จงตามเรามา
13–19 กรกฎาคม แอลมา 32–35: “เพาะพระวจนะนี้ไว้ในใจท่าน”


“13–19 กรกฎาคม แอลมา 32–35: ‘เพาะพระวจนะนี้ไว้ในใจท่าน’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“13–19 กรกฎาคม แอลมา 32–35” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020

ภาพ
เมล็ดพืชในมือเด็ก

13–19 กรกฎาคม

แอลมา 32–35

“เพาะพระวจนะนี้ไว้ในใจท่าน”

บันทึกความประทับใจทางวิญญาณที่ท่านได้รับขณะท่านศึกษา แอลมา 32–35 ท่านได้รับแรงบันดาลใจให้ทำอะไรเพราะสิ่งที่ท่านเรียนรู้

บันทึกความประทับใจของท่าน

สำหรับชาวโซรัม การสวดอ้อนวอนเป็นการปฏิบัติที่ยึดถือตนเองเป็นศูนย์กลางและเกิดขึ้นเป็นกิจวัตรสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น พวกเขาจะยืนในบริเวณที่ทุกคนมองเห็นและกล่าวคำพูดถือดีที่ตนพอใจ ที่แย่กว่านั้นคือชาวโซรัมขาดศรัทธาในพระเยซู—แม้ถึงกับปฏิเสธการดำรงอยู่ของพระองค์—และข่มเหงคนจน (ดู แอลมา 31:9–25) ตรงกันข้ามกับแอลมาและอมิวเล็ค คนทั้งสองสอนอย่างอาจหาญว่าการสวดอ้อนวอนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเรามากกว่าบนแท่นสาธารณะ และถ้าการสวดอ้อนวอนนั้นไม่ทำให้เกิดความกรุณาต่อคนขัดสน ย่อม “เปล่าประโยชน์, และไม่ช่วยอะไร” (แอลมา 34:28) สำคัญที่สุดคือการสวดอ้อนวอนเป็นการแสดงศรัทธาในพระเยซูคริสต์ผู้ทรงมอบการไถ่ผ่าน “การพลีบูชาอันไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์” ของพระองค์ (แอลมา 34:10) แอลมาอธิบายว่าศรัทธาเช่นนั้นเกิดจากความนอบน้อมถ่อมตนและความ “ปรารถนาที่จะเชื่อ” (แอลมา 32:27) ศรัทธาเติบโตทีละนิดเหมือนต้นไม้ และต้องได้รับการบำรุงเลี้ยงสม่ำเสมอ ขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 32–35 ท่านอาจจะพิจารณาศรัทธาและการสวดอ้อนวอนของท่านเอง ท่านเคยรู้สึกว่าเจตคติเหมือนชาวโซรัมกำลังคืบคลานเข้ามาหรือไม่ ท่านจะบำรุงเลี้ยงศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์อย่างไรเพื่อให้เป็น “ต้นไม้ที่งอกงามไปสู่ชีวิตอันเป็นนิจ” (แอลมา 32:41)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

แอลมา 32:1–16

ฉันสามารถเลือกนอบน้อมถ่อมตน

แอลมาเห็นได้ว่าชาวโซรัมที่ยากจนต่างนอบน้อมถ่อมตนและอยู่ “ในการเตรียมพร้อมที่จะฟังพระวจนะ” (แอลมา 32:6) ขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 32:1–16 ให้คิดว่าท่านเตรียมฟังพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

ประสบการณ์ใดทำให้ท่านนอบน้อมถ่อมตน ท่านทำอะไรเพื่อนอบน้อมถ่อมตนมากขึ้น ข้อเหล่านี้จะสอนให้ท่านรู้วิธีเลือกความนอบน้อมถ่อมตนแทนการถูกบังคับให้นอบน้อมถ่อมตน ตัวอย่างเช่น อะไรคือความแตกต่างระหว่าง “ยากจนเกี่ยวกับสิ่งของทางโลก” กับ “ยากจนในใจ” (ข้อ 3) “นอบน้อมถ่อมตนเพราะพระวจนะ” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 14)

ดู “Humility,” Gospel Topics, topics.ChurchofJesusChrist.org ด้วย

แอลมา 32:17–43; 33–34

ฉันใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์โดยเพาะและบำรุงเลี้ยงพระวจนะของพระองค์ในใจฉัน

ท่านคิดว่าเหตุใดแอลมาจึงพูดเกี่ยวกับการเพาะเมล็ดในการตอบคำถามของชาวโซรัมเกี่ยวกับการนมัสการ อะไรคือเมล็ดพืชที่แอลมาพูดถึง (ดู แอลมา 32:28; 33:22–23) ขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 32:17–43 ให้จดคำและวลีที่ช่วยให้ท่านเข้าใจวิธีใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และพระวจนะของพระองค์ ท่านเรียนรู้อย่างไรเกี่ยวกับสิ่งที่ใช่ศรัทธาและสิ่งที่ไม่ใช่ศรัทธา จากนั้นขณะที่ท่านอ่าน บทที่ 33–34 ให้ค้นหาคำตอบของคำถามจากชาวโซรัมที่ว่า “[เรา] จะเพาะเมล็ดอย่างไร” (แอลมา 33:1)

การศึกษา แอลมา 32–34 อีกวิธีหนึ่งคือวาดภาพแทนการเติบโตแต่ละช่วงของเมล็ดพืช จากนั้นให้เขียนกำกับแต่ละภาพโดยใช้คำจาก แอลมา 32:28–43 ที่ช่วยให้ท่านเข้าใจวิธีเพาะและบำรุงเลี้ยงพระวจนะในใจท่าน

