุดโฟกัสของพร อีกทั้งไม่จำเป็นต้องมีการสวดอ้อนวอน ประจักษ์พยาน หรือการสอนเมื่อแต่งตั้ง

18.10.6

บันทึกและใบสำคัญการแต่งตั้ง

ก่อนผู้ชายได้รับการสัมภาษณ์เพื่อรับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค พนักงานใช้ LCR เตรียม บันทึกการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ประธานสเตคหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายดำเนินการสัมภาษณ์และเซ็นแบบฟอร์มหากบรรลุเงื่อนไขความมีค่าควรทั้งหมด

หลังจากแต่งตั้ง ประธานสเตคหรือตัวแทนที่เขามอบหมายกรอกแบบฟอร์มให้ครบถ้วนและมอบให้พนักงาน เขาบันทึกการแต่งตั้งลงใน LCR และเตรียมใบสำคัญการแต่งตั้ง ประธานสเตคเซ็นใบสำคัญนี้และมอบให้บุคคลนั้น

ก่อนสัมภาษณ์พี่น้องชายเพื่อรับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน พนักงานใช้ LCR เตรียม บันทึกการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายดำเนินการสัมภาษณ์และเซ็นแบบฟอร์มหากบรรลุเงื่อนไขความมีค่าควรทั้งหมด

หลังจากแต่งตั้ง อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายกรอกแบบฟอร์มให้ครบถ้วนและมอบให้พนักงาน เขาบันทึกการแต่งตั้งลงใน LCR และเตรียมใบสำคัญการแต่งตั้ง

ควรใช้ชื่อตามกฎหมายในปัจจุบันของบุคคลบนบันทึกและใบสำคัญการแต่งตั้ง

18.11

การวางมือมอบหน้าที่ให้สมาชิกรับใช้ในการเรียกต่างๆ

สมาชิกที่ได้รับการเรียกและการสนับสนุนสู่ตำแหน่งส่วนใหญ่ในศาสนจักรจะได้รับการวางมือมอบหน้าที่ให้รับใช้ในตำแหน่งนั้น (ดู ยอห์น 15:16; หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:11; ดู 3.4.3.1 ในคู่มือนี้ด้วย) ระหว่างการวางมือมอบหน้าที่ บุคคลได้รับ (1) สิทธิอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ในการเรียกและ (2) คำให้พรตามที่พระวิญญาณทรงนำ

ประธานสเตค อธิการ และประธานโควรัมได้รับกุญแจของฝ่ายประธานเมื่อได้รับการวางมือมอบหน้าที่ (ดู 3.4.1.1) แต่จะไม่ใช้คำว่า กุญแจ เมื่อวางมือมอบหน้าที่ให้สมาชิกรับใช้ในการเรียกอื่น รวมทั้งที่ปรึกษาในฝ่ายประธาน

ดูข้อมูลเกี่ยวกับการเรียก การแต่งตั้ง และการวางมือมอบหน้าที่อธิการใน 30.7

18.11.1

ผู้วางมือมอบหน้าที่

การวางมือมอบหน้าที่ทำโดยผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค เขาต้องได้รับอนุมัติจากผู้นำที่ถือกุญแจฐานะปุโรหิตที่เหมาะสม ผู้ได้รับมอบอำนาจให้วางมือมอบหน้าที่มีระบุไว้ใน 30.8 เอ็ลเดอร์จะไม่ทำหน้าที่กล่าวออกเสียงหรือยืนในวงกลมเมื่อวางมือมอบหน้าที่ชายคนหนึ่งสู่ตำแหน่งที่ต้องให้เขาเป็นมหาปุโรหิต

ภายใต้การกำกับดูแลของผู้นำที่เป็นประธาน ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นจะมีส่วนร่วมในการวางมือมอบหน้าที่ ประธานรับการวางมือมอบหน้าที่ก่อนที่ปรึกษา

ผู้นำที่เป็นประธานอาจยินยอมให้สามีหรือบิดาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคยืนในวงกลมสำหรับการวางมือมอบหน้าที่ให้ภรรยาหรือบุตรของเขาแม้บิดาไม่มีค่าควรอย่างเต็มที่ในการเข้าพระวิหาร (ดู 18.3)

18.11.2

คำแนะนำ

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคที่ได้รับมอบอำนาจหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นวางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ จากนั้นคนหนึ่งทำหน้าที่กล่าวออกเสียง:

