พระคัมภีร์
หลักคำสอนและพันธสัญญา 102


ภาค ๑๐๒

รายงานการประชุมการวางระเบียบสภาสูงชุดแรกของศาสนจักร, ที่เคิร์ทแลนด์, รัฐโอไฮโอ, วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๓๔ (History of the Church, 2:28–31). รายงานการประชุมฉบับดั้งเดิมบันทึกโดยเอ็ลเดอร์ออลิเวอร์ คาวเดอรี กับเอ็ลเดอร์ออร์สัน ไฮด์. สองวันต่อมา, รายงานการประชุมได้รับการแก้ไขโดยท่านศาสดาพยากรณ์, อ่านให้สภาสูงฟัง, และยอมรับโดยสภาสูง. ในปี ค.ศ. ๑๘๓๕ ท่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ เติมข้อ ๓๐ ถึง ๓๒, ซึ่งเกี่ยวกับสภาอัครสาวกสิบสอง, ขณะท่านเตรียมภาคนี้เพื่อจัดพิมพ์ในหลักคำสอนและพันธสัญญา.

๑–๘, กำหนดสภาสูงเพื่อหาข้อยุติสำหรับปัญหาสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในศาสนจักร; ๙–๑๘, มีระเบียบปฏิบัติให้ไว้สำหรับการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ; ๑๙–๒๓, ประธานสภาเป็นผู้ตัดสิน; ๒๔–๓๔, อธิบายถึงระเบียบปฏิบัติในการอุทธรณ์.

วันนี้การประชุมสภาใหญ่ของมหาปุโรหิตยี่สิบสี่คนชุมนุมกันที่บ้านของโจเซฟ สมิธ, จูเนียร์, โดยการเปิดเผย, และเริ่มวางระเบียบสภาสูงของศาสนจักรของพระคริสต์, ซึ่งพึงประกอบด้วยมหาปุโรหิตสิบสองคน, และประธานหนึ่งหรือสามคนแล้วแต่ความจำเป็นของเรื่อง.

มีการกำหนดสภาสูงโดยการเปิดเผย เพื่อจุดมุ่งหมายในการหาข้อยุติปัญหาสำคัญ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในศาสนจักร, ซึ่งศาสนจักรหรือสภาของอธิการหาข้อยุติให้เป็นที่พอใจของฝ่ายต่าง ๆ ไม่ได้.

เสียงของสภารับรองโจเซฟ สมิธ, จูเนียร์, ซิดนีย์ ริกดัน และเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์เป็นประธาน; และเสียงเป็นเอกฉันท์ของสภาเลือก โจเซฟ สมิธ, ซีเนียร์, จอห์น สมิธ, โจเซฟ โค, จอห์น จอห์นสัน, มาร์ติน แฮร์ริส, จอห์น เอส. คาร์เตอร์, เจเร็ด คาร์เตอร์, ออลิเวอร์ คาวเดอรี, แซมิวเอล เอซ. สมิธ, ออร์สัน ไฮด์, ซิลเวสเตอร์ สมิธ, และลูค จอห์นสัน, มหาปุโรหิต, เป็นสภาถาวรให้แก่ศาสนจักร.

สภาจึงถามสมาชิกสภาที่กล่าวนามข้างต้นนี้ว่าพวกเขาจะรับการมอบหมายของตนหรือไม่, และพวกเขาจะปฏิบัติหน้าที่นั้นตามกฎแห่งสวรรค์หรือไม่, ซึ่งคนเหล่านั้นทั้งปวงตอบว่าพวกเขารับการมอบหมายของตน, และจะทำหน้าที่ของตนตามพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า ที่ประทานแก่พวกเขา.

จำนวนคนที่ประกอบเป็นสภา, ผู้ออกเสียงในนามและเพื่อศาสนจักรในการกำหนดสมาชิกสภาที่กล่าวนามข้างต้นมีสี่สิบสามคน, ดังต่อไปนี้ : มหาปุโรหิตเก้าคน, เอ็ลเดอร์สิบเจ็ดคน, ปุโรหิตสี่คน, และสมาชิกสิบสามคน.

ออกเสียง : ว่าสภาสูงจะมีอำนาจกระทำไม่ได้ ถ้าไม่มีสมาชิกสภาที่กล่าวนามข้างต้นเจ็ดคน, หรือผู้สืบตำแหน่งของพวกเขาที่กำหนดไว้อย่างถูกต้องอยู่ที่นั่น.

คนเจ็ดคนนี้จะมีอำนาจกำหนดมหาปุโรหิตคนอื่น ๆ, ผู้ที่พวกเขาจะพิจารณาว่ามีค่าควร และสามารถกระทำแทนสมาชิกสภาที่ไม่อยู่ที่นั่น.

