2022
หญิงซึ่งตามพระเยซูมาจากกาลิลี
มีนาคม 2022


“หญิงซึ่งตามพระเยซูมาจากกาลิลี,” เลียโฮนา, มี.ค. 2022.

หญิง ซึ่ง ตาม พระเยซู มาจากกาลิลี

สามบทเรียนจากหญิงผู้ซื่อสัตย์ซึ่งติดตามพระเยซูคริสต์

ภาพ
บรรดาสตรีผู้ติดตามพระเยซูเดินด้วยกัน

Certain Women โดย วอลเตอร์ เรน

ในปี 1883 เฮเลน มาร์ วิทนีย์เขียนว่า “ในพระชนม์ชีพของพระคริสต์ [เราสามารถ] เห็นการอุทิศตนที่สตรีได้แสดงออก ผู้หญิงเป็นคนสุดท้ายที่อ้อยอิ่งอยู่ที่ไม้กางเขน และเป็นคนแรกที่สถานที่เก็บพระศพ”1 แม้ว่าซิสเตอร์วิทนีย์ไม่ได้ระบุว่าเธอกำลังพูดถึงผู้หญิงคนไหน ในบรรดาหญิงเหล่านั้นมีหญิงซึ่งตามพระคริสต์มาจากกาลิลีด้วย ลูกาพรรณนาถึงผู้หญิงเหล่านี้โดยเขียนว่าพระเยซู “​เสด็จ​ผ่าน​หมู่​บ้าน​และ​เมือง​ต่างๆ ทรง​ประ‌กาศ​และ​เผย‍แพร่​ข่าว‍ดี … : สาวกสิบสองคนนั้นก็อยู่กับพระองค์ พร้อม​กับ​ผู้‍หญิง​บาง‍คน​ที่​ได้​รับ​การ​รักษา​ให้​พ้น​จาก​วิญ‌ญาณ​ชั่ว​และ​โรค‍ภัย​ต่างๆ … , ​มา‌รีย์​ที่​เรียก​กัน​ว่า​ชาว​มัก‌ดา‌ลา … ที่​เคย​ปรน‌นิ‌บัติ​พระ‍องค์​และ​สาวก​ด้วย​ทรัพย์​สิ่ง‍ของ​ของ​พวก​นาง โย‌อัน‌นา​ภรรยา​ของ​คู‌ซา​ซึ่ง​เป็น​หัว‍หน้า​กรม‍วัง​ของ​เฮ‌โรด สุ‌สัน‌นา และหญิง​คน​อื่นๆ อีก​หลาย​คน” (ลูกา 8:1–3; เน้นตัวเอน)

วลี “หญิง​คน​อื่นๆ อีก​หลาย​คน” นั้นหมายถึงกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ หญิงที่ซื่อสัตย์หลายคนอยู่กับพระคริสต์ ผู้หญิงเหล่านี้สอนให้เราสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าและอยู่กับผู้ทุกข์ทรมาน พวกเธอสอนให้เรากล้าหาญและอยู่ใกล้พระคริสต์แม้ในยามยาก การที่พวกเธอสอนเราว่าเราสามารถออกจากความมืดมิดและมาสู่ความสว่างได้โดยผ่านพระคริสต์บางทีอาจจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

มารีย์ชาวมักดาลา โยอันนา สุ‌สัน‌นา 2 และหญิงอื่นๆ หลายคนซึ่งตามพระคริสต์มาไม่เฉยเมย แต่พวกเธอสนับสนุนพระองค์อย่างแข็งขันด้วยทรัพย์สิ่งของในการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ (ดู ลูกา 8:2–3) มีการกล่าวถึงโยอันนาโดยเฉพาะว่าเธอแต่งงานกับคนรับใช้ของเฮโรด ประหนึ่งจะหมายความว่าสามีของเธออยู่ในตำแหน่งที่มีความมั่งคั่งและมีอำนาจของกษัตริย์เฮโรด อันทีพา ผู้ปกครองแคว้นกาลิลี