  1. เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับ

  2. กล่าวว่าเขากระทำโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

  3. วางมือมอบหน้าที่บุคคลนั้นสู่การเรียกในสเตค วอร์ด โควรัม หรือชั้นเรียน

  4. ประสาทกุญแจหากบุคคลควรได้รับกุญแจ

  5. ให้พรตามที่พระวิญญาณทรงนำ

  6. จบในพระนามของพระเยซูคริสต์

การวางมือมอบหน้าที่ไม่ใช่การประชุมอย่างเป็นทางการด้วยการสวดอ้อนวอนหรือประจักษ์พยาน ทั้งไม่ใช่เวลาให้คำแนะนำอย่างละเอียด คำแนะนำเหล่านั้นจะให้ระหว่างการอบรมแต่ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของการให้พร

18.12

การทำให้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคต้องทำให้น้ำมันมะกอกศักดิ์สิทธิ์ก่อนใช้เจิมผู้ป่วยหรือผู้มีทุกข์ (ดู ยากอบ 5:14) จะใช้น้ำมันอื่นไม่ได้

สมาชิกจะไม่บริโภคน้ำมันศักดิ์สิทธิ์หรือใช้ทาร่างกายบริเวณที่เจ็บปวด

18.12.1

ผู้ประกอบศาสนพิธี

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นจะทำให้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ พวกเขาไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากผู้นำฐานะปุโรหิต

18.12.2

คำแนะนำ

เพื่อทำให้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค:

  1. ถือขวดน้ำมันมะกอกที่เปิดฝาไว้

  2. เอ่ยพระนามพระบิดาบนสวรรค์เหมือนในการสวดอ้อนวอน

  3. กล่าวว่าเขากระทำโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

  4. ทำให้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ (ไม่ใช่ขวดน้ำมัน) และกำหนดไว้สำหรับการเจิมและการให้พรผู้ป่วยกับผู้มีทุกข์

  5. จบในพระนามของพระเยซูคริสต์

18.13

การปฏิบัติและให้พรผู้ป่วย

โดยปกติการปฏิบัติและให้พรผู้ป่วยจะทำตามคำขอของผู้รับพรหรือตามคำขอของคนที่ห่วงใยเพื่อพรจะเป็นไปตามศรัทธาของพวกเขา (ดู ยากอบ 5:14; หลักคำสอนและพันธสัญญา 24:13–14; 42:43–44, 48–52)

การปฏิบัติและให้พรผู้ป่วย “โดยการวางมือ” มีสองส่วนคือ การเจิมด้วยน้ำมันและการผนึกการเจิมด้วยการให้พร หากไม่มีน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ อาจให้พรโดยสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคโดยไม่ต้องเจิมน้ำมัน

หากบุคคลขอพรมากกว่าหนึ่งครั้งสำหรับความเจ็บป่วยเดิม ไม่จำเป็นต้องเจิมน้ำมันอีก ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตสามารถให้พรอีกครั้งโดยการวางมือและสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค แต่จะเจิมน้ำมันอีกครั้งก็ได้

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ไปเยี่ยมโรงพยาบาลจะไม่ขอโอกาสปฏิบัติและให้พรผู้ป่วย

ภาพ
ผู้หญิงกำลังรับพรฐานะปุโรหิต

18.13.1

ผู้ให้พร

เฉพาะผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคที่มีค่าควรเท่านั้นจึงจะปฏิบัติและให้พรผู้ป่วยหรือผู้มีทุกข์ได้ พวกเขาไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากผู้นำฐานะปุโรหิต หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ บิดาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคจะปฏิบัติและให้พรสมาชิกที่เจ็บป่วยในครอบครัวของตน

โดยปกติผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคสองคนหรือมากกว่านั้นจะปฏิบัติและให้พรผู้ป่วย แต่คนหนึ่งอาจทำทั้งการเจิมและการผนึก

18.13.2

คำแนะนำ

การปฏิบัติและให้พรผู้ป่วยมีอยู่สองส่วนคือการเจิมด้วยน้ำมันและการผนึกการเจิม

การเจิมด้วยน้ำมันทำโดยผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งคน เขา:

  1. หยดน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ลงบนศีรษะผู้รับหนึ่งหยด

  2. วางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับ

  3. กล่าวว่าเขากระทำโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

  4. กล่าวว่าเขากำลังเจิมน้ำมันที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์แล้วสำหรับการเจิมและการให้พรผู้ป่วยและผู้มีทุกข์

  5. จบในพระนามของพระเยซูคริสต์

เพื่อผนึกการเจิม ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นวางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ จากนั้นผู้ผนึกการเจิม:

