จงตามเรามา
28 ตุลาคม–3 พฤศจิกายน 1 และ 2 ทิโมธี; ทิตัส; ฟีเลโมน: ‘​จง​เป็น​แบบ‍อย่าง​แก่​บรร‌ดา​ผู้​เชื่อ’


“28 ตุลาคม–3 พฤศจิกายน 1 และ 2 ทิโมธี; ทิตัส; ฟีเลโมน: ‘​จง​เป็น​แบบ‍อย่าง​แก่​บรร‌ดา​ผู้​เชื่อ’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“28 ตุลาคม–3 พฤศจิกายน 1 และ 2 ทิโมธี; ทิตัส; ฟีเลโมน,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2019

ภาพ
สตรีสามคนยืนอยู่นอกพระวิหาร

28 ตุลาคม–3 พฤศจิกายน

1 และ 2 ทิโมธี; ทิตัส; ฟีเลโมน

“จง​เป็น​แบบ‍อย่าง​แก่​บรร‌ดา​ผู้​เชื่อ”

ศึกษา 1 และ 2 ทิโมธี; ทิตัส; และ ฟีเลโมน ร่วมกับการสวดอ้อนวอนเพื่อเรียนรู้ว่าท่านจะใช้สาส์นเหล่านี้สอนเด็กด้วยความชอบธรรมได้อย่างไร (ดู 2 ทิโมธี 3:16)

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ขอให้เด็กพูดถึงใครบางคนที่เขาคิดว่าเป็น “แบบ‍อย่าง​แก่​บรร‌ดา​ผู้​เชื่อ” พวกเขาทำอะไรบ้างเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้อื่น

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

เด็กเล็ก

1 ทิโมธี 3:1–2; ทิตัส 1:7–9

อธิการนำวอร์ดในฐานะผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้า

เปาโลสอนทิโมธีและทิตัสเกี่ยวกับความสำคัญของอธิการ ท่านจะสอนเด็กได้อย่างไรว่าอธิการทำอะไร (ประธานสาขาเปรียบได้กับอธิการ)

กิจกรรมที่ทำได้

  • วาดภาพง่ายๆ ของอธิการบนกระดาน ขอให้เด็กบอกว่าพวกเขารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับอธิการ เขาเป็นคนอย่างไร เขาทำอะไร เขาเป็นพรแก่วอร์ดอย่างไร (ท่านสามารถหาคุณลักษณะบางอย่างของอธิการได้ใน 1 ทิโมธี 3:1–2 และ ทิตัส 1:7–9) ขณะที่เด็กแบ่งปันแนวคิด ให้เขียนไว้ในแถบกระดาษและให้เด็กนำไปติดบนกระดานข้างภาพวาด

    ภาพ
    อธิการในห้องทำงานกำลังคุยกับเด็กหนุ่ม

    อธิการได้รับเรียกเพื่อให้การนำทางทางวิญญาณแก่สมาชิกวอร์ด

  • เขียนหน้าที่ของอธิการในแถบกระดาษ—เช่นการรับส่วนสิบและเงินบริจาคอดอาหาร การให้การเรียก การสัมภาษณ์สมาชิก การช่วยเหลือคนยากจนและคนขัดสน และการสวดอ้อนวอนให้ผู้อื่น ใส่แถบกระดาษลงในชาม และให้เด็กหยิบขึ้นมาคนละหนึ่งชิ้น จากนั้นช่วยเด็กแสดงบทบาทสมมุติหน้าที่เหล่านี้กับท่าน แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าอธิการได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า

  • เชื้อเชิญให้เด็กวาดรูปอธิการกำลังรับใช้สมาชิกวอร์ด แนะนำให้พวกเขามอบภาพวาดให้อธิการและขอบคุณเขา เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยเขา

1 ทิโมธี 4:12

ฉันสามารถเป็น “แบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ”

ท่านทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กมั่นใจในความสามารถของตนเองที่จะเป็น “แบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ”

กิจกรรมที่ทำได้

  •   ขอให้เด็กทำตามแบบอย่างของท่านโดยการทำท่าทางต่างๆ ที่ท่านทำ ให้เด็กผลัดกันนำชั้นเรียนที่เหลือในการทำตามท่าทางของพวกเขา อ่าน 1 ทิโมธี 4:12 ถามเด็กว่าพวกเขาทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้อื่น

