จงตามเรามา
5–11 สิงหาคม โรม 1–6: ‘ฤทธานุภาพของพระเจ้าเพื่อให้ได้รับความรอด’


“5–11 สิงหาคม โรม 1–6: ‘ฤทธานุภาพของพระเจ้าเพื่อให้ได้รับความรอด’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“5–11 สิงหาคม โรม 1–6” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

ภาพ
เปาโลเขียนสาส์น

5–11 สิงหาคม

โรม 1–6

“ฤทธานุภาพของพระเจ้าเพื่อให้ได้รับความรอด”

การบันทึกการกระตุ้นเตือนจะช่วยให้ท่านจดจำสิ่งที่พระวิญญาณทรงสอนท่าน ท่านอาจจะบันทึกด้วยว่าท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการกระตุ้นเตือนเหล่านี้

บันทึกความประทับใจของท่าน

ตอนที่เปาโลเขียนสาส์นถึงสมาชิกศาสนจักรชาวโรมันผู้เป็นกลุ่มชาวยิวปะปนกับคนชาวต่างชาติ ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์เติบโตเกินกลุ่มเล็กๆ ของผู้เชื่อจากกาลิลีไปแล้ว ราว 20 ปีหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดฟื้นคืนพระชนม์ มีกลุ่มชนชาวคริสต์เกือบทุกแห่งที่เหล่าอัครสาวกเดินทางไปถึง—รวมทั้งกรุงโรมเมืองหลวงของจักรวรรดิกว้างใหญ่ด้วย แต่ถึงแม้ผู้ฟังโดยตรงของเปาโลเป็นวิสุทธิชนชาวโรมัน ทว่าข่าวสารของเขาเป็นสากล และนั่นรวมถึงเราทุกคนในปัจจุบันด้วย “ข่าวประเสริฐ … เป็นฤทธานุภาพของพระเจ้าเพื่อให้ ทุกคน ที่เชื่อได้รับความรอด” (โรม 1:16 เน้นตัวเอน)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

โรม–ฟีเลโมน

สาส์นคืออะไรและจัดเรียงอย่างไร

สาส์นคือจดหมายที่ผู้นำศาสนจักรเขียนถึงวิสุทธิชนในภูมิภาคต่างๆ ของโลก อัครสาวกเปาโลเขียนสาส์นส่วนใหญ่ในพันธสัญญาใหม่—เริ่มตั้งแต่โรมและจบด้วยฟีเลโมน สาส์นของเขาจัดเรียงตามความยาว ถึงแม้โรมเป็นสาส์นฉบับแรกในพันธสัญญาใหม่ แต่ความจริงแล้วสาส์นฉบับนี้เขียนเมื่อใกล้จะสิ้นสุดการเดินทางเผยแผ่ศาสนาของเปาโล ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาส์นต่างๆ ได้จากคู่มือพระคัมภีร์ “สาส์นของเปาโล”

โรม 1–6

เมื่อฉันแสดงศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอดโดยรักษาพระบัญญัติของพระองค์ ฉันได้รับชำระให้ชอบธรรมผ่านพระคุณของพระองค์

นิยามต่อไปนี้อาจช่วยให้ท่านเข้าใจสาส์นถึงชาวโรมันมากขึ้น

กฎ (ธรรมบัญญัติ กฎเกณฑ์):เมื่อเปาโลเขียน “กฎ” ท่านกำลังกล่าวถึงกฎของโมเสส ในทำนองเดียวกัน คำว่า “งาน (การประพฤติ)” ในงานเขียนของเปาโลมักจะหมายถึงพิธีและพิธีกรรมตามกฎของโมเสส เปาโลเปรียบเทียบกฎนี้กับ “หลักเกณฑ์ของความเชื่อ” (ดู โรม 3:27–31) หรือหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นแหล่งความรอดแท้จริงของเรา

การเข้าสุหนัต การไม่เข้าสุหนัตสมัยโบราณการเข้าสุหนัตเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของพันธสัญญาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำกับอับราฮัม เปาโลใช้คำว่า “การเข้าสุหนัต” เพื่อหมายถึงชาวยิว (ผู้คนแห่งพันธสัญญา) และ “การไม่เข้าสุหนัด” เพื่อหมายถึงคนต่างชาติ (คนที่ไม่เกี่ยวกับพันธสัญญาแห่งอับราฮัม) การเข้าสุหนัตไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องหมายพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้ากับผู้คนของพระองค์อีกต่อไป (ดู กิจการของอัครทูต 15:23–29)

การชำระให้ชอบธรรม ชำระให้ชอบธรรม ถูกชำระให้ชอบธรรม:คำเหล่านี้หมายถึงการปลดหรือการทิ้งบาป เมื่อเราถูกชำระให้ชอบธรรม เราได้รับการให้อภัย ประกาศว่าไม่มีความผิด และเป็นอิสระจากโทษนิรันดร์เพราะบาปของเรา ตามที่เปาโลอธิบาย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ผ่านพระเยซูคริสต์ (ดู คู่มือพระคัมภีร์ “แก้ต่าง (การ), รับรอง (การ),” scriptures.lds.org; ดู D. Todd Christofferson, “Justification and Sanctification,” Ensign, June 2001, 18–25 ด้วย) ในโรม คำอย่างเช่น ชอบธรรม และ ความชอบธรรม อาจจะเห็นว่ามีความหมายเดียวกันกับคำอย่างเช่น ถูกต้อง และ การทำให้ถูกต้อง