ขณะหญิงเหล่านี้อยู่กับพระคริสต์ในแคว้นกาลิลี พวกเธอคงได้ยินคำเทศนามากมาย ฟังอุปมาของพระองค์ และได้เห็นการอัศจรรย์ต่างๆ เช่น การรักษาหญิงที่เป็นโรคตกโลหิต และหญิงที่เป็นโรคมา 18 ปีแล้ว (ดู ลูกา 8:43–48; 13:11–13) พวกเธอคงอยู่ในการเลี้ยงอาหารคน 5,000 คนและการอัศจรรย์อื่นๆ อีกมากมาย (ดู ลูกา 9:12–17; 14:1–4) ขณะที่พระพันธกิจในแคว้นกาลิลีของพระคริสต์ใกล้จะสิ้นสุดลง หญิงเหล่านี้บางคนเดินทางเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ตามพระองค์ไปเยรูซาเล็ม (ดู มัทธิว 27:55–56)

ภาพ
พระเยซูตรัสกับหญิงคนหนึ่งขณะที่คนอื่นมองดู

พระกิตติคุณสี่เล่มบอกชื่อหญิงหลายคนซึ่งติดตามและช่วยเหลือพระเยซู ได้แก่ มารีย์ โยอันนา และสุสันนา พวกเธอ “และหญิง​คน​อื่นๆ อีก​หลาย​คน” ได้ยินพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนและน่าจะได้เห็นสิ่งอัศจรรย์

ภาพประกอบโดย แดน เบอร์

โศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้า

พิจารณาสักครู่ว่าหญิงเหล่านี้มาจากกาลิลีกับพระคริสต์และอยู่ที่การตรึงกางเขนของพระองค์ แม้พระคัมภีร์ไม่ได้พูดถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่นในสัปดาห์สุดท้ายของพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดโดยเฉพาะ แต่ดูเหมือนว่าพวกเธอจะอยู่ที่การเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิต ได้ยินคำสอนของพระองค์ในพระวิหาร และอาจมีส่วนร่วมในเหตุการณ์อื่นๆ

ลูกาบันทึกว่าหญิงกลุ่มนี้อยู่ที่คัลวารี: “ทุกคนที่รู้จัก [พระคริสต์] รวม​ทั้ง​พวก​ผู้‍หญิง​ซึ่ง​ตาม​พระ‍องค์​มา​จาก​กา‌ลิ‌ลี ก็​ยืน‍อยู่‍แต่‍ไกล​มอง‍เห็น [การตรึงกางเขน] ” (ลูกา 23:49) มัทธิวกล่าวถึงหญิงกลุ่มเดียวกันนี้ โดยบันทึกว่าที่กางเขน “มีผู้หญิงหลายคนที่ติดตามพระองค์จากกาลิลีเพื่อจะปรนนิบัติพระองค์ มองดูอยู่แต่ไกล ในพวกนั้นมีมารีย์ชาวมักดาลา มารีย์มารดาของยากอบและโยเซฟ และมารดาของบุตรทั้งสองของเศเบดี”(มัทธิว 27:55–56)3

ลองนึกถึงความโศกเศร้าสุดซึ้งที่หญิงเหล่านี้รู้สึกที่กางเขนขณะมองดูพระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกขเวทนา เราทุกคนต่างมีช่วงเวลาเมื่อคนที่เรารักประสบกับเหตุการณ์น่าสลดใจและเราไม่มีอำนาจจะทำอะไรกับเรื่องนี้ได้ แม้ว่าหญิงที่กางเขนจะไม่สามารถเปลี่ยนสถานการณ์ได้ แต่พวกเธอยังคงอยู่กับพระผู้ช่วยให้รอดในความเจ็บปวดแสนสาหัสของพระองค์ แบบอย่างของพวกเธอแสดงให้เราเห็นว่าวิธีหนึ่งในการ “โศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้า” (โมไซยาห์ 18:9) คือเพียงอยู่กับคนที่ทนทุกข์

จงกล้าหาญและอยู่ใกล้กัน

หญิงเหล่านี้ยังเป็นแบบอย่างของความกล้าหาญด้วย การที่พวกเธอยังคงอยู่ที่กางเขนอาจทำให้พวกเธอตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากพวกเธอเกี่ยวข้องกับบุคคลที่กรุงโรมประหารชีวิต สิ่งที่คามิลล์ ฟรองก์ โอลสันเขียนเกี่ยวกับมารีย์ มารดาของพระเยซู (ซึ่งอยู่ที่กางเขนด้วย) เป็นความจริงเกี่ยวกับหญิงเหล่านี้เช่นกัน: “เมื่อยืนเคียงข้างพระเยซูในสิ่งที่คนอื่นมองว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าละอาย มารีย์ยังสื่อสารด้วยว่า ความกลัวพระผู้เป็นเจ้าของเธอยิ่งใหญ่กว่าที่เธอกลัวมนุษย์ ไม่ว่าผู้ยืนดูจะกล่าวหาเธออย่างไร ท่าทีสงบนิ่งของมารีย์สื่อว่าเธอไม่เหมือนกับสานุศิษย์คนอื่นๆ เธอจะไม่ปฏิเสธความสัมพันธ์ของเธอกับพระเยซู”4

หญิงจำนวนมากกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่อยู่ที่การสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์เท่านั้นแต่ยัง “เห็น​อุโมงค์​นั้น ทั้ง​เห็น​ว่า​เขา​วาง​พระ‍ศพ​ของ​พระ‍องค์​ไว้​อย่าง‍ไร​ด้วย แล้ว​พวก​นาง​ก็​กลับ​ไป​จัด‍แจง​เครื่อง‍หอม​กับ​น้ำ‍มัน‍หอม ใน​วัน‍สะ‌บา‌โต​นั้น​พวก‍เขา​ก็​หยุด‍พัก​ตาม​บัญญัติ” (ลูกา 23:55–56) เพราะต้องเผชิญกับอันตรายจากเจ้าหน้าที่ชาวยิวหรือชาวโรมัน หญิงเหล่านี้อาจเตรียมออกจากเมืองอย่างรวดเร็วก็ได้ แต่พวกเธอเตรียมเครื่องหอมสำหรับพระศพของพระคริสต์ (ดู ลูกา 24:1) แม้ว่าอนาคตของพวกเธอจะไม่แน่นอน แต่ไม่ว่าพระเยซูจะทรงอยู่ที่ใดพวกเธอก็จะอยู่ใกล้พระองค์ เมื่อกล่าวถึงวันเสาร์หลังการตรึงกางเขน แมกซ์ ลูกาโด นักเขียนชาวคริสต์ถามว่า “เมื่อถึงวันเสาร์ในชีวิตของท่าน ท่านจะมีปฏิกิริยาอย่างไร? เมื่อท่านอยู่ระหว่างเหตุการณ์น่าสลดใจเมื่อวันวานกับชัยชนะของวันพรุ่งนี้ ท่านจะทำอย่างไร? ท่านจะละจากพระผู้เป็นเจ้า—หรือท่านจะอยู่ใกล้พระองค์?”5 หญิงเหล่านี้สอนให้เราคงอยู่ใกล้ชิดพระเยซูแม้ในยามที่ยากลำบาก

มาสู่แสงสว่าง

ภาพ
หญิงที่หลุมฝังพระศพของพระเยซู

The Three Marys at the Tomb (มารีย์สามคนที่อุโมงค์), โดย วิลเลียม อดอร์ฟ บูกือโร

ไม่น่าแปลกใจเลยที่หญิงกลุ่มเดียวกันนี้เป็นกลุ่มแรกที่มาถึงหลุมฝังพระศพในเช้าวันอีสเตอร์ (ดู ลูกา 24:1–10)6 ทูตสวรรค์ประกาศข่าวที่น่ายินดีแก่พวกเธอดังนี้

“พวกท่านแสวงหาคนเป็นในพวกคนตายทำไม?

“พระองค์ไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่ทรงเป็นขึ้นมาแล้ว จงระลึกถึงคำที่พระองค์ตรัสกับพวกท่านขณะที่พระองค์ยังอยู่ในแคว้นกาลิลี” (ลูกา 24:5–6)

พวกผู้หญิง “ระลึกถึงพระดำรัสของพระองค์” เมื่อกลับจากอุโมงค์แล้ว “พวกนางก็เล่าเหตุการณ์นี้ทั้งหมดแก่สาวกสิบเอ็ดคนและคนอื่นๆ ด้วย” (ลูกา 24:8–9)

อัครสาวกยอห์นบอกเราว่ามารีย์ชาวมักดาลาเป็นคนแรกที่ได้เห็นพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ (ดู ยอห์น 20:11–17) ทั้งนี้อาจเป็นเรื่องที่น่าทึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราจำได้ว่าลูกาบันทึกไว้ว่าก่อนหน้านี้ในชีวิตของมารีย์ เธอถูก “ผีเจ็ดตน” เข้าสิง (ลูกา 8:2) บางทีในเรื่องนี้เราอาจเห็นได้ว่ามารีย์เปลี่ยนจากสภาวการณ์ที่ท้าทายมากมาเป็นพยานมนุษย์คนแรกของการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์ นี่แสดงให้เห็นว่าเมื่อเราเชื่อมต่อกับพระเยซูคริสต์ พระองค์จะทรงสามารถช่วยให้เราออกจากความมืดมิดและมาสู่ความสว่างได้ ไม่ว่าเราจะมีความท้าทายใดในอดีต เราสามารถพบปีติในการมาหาพระคริสต์ในตอนนี้ได้