  • เล่าประสบการณ์เมื่อท่านพยายามเป็นแบบอย่างที่ดีต่อใครบางคนหรือเมื่อมีบางคนเป็นแบบอย่างที่ดีต่อท่าน ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าเมื่อพวกเขาเป็นแบบอย่างที่ดี พวกเขาสามารถช่วยสมาชิกครอบครัวและเพื่อนๆ ได้

2 ทิโมธี 3:14–17

พระคัมภีร์จะช่วยฉันเรียนรู้ความจริง

หากท่านสามารถช่วยเด็กเรียนรู้ที่จะรักพระคัมภีร์ ท่านจะเป็นพรแก่ชีวิตเขาในอนาคตอีกหลายปี

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้เด็กดูพระคัมภีร์หนึ่งชุด ช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับพระคัมภีร์โดยให้พวกเขาดูหน้าแรกของพระคัมภีร์ไบเบิล พระคัมภีร์มอรมอน หลักคำสอนและพันธสัญญา และไข่มุกอันล้ำค่า ให้เด็กคนหนึ่งถือพระคัมภีร์เหล่านี้ขณะที่ท่านอ่าน 2 ทิโมธี 3:15–17 อธิบายว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงบัญชาศาสดาพยากรณ์ตลอดประวัติศาสตร์ให้เขียนความจริงที่พระองค์ทรงเปิดเผยต่อพวกท่าน เราสามารถเรียนรู้ความจริงเหล่านี้ได้เมื่อเราอ่านพระคัมภีร์

  • ขอให้เด็กพูดถึงสิ่งของล้ำค่าที่สุดที่พวกเขาเป็นเจ้าของ พวกเขาทำอะไรกับสิ่งของเหล่านั้น ให้พวกเขาผลัดกันถือพระคัมภีร์และค่อยๆ เปิดหน้าพระคัมภีร์ไปเรื่อยๆ เราใช้พระคัมภีร์สำหรับอะไร ทำไมเราจึงต้องดูแลพระคัมภีร์เป็นอย่างดี ช่วยเด็กทำท่าทางประกอบเพลงเกี่ยวกับพระคัมภีร์ เช่น “ค้นหาไตร่ตรองและสวด” หรือ “เรื่องในพระคัมภีร์มอรมอน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 66, 62)

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

เด็กโต

1 ทิโมธี 4:12

ฉันสามารถเป็น “แบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ”

ทิโมธีถือว่ายังหนุ่มมากสำหรับการเป็นผู้นำศาสนจักร แต่เปาโลต้องการให้เขารู้ว่าเขาสามารถเป็นแบบอย่างได้เช่นกัน ท่านสามารถช่วยให้เด็กที่ท่านสอนรู้สึกมั่นใจในความสามารถของตนเองที่จะเป็นแบบอย่างที่ดี

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน 1 ทิโมธี 4:12 ด้วยกันและขอให้เด็กหาวิธีทั้งหกวิธีที่เปาโลบอกว่าเราสามารถเป็น “แบบ‍อย่าง​แก่​บรร‌ดา​ผู้​เชื่อ” ได้ แบ่งเด็กเป็นคู่ๆ และเชื้อเชิญให้แต่ละคู่นึกถึงสถานการณ์ซึ่งพวกเขาสามารถเป็นแบบ‍อย่าง​แก่​บรร‌ดา​ผู้​เชื่อได้ ขอให้พวกเขาแสดงบทบาทสมมุติสถานการณ์ของพวกเขาต่อชั้นเรียนที่เหลือ

  • ถามเด็กว่าพวกเขาอยากจะแบ่งปันประสบการณ์หรือไม่เมื่อพวกเขาพยายามเป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้อื่น บอกพวกเขาว่าพวกเขาเป็นแบบ‍อย่าง​แก่​บรร‌ดา​ผู้​เชื่อต่อท่านอย่างไรและท่านสังเกตเห็นพวกเขาเป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้อื่นอย่างไร