  1. เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับ

  2. กล่าวว่าเขากำลังผนึกการเจิมโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

  3. ให้พรตามที่พระวิญญาณทรงนำ

  4. จบในพระนามของพระเยซูคริสต์

18.14

พรของการปลอบประโลมและคำแนะนำ รวมถึงพรของบิดา

18.14.1

ผู้ให้พร

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคอาจให้พรของการปลอบประโลมและคำแนะนำแก่สมาชิกครอบครัวตลอดจนคนอื่นๆ ที่ขอพร โดยปกติสมาชิกครอบครัว บราเดอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ หรือผู้นำฐานะปุโรหิตจะให้พรเหล่านี้

บิดาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคอาจให้พรของบิดาแก่บุตรธิดาของตน พรเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อบุตรธิดาไปเรียนหนังสือ ไปรับใช้งานเผยแผ่ แต่งงาน เข้ารับราชการทหาร หรือประสบความท้าทายพิเศษ บิดามารดากระตุ้นให้บุตรธิดาขอพรของบิดาในยามต้องการ อาจบันทึกพรของบิดาไว้ใช้ส่วนตัว

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากผู้นำฐานะปุโรหิตเพื่อให้พรของการปลอบประโลมและคำแนะนำหรือพรของบิดา

18.14.2

คำแนะนำ

เพื่อให้พรของการปลอบประโลมและคำแนะนำหรือพรของบิดา ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นวางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ จากนั้นคนหนึ่งทำหน้าที่กล่าวออกเสียง:

  1. เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับ

  2. กล่าวว่าเขาให้พรโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

  3. ให้พร ปลอบประโลม และแนะนำตามที่พระวิญญาณทรงนำ

  4. จบในพระนามของพระเยซูคริสต์

ภาพ
ผู้สอนศาสนาให้พรผู้หญิง

18.15

การอุทิศบ้าน

สมาชิกศาสนจักรอาจอุทิศบ้านของพวกเขาโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ไม่ต้องเป็นเจ้าของบ้านหรือบ้านปลอดหนี้ก็อุทิศได้ บ้านไม่เหมือนอาคารศาสนจักร ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องอุทิศถวายบ้านแด่พระเจ้า

18.15.1

ผู้ทำการอุทิศ

บ้านได้รับการอุทิศโดยผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค หากไม่มีผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคในบ้าน:

  • ครอบครัวอาจเชิญเพื่อนสนิท ญาติ หรือบราเดอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจที่ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคมาอุทิศบ้าน บุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากผู้นำฐานะปุโรหิต

  • ครอบครัวจะรวมกันและถวายการสวดอ้อนวอนตามที่พระวิญญาณทรงนำ คำสวดอ้อนวอนจะมีองค์ประกอบตามที่กล่าวไว้ใน 18.15.2 ข้อ 3

18.15.2

คำแนะนำ

เพื่ออุทิศบ้าน ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคนหนึ่ง:

  1. เอ่ยพระนามพระบิดาบนสวรรค์เหมือนในการสวดอ้อนวอน

  2. กล่าวว่าเขากระทำโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

  3. อุทิศบ้านให้เป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ที่พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จะสถิตได้และกล่าวตามที่พระวิญญาณทรงนำ ตัวอย่างเช่น เขาอาจให้พรบ้านเป็นสถานที่ซึ่งสมาชิกครอบครัวสามารถนมัสการ พบความปลอดภัยจากโลก เติบโตทางวิญญาณ และเตรียมรับความสัมพันธ์ฉันครอบครัวนิรันดร์

  4. จบในพระนามของพระเยซูคริสต์

18.16

การอุทิศหลุมฝังศพ

18.16.1

ผู้อุทิศหลุมฝังศพ

ผู้อุทิศหลุมฝังศพจะต้องดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและได้รับมอบอำนาจจากผู้นำฐานะปุโรหิตที่ดำเนินพิธี

หากครอบครัวเห็นชอบ อาจจะสวดอ้อนวอนข้างหลุมฝังศพแทนการสวดอ้อนวอนอุทิศหลุมฝังศพ จะสวดอ้อนวอนโดยใครก็ได้ที่ครอบครัวเลือก

เพื่อทำหน้าที่กล่าวออกเสียงในการอุทิศหลุมฝังศพ ผู้อยู่นอกวอร์ดต้องแสดงใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันต่อผู้นำฐานะปุโรหิตที่เป็นประธานในพิธี หรือเขาอาจแสดง ใบรับรองเพื่อประกอบศาสนพิธี ที่เซ็นโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการของเขา

