จงตามเรามา
15–21 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 10–15: ‘พระ‍วจนะของพระ‍เจ้าจำ‌เริญขึ้น และแพร่‍ขยายออกไป’


“15–21 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 10–15: ‘พระ‍วจนะของพระ‍เจ้าจำ‌เริญขึ้น และแพร่‍ขยายออกไป’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“15–21 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 10–15,” จงตามเรามา: สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
โคร‌เน‌ลิ‌อัสพูดกับเปโตร

15–21 กรกฎาคม

กิจการของอัครทูต 10–15

“พระ‍วจนะของพระ‍เจ้าจำ‌เริญขึ้น และแพร่‍ขยายออกไป”

การศึกษา กิจการของอัครทูต 10–15 ร่วมกับการสวดอ้อนวอนก่อนอ่านโครงร่างนี้จะช่วยให้ท่านรับความประทับใจจากพระเจ้า แนวคิดด้านล่างนี้เป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันกับคนที่นั่งใกล้กันเกี่ยวกับประสบการณ์งานสอนศาสนาจาก กิจการของอัครทูต 10–15 ที่พวกเขาประทับใจ เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนแบ่งปันข้อคิดของพวกเขากับทั้งชั้นเรียน

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

กิจการของอัครทูต 10; 11:1–18; 15:1–25

พระบิดาบนสวรรค์ทรงสอนเราเป็นบรรทัดมาเติมบรรทัดผ่านการเปิดเผย

  • สมาชิกชั้นเรียนบางคนอาจมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับขั้นตอนของการได้รับการเปิดเผย อาจช่วยพวกเขาสนทนาว่าการเปิดเผยมาสู่เปโตรอย่างไรและพวกเขาจะดำเนินต่อไปโดย “อย่าลังเลใจ” (กิจการของอัครทูต 10:20) เมื่อการเปิดเผยดูไม่ครบถ้วนหรือไม่ชัดเจนได้อย่างไร ท่านอาจลากเส้นหนึ่งเส้นบนกระดานและเขียนที่ปลายเส้นด้านหนึ่งว่า ต้องสั่งสอนพระกิตติคุณแก่คนต่างชาติ ทบทวน กิจการของอัครทูต 10 และ 11:1–18 เป็นชั้นเรียนแล้วใส่จุดบนเส้นที่จะแสดงวิธีที่พระเจ้าทรงเปิดเผยทีละขั้นทีละตอนแก่เปโตรว่าเวลาสั่งสอนพระกิตติคุณแก่คนต่างชาติมาถึงแล้ว ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะเริ่มด้วยจุดแรกที่เขียนว่า “​โคร‌เน‌ลิ‌อัสเห็นนิมิต” (กิจการของอัครทูต 10:1–6) หรือแม้แต่เริ่มด้วยพระบัญชาของพระผู้ช่วยให้รอดต่อสานุศิษย์ของพระองค์ให้ “(สอน) ทุกชนชาติ” ใน มัทธิว 28:19 เราเรียนรู้อะไรได้บ้างเกี่ยวกับการเปิดเผยจากประสบการณ์ของเปโตร คำสอนของนีไฟเกี่ยวกับการเปิดเผยใน 2 นีไฟ 28:30 และคำสอนจากเอ็ลเดอร์ เดวิด เอ. เบดนาร์และเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” เสริมอะไรในการสนทนาเรื่องนี้

  • ท่านจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนคิดลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาได้รับการเปิดเผยได้อย่างไร ท่านอาจศึกษาตัวอย่างในพระคัมภีร์ซึ่งพระเจ้าทรงสอนผู้คนเป็นบรรทัดมาเติมบรรทัด นอกจากประสบการณ์ของเปโตรใน กิจการของอัครทูต 10 สมาชิกชั้นเรียนอาจทบทวนประสบการณ์ของนีไฟ (1 นีไฟ 18:1–3); แอลมา (แอลมา 7:8; 16:20); และมอรมอน (3 นีไฟ 28:17, 36–40) มีตัวอย่างใดอีกที่สมาชิกชั้นเรียนนึกได้เกี่ยวกับคนที่ได้รับการนำทางทางวิญญาณ “ที่นี่นิดและที่นั่นหน่อย” 2 นีไฟ 28:30 เหตุใดบางครั้งพระเจ้าจึงทรงเลือกเปิดเผยบางสิ่งในวิธีนี้แทนที่จะให้คำตอบกับเราทั้งหมดในครั้งเดียว (ดู คพ. 50:40; 98:12) อุปมาเช่นนี้อาจช่วยได้: สมมติว่าบางคนแนะนำท่านว่าท่านต้องเรียนแคลคูลัสก่อนที่ท่านจะเรียนพีชคณิตหรือเรขาคณิต ท่านจะตอบว่าอย่างไร สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับรูปแบบการเปิดเผยความจริงของพระเจ้าอย่างไร

