หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021
29 มีนาคม–4 เมษายน อีสเตอร์: “เราคือเขาผู้นั้นที่มีชีวิต, เราคือเขาผู้นั้นที่ถูกประหาร”


“29 มีนาคม–4 เมษายน อีสเตอร์: ‘เราคือเขาผู้นั้นที่มีชีวิต, เราคือเขาผู้นั้นที่ถูกประหาร’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)

“29 มีนาคม–4 เมษายน อีสเตอร์” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2021

ภาพ
รูปปั้นพระคริสต์

29 มีนาคม–4 เมษายน

อีสเตอร์

“เราคือเขาผู้นั้นที่มีชีวิต, เราคือเขาผู้นั้นที่ถูกประหาร”

ชั้นเรียนปฐมวัยในวันอาทิตย์อีสเตอร์เป็นโอกาสดียิ่งที่จะช่วยเด็กเสริมสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ จงแสวงหาการนำทางจากพระเจ้าในเรื่องนี้ ท่านอาจพบแนวคิดที่เป็นประโยชน์ในโครงร่างนี้

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ให้เด็กบอกท่านว่าพวกเขารู้อะไรเกี่ยวกับเหตุผลที่เราฉลองอีสเตอร์ ถามเด็กว่าครอบครัวของพวกเขาทำอะไรเพื่อฉลองการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ หรือให้พวกเขาแบ่งปันว่าพวกเขากำลังเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่บ้านและในพระคัมภีร์

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:11–17

เพราะพระเยซูคริสต์ ฉันจะฟื้นคืนชีวิต

ขณะที่ท่านสอนเด็กเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:11–17 จะช่วยท่านอธิบายว่าฟื้นคืนชีวิตหมายถึงอะไร ข้อเหล่านี้จะช่วยสร้างศรัทธาของพวกเขาเช่นกันว่าพวกเขาจะฟื้นคืนชีวิตแน่นอน

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพการสิ้นพระชนม์ การฝัง และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 57, 58 และ 59) ถามเด็กว่าพวกเขารู้อะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้ เป็นพยานว่าพระเยซูสิ้นพระชนม์เพื่อเราและทรงลุกขึ้นจากบรรดาคนตายเพื่อเราทุกคนจะได้ฟื้นคืนชีวิตหลังจากเราตาย

  • คิดถึงบทเรียนอุปกรณ์ที่จะช่วยให้เด็กเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราตาย (วิญญาณกับร่างกายของเราแยกจากกัน) และเมื่อเราฟื้นคืนชีวิต (วิญญาณกับร่างกายของเรากลับมารวมกันอีก) ตัวอย่างเช่น เกิดอะไรขึ้นเมื่อเรานำถ่านออกจากไฟฉายหรือนำหมึกออกจากปากกา? เกิดอะไรขึ้นเมื่อนำสิ่งเหล่านี้มารวมกัน?

  • อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:17 ให้เด็กฟัง: “วิญญาณและร่างกายจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกันไม่มีวันแยกจากกันอีกเลย, เพื่อพวกเขาจะได้รับความสมบูรณ์แห่งปีติ” เหตุใดเราจึงสำนึกคุณต่อร่างกายของเรา? แบ่งปันปีติที่ท่านรู้สึกเมื่อรู้ว่าเราทุกคนจะฟื้นคืนชีวิตและมีร่างกายอีกครั้ง

  • ร้องเพลงด้วยกันหนึ่งเพลงเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ เช่น “พระเยซูทรงฟื้นขึ้นจริงไหม” หรือ “พระเยซูทรงฟื้น” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก หน้า 45, 44) แจกภาพแทนคำหรือวลีในเพลง (ตัวอย่างเช่น ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 59, 60, และ 61) และเชื้อเชิญให้เด็กชูภาพให้ตรงกับคำที่ร้อง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:11–24; 110:1–7; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:14–17

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเห็นพระเยซูคริสต์

วิธีหนึ่งที่จะช่วยเด็กเสริมสร้างศรัทธาของพวกเขาในพระผู้ช่วยให้รอดคือแบ่งปันประจักษ์พยานของโจเซฟ สมิธให้กับพวกเขาว่า “พระองค์ทรงพระชนม์อยู่! เพราะเราเห็นพระองค์, แม้ทางพระหัตถ์ขวาของพระผู้เป็นเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:22–23)

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้เด็กดูภาพนิมิตแรกของโจเซฟ สมิธ (ดู โครงร่าง 4–10 มกราคม ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) ให้เด็กบอกท่านว่าเกิดอะไรขึ้นในภาพ และขอให้พวกเขาหาพระเยซูคริสต์ ถามเด็กๆ ว่าพวกเขารู้หรือไม่ว่าโจเซฟ สมิธเห็นพระผู้ช่วยให้รอดอีกหลายครั้งด้วย เล่าประสบการณ์ที่บรรยายไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:11–24; 110:1–7 ด้วยคำพูดของท่านเอง บอกเด็กว่าพระคัมภีร์เหล่านี้สร้างศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์อย่างไร

  • ขณะที่เด็กระบายสีหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ ให้ท่านอ่านพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงเหตุการณ์นั้นให้เด็กฟัง ชี้ให้เห็นรายละเอียดในภาพที่ข้อเหล่านี้พูดถึง เป็นพยานต่อเด็กว่าศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเห็นพระเยซูคริสต์ และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เรารู้ว่าพระเยซูทรงพระชนม์อยู่

