จงตามเรามา
27 เมษายน–3 พฤษภาคม โมไซยาห์ 7–10: “ด้วยกำลังจากพระเจ้า”


“27 เมษายน–3 พฤษภาคม โมไซยาห์ 7–10: ‘ด้วยกำลังจากพระเจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“27 เมษายน–3 พฤษภาคม โมไซยาห์ 7–10” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020

ภาพ
แอมันสอนกษัตริย์ลิมไฮ

มิเนอร์วา เค. ไทเชิร์ต (1888-1976) แอมันต่อหน้ากษัตริย์ลิมไฮ 1949-1951, สีน้ำมันบนแผ่นไม้อัด ขนาด 35 15/16 x 48 นิ้ว พิพิธภัณฑ์ศิลปะ มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 1969

27 เมษายน–3 พฤษภาคม

โมไซยาห์ 7–10

“ด้วยกำลังจากพระเจ้า”

ขณะที่ท่านอ่าน พระวิญญาณจะทำให้ท่านสนใจข้อความบางวลีหรือบางข้อ จดว่าท่านรู้สึกว่าข้อเหล่านั้นประยุกต์ใช้กับท่านได้อย่างไร

บันทึกความประทับใจของท่าน

ขณะที่ผู้คนของกษัตริย์โมไซยาห์มี “สันติติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง” ในเซราเฮ็มลา (โมไซยาห์ 7:1) พวกเขานึกถึงชาวนีไฟอีกกลุ่มหนึ่งผู้จากไปอาศัยอยู่ในแผ่นดินแห่งลีไฮ-นีไฟเมื่อหลายปีก่อน คนหลายรุ่นผ่านไป และผู้คนของโมไซยาห์ไม่ทราบข่าวคราวจากพวกเขาเลย โมไซยาห์จึงขอให้แอมันนำคนกลุ่มหนึ่งไปค้นหาชาวนีไฟเหล่านั้น กลุ่มค้นหาพบว่าชาวนีไฟตกเป็นเชลยของชาวเลมัน “เพราะความชั่วช้าสามานย์” (โมไซยาห์ 7:24) แต่เมื่อแอมันกับพี่น้องของเขามาถึง พวกเขามีความหวังว่าจะได้รับการปลดปล่อยทันที

บางครั้งเราเหมือนชาวนีไฟที่เป็นเชลยเหล่านี้ ทนทุกข์เพราะบาปของเรา พลางสงสัยว่าเราจะพบสันติอีกครั้งได้อย่างไร บางครั้งเราเหมือนแอมัน รู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ยื่นมือช่วยเหลือผู้อื่นและพบในท้ายที่สุดว่าความพยายามของเราเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขา “เงยหน้าขึ้น, ชื่นชมยินดีเถิด, และมอบความไว้วางใจ [ของพวกเขา] ในพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 7:19) ไม่ว่าสภาวการณ์ของเราเป็นเช่นไร เราทุกคนต้องกลับใจและ “หันมาสู่พระเจ้าด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว” โดยมีศรัทธาว่า “พระองค์จะทรง … ปลดปล่อย [เรา]” (โมไซยาห์ 7:33)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

โมไซยาห์ 7:14–33

ถ้าฉันหันมาหาพระเจ้า วางใจพระองค์ และรับใช้พระองค์ พระองค์จะทรงปลดปล่อยฉัน

การได้พบแอมันผู้เป็นชาวนีไฟจากเซราเฮ็มลาจุดประกายความหวังของกษัตริย์ลิมไฮ และเขาต้องการส่งต่อความหวังนั้นให้แก่ผู้คนของเขา ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 7:14–33 ลองสังเกตสิ่งที่ลิมไฮกล่าวแก่ผู้คนของเขาเพื่อให้กำลังใจ เสริมสร้างศรัทธา และให้ความหวังแก่พวกเขาว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยพวกเขา ถึงแม้ท่านอาจไม่ได้ทำบาปเหมือนกับผู้คนของลิมไฮ แต่คำพูดของเขาจะช่วยให้ท่านหันมาหาพระเจ้าได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านจะสังเกตเห็นว่าลิมไฮเตือนสติผู้คนเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับการปลดปล่อยของพระผู้เป็นเจ้า(ดู ข้อ 18–20) เรื่องราวเหล่านี้ และเรื่องราวอื่นๆ ในพระคัมภีร์หรือประสบการณ์ส่วนตัว ช่วยให้ท่านวางใจพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