  • บางครั้งสมาชิกมีคำถามหรือข้อกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือโปรแกรมในศาสนจักร อาจมีประโยชน์ที่จะสนทนาว่าการเปิดเผยให้เริ่มสั่งสอนพระกิตติคุณแก่คนต่างชาติ (ดู กิจการของอัครทูต 10) มาแทนพระดำรัสแนะนำก่อนหน้านั้นที่พระเจ้าประทานแก่สานุศิษย์ของพระองค์อย่างไร (ดู มัทธิว 10:1, 5–6) สมาชิกชั้นเรียนอาจตอบโดยอ้างอิงบางคนในสมัยของเปโตรที่ไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำของเปโตรเนื่องจากขัดแย้งกับวิธีปฏิบัติก่อนหน้านั้นอย่างไร การเปิดเผยใน กิจการของอัครทูต 10 ช่วยให้เราฟังการเปิดเผยอันต่อเนื่องของพระเจ้าผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ได้อย่างไร

  • อาจเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะทบทวนคำแนะนำด้วยกันซึ่งเกิดขึ้นกับบรรดาอัครสาวก ดังที่บรรยายใน กิจการของอัครทูต 15:1–22และในจดหมายที่พวกเขาเขียนถึงวิสุทธิชน (ดู ข้อ 23–29) ท่านอาจฉายวีดิทัศน์ “The Jerusalem Conference” (LDS.org) สานุศิษย์มีคำถามอะไร พวกเขาแสวงหาคำตอบอย่างไร คำกล่าวของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจอธิบายเพิ่มเติมว่าพระเจ้าทรงนำทางศาสนจักรของพระองค์ผ่านการเปิดเผยต่ออัครสาวกและศาสดาพยากรณ์อย่างไร

กิจการของอัครทูต 10:9–48

“พระเจ้าไม่ทรงลำเอียง”

  • สมาชิกชั้นเรียนของท่านจะได้ประโยชน์จากการสนทนาถึงความหมายของคำว่า “ไม่ทรงลำเอียง” หรือไม่ ท่านอาจต้องการเริ่มโดยการเชื้อเชิญให้ชั้นเรียนอ่านพระคัมภีร์ที่สอนว่าพระเจ้าไม่ทรงลำเอียง เช่น โรม 2:1–11; 1 นีไฟ 17:34–40; 2 นีไฟ 26:32–33; แอลมา 5:33; โมโรไน 8:12; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:34–35 ขอให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนคำนิยามที่เป็นไปได้ของ “ไม่ทรงลำเอียง” ตามที่พวกเขาอ่านแล้วแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน ท่านอาจจำเป็นต้องช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจว่าการ “ไม่ทรงลำเอียง” ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าประทานพรทุกคนเท่ากันไม่ว่าการกระทำของพวกเราจะเป็นอย่างไร พระองค์ทรงต้องการให้บุตรธิดาของพระองค์ยอมรับพระกิตติคุณของพระองค์ แต่ความสมบูรณ์ของพรจากพระกิตติคุณมีไว้ให้คนที่ทำและรักษาพันธสัญญากับพระองค์ เหตุการณ์และหลักธรรมใน กิจการของอัครทูต 10:34–48 แสดงให้เห็นว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงลำเอียงอย่างไร คนที่ชอบธรรมเป็นที่ “ชอบพระทัย” และ “เป็นที่โปรดปราน” ของพระเจ้าแม้พระองค์ไม่ทรงลำเอียงอย่างไร (ดู กิจการของอัครทูต 10:34–35; 1 นีไฟ 17:35)

กิจการของอัครทูต 12:1–17

คำสวดอ้อนวอนของคนชอบธรรมทำให้เกิดสิ่งอัศจรรย์

  • เรื่องราวของการปลดปล่อยเปโตรออกจากคุก กิจการของอัครทูต 12:1–17 จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนสร้างศรัทธาของพวกเขาในพลังของการสวดอ้อนวอน สมาชิกชั้นเรียนคนหนึ่งอาจเตรียมมาแบ่งปันรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวนี้และประจักษ์พยานของเขาเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน หรือท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกวอร์ดหรือสาขาคนหนึ่งออกมาแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งพวกเขารู้สึกหรือเป็นพยานถึงพลังของการสวดอ้อนวอนร่วมกันของสมาชิก ท่านอาจร้องเพลงสวดเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน (เช่น “สวดอ้อนวอนหรือเปล่า” เพลงสวด บทเพลงที่ 61) และสนทนาสิ่งที่เพลงสวดสอนเกี่ยวกับพลังของการสวดอ้อนวอน