ออกเสียง : ว่าเมื่อใดก็ตามที่มีตำแหน่งว่างจะเกิดขึ้นโดยการถึงแก่กรรม, การปลดจากหน้าที่เพราะการล่วงละเมิด, หรือการย้ายจากเขตปกครองของศาสนจักรนี้, ของสมาชิกสภาคนใดที่กล่าวนามข้างต้นแล้ว, ตำแหน่งว่างนั้นจะบรรจุโดยการเสนอชื่อประธานหรือเหล่าประธาน, และอนุมัติโดยเสียงของการประชุมสภาใหญ่ของมหาปุโรหิต, ที่ประชุมกันเพื่อจุดมุ่งหมายนั้น, เพื่อกระทำในนามของศาสนจักร.

ประธานศาสนจักร, ผู้เป็นประธานสภาด้วย, กำหนดไว้โดยการเปิดเผย, และรับรองในการบริหารงานของท่านโดยเสียงของศาสนจักร.

๑๐ และเป็นไปตามศักดิ์ศรีของหน้าที่ของท่านว่าท่านจะควบคุมสภาของศาสนจักร; และเป็นเอกสิทธิ์ของท่านที่จะมีประธานอื่นสองคนช่วยเหลือ, ที่กำหนดขึ้นในแบบเดียวกับที่ตัวท่านเองได้รับการกำหนด.

๑๑ และในกรณีที่ผู้ได้รับการกำหนดให้ช่วยท่านไม่อยู่หนึ่งคนหรือทั้งสองคน, ท่านมีอำนาจควบคุมสภาโดยไม่มีผู้ช่วย; และในกรณีที่ตัวท่านเองไม่อยู่, ประธานคนอื่นมีอำนาจเป็นประธานแทนท่าน, ทั้งสองคนหรือคนใดคนหนึ่งในสองคนนั้น.

๑๒ เมื่อใดก็ตามที่วางระเบียบสภาสูงของศาสนจักรของพระคริสต์อย่างถูกต้อง, ตามแบบฉบับที่กล่าวมาก่อนนี้, จะเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาสิบสองคนที่จะจับสลากเลขหมาย, และโดยการนี้จะรู้ว่าผู้ใดในสิบสองคนจะพูดเป็นคนแรก, โดยเริ่มจากหมายเลขหนึ่งและต่อไปตามลำดับจนถึงหมายเลขสิบสอง.

๑๓ เมื่อใดก็ตามที่สภานี้ประชุมเพื่อดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง, สมาชิกสภาสิบสองคนจะพิจารณาว่าเรื่องยากหรือไม่; หากไม่ยาก, สมาชิกสภาสองคนเท่านั้นจะพูดเรื่องนี้, ตามแบบที่เขียนไว้ข้างต้น.

๑๔ แต่หากคิดว่ายาก, จะกำหนดไว้สี่คน; และหากยากมากกว่านั้นก็หกคน; แต่ไม่มีเรื่องใดจะกำหนดให้พูดเกินหกคน.

๑๕ จำเลย, ในทุกเรื่อง, มีสิทธิในครึ่งหนึ่งของสภา, เพื่อป้องกันการหมิ่นประมาทหรือความอยุติธรรม.

๑๖ และสมาชิกสภาที่กำหนดให้พูดต่อหน้าสภาพึงเสนอเรื่อง, หลังจากตรวจหลักฐานแล้ว, ในรูปของความจริงต่อหน้าสภา; และทุกคนพึงพูดตามความเที่ยงธรรมและความยุติธรรม.

๑๗ สมาชิกสภาเหล่านั้นที่จับสลากได้เลขคู่, นั่นคือ ๒, ๔, ๖, ๘, ๑๐ และ ๑๒, เป็นบุคคลที่พึงยืนในนามของจำเลย, และป้องกันการหมิ่นประมาทและความอยุติธรรม.

๑๘ ในทุกเรื่องโจทก์และจำเลยมีเอกสิทธิ์พูดเพื่อตนเองต่อหน้าสภา, หลังจากพิจารณาหลักฐานและสมาชิกสภาที่กำหนดให้พูดเรื่องนั้นได้ออกความเห็นของพวกเขาแล้ว.

๑๙ หลังจากพิจารณาหลักฐาน, สมาชิกสภา, โจทก์และจำเลยพูดแล้ว, ประธานพึงให้การชี้ขาดตามความเข้าใจซึ่งเขาจะมีเกี่ยวกับเรื่องนั้น, และเสนอขอต่อสมาชิกสภาสิบสองคนให้อนุมัติการชี้ขาดนั้นโดยการออกเสียงของพวกเขา.

๒๐ แต่หากสมาชิกสภาที่เหลืออยู่, ผู้ที่ยังไม่พูด, หรือคนหนึ่งคนใดในพวกเขา, หลังจากพิจารณาหลักฐานและคำวิงวอนอย่างไม่มีอคติ, พบความผิดพลาดในการชี้ขาดของประธาน, พวกเขาจะแสดงให้ประจักษ์, และเรื่องนั้นจะมีการพิจารณาใหม่.

๒๑ และหากว่า, หลังจากการพิจารณาใหม่อย่างละเอียด, มีความกระจ่างใด ๆ เพิ่มเติมให้ประจักษ์ในเรื่องนั้น, ก็จะเปลี่ยนการชี้ขาดตามนั้น.

