หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021
แนวคิดเพื่อปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวท่าน


“แนวคิดเพื่อปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวท่าน” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)

“แนวคิดเพื่อปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวท่าน” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2021

ภาพ
ครอบครัวศึกษาพระคัมภีร์

แนวคิดเพื่อปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวท่าน

การศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวเป็นประจำเป็นวิธีที่ได้ผลในการช่วยให้ครอบครัวท่านเรียนรู้พระกิตติคุณ ท่านอ่านกับครอบครัวมากเพียงใดและนานเท่าใดไม่สำคัญเท่ากับท่านพยายามอ่านสม่ำเสมอ เมื่อท่านทำให้การศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนสำคัญของชีวิตครอบครัวท่าน ท่านจะช่วยให้สมาชิกครอบครัวสนิทกันและใกล้ชิดพระเยซูคริสต์มากขึ้น เป็นการสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาบนรากฐานแห่งพระวจนะของพระองค์

พิจารณาคำถามต่อไปนี้:

  • ท่านจะกระตุ้นให้สมาชิกครอบครัวศึกษาพระคัมภีร์ด้วยตนเองได้อย่างไร?

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อกระตุ้นให้สมาชิกครอบครัวแบ่งปันสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้?

  • ท่านจะเน้นหลักธรรมที่กำลังเรียนรู้ในหลักคำสอนและพันธสัญญาในช่วงการสอนทุกวันได้อย่างไร?

พึงจดจำว่าบ้านเป็นสถานที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนพระกิตติคุณ ท่านสามารถเรียนและสอนพระกิตติคุณที่บ้านได้หลายวิธีที่ไม่อาจทำได้ในชั้นเรียนของศาสนจักร จงสร้างสรรค์ขณะท่านคิดหาวิธีช่วยให้ครอบครัวท่านเรียนรู้จากพระคัมภีร์

แนวคิดกิจกรรม

พิจารณาแนวคิดบางประการต่อไปนี้ที่จะยกระดับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวท่าน

ใช้ดนตรี

ร้องเพลงเสริมหลักธรรมที่สอนในพระคัมภีร์ เพลงที่แนะนำหรือเพลงสำหรับเด็กมีระบุไว้ในโครงร่างรายสัปดาห์ ท่านอาจจะถามคำถามเกี่ยวกับคำหรือวลีในเนื้อร้อง นอกจากร้องเพลงแล้ว ครอบครัวท่านสามารถแสดงท่าประกอบเพลงหรือฟังเพลงที่เปิดคลอไว้ขณะพวกเขากำลังทำกิจกรรมอื่น

แบ่งปันข้อพระคัมภีร์ที่มีความหมาย

ให้เวลาสมาชิกครอบครัวแบ่งปันข้อพระคัมภีร์ที่พวกเขาพบว่ามีความหมายระหว่างพวกเขาศึกษาเป็นส่วนตัว

ใช้คำพูดของท่านเอง

เชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัวสรุปด้วยคำพูดของพวกเขาเองว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรจากพระคัมภีร์ที่ท่านศึกษา

ประยุกต์ใช้พระคัมภีร์กับชีวิตท่าน

หลังจากอ่านพระคัมภีร์ ขอให้สมาชิกครอบครัวแบ่งปันวิธีประยุกต์ใช้ข้อนั้นกับชีวิตพวกเขา

ถามคำถาม

เชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัวถามคำถามพระกิตติคุณ และจากนั้นใช้เวลาหาข้อที่จะช่วยตอบคำถาม

ติดข้อพระคัมภีร์

เลือกพระคัมภีร์หนึ่งข้อที่ท่านพบว่ามีความหมาย แล้วติดไว้ในที่ซึ่งสมาชิกครอบครัวจะมองเห็นบ่อยๆ เชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ผลัดกันเลือกข้อพระคัมภีร์ที่จะติด

ทำรายการพระคัมภีร์

ให้ครอบครัวเลือกหลายๆ ข้อที่ท่านต้องการสนทนาระหว่างสัปดาห์ที่จะมาถึง

ท่องจำพระคัมภีร์

เลือกพระคัมภีร์หนึ่งข้อที่มีความหมายต่อครอบครัวท่าน และเชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัวท่องจำโดยท่องซ้ำทุกวันหรือเล่นเกมท่องจำ

แบ่งปันบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริง

หาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับบทและข้อที่ท่านกำลังอ่านกับครอบครัว เชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัวพูดคุยกันว่าอุปกรณ์แต่ละอย่างเกี่ยวข้องอย่างไรกับคำสอนในพระคัมภีร์

เลือกหัวข้อ

ให้สมาชิกครอบครัวผลัดกันเลือกหัวข้อที่ครอบครัวจะศึกษาด้วยกัน ใช้ Topical Guide, Bible Dictionary หรือ คู่มือพระคัมภีร์ (scriptures.ChurchofJesusChrist.org) หาข้อพระคัมภีร์เกี่ยวกับหัวข้อนั้น