มารีย์ชาวมักดาลา โยอันนา สุสันนา และหญิงคนอื่นๆ ซึ่งติดตามพระคริสต์มาจากกาลิลีเป็นแบบอย่างอันทรงพลังของสานุศิษย์ที่ช่วยสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า พวกเธอสอนให้เราอยู่กับผู้ที่กำลังทนทุกข์ ให้กล้าหาญ และไม่ทอดทิ้งพระเยซู—แม้ในเวลาที่ยากลำบาก หญิงเหล่านี้ได้เห็นพระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ สอนเราว่าเราสามารถละความมืดและออกมาสู่แสงสว่างโดยผ่านพระองค์

ในปี 1893 วิสุทธิชนยุคสุดท้ายนามว่าลู ดาลตัน เขียนบทกวีต่อไปนี้ซึ่งดึงความสนใจไปที่ความเข้มแข็งของหญิงเหล่านี้ผู้ติดตามพระเยซูคริสต์:

เป็นคนแรกที่ทักทายชายที่รักเมื่อเขาเกิด

เป็นคนสุดท้ายที่ละเขาไปเมื่อวายชนม์

เป็นคนแรกที่รังสรรค์แสงตะวันในใจเขา

เป็นคนสุดท้ายที่ถอดใจเลิกอดทน

เป็นคนสุดท้ายขณะพระเจ้าของเธอถูกตรึงกางเขน

เป็นคนแรกที่เห็นพระองค์ทรงฟื้นคืน

เป็นคนแรกที่ประกาศว่าพระองค์ฟื้นคืนพระชนม์

ทรงฟื้นคืนจากคุกอันมืดมนแห่งความตาย7

อ้างอิง

  1. Helen Mar Whitney, “The Voice of One of the Poor Females of Utah,” Woman’s Exponent, มี.ค. 15, 1883, 157.

  2. ลูกา 8:3 เป็นข้อพระคัมภีร์ข้อเดียวที่กล่าวถึงสุสันนาโดยเฉพาะ

  3. มัทธิว มาระโก ลูกา และยอห์นมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในเรื่องที่ว่าหญิงคนใดอยู่ที่กางเขน โดยรวมแล้วมีชื่อหญิงเจ็ดคนอยู่ที่กางเขนรวมทั้งมีการประกาศหลายครั้งว่า “ผู้หญิงหลายคน” อยู่ด้วย (ดู มัทธิว 27:55–56; มาระโก 15:40; ลูกา 23:49; ยอห์น 19:25) สำหรับการวิเคราะห์เพิ่มเติมเกี่ยวกับหญิงที่เฉพาะเจาะจงเหล่านี้ ดู Raymond E. Brown, The Death of the Messiah (1994), 2:1013–26, 1152–60, 1169–73)

  4. Camille Fronk Olson, Women of the New Testament (2014), 36.

  5. Max Lucado, He Chose the Nails: What God Did to Win Your Heart (2017), 206.

  6. ผู้เขียนพระกิตติคุณสี่เล่มแต่ละคนให้ภาพที่แตกต่างกันเล็กน้อยเกี่ยวกับหญิงที่อยู่ ณ หลุมฝังพระศพในเช้าวันอีสเตอร์เช่นเดียวกับหญิงที่กางเขน (ดู มัทธิว 28:1–10; มาระโก 16:1–9; ลูกา 24:10; ยอห์น 20:11–18) แม้ว่าเรื่องราวในพระกิตติคุณสี่เล่มจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย แต่เนื้อเรื่องหลักเหมือนกันคือ อุโมงค์ฝังพระศพว่างเปล่า และผู้หญิงเป็นพยานคนแรกของการฟื้นคืนพระชนม์ ทั้งความเหมือนและความแตกต่างในบันทึกของพระกิตติคุณสี่เล่มเป็นหลักฐานว่าผู้เขียนพระกิตติคุณสี่เล่มไม่ได้แต่งเหตุการณ์สมมติขึ้นมา

  7. Lu Dalton, “Woman,” Woman’s Exponent, Jan. 15, 1893, 107.