พระคุณพระคุณ คือ “ความช่วยเหลือหรือพลังจากสวรรค์ ประทานผ่านพระเมตตาและความรักมากมายของพระเยซูคริสต์” โดยผ่านพระคุณ คนทั้งปวงจะฟื้นคืนชีวิตและได้รับความเป็นอมตะ นอกจากนี้ “พระคุณคือพระเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถซึ่งยอมให้ชายหญิงได้รับชีวิตนิรันดร์และความสูงส่งหลังจากพวกเขาได้พยายามสุดความสามารถแล้ว” เราไม่ได้รับพระคุณผ่านความพยายามของเรา แต่พระคุณให้ “พลังและความช่วยเหลือเพื่อทำงานดีที่ [เรา] ไม่สามารถทำต่อไปได้หากไม่มีพระคุณ” (Bible Dictionary, “Grace”; ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ของประทานแห่งพระคุณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 107; 2 นีไฟ 25:23 ด้วย)

โรม 2:17–29

การกระทำภายนอกของเราต้องสะท้อนและเพิ่มการเปลี่ยนใจเลื่อมใสภายใน

คำสอนของเปาโลแสดงให้เห็นว่าคริสต์ศาสนิกชนชาวยิวบางคนในกรุงโรมยังคงเชื่อว่าการเชื่อฟังพิธีกรรมและพิธีการทางศาสนาตามกฎของโมเสสทำให้เกิดความรอด อาจดูเหมือนเป็นปัญหาที่ใช้ไม่ได้อีกแล้วตั้งแต่เราไม่ดำเนินชีวิตตามกฎของโมเสส แต่ขณะที่ท่านอ่านงานเขียนของเปาโล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรม 2:17–29 ลองนึกถึงความพยายามของท่านในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ การแสดงออกภายนอกของท่าน เช่น การรับศีลระลึกหรือการเข้าพระวิหาร กำลังนำท่านไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสและเสริมสร้างศรัทธาของท่านในพระคริสต์หรือไม่ (ดู แอลมา 25:15–16) ท่านจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการกระทำภายนอกของท่านกำลังนำท่านไปสู่การเปลี่ยนแปลงในใจ

ดู ดัลลิน เอช.โอคส์, “การท้าทายเพื่อที่จะเป็น,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 47–51 ด้วย

โรม 3:10–315

ฉันได้รับการให้อภัยบาปผ่านพระเยซูคริสต์

บางคนอาจรู้สึกท้อกับคำประกาศอย่างองอาจของเปาโลที่ว่า “ไม่มีผู้ใดเป็นคนชอบธรรมสักคนเดียว ไม่มีเลย” (โรม 3:10) แต่มีข่าวสารอันเปี่ยมด้วยความหวังในโรมเช่นกัน มองหาข่าวสารเหล่านั้นใน บทที่ 3 และ 5 พิจารณาว่าเหตุใดการจดจำว่า “ทุกคนทำบาป และเสื่อมจากพระสิริของพระเจ้า” (โรม 3:23) จึงเป็นขั้นตอนสำคัญสู่การเรียนรู้ที่จะ “ชื่นชมยินดีในความหวัง” ผ่านพระเยซูคริสต์ (โรม 5:2)

โรม 6

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เชื้อเชิญให้ฉัน “ดำเนินตามชีวิตใหม่”

เปาโลสอนว่าพระกิตติคุณควรเปลี่ยนวิธีที่เราดำเนินชีวิต ท่านจะใช้ข้อความใดใน โรม 6 ช่วยให้คนบางคนเข้าใจวิธีที่พระกิตติคุณช่วยให้ท่าน “ดำเนินตามชีวิตใหม่” (ข้อ 4) ท่านจะแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวอะไรบ้าง

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงตามความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

โรม 1:16–17

เราจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าเรา “ไม่มีความละอายในเรื่องข่าวประเสริฐ”

โรม 3:23–28

บางคนอาจจะพูดว่าเพราะเรา “ได้รับการชำระให้ชอบธรรมโดยพระคุณ [ของพระผู้เป็นเจ้า] เท่านั้น” (Joseph Smith Translation, Romans 3:24 [ใน Romans 3:24, footnote a]) เราจึงไม่จำเป็นต้องได้รับพระคุณ ถึงแม้เราไม่มีวันทำได้มากพอจะ “ได้รับ” พระคุณของพระผู้เป็นเจ้า แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้เราทำบางสิ่งเพื่อรับพระคุณ เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรับพระคุณ

โรม 5:3–5

เราเคยประสบความทุกข์ยากอะไรบ้าง ความทุกข์ยากเหล่านี้ช่วยให้เราพัฒนาความอดทน ประสบการณ์ และความหวังอย่างไร

โรม 6:3–6

เปาโลกล่าวอะไรในข้อเหล่านี้เกี่ยวกับสัญลักษณ์ของบัพติศมา บางทีครอบครัวท่านอาจจะวางแผนเข้าร่วมบัพติศมาที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือบางคนในครอบครัวท่านอาจจะให้ดูภาพหรือเล่าความทรงจำจากบัพติศมาของเขา การทำและรักษาพันธสัญญาบัพติศมาของเราช่วยให้เรา “ดำเนินตามชีวิตใหม่” อย่างไร

ภาพ
ชายกำลังให้บัพติศมาคนหนึ่งในทะเลสาบ

บัพติศมาเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะสานุศิษย์ของพระคริสต์

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

ถามคำถามขณะท่านศึกษา ขณะที่ท่านศึกษาพระคัมภีร์ คำถามอาจเข้ามาในความคิดท่าน ไตร่ตรองคำถามเหล่านี้และหาคำตอบ ตัวอย่างเช่นใน โรม 1–6 ท่านอาจจะมองหาคำตอบของคำถามที่ว่า “พระคุณคืออะไร”