โมไซยาห์ 8:5–12

แผ่นจารึก 24 แผ่นที่ผู้คนของลิมไฮพบคืออะไร

ขณะผู้คนของลิมไฮกลุ่มเล็กกำลังค้นหาแผ่นดินแห่งเซราเฮ็มลาแต่ไม่สำเร็จ พวกเขาพบแผ่นจารึกทองคำ 24 แผ่นซึ่งมีอักขระในภาษาที่พวกเขาไม่คุ้นเคย แผ่นจารึกเหล่านี้ ซึ่งสุดท้ายแปลโดยกษัตริย์โมไซยาห์ พูดถึงกลุ่มคนที่รู้กันว่าเป็นชาวเจเร็ดผู้จากหอบาเบลมาถึงแผ่นดินที่สัญญาไว้และถูกทำลายในที่สุด (ดู โมไซยาห์ 28:11–19) ต่อมาโมโรไนย่อความในแผ่นจารึกเหล่านี้ (ดู อีเธอร์ 1:1–2) ซึ่งกลายเป็นหนังสือของอีเธอร์ สังเกตใน โมไซยาห์ 28:18 จะเห็นผลของบันทึกนี้ต่อผู้คนของโมไซยาห์

โมไซยาห์ 8:12–19

พระเจ้าทรงจัดเตรียมศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ

เมื่อลิมไฮได้ยินประจักษ์พยานของแอมันว่าพระเจ้าทรงยกผู้หยั่งรู้คนหนึ่งขึ้น ลิมไฮ “ชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง, และน้อมขอบพระทัยพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 8:19) ท่านคิดว่าเหตุใดเขาจึงรู้สึกเช่นนั้น ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับผู้หยั่งรู้จากคำพูดของแอมันใน โมไซยาห์ 8:13–19 ในสมัยของเรา “เราสนับสนุนสมาชิกในฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองในฐานะศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย” (Bible Dictionary, “Seer”) ครั้งสุดท้ายที่ท่านไตร่ตรองพรของการมีศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยบนแผ่นดินโลกคือเมื่อใด ท่านอาจจะบันทึกว่าศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยเป็น “ประโยชน์อันใหญ่หลวง” ต่อท่านอย่างไร (โมไซยาห์ 8:18)

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเป็นผู้หยั่งรู้ที่ยิ่งใหญ่ผู้ยืนเป็นหัวหน้าของสมัยการประทานของเรา (ดู ค&พ. 21:1; 124:125; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:62) โจเซฟ สมิธเป็นแบบอย่างในคำอธิบายของแอมันเรื่องผู้หยั่งรู้ในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจของท่านอย่างไร

โมไซยาห์ 9–10

ฉันสามารถเผชิญความท้าทายได้ “ด้วยกำลังจากพระเจ้า”

ซีนิฟฟ์ยอมรับว่าเขาทำผิดพลาด เขามุ่งหวังเกินไปบางครั้ง และเขาทำให้ผู้คนของเขา—บรรพชนของผู้คนของลิมไฮ—ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากโดยทำข้อตกลงที่ไม่รอบคอบกับกษัตริย์เลมัน แต่ต่อมา เมื่อเขาสู้รบกับชาวเลมัน เขาช่วยให้ผู้คนของเขาเผชิญความท้าทายด้วยศรัทธา ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 9–10 ให้ดูว่าผู้คนของซีนิฟฟ์ทำอะไรเพื่อแสดงศรัทธาของพวกเขา พระผู้เป็นเจ้าทรงเพิ่มพลังให้พวกเขาอย่างไร ออกไป “ด้วยกำลังจากพระเจ้า” หมายความว่าอย่างไร(โมไซยาห์ 9:17; 10:10–11)