1 ทิโมธี 6:7–12

ฉันควรรักสิ่งที่เป็นนิรันดร์มากกว่าเงินทอง

ในโลกที่กลายเป็นวัตถุนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ท่านจะช่วยเด็กมุ่งความสนใจและความรักไปที่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กพูดว่าพวกเขาจะซื้ออะไรหากพวกเขามีเงินทั้งหมดในโลกนี้ เชิญเด็กคนหนึ่งอ่าน 1 ทิโมธี 6:7–12 และขอให้เด็กคนอื่นๆ สรุปสิ่งที่เปาโลสอนทิโมธีเกี่ยวกับเงินทอง จากนั้นให้เด็กอ่านข้อเหล่านั้นซ้ำอีกครั้ง มองหาสิ่งที่เปาโลกล่าวถึงซึ่งมีค่ามากกว่าเงินทอง

  • วางภาพสิ่งของทางโลก (เช่นเงิน ของเล่น หรือสิ่งบันเทิง) และสิ่งที่เป็นนิรันดร์ (เช่นครอบครัวหรือพระวิหาร) ให้เด็กแยกภาพออกเป็นสองกอง—สิ่งที่ทำให้เราใกล้ชิดพระคริสต์มากขึ้นและสิ่งที่อาจทำให้เราเขวจากพระคริสต์หากเรารักสิ่งเหล่านั้นมากกว่าเรารักพระองค์ เพราะเหตุใด “การรักเงินทองเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด”

2 ทิโมธี 3:14–17

พระบิดาบนสวรรค์ประทานพระคัมภีร์ให้เราเพื่อช่วยให้เรารู้ความจริงจากความผิดพลาด

เด็กสามารถได้รับพรจากการอ่านพระคัมภีร์ ขณะที่ท่านสอนเด็กเกี่ยวกับพระคัมภีร์ มองหาวิธีกระตุ้นให้พวกเขามีประสบการณ์ที่ทรงพลังของตนเองกับพระคำของพระผู้เป็นเจ้า

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน 2 ทิโมธี 3:15–17 นำภาพที่แสดงเรื่องราวจากแต่ละเล่มของงานมาตรฐานสี่เล่มมาที่ชั้นเรียน และวางภาพไว้ในกล่องที่ปิดมิดชิด เชื้อเชิญให้เด็กสี่ห้าคนมาเลือกหนึ่งภาพและเล่าเรื่องราวนั้น ถามเด็กว่าพวกเขามีอะไรจะแบ่งปันอีกหรือไม่เกี่ยวกับหนังสือจากพระคัมภีร์เล่มนั้น พระคัมภีร์ “สามารถ​ให้​ปัญญา​แก่ [เรา] ​ใน​เรื่อง​ความ​รอด” ได้อย่างไร

  • เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันข้อพระคัมภีร์ที่ชื่นชอบเป็นพิเศษหรือประสบการณ์ที่ความจริงในพระคัมภีร์เคยช่วยพวกเขา ท่านอาจต้องการแบ่งปันข้อพระคัมภีร์หรือประสบการณ์ของท่านเอง

  • เชิญเด็กคนหนึ่งอ่าน โมโรไน 10:4–5 โมโรไนสัญญาอะไรในข้อเหล่านี้ ถามเด็กว่าพวกเขาทำอะไรเพื่อจะมีประจักษ์พยานว่าพระคัมภีร์เป็นความจริง เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่านหรือฟังพระคัมภีร์เป็นประจำ

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันกับครอบครัวถึงสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์และให้หาข้อพระคัมภีร์หนึ่งข้อที่พวกเขาสามารถแบ่งปันกับชั้นเรียนในสัปดาห์ถัดไป (ด้วยความช่วยเหลือจากพ่อแม่ของพวกเขา หากจำเป็น)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ปรับเปลี่ยนกิจกรรมเพื่อตอบรับความต้องการ แทนที่จะมองโครงร่างเหล่านี้ว่าเป็นคำแนะนำที่ท่านต้องทำตาม ให้ใช้เป็นแหล่งข้อมูลของแนวคิดที่จุดประกายแรงบันดาลใจของท่านเองขณะที่ท่านไตร่ตรองความต้องการของเด็กที่ท่านสอน ท่านสามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เข้ากับเด็กที่ท่านสอนได้ทุกวัย