18.16.2

คำแนะนำ

เพื่ออุทิศหลุมฝังศพ ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคนหนึ่ง:

  1. เอ่ยพระนามพระบิดาบนสวรรค์เหมือนในการสวดอ้อนวอน

  2. กล่าวว่าเขากระทำโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

  3. อุทิศและอุทิศถวายที่ฝังให้เป็นที่พักร่างของผู้ถึงแก่กรรม

  4. สวดอ้อนวอนให้สถานที่นั้นศักดิ์สิทธิ์และปลอดภัยจนถึงการฟื้นคืนชีวิต (หากเห็นสมควร)

  5. ทูลขอให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงปลอบประโลมครอบครัวและแสดงความคิดตามที่พระวิญญาณทรงนำ

  6. จบในพระนามของพระเยซูคริสต์

หากฌาปนกิจร่างของสมาชิกศาสนจักร ผู้นำที่เป็นประธานใช้วิจารณญาณตัดสินใจว่าจะอุทิศสถานที่เก็บอัฐิหรือไม่ เขาคำนึงถึงความประสงค์ของครอบครัว ธรรมเนียมปฏิบัติและกฎหมายในท้องที่ บราเดอร์ผู้ทำหน้าที่กล่าวออกเสียงจะปรับคำแนะนำสำหรับการอุทิศหลุมฝังศพ

18.17

ปิตุพร

สมาชิกทุกคนที่รับบัพติศมาแล้วและมีค่าควรย่อมมีสิทธิ์ได้รับปิตุพรซึ่งให้การนำทางด้วยการดลใจจากพระบิดาบนสวรรค์ (ดู ปฐมกาล 48:14–1649; 2 นีไฟ 4:3–11) บิดามารดาและผู้นำศาสนจักรสนับสนุนให้สมาชิกเตรียมทางวิญญาณเพื่อพร้อมรับปิตุพรของตน

อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายสัมภาษณ์สมาชิกผู้ประสงค์จะรับปิตุพร หากสมาชิกมีค่าควร ผู้สัมภาษณ์เตรียมใบรับรองปิตุพร เขาส่งใบรับรองผ่าน ระบบปิตุพร บน ChurchofJesusChrist.org.

ผู้ออกใบรับรองปิตุพรต้องแน่ใจว่าสมาชิกมีวุฒิภาวะมากพอจะเข้าใจความสำคัญและความศักดิ์สิทธิ์ของพร ตามหลักแล้วสมาชิกควรอายุน้อยพอที่การตัดสินใจสำคัญๆ หลายเรื่องในชีวิตยังอยู่ข้างหน้า แต่ศาสนจักรสนับสนุนให้ผู้ใหญ่ที่อายุมากแล้วไปรับปิตุพรเช่นกัน ผู้นำฐานะปุโรหิตไม่ควรตั้งเกณฑ์อายุต่ำสุดให้สมาชิกไปรับปิตุพร

ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่ต้องเข้าใจหลักคำสอนพื้นฐานของศาสนจักรก่อนรับปิตุพร

ดูข้อมูลเกี่ยวกับปิตุพรในสภาวการณ์พิเศษใน 38.2.10

18.17.1

การรับปิตุพร

หลังจากได้รับใบรับรอง สมาชิกติดต่อผู้ประสาทพรเพื่อนัดรับปิตุพร ในวันนัด สมาชิกจะไปพบผู้ประสาทพรด้วยเจตคติที่ดีร่วมกับการสวดอ้อนวอนและแต่งกายสุภาพเรียบร้อยเหมือนไปโบสถ์วันอาทิตย์ สมาชิกอาจอดอาหารแต่การอดอาหารไม่ใช่ข้อกำหนด

ปิตุพรของแต่ละคนศักดิ์สิทธิ์ ไม่พึงเปิดเผย และเป็นส่วนตัว ด้วยเหตุนี้จึงให้ปิตุพรเป็นการส่วนตัวแต่อาจให้สมาชิกครอบครัวจำนวนจำกัดอยู่ด้วย

ผู้รับปิตุพรจะจดจำถ้อยคำในปิตุพร ไตร่ตรอง และดำเนินชีวิตให้คู่ควรได้รับพรที่สัญญาไว้ในชีวิตนี้และในนิรันดร

สมาชิกศาสนจักรจะไม่เปรียบเทียบปิตุพรและจะไม่บอกพรนั้นกับใครยกเว้นกับคนสนิทในครอบครัว จะไม่อ่านปิตุพรในการประชุมของศาสนจักรหรือการชุมนุมสาธารณะอื่นๆ