โมไซยาห์ 10:11–17

การเลือกของฉันมีผลต่อคนหลายรุ่น

ตามที่กล่าวไว้ใน โมไซยาห์ 10:11–17 การกระทำและเจตคติของบรรพชนชาวเลมันขัดขวางชาวเลมันไม่ให้รู้ความจริงอย่างไร การเลือกของบรรพชนชาวเลมันส่งผลต่อคนรุ่นต่อๆ ไปในภายหน้าอย่างไร นึกถึงคนที่อาจได้รับอิทธิพลจากความเชื่อและการเลือกของท่าน ท่านกำลังทำอะไรเพื่อช่วยให้พวกเขามีศรัทธาอย่างสมบูรณ์มากขึ้นในพระคริสต์

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ

โมไซยาห์ 7:19–20

บันทึกตัวอย่างที่ลิมไฮชี้ให้เห็นเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนมีศรัทธา ตัวอย่างอะไรบ้างจากพระคัมภีร์เป็นแรงบันดาลใจให้เรา “วางใจในพระผู้เป็นเจ้า” การมอบความไว้วางใจของเราในพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร (ดู โมไซยาห์ 9:17; 10:19) เราสามารถแบ่งปันเรื่องใดจากชีวิตเราหรือชีวิตบรรพชนของเราเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความวางใจพระผู้เป็นเจ้ามากยิ่งขึ้น

โมไซยาห์ 7:26–27

เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากข้อเหล่านี้ (ดู ค&พ. 130:22ด้วย) เหตุใดเราจึงสำนึกคุณที่ได้รู้เรื่องเหล่านี้

โมไซยาห์ 8:13–18

เพื่อช่วยให้สมาชิกครอบครัวเข้าใจว่าผู้หยั่งรู้คืออะไร ท่านอาจจะให้พวกเขาดูภาพเครื่องมือที่ช่วยให้พวกเขามองเห็นสิ่งที่เราอาจมองไม่เห็นหากไม่มีเครื่องมือเหล่านี้ เช่น กล้องส่องทางไกล กล้องโทรทรรศน์ หรือกล้องจุลทรรศน์ เครื่องมือเหล่านี้เหมือนผู้หยั่งรู้อย่างไร (ดู โมเสส 6:35–36) ผู้หยั่งรู้จะเห็นอะไรที่เรามองไม่เห็น เรามีหลักฐานอะไรยืนยันว่าโจเซฟ สมิธเป็นผู้หยั่งรู้

ท่านอาจจะให้ดูภาพศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยที่มีชีวิตอยู่ของเรา และถามครอบครัวท่านว่าพวกเขารู้อะไรเกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้ เราทำตามท่านเหล่านั้นอย่างไร

โมไซยาห์ 9:14–18; 10:1–10

เมื่อชาวเลมันโจมตี ผู้คนของซีนิฟฟ์มีความพร้อมทั้งทางร่างกายและทางวิญญาณ เราสามารถเรียนรู้อะไรจากซินิฟฟ์และผู้คนของเขาเกี่ยวกับการเตรียมรับความท้าทาย

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

หาข้อคิดทางวิญญาณของท่านเอง โครงร่างนี้เสนอข้อพระคัมภีร์และหลักธรรมที่ต้องเน้น แต่อย่าให้ข้อเสนอเหล่านี้จำกัดการศึกษาของท่าน ท่านอาจจะประทับใจข้ออื่นหรือค้นพบหลักธรรมที่ไม่ได้กล่าวไว้ที่นี่ จงให้พระวิญญาณนำทางท่าน

ภาพ
โจเซฟ สมิธกับโมโรไน

นิมิตต่อโจเซฟ สมิธ โดย คลาร์ก เคลลีย์ ไพรซ์