วาดรูป

อ่านพระคัมภีร์กับครอบครัวสองสามข้อ แล้วให้เวลาพวกเขาวาดรูปเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านอ่าน ใช้เวลาสนทนาภาพวาดของกันและกัน

แสดงประกอบเรื่อง

หลังจากอ่านเรื่องเล่า ให้สมาชิกครอบครัวแสดงเรื่องนั้น หลังจากนั้นให้พูดคุยกันว่าเรื่องเล่าเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ท่านกำลังประสบเป็นส่วนตัวและเป็นครอบครัวอย่างไร

การสอนเด็ก

ถ้าท่านมีเด็กเล็กในครอบครัว กิจกรรมต่อไปนี้จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้:

ร้องเพลง

เพลงสวดและเพลงจาก หนังสือเพลงสำหรับเด็ก สอนหลักคำสอนได้อย่างมีพลัง แต่ละโครงร่างในหนังสืออ่านประกอบเล่มนี้จะมีเพลงที่แนะนำรวมอยู่ด้วย ท่านสามารถใช้ ดัชนีหัวข้อ ที่อยู่ท้าย หนังสือเพลงสำหรับเด็ก หาเพลงเกี่ยวกับหลักธรรมพระกิตติคุณที่ท่านกำลังสอนได้เช่นกัน ช่วยบุตรธิดาของท่านเชื่อมโยงข่าวสารของเพลงกับชีวิตพวกเขา

ฟังหรือแสดงประกอบเรื่อง

เด็กเล็กชอบเรื่องเล่า—จากพระคัมภีร์ จากชีวิตท่าน จากประวัติศาสนจักร หรือจากนิตยสารศาสนจักร มองหาวิธีให้พวกเขามีส่วนในการเล่าเรื่อง พวกเขาอาจจะถือรูปภาพหรือสิ่งของ วาดรูปสิ่งที่พวกเขาได้ยิน แสดงประกอบเรื่อง หรือแม้แต่ช่วยเล่าเรื่อง ช่วยให้เด็กรู้จักความจริงพระกิตติคุณในเรื่องที่ท่านแบ่งปัน

อ่านพระคัมภีร์

เด็กเล็กอาจจะอ่านได้ไม่มาก แต่ท่านยังคงให้พวกเขามีส่วนในการเรียนรู้จากพระคัมภีร์ได้ ท่านอาจต้องเน้นข้อเดียว วลีหรือคำสำคัญ

ดูรูปภาพหรือชมวีดิทัศน์

ถามคำถามเกี่ยวกับรูปภาพหรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับหลักธรรมพระกิตติคุณที่ท่านกำลังสนทนา ตัวอย่างเช่น ท่านจะถามว่า “เกิดอะไรขึ้นในภาพนี้? ทำให้หนูรู้สึกอย่างไร?” แอปพลิเคชันคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ Gospel Media Library ที่ ChurchofJesusChrist.org และ children.ChurchofJesusChrist.org เป็นแหล่งที่ดีให้ท่านหารูปภาพและวีดิทัศน์

สร้าง

เด็กสามารถสร้าง วาด หรือระบายสีเกี่ยวกับเรื่องเล่าหรือหลักธรรมที่กำลังเรียนรู้

มีส่วนร่วมในบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริง

บทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริงง่ายๆ จะช่วยให้ลูกของท่านเข้าใจหลักธรรมพระกิตติคุณที่เข้าใจยาก เมื่อใช้บทเรียนดังกล่าว ลองหาวิธีให้ลูกมีส่วนร่วม พวกเขาจะเรียนรู้มากขึ้นจากประสบการณ์เชิงโต้ตอบมากกว่าดูการสาธิตเพียงอย่างเดียว

บทบาทสมมติ

เมื่อเด็กแสดงบทบาทสมมติของสถานการณ์ที่พวกเขาอาจพบเจอในชีวิตจริง พวกเขาสามารถเข้าใจได้ดีขึ้นว่าจะประยุกต์ใช้หลักธรรมพระกิตติคุณกับชีวิตพวกเขาอย่างไร

ทำกิจกรรมซ้ำ

เด็กเล็กอาจต้องได้ยินแนวคิดหลายๆ ครั้งจึงจะเข้าใจ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะเล่าเรื่องราวพระคัมภีร์เรื่องหนึ่งหลายรอบในวิธีต่างกัน—อ่านจากพระคัมภีร์ สรุปด้วยคำพูดของท่านเอง ให้เด็กๆ ช่วยท่านเล่าเรื่อง เชื้อเชิญให้พวกเขาแสดงประกอบเรื่อง และอื่นๆ

