จงตามเรามา
การประชุมวันอาทิตย์ที่สี่


การประชุมวันอาทิตย์ที่สี่

ในวันอาทิตย์ที่สี่ของแต่ละเดือน โควรัมเอ็ลเดอร์และสมาคมสงเคราะห์สนทนาหัวข้อที่ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองเลือกไว้ หัวข้อวันอาทิตย์ที่สี่จะปรับให้เป็นปัจจุบันหลังการประชุมใหญ่สามัญทุกครั้ง นับจากนี้จนถึงการประชุมใหญ่สามัญครั้งหน้า หัวข้อคือ “การปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่น” แต่ละเดือน ผู้นำหรือครูจะเลือกนำการสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมใดหลักธรรมหนึ่งต่อไปนี้เกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจ

ปฏิบัติศาสนกิจหมายถึงอะไร

การปฏิบัติศาสนกิจ มีความหมายอย่างไรต่อสมาชิกในวอร์ดหรือสาขาของท่าน เพื่อหาคำตอบ ท่านอาจจะเขียนคำว่า การปฏิบัติศาสนกิจ ไว้บนกระดานและเชิญสมาชิกเขียนหลายๆ คำที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติศาสนกิจไว้รอบๆ คำนั้น สมาชิกอาจจะหาคำหรือวลีเพิ่มเติมได้จากพระคัมภีร์ต่อไปนี้: มัทธิว 25:34–40; ลูกา 10:25–37; 2 นีไฟ 25:26; โมไซยาห์ 18:8–9; 3 นีไฟ 18:25; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 81:5 เราเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจ ท่านอาจจะขอให้สมาชิกยกตัวอย่างการปฏิบัติศาสนกิจที่พวกเขาเคยเห็น การปฏิบัติศาสนกิจของเราจะช่วยตอบรับความต้องการทางวิญญาณและทางโลกของผู้คนได้อย่างไร จะช่วยให้ผู้คนเข้ามาใกล้พระคริสต์มากขึ้นได้อย่างไร

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของการปฏิบัติศาสนกิจ

เพื่อเรียนรู้วิธีปฏิบัติศาสนกิจอย่างมีประสิทธิผล สมาชิกอาจจะแบ่งปันเรื่องราวจากพระคัมภีร์ซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่น—หลายตัวอย่างอยู่ใน ยอห์น 4–6 และ มาระโก 2:1–12 สมาชิกอาจจะแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาประทับใจเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้และหลักธรรมที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจ ตัวอย่างเช่น พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับใช้ผู้อื่นด้วยพระองค์เองอย่างไร พระองค์ทรงหาทางช่วยเหลือตามความต้องการทางวิญญาณและความต้องการทางโลกของผู้คนอย่างไร สมาชิกชั้นเรียนอาจจะพูดถึงเวลาที่พวกเขาเคยเห็นผู้คนใช้หลักธรรมเหล่านี้ในการปฏิบัติศาสนกิจ

การปฏิบัติศาสนกิจมีความรักเหมือนพระคริสต์เป็นแรงจูงใจ

เพื่อสำรวจพลังของการปฏิบัติศาสนกิจที่มีความรักเหมือนพระคริสต์เป็นแรงจูงใจ ท่านอาจจะเขียนประโยคต่อไปนี้ไว้บนกระดานและเชื้อเชิญให้สมาชิกเติมคำในช่องว่าง: เมื่อฉันรักคนที่ฉันรับใช้อย่างแท้จริง ฉัน เมื่อฉันรับใช้เพราะเหตุผลอื่น ฉัน เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้การปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นมีความรักเหมือนพระคริสต์เป็นแรงจูงใจ เราพัฒนาความรักเหมือนพระคริสต์ต่อคนที่เราได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างไร (ดู โมโรไน 7:45–48) บางทีสมาชิกอาจจะยกตัวอย่างการปฏิบัติศาสนกิจที่มีความรักเหมือนพระคริสต์เป็นแรงบันดาลใจ

พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้บุตรธิดาทุกคนของพระองค์ได้รับการดูแลเอาใจใส่

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า “ตราสัญลักษณ์ของศาสนจักรที่แท้จริงและดำรงอยู่ของพระเจ้าคือการพยายามปฏิบัติศาสนกิจอย่างมีระเบียบและถูกทิศทางต่อบุตรธิดาแต่ละคนของพระผู้เป็นเจ้าและครอบครัวของพวกเขา” (“การปฏิบัติศาสนกิจด้วยพลังและสิทธิอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 69) ประธานเนลสันสอนว่าวิธีที่ “มีระเบียบและถูกทิศทาง” ซึ่งศาสนจักรใช้ช่วยให้เราดูแลแต่ละบุคคลได้ดีขึ้นมีอะไรบ้าง เหตุใดความพยายามเหล่านี้จึงเป็น “ตราสัญลักษณ์ของศาสนจักรที่แท้จริงและดำรงอยู่ของพระเจ้า” (ดูแนวคิดบางประการใน โมไซยาห์ 18:21–22 และ โมโรไน 6:4–6) พรใดเข้ามาในชีวิตเราหรือชีวิตผู้อื่นเพราะผู้คนปฏิบัติศาสนกิจในการเรียกหรืองานมอบหมายของศาสนจักร