ดู มัทธิว 13:3–8, 18–23; ฮีบรู 11; นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “ศรัทธาไม่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่โดยการเลือก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 65–68; “Faith in Jesus Christ,” Gospel Topics, topics.ChurchofJesusChrist.org ด้วย

แอลมา 33:2–11; 34:17–29

ฉันสามารถนมัสการพระผู้เป็นเจ้าในการสวดอ้อนวอนทุกที่และทุกเวลา

คำแนะนำของแอลมาและอมิวเล็คเกี่ยวกับการนมัสการและการสวดอ้อนวอนมุ่งแก้ไขความเข้าใจผิดบางอย่างของชาวโซรัม (ดู แอลมา 31:13–23) แต่ความจริงที่พวกท่านสอนจะช่วยให้เราบางคนเข้าใจการสวดอ้อนวอนและการนมัสการดีขึ้น ท่านอาจจะเขียนความจริงเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนที่ท่านพบใน แอลมา 33:2–11 และ 34:17–29 ออกมาเป็นข้อๆ ข้างๆ ความจริงเหล่านั้นให้เขียนความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นได้เกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนที่ความจริงเหล่านี้แก้ไขให้ถูกต้อง (ดู แอลมา 31:12–23) สิ่งที่ท่านเรียนรู้จากข้อเหล่านี้จะส่งผลต่อวิธีที่ท่านสวดอ้อนวอนและนมัสการอย่างไร

แอลมา 33:3–17

ซีนัสและซีนัคเป็นใคร

ซีนัสและซีนัคเป็นศาสดาพยาการณ์ผู้เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ในช่วงสมัยพันธสัญญาเดิม แต่คำสอนของพวกท่านไม่พบในพันธสัญญาเดิม ชาวนีไฟเข้าถึงคำสอนของศาสดาพยากรณ์ทั้งสองท่านนี้ อาจจะเป็นเพราะคำสอนของพวกท่านมีในแผ่นจารึกทองเหลืองที่นีไฟได้มาจากเลบัน ทั้งยังกล่าวถึงพวกท่านใน 1 นีไฟ 19:10–12; เจคอบ 5:1; และ ฮีลามัน 8:19–20 ด้วย

แอลมา 34:30–41

“ชีวิตนี้เป็นเวลา … ที่จะเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า”

ขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 34:30–41 ให้พิจารณาว่าท่านจะ “ปรับปรุงเวลา [ของท่าน] ขณะที่อยู่ในชีวิตนี้” (ข้อ 33) อย่างไร การกลับใจและความอดทนจะช่วยให้ท่านเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงที่ท่านต้องทำและท่านผัดวันมาตลอดหรือไม่ พึงแน่ใจว่าท่านทำตามการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณที่ท่านได้รับ

ดู แอลมา 12:24; แลร์รีย์ อาร์. ลอว์เร็นซ์, “ข้าพเจ้ายังขาดอะไรอีกบ้าง?เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 33-35 ด้วย

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ

แอลมา 32:9–11; 33:2–11; 34:38–39

จะเป็นอย่างไรถ้าเราได้รับอนุญาตให้นมัสการและสวดอ้อนวอนเฉพาะวันอาทิตย์ ขณะที่ท่านอ่านข้อเหล่านี้ด้วยกัน สมาชิกครอบครัวจะสนทนาว่าพวกเขาจะนมัสการทุกวันได้อย่างไรและเหตุใดพวกเขาจึงขอบพระทัยที่สามารถทำเช่นนั้นได้

แอลมา 32:28–43

ท่านอาจจะใช้ภาพต้นไม้ที่มากับโครงร่างนี้อธิบายถ้อยคำของแอลมาในข้อเหล่านี้ หรือครอบครัวท่านจะออกไปเดินหาต้นไม้ที่เติบโตแต่ละช่วงและอ่านข้อต่างๆ จาก แอลมา 32 ที่เปรียบเทียบการเติบโตของต้นไม้กับศรัทธาของเรา สมาชิกครอบครัวแต่ละคนอาจจะเพาะเมล็ดพืชและสนทนาว่าเราต้องทำอะไรเพื่อช่วยให้เมล็ดเติบโต ตลอดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ท่านจะสำรวจเมล็ดพืชของท่านและกำชับกันว่าต้องบำรุงเลี้ยงประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์อย่างต่อเนื่อง

แอลมา 33:2–11; 34:17–29

ข้อเหล่านี้บอกอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถปรับปรุงการสวดอ้อนวอนเป็นส่วนตัวและกับครอบครัวของเรา

แอลมา 34:31

ประสบการณ์ใดแสดงให้เราเห็นว่าเมื่อเรากลับใจ เราเริ่มประสบพรของแผนแห่งการไถ่ “โดยทันที”

แอลมา 34:33–35

ครอบครัวท่านทราบหรือไม่ว่า “ผัดวัน” หมายถึงอะไร บางคนอาจจะยกตัวอย่างการผัดวันประกันพรุ่งและผลเสียของการทำเช่นนั้น “ผัดวันแห่งการกลับใจ [ของเรา]” หมายความว่าอย่างไร

ดูแนวคิดสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการสอนของเรา

วาดภาพ ท่านอาจจะให้สมาชิกครอบครัววาดภาพขณะพวกเขาเรียนรู้จากพระคัมภีร์ ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจจะชอบวาดภาพเมล็ดพืชที่เติบโตเป็นต้นไม้ขณะพวกเขาศึกษา แอลมา 32

ภาพ
ผลบนต้น

“เพราะความขยันหมั่นเพียรของท่านและศรัทธาของท่านและความอดทนของท่านต่อพระวจนะขณะบำรุงเลี้ยงมัน … ดูเถิด, ในไม่ช้าท่านจะเก็บผลจากมันได้, ซึ่งมีค่าที่สุด” (แอลมา 32:42)