ทำการเชื่อมโยงกับเป้าหมายพัฒนาตนเองของพวกเขา

การศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวจะทำให้เยาวชนและเด็กมีแรงบันดาลใจในการตั้งเป้าหมายสำหรับการเติบโตทางวิญญาณ ร่างกาย สติปัญญา และสังคมของตน (ดู ลูกา 2:52)

ภาพ
ครอบครัวยิ้มด้วยกัน

การสอนเยาวชน

ถ้าท่านมีเยาวชนในครอบครัวของท่าน กิจกรรมต่อไปนี้จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้:

เชื้อเชิญให้พวกเขาสอน

ตามปกติเราเรียนรู้เมื่อเราสอนมากกว่าเมื่อเราแค่ได้ยิน เปิดโอกาสให้เยาวชนของท่านได้นำการสนทนาในครอบครัวเกี่ยวกับพระคัมภีร์

ทำการเชื่อมโยงกับเซมินารี

ปีนี้นักเรียนเซมินารีกำลังศึกษาหลักคำสอนและพันธสัญญา ถ้าเยาวชนของท่านเรียนเซมินารี ให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ที่นั่น

เปรียบพระคัมภีร์

บางครั้งเยาวชนมองไม่ออกว่าหลักคำสอนและหลักธรรมในพระคัมภีร์เชื่อมโยงกับชีวิตพวกเขาอย่างไร ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าเรื่องราวและคำสอนในพระคัมภีร์เกี่ยวข้องอย่างไรกับสถานการณ์ที่พวกเขาพบเจอที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือกับเพื่อนๆ

ถามคำถามที่กระตุ้นให้ไตร่ตรอง

เยาวชนหลายคนตอบคำถามที่เปิดโอกาสให้พวกเขาแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกเกี่ยวกับพระคัมภีร์ได้ดีกว่าแค่ย้ำสิ่งที่พระคัมภีร์กล่าว ตัวอย่างเช่น ท่านจะถามว่า “พระเจ้าอาจจะกำลังสอนอะไรท่านในข้อเหล่านี้?” หรือ “ท่านคิดว่าเหตุใดการเปิดเผยนี้จึงมีความหมายต่อวิสุทธิชนในทศวรรษ 1830?”

ทำการเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาตนเองของพวกเขา

การศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวจะทำให้เยาวชนและเด็กมีแรงบันดาลใจในการตั้งเป้าหมายสำหรับการเติบโตทางวิญญาณ ร่างกาย สติปัญญา และสังคมของตน (ดู ลูกา 2:52)

เปิดรับคำถามของพวกเขา

คำถามจากเยาวชนเป็นโอกาสอันมีค่าให้แบ่งปันความจริงและแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับหัวข้อที่เขาสนใจจริงๆ อย่ากลัวคำถามหรือเมินคำถามแม้จะดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อสนทนาก็ตาม ไม่เป็นไรถ้าท่านไม่มีคำตอบทั้งหมด บ้านเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะจะให้หาคำตอบด้วยกัน

กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันข้อคิดของตน

เยาวชนมีมุมมองและข้อคิดเฉพาะตัวที่เอื้อต่อการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัว ให้พวกเขารู้ว่าท่านสนใจสิ่งที่พระวิญญาณกำลังสอนพวกเขาเกี่ยวกับพระคัมภีร์ ท่านอาจจะขอให้พวกเขาแบ่งปันข้อคิดจากการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวด้วย

จงยืดหยุ่น

ถ้าท่านมีเยาวชนที่ไม่ยอมมีส่วนร่วมในการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัว ให้หาวิธีอื่นเชื่อมสัมพันธ์กับพวกเขา ตัวอย่างเช่น ท่านจะพูดถึงพระกิตติคุณอย่างเป็นธรรมชาติในการสนทนาของท่านหรือแบ่งปันข้อพระคัมภีร์ที่มีความหมายในลักษณะที่ไม่เหมือนสั่งสอนหรือบงการ การศึกษาพระคัมภีร์ไม่ต้องเหมือนกันทุกครอบครัว เด็กบางคนอาจตอบรับได้ดีขึ้นเมื่อศึกษาพระคัมภีร์แบบตัวต่อตัว จงสวดอ้อนวอนและทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า “ข้าพเจ้าสัญญาว่าขณะที่ท่านทำงานอย่างขยันหมั่นเพียรเพื่อปรับเปลี่ยนบ้านของท่านให้เป็นศูนย์การเรียนรู้พระกิตติคุณ เมื่อเวลาผ่านไป วันสะบาโต ของท่าน จะเป็นวันปีติยินดีอย่างแท้จริง ลูกๆ ของท่าน จะตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้และดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด อิทธิพลของปฏิปักษ์ในชีวิต ของท่าน และในบ้าน ของท่าน จะลดลง ครอบครัวท่านจะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเจนและต่อเนื่อง” (“การเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่เป็นแบบอย่าง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 113)