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองเหตุผลที่บางครั้งเราล้มเหลวในการแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น แนะนำว่าการศึกษา กิจการของอัครทูต 16–21 จะเอาชนะอุปสรรคที่ขวางกั้นพวกเขาจากการแบ่งปันพระกิตติคุณ

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

กิจการของอัครทูต 10–15

การได้รับการเปิดเผยเป็นบรรทัดมาเติมบรรทัด

เอ็ลเดอร์ เดวิด เอ. เบดนาร์สังเกตการณ์เกี่ยวกับรูปแบบการเปิดเผยของพระเจ้าว่า “โดยทั่วไปเราหลายคนคิดไปเองว่าเราจะได้รับคำตอบ หรือการกระตุ้นเตือน สำหรับการสวดอ้อนวอนและการทูลขออย่างจริงใจ บ่อยครั้งเราคาดหวังว่าคำตอบหรือการกระตุ้นเตือนเช่นนั้นจะมาทันทีและ มาทั้งหมดทีเดียว ดังนั้น เรามีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าพระเจ้าจะประทาน คำตอบใหญ่อย่างรวดเร็วและทั้งหมดในคราวเดียว อย่างไรก็ตาม รูปแบบที่บรรยายไว้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในพระคัมภีร์บอกว่าเราจะได้รับ ‘บรรทัดมาเติมบรรทัด, กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์’ หรืออีกนัยหนึ่ง คำตอบทีละเล็กละน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง การรับรู้และเข้าใจรูปแบบนี้เป็นกุญแจสำคัญต่อการได้รับแรงบันดาลใจและความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์” (“Line upon Line, Precept upon Precept,” New Era, Sept. 2010, 3–4)

ภาพ
เด็กหญิงกำลังอ่านพระคัมภีร์

การเปิดเผยส่วนตัวมักจะมาในช่วงเวลาหนึ่งผ่านความพยายามอย่างไม่ย่อท้อ

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ให้คำแนะนำดังนี้ “เราควรศึกษาเรื่องนั้นในความคิดของเรา โดยใช้พลังอำนาจของการให้เหตุผลที่พระผู้สร้างประทานไว้ในเรา จากนั้นเราควรสวดอ้อนวอนเพื่อทูลขอการนำทางและทำตามนั้นหากเราได้รับ หากเราไม่ได้รับการนำทาง เราควรทำตามวิจารณญาณที่ดีที่สุดของเรา” (“Our Strengths Can Become Our Downfall,” Ensign, Oct. 1994, 13–14)

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์แบ่งปันความคิดเห็นของท่านในการรับใช้ในสภาควบคุมของศาสนจักรว่า

“เมื่อเริ่มพิจารณาเรื่องต่างๆ อาจมีความเห็นต่างกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน บุรุษเหล่านี้มาจากภูมิหลังต่างกัน พวกท่านเป็นคนที่คิดด้วยตนเอง …

“… จะมีการกลั่นกรองและประเมินความเห็นตลอดจนแนวคิดที่ได้จากกระบวนการนี้ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงหรือความเป็นปฏิปักษ์ในบรรดาเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเคยเห็นแต่เรื่องสวยงามและน่าทึ่ง—เห็นทัศนะหลากหลายที่ออกมาภายใต้อิทธิพลนำทางของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์และภายใต้พลังของการเปิดเผยจนเกิดความปรองดองและความเห็นพ้องต้องกันอย่างสมบูรณ์ หลังจากนั้นจึงจะนำไปปฏิบัติ ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าวิญญาณของการเปิดเผยแสดงให้ประจักษ์ครั้งแล้วครั้งเล่าในการกำกับดูแลงานนี้ของพระเจ้า” (“God Is at the Helm,” Ensign, May 1994, 54, 59)

ปรับปรุงการสอนของเรา

เริ่มจากพระคัมภีร์ ก่อนพึ่งพาแหล่งช่วยเสริมต่างๆ ให้ศึกษาพระคัมภีร์โบราณและพระคัมภีร์ยุคปัจจุบันอย่างขยันหมั่นเพียร การศึกษาพระคำของพระผู้เป็นเจ้าร่วมกับการสวดอ้อนวอนทำให้พระวิญญาณช่วยท่านดึงเอาสิ่งที่ท่านศึกษามาใช้เมื่อท่านสอน (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 12)