หากปิตุพรไม่ได้ประกาศเชื้อสาย ผู้ประสาทพรจะให้ใบแทรกภายหลังเพื่อประกาศเชื้อสาย

ภาพ
ผู้หญิงกำลังรับพรฐานะปุโรหิต

18.17.2

การขอรับสำเนาปิตุพร

ผู้ได้รับปิตุพรแล้วควรเก็บสำเนาที่ได้รับไว้เป็นอย่างดี แต่หากสำเนาหายหรือเสียหาย เขาจะขอสำเนาใหม่ เขาสามารถขอได้ที่ Patriarchal Blessings (ปิตุพร) บน ChurchofJesusChrist.org. หากขอไม่ได้ เขาติดต่ออธิการให้ช่วยเหลือ

18.17.3

ข้อมูลเพิ่มเติม

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปิตุพรใน 38.2.10 และ “ปิตุพร

18.18

เอ็นดาวเม้นท์พระวิหารและการผนึก

ดูข้อมูลเกี่ยวกับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารและศาสนพิธีผนึกใน บทที่ 27

18.19

แผนภูมิการแต่งตั้ง

ตำแหน่ง

เสนอชื่อโดย

อนุมัติโดย

สนับสนุนโดย

สัมภาษณ์และแต่งตั้งโดย

ตำแหน่ง

ผู้ประสาทพร

เสนอชื่อโดย

ฝ่ายประธานสเตค

อนุมัติโดย

โควรัมอัครสาวกสิบสอง

สนับสนุนโดย

สมาชิกในการประชุมใหญ่สเตค

สัมภาษณ์และแต่งตั้งโดย

ประธานสเตคหลังได้รับอนุมัติจากโควรัมอัครสาวกสิบสอง; หรือสมาชิกท่านหนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดหรือโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ตำแหน่ง

มหาปุโรหิต

เสนอชื่อโดย

อธิการและฝ่ายประธานสเตค

อนุมัติโดย

ฝ่ายประธานสเตคและสภาสูง

สนับสนุนโดย

สมาชิกในการประชุมใหญ่สเตค

สัมภาษณ์และแต่งตั้งโดย

สัมภาษณ์โดยอธิการและโดยประธานสเตคหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมาย; แต่งตั้งภายใต้การกำกับดูแลของประธานสเตค

ตำแหน่ง

เอ็ลเดอร์

เสนอชื่อโดย

อธิการ

อนุมัติโดย

ฝ่ายประธานสเตคและสภาสูง

สนับสนุนโดย

สมาชิกในการประชุมใหญ่สเตคหรือการประชุมใหญ่ท้องถิ่น

สัมภาษณ์และแต่งตั้งโดย

สัมภาษณ์โดยอธิการและโดยประธานสเตคหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมาย (ในท้องถิ่นสัมภาษณ์โดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานคณะเผยแผ่หรือโดยประธานท้องถิ่นถ้าได้รับมอบหมาย ดู 6.3)

แต่งตั้งภายใต้การกำกับดูแลของประธานสเตค (ในท้องถิ่น แต่งตั้งภายใต้การกำกับดูแลของประธานคณะเผยแผ่หรือประธานท้องถิ่นถ้าได้รับมอบหมาย)

ตำแหน่ง

อธิการ

เสนอชื่อโดย

ฝ่ายประธานสเตค โดยใช้ LCR

อนุมัติโดย

ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง

สนับสนุนโดย

สมาชิกในการประชุมศีลระลึก

สัมภาษณ์และแต่งตั้งโดย

ประธานสเตคหลังได้รับอนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุด (ดู 30.7)

ตำแหน่ง

ปุโรหิต

เสนอชื่อโดย

อธิการ

อนุมัติโดย

ฝ่ายอธิการ

สนับสนุนโดย

สมาชิกในการประชุมศีลระลึก

สัมภาษณ์และแต่งตั้งโดย

สัมภาษณ์โดยอธิการ; แต่งตั้งภายใต้การกำกับดูแลของอธิการ

ตำแหน่ง

ผู้สอนหรือมัคนายก

เสนอชื่อโดย

อธิการ

อนุมัติโดย

ฝ่ายอธิการ

สนับสนุนโดย

สมาชิกในการประชุมศีลระลึก

สัมภาษณ์และแต่งตั้งโดย

สัมภาษณ์โดยอธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมาย; แต่งตั้งภายใต้การกำกับดูแลของอธิการ