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:11–24; 110:1–10; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:14–17

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์อยู่

พันธกิจสำคัญที่สุดของศาสดาพยากรณ์คือเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ ช่วยเด็กๆ สร้างศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอดโดยเรียนรู้จากประจักษ์พยานของโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับพระองค์

กิจกรรมที่ทำได้

  • พระคัมภีร์ข้อต่อไปนี้พูดถึงเวลาที่พระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อโจเซฟ สมิธ: หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:11–24; 110:1–10; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:14–17 เขียนความจริงบางประการที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากข้อเหล่านี้ไว้บนกระดาน ให้เด็กระบุว่าข้อใดสอนความจริงที่เขียนไว้บนกระดาน เราเรียนรู้อะไรอีกบ้างเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จากประสบการณ์ของโจเซฟ สมิธ?

  • ในหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ ให้ท่านช่วยเด็กๆ จับคู่ภาพกับข้อพระคัมภีร์ เหตุใดจึงเป็นพรที่รู้ว่าโจเซฟ สมิธเห็นพระผู้ช่วยให้รอดที่ฟื้นคืนพระชนม์? แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์อยู่และโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:49; 88:14–17, 27; 138:11, 14–17

เพราะพระเยซูคริสต์ เราจึงจะฟื้นคืนชีวิต

ท่านจะช่วยให้เด็กเห็นคุณค่าของประทานแห่งการฟื้นคืนชีวิตที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานแก่เราทุกคนมากขึ้นอย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • มอบหมายข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ให้เด็กคนละช่วงข้อพระคัมภีร์: หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:49; 88:14–17, 27; 138:11, 14–17 เชื้อเชิญให้เด็กค้นคว้าข้อพระคัมภีร์ของพวกเขาเพื่อหาวลีที่พวกเขารู้สึกว่ามีข่าวสารของอีสเตอร์ ให้พวกเขาแบ่งปันความคิด หากเวลาเอื้ออำนวย ให้พวกเขาทำการ์ดเน้นวลีที่พวกเขาพบเพื่อจะสามารถมอบให้สมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนๆ ได้

  • ถามเด็กว่าพวกเขาจะอธิบายให้น้องหรือเพื่อนเข้าใจความหมายของการฟื้นคืนชีวิตอย่างไร อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:14–17เพื่อหาแนวคิด และพิจารณาคำถามทำนองนี้: เกิดอะไรขึ้นกับวิญญาณและร่างกายเมื่อเราตาย? เกิดอะไรขึ้นเมื่อเราฟื้นคืนชีวิต? พระเยซูคริสต์ทรงทำให้การฟื้นคืนชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างไร?

  • ฉายวีดิทัศน์เรื่อง “Because He Lives” (ChurchofJesusChrist.org) และให้เด็กแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อพวกเขา

    ภาพ
    พระเยซูทรงสวดอ้อนวอน

    พระเจ้าแห่งการสวดอ้อนวอน โดย ยองซุง คิม

หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–13; 19:16–19; 45:3–5; 58:42–43

เพราะพระเยซูคริสต์ ฉันจึงได้รับการอภัยบาป

นอกจากจะช่วยให้เรารอดจากความตายทางร่างกายแล้ว พระเยซูคริสต์ทรงเตรียมทางให้เรารอดจากความตายทางวิญญาณด้วย—อีกนัยหนึ่งคือได้รับการอภัยบาปและกลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า

กิจกรรมที่ทำได้

  • เขียนสองหัวข้อนี้ไว้บนกระดาน: สิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ และ สิ่งที่ฉันต้องทำ เชื้อเชิญให้เด็กค้นคว้าข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้คนละช่วงเพื่อหาสิ่งที่อยู่ใต้หัวข้อเหล่านี้: หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–13; 19:16–19; 45:3–5; 58:42–43 พูดถึงปีติและความสำนึกคุณของท่านต่อสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อเรา

  • ช่วยให้เด็กเรียนรู้หลักแห่งความเชื่อข้อสาม ท่านอาจจะช่วยพวกเขาท่องจำข้อนี้โดยให้ดูภาพที่สอดคล้องกับวลีสำคัญๆ

  • ฉายวีดิทัศน์เรื่อง “The Shiny Bicycle” (ChurchofJesusChrist.org) หรือเล่าเรื่องของท่านเองเกี่ยวกับเด็กคนหนึ่งที่เลือกผิดแล้วกลับใจ ช่วยให้เด็กสนทนาว่าเด็กในเรื่องทำอะไรจึงได้รับการอภัย พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้เราได้รับการอภัยอย่างไร?

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

ช่วยให้เด็กคิดถึงสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อบอกคนอื่น—โดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัว—ว่าพระเยซูคริสต์ทรงทำอะไรเพื่อเรา เมื่อพบกันครั้งต่อไป ท่านจะขอให้พวกเขาแบ่งปันกับท่านว่าพวกเขาทำอะไร

ปรับปรุงการสอนของเรา

เด็กได้ประโยชน์จากการทำซ้ำ อย่าลังเลที่จะทำกิจกรรมซ้ำหลายๆ ครั้งโดยเฉพาะกับเด็กเล็ก การทำซ้ำจะช่วยให้เด็กจดจำสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้

ภาพ
หน้ากิจกรรม: โจเซฟ สมิธเห็นพระเยซูคริสต์