จงตามเรามา
การตอบรับความต้องการของเด็กเล็ก


“การตอบรับความต้องการของเด็กเล็ก” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“การตอบรับความต้องการของเด็กเล็ก” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2020

ภาพ
เด็กผู้หญิงเขียนกระดาน

การตอบรับความต้องการของเด็กเล็ก

เด็กพร้อมและอยากจะเรียนพระกิตติคุณถ้านำเสนอในรูปแบบที่พวกเขาเข้าใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านสอนเด็กเล็ก ท่านอาจจะใช้กิจกรรมหลายๆ แบบต่อไปนี้ช่วยให้พวกเขาเรียนรู้

  • ร้องเพลง เพลงสวด และเพลงจาก หนังสือเพลงสำหรับเด็ก สอนหลักคำสอนได้อย่างมีพลัง ใช้ หัวข้อดัชนี ที่อยู่ท้าย หนังสือเพลงสำหรับเด็ก เพื่อหาเพลงเกี่ยวกับหลักธรรมพระกิตติคุณที่ท่านกำลังสอน ช่วยเด็กเชื่อมโยงข่าวสารของเพลงกับชีวิตพวกเขา ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะถามคำถามเกี่ยวกับคำหรือวลีในเนื้อร้อง นอกจากร้องเพลงแล้ว เด็กยังสามารถทำท่าประกอบเพลงหรือฟังเพลงคลอขณะพวกเขาทำกิจกรรมอื่น

  • ฟังหรือทำท่าประกอบเรื่องเล่า เด็กเล็กชอบเรื่องเล่า—จากพระคัมภีร์ จากชีวิตท่าน จากประวัติศาสนจักร หรือจากนิตยสารศาสนจักร มองหาวิธีให้พวกเขามีส่วนในการเล่าเรื่อง พวกเขาสามารถถือภาพหรือสิ่งของ วาดรูปสิ่งที่พวกเขาได้ยิน แสดงจากเรื่องเล่า หรือช่วยเล่าเรื่อง ช่วยให้เด็กรับรู้ความจริงของพระกิตติคุณในเรื่องราวที่ท่านแบ่งปัน

  • อ่านพระคัมภีร์ เด็กเล็กอาจจะอ่านได้ไม่มาก แต่ท่านยังคงให้พวกเขามีส่วนในการเรียนรู้จากพระคัมภีร์ได้ ท่านอาจต้องเน้นข้อเดียว วลีหรือคำสำคัญ ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์ออกเสียง ท่านอาจจะให้เด็กลุกขึ้นยืนหรือยกมือเมื่อพวกเขาได้ยินคำหรือวลีที่ท่านต้องการเน้น พวกเขาอาจจะท่องจำวลีสั้นๆ จากพระคัมภีร์ได้เช่นกันถ้าพวกเขาท่องซ้ำหลายๆ ครั้ง เมื่อพวกเขาได้ยินพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาจะรู้สึกถึงพระวิญญาณ

  • เคลื่อนไหว เพราะเด็กเล็กมักจะมีพลังเหลือเฟือ จงหาวิธีให้พวกเขาได้เคลื่อนไหวไปรอบๆ—ย่ำอยู่กับที่ กระโดด ข้าม ก้ม เดิน และท่าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมหรือเรื่องราวที่ท่านกำลังสอน ท่าประกอบเหล่านี้ได้ผลดีเช่นกันขณะท่านร้องเพลงด้วยกัน

  • ดูภาพหรือชมวีดิทัศน์ เมื่อท่านให้เด็กดูภาพหรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับหลักธรรมพระกิตติคุณหรือเรื่องราวพระคัมภีร์ จงถามคำถามที่ช่วยให้พวกเขาเรียนรู้จากสิ่งที่พวกเขากำลังดู ตัวอย่างเช่น ท่านอาจถามว่า “กำลังเกิดอะไรขึ้นในภาพนี้หรือวีดิทัศน์เรื่องนี้” หรือ “นั่นทำให้หนูรู้สึกอย่างไร” แอปพลิเคชันคลังค้นคว้า medialibrary.ChurchofJesusChrist.org และ children.ChurchofJesusChrist.org เป็นแหล่งที่ดีในการหาวีดิทัศน์

  • แบ่งปันประสบการณ์ เด็กเล็กอาจมีให้แบ่งปันไม่มากเท่าเด็กโต แต่ถ้าท่านให้แนวทางที่ชัดเจน พวกเขาจะสามารถแบ่งปันความรู้สึกและประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเรียนรู้ได้