๒๒ แต่ในกรณีที่ไม่มีการให้ความกระจ่างเพิ่มเติม, พึงยืนอยู่ที่การชี้ขาดครั้งแรก, โดยเสียงข้างมากของสภามีอำนาจตัดสินอย่างเดียวกัน.

๒๓ ในกรณีของอุปสรรคอันเกี่ยวกับหลักคำสอนหรือหลักธรรม, หากไม่มีเขียนไว้พอที่จะทำให้เรื่องกระจ่างต่อความคิดของสภาแล้ว, ประธานจะทูลถามและรับพระดำริของพระเจ้าโดยการเปิดเผย.

๒๔ มหาปุโรหิต, เมื่ออยู่ที่อื่น, มีอำนาจที่จะเรียกและจัดตั้งสภาตามวิธีที่กล่าวมาก่อนนี้, เพื่อจัดการข้ออุปสรรคต่าง ๆ, เมื่อคู่กรณีหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในพวกเขาจะขอมา.

๒๕ และสภามหาปุโรหิตดังกล่าวจะมีอำนาจกำหนดคนหนึ่งในจำนวนพวกเขาเองให้ควบคุมสภาเช่นนั้นเฉพาะเวลานี้.

๒๖ จะเป็นหน้าที่ของสภาดังกล่าวที่จะส่งสำเนาการดำเนินงานของพวกเขาหนึ่งฉบับ, โดยทันที, พร้อมด้วยรายการหลักฐานอันครบถ้วนซึ่งมาพร้อมกับการชี้ขาดของพวกเขา, ถึงสภาสูงจากที่ทำการฝ่ายประธานสูงสุดของศาสนจักร.

๒๗ หากคู่กรณีหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจการชี้ขาดของสภาดังกล่าวนั้น, พวกเขาจะอุทธรณ์ต่อสภาสูงจากที่ทำการฝ่ายประธานสูงสุดของศาสนจักร, และมีการพิจารณาใหม่, ซึ่งเรื่องนี้พึงดำเนินการที่นั่น, ตามแบบฉบับเดิมที่เขียนไว้, ราวกับไม่มีการชี้ขาดเช่นนั้นมาเลย.

๒๘ สภามหาปุโรหิตนี้ในที่อื่นพึงเรียกมาในกรณีที่เป็นเรื่องยากที่สุดของศาสนจักรเท่านั้น; และเรื่องธรรมดาหรือปรกติไม่พึงเป็นเหตุเพียงพอที่จะเรียกสภาเช่นนั้น.

๒๙ มหาปุโรหิตที่เดินทางไปที่อื่นหรือประจำอยู่ที่อื่นมีอำนาจจะกล่าวว่าจำเป็นที่จะเรียกสภาเช่นนั้นหรือไม่.

๓๐ มีข้อแตกต่างระหว่างสภาสูงหรือมหาปุโรหิตที่เดินทางไปที่อื่น, และสภาสูงสัญจรซึ่งประกอบด้วยอัครสาวกสิบสอง, ในการชี้ขาดของพวกเขา.

๓๑ จากการชี้ขาดของพวกแรกจะมีการอุทธรณ์ได้; แต่จากการชี้ขาดของพวกหลังมีไม่ได้.

๓๒ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของศาสนจักรเท่านั้นจะเรียกพวกหลังมาสอบถามในเรื่องการล่วงละเมิด.

๓๓ ลงมติ : ว่าประธานหรือประธานทั้งหลายจากที่ทำการฝ่ายประธานสูงสุดของศาสนจักรจะมีอำนาจตัดสินว่าเรื่องเช่นนั้นเรื่องใด, ดังที่อุทธรณ์ไว้, มีสิทธิ์โดยเที่ยงธรรมต่อการพิจารณาใหม่หรือไม่, หลังจากตรวจการอุทธรณ์และหลักฐานและข้อแถลงความที่แนบมาพร้อมกัน.

๓๔ จากนั้นสมาชิกสภาสิบสองคนจึงเริ่มจับสลากหรือลงคะแนน, เพื่อรู้ว่าใครจะพูดก่อน, และต่อไปนี้เป็นผลที่ได้รับ, กล่าวคือ : ๑, ออลิเวอร์ คาวเดอรี; ๒, โจเซฟ โค; ๓, แซมิวเอล เอช. สมิธ; ๔, ลูค จอห์นสัน; ๕, จอห์น เอส. คาร์เตอร์; ๖, ซิลเวสเตอร์ สมิธ; ๗, จอห์น จอห์นสัน; ๘, ออร์สัน ไฮด์; ๙, เจเร็ด คาร์เตอร์; ๑๐, โจเซฟ สมิธ, ซีเนียร์; ๑๑, จอห์น สมิธ; ๑๒, มาร์ติน แฮร์ริส. หลังจากการสวดอ้อนวอนแล้วจึงปิดการประชุม.

ออลิเวอร์ คาวเดอรี,

ออร์สัน ไฮด์,

พนักงาน.