ค่าของจิตวิญญาณใหญ่ยิ่งในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า

ประสบการณ์ของพวกบุตรของโมไซยาห์แสดงให้เห็นว่าเรามองผู้คนอย่างไร เราจะปฏิบัติศาสนกิจต่อพวกเขาอย่างนั้น ท่านอาจจะเขียนบนกระดานว่า ชาวนีไฟมองชาวเลมันอย่างไร และ พวกบุตรของโมไซยาห์มองชาวเลมันอย่างไร จากนั้นให้สมาชิกค้นคว้า โมไซยาห์ 28:1–3 และ แอลมา 26:23–26 เพื่อหาคำและวลีมาเขียนใต้แต่ละข้อความ การเปรียบเทียบนี้สอนอะไรเราในเรื่องที่ว่าเรามองผู้คนอย่างไรเราจะปฏิบัติศาสนกิจต่อพวกเขาอย่างนั้น เราจะฝึกมองผู้คนให้เหมือนพระผู้เป็นเจ้าทรงมองพวกเขามากขึ้นได้อย่างไร (ดู คพ.18:10–16)

ผู้ปฏิบัติศาสนกิจที่แท้จริงมุ่งเน้นความต้องการของผู้อื่น

เพื่อช่วยให้สมาชิกเข้าใจคุณค่าของการมุ่งเน้นความต้องการของผู้อื่นมากขึ้นขณะที่เราปฏิบัติศาสนกิจ ท่านอาจจะเปรียบเทียบการปฏิบัติศาสนกิจกับการให้และรับของขวัญ เราเคยได้รับของขวัญที่มีความหมายจากคนที่รู้ชัดว่าเราต้องการหรืออยากได้อะไรหรือไม่ การปฏิบัติศาสนกิจคล้ายกับการให้ของขวัญเช่นนั้นอย่างไร ท่านอาจจะสนทนาเรื่องต่างๆ จากการประชุมใหญ่สามัญครั้งล่าสุดที่แสดงให้เห็นวิธีที่ผู้คนปฏิบัติศาสนกิจตามความต้องการของผู้อื่น (ดูตัวอย่างใน จีน บี. บิงแฮม, “การปฏิบัติศาสนกิจดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018) สมาชิกอาจจะแบ่งปันเรื่องอื่นที่แสดงให้เห็นหลักธรรมนี้ได้เช่นกัน

เราจะทราบได้อย่างไรว่าผู้อื่นต้องการอะไร เชื้อเชิญให้สมาชิกแต่ละคนเขียนรายชื่อคนที่พวกเขาปฏิบัติศาสนกิจ พวกเขาอาจจะเขียนคำตอบของคำถามที่ว่า “บุคคลนี้ต้องการอะไรจึงจะเข้ามาใกล้พระคริสต์มากขึ้น” ต่อจากแต่ละชื่อ กระตุ้นให้สมาชิกรวมศาสนพิธีที่แต่ละคนอาจต้องได้รับไว้ด้วย ให้สมาชิกตรึกตรองคำถามนี้ตลอดเวลาและแสวงหาการดลใจเพื่อช่วยให้พวกเขาหาทางช่วยเหลือตามความต้องการของผู้อื่น

พระเจ้าทรงต้องการให้เรายอมรับการปฏิบัติศาสนกิจจากผู้อื่น

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์กล่าวว่า “แผนพระกิตติคุณเรียกร้องการให้และการรับ … เวลาลำบากแต่ละคนมักจะพูดว่า ‘ฉันทำเองได้’ … ‘ฉันดูแลตัวเองได้’ กล่าวกันว่าไม่มีใครร่ำรวยจนเขาไม่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น ไม่มีใครยากไร้จนไม่เกิดประโยชน์ในบางด้านต่อเพื่อนมนุษย์ แนวโน้มที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นด้วยความมั่นใจ และมีน้ำใจให้ความช่วยเหลือ ควรเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติวิสัยของเรา” (“We Can’t Do It Alone,” Ensign, Nov. 1975, 91, 93) เหตุใดบางครั้งเราลังเลที่จะยอมรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น การที่เราเต็มใจยอมรับความช่วยเหลือเป็นพรแก่คนที่รับใช้เราอย่างไร ให้เวลาสมาชิกสักครู่ไตร่ตรองวิธีที่พวกเขาจะเปิดรับการปฏิบัติศาสนกิจจากผู้อื่นมากขึ้น 1 โครินธ์ 12:13–21 บอกอะไรเกี่ยวกับสาเหตุที่เราต้องมีกันและกัน

มีหลายวิธีที่เราสามารถปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่น

เพื่อช่วยให้สมาชิกพิจารณาหลายๆ วิธีที่พวกเขาสามารถปฏิบัติศาสนกิจต่อกัน ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาทบทวนข่าวสารของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์เรื่อง “อยู่กับพวกเขาและทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้น” (เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 101–103; ดู “หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ” ใน เลียโฮนา ฉบับต่อไป) สมาชิกอาจจะแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ และแต่ละกลุ่มอาจจะนึกถึงหลายๆ เหตุการณ์ที่บุคคลในเหตุการณ์นั้นอาจต้องการความช่วยเหลือ จากนั้นพวกเขาอาจจะช่วยกันคิดหาวิธีที่ผู้คนจะปฏิบัติศาสนกิจตามความต้องการทางวิญญาณและทางโลกของแต่ละบุคคลในเหตุการณ์ ขอให้กลุ่มแบ่งปันแนวคิดและไตร่ตรองว่าแนวคิดที่สนทนาจะเป็นพรแก่คนที่พวกเขาปฏิบัติศาสนกิจหรือไม่