  • สร้างสรรค์ เด็กสามารถสร้าง วาด หรือระบายสีเกี่ยวกับเรื่องเล่าหรือหลักธรรมที่กำลังเรียนรู้ กระตุ้นให้เด็กนำงานที่พวกเขาทำกลับบ้านและแบ่งปันกับสมาชิกครอบครัวเพื่อช่วยให้พวกเขาจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้

  • มีส่วนร่วมในบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริง บทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริงง่ายๆ สามารถช่วยให้เด็กเข้าใจหลักธรรมพระกิตติคุณที่เข้าใจยาก เมื่อใช้บทเรียนดังกล่าว จงหาวิธีให้เด็กมีส่วนร่วม พวกเขาจะเรียนรู้จากประสบการณ์เชิงโต้ตอบมากกว่าดูการสาธิตอย่างเดียว

  • แสดงบทบาทสมมติ เมื่อเด็กแสดงบทบาทสมมติของสถานการณ์ที่พวกเขาอาจพบเจอในชีวิตจริง พวกเขาจะสามารถเข้าใจได้ดีขึ้นว่าจะประยุกต์ใช้หลักธรรมพระกิตติคุณกับชีวิตพวกเขาอย่างไร

  • ทำกิจกรรมซ้ำ เด็กเล็กอาจต้องได้ยินแนวคิดหลายๆ ครั้งจึงจะเข้าใจ อย่ากลัวการเล่าเรื่องซ้ำหรือทำกิจกรรมซ้ำบ่อยๆ แม้ในระหว่างบทเรียนเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะเล่าเรื่องราวพระคัมภีร์เรื่องหนึ่งหลายครั้งในวิธีต่างกันระหว่างบทเรียน—อ่านจากพระคัมภีร์ สรุปด้วยคำพูดของท่านเอง ฉายวีดิทัศน์ ให้เด็กช่วยท่านเล่าเรื่อง เชื้อเชิญให้พวกเขาทำท่าประกอบเรื่อง และอื่นๆ ถ้าทำกิจกรรมที่ใช้ในชั้นเรียนซ้ำกับที่บ้านด้วย การทำซ้ำจะช่วยให้เด็กเรียนรู้และจดจำ

  • ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เด็กกำลังพัฒนาทักษะทางสังคมและมักจะชื่นชอบการเรียนรู้และการเล่นกับกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน สร้างโอกาสให้พวกเขาได้แบ่งปัน ผลัดกัน และร่วมมือกันขณะพวกเขาเรียนรู้

  • มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่หลากหลาย ปกติเด็กเล็กมีช่วงความสนใจสั้นมาก และพวกเขามีรูปแบบการเรียนรู้ต่างกัน จงใช้ความหลากหลายของกิจกรรม และเอาใจใส่สัญญาณที่แสดงว่าเด็กต้องการให้เปลี่ยนวิธี ตัวอย่างเช่น ท่านอาจต้องสลับกันบ่อยๆ ระหว่างกิจกรรมเงียบๆ กับกิจกรรมที่ครึกครื้น

บทบาทส่วนหนึ่งของท่านในการเป็นครูสอนเด็กเล็ก—นอกจากสอนหลักธรรมพระกิตติคุณแล้ว—คือช่วยให้เด็กฝึกมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมในชั้นเรียนศาสนจักร ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจต้องเรียนรู้เรื่องการผลัดกัน การแบ่งปัน การเคารพผู้อื่น เป็นต้น ครูบางคนสร้างแผนภูมิแจกแจงงานมอบหมายให้เด็กแต่ละคนมีส่วนร่วมในชั้นเรียน (เช่น สวดอ้อนวอน ถือภาพ หรือแจกกระดาษ) งานมอบหมายสามารถเปลี่ยนได้ทุกสัปดาห์ งานมอบหมายนี้จะช่วยให้เด็กผลัดกันและให้ความสนใจกับพฤติกรรมที่เหมาะสมในห้องเรียน

เด็ก—โดยเฉพาะเด็กเล็ก—มักจะได้ประโยชน์จากกิจวัตรประจำที่ทราบล่วงหน้า เพราะเด็กเล็กมีช่วงความสนใจสั้นและบางครั้งยากจะจดจ่อตลอดชั้นเรียน จะดีที่สุดถ้ากิจวัตรนี้รวมถึงการเปลี่ยนจากกิจกรรมหนึ่งเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งบ่อยๆ ตัวอย่างเช่น กิจวัตรชั้นเรียนของท่านอาจได้แก่ พักเป็นช่วงๆ เพื่อเล่นเกม ระบายสี ร้องเพลง เป็นต้น

ภาพ
เด็กกำลังเล่นกับครู