การเรียกในคณะเผยแผ่
7. ภาคผนวก


7

ภาคผนวก

7.0

บทนำ

เมื่อจำเป็นและเหมาะสมกับคณะเผยแผ่และสภาวการณ์ของท่าน ให้ทำตามแนวทางเพิ่มเติมที่ระบุไว้ในภาคผนวกนี้

7.1

หน้าที่รับผิดชอบของหัวหน้าผู้สอนศาสนาหนุ่มสาว

งานมอบหมายและหน้าที่รับผิดชอบของหัวหน้าผู้สอนศาสนาหนุ่มสาวครอบคลุมแต่อาจไม่จำกัดเฉพาะที่ระบุไว้ด้านล่าง

คู่รุ่นพี่

ผู้สอนศาสนาหนึ่งคนในแต่ละคู่ได้รับมอบหมายให้เป็นคู่รุ่นพี่ คู่รุ่นพี่:

  • นำคู่ทำงานในเขตการสอนที่มอบหมายให้สำเร็จ

  • กระตุ้นคู่ให้ศึกษา สวดอ้อนวอน ทำตามตารางประจำวัน และจดบันทึกให้ถูกต้อง

  • ช่วยให้คู่ของตนเป็นผู้สอนศาสนาที่ดีขึ้น

  • รับรู้และชี้ให้เห็นทักษะ พรสวรรค์ และความพยายามที่มีประสิทธิผลในคู่ของตน

  • แสดงให้เห็นวิธีทำงานอย่างมีประสิทธิภาพกับผู้นำและสมาชิกในท้องที่เพื่อประสานการทำงานเผยแผ่ศาสนา

ผู้อบรม

ผู้สอนศาสนาหนึ่งคนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อบรมและคู่รุ่นพี่ของผู้สอนศาสนาคนใหม่แต่ละคน ผู้อบรม:

  • ทำงานกับผู้สอนศาสนาคนใหม่และอบรมด้วยความรัก ความอดทน จิตกุศล และความเห็นใจ

  • เคารพผลการทำงานและดุลยพินิจของผู้สอนศาสนาคนใหม่ในฐานะคู่ที่เท่าเทียมกัน

  • ใช้เวลาอบรมเพิ่มแต่ละวันในการศึกษากับคู่ (ดู “For New Missionaries: Additional Companion Study” ใน “Introduction: How Can I Best Use Preach My Gospel?” ใน Preach My Gospel [2018], ix–x)

  • ศึกษามาตรฐานในคู่มือนี้กับคู่ของตนทุกวัน

  • อบรมผู้สอนศาสนาคนใหม่เกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ ในแหล่งข้อมูล มาตรการป้องกันการใช้เทคโนโลยี และ การปรับตัวให้เข้ากับชีวิตผู้สอนศาสนา

  • แสดงให้เห็นวิธีประสานการทำงานเผยแผ่ศาสนาอย่างมีประสิทธิภาพกับผู้นำและสมาชิกในท้องที่

หัวหน้าดิสตริกท์

เอ็ลเดอร์หนึ่งคนได้รับมอบหมายให้รับใช้เป็นหัวหน้าดิสตริกท์ในดิสตริกท์ ซึ่งประกอบด้วยเขตการสอนหลายเขต หัวหน้าดิสตริกท์:

  • นำ อบรม และปรึกษากับผู้สอนศาสนาในสภาดิสตริกท์ประจำสัปดาห์

  • ดำเนินการสัมภาษณ์บัพติศมา (ดู 2.3.6)

  • ดำเนินการแลกคู่กับเอ็ลเดอร์ในดิสตริกท์ของตน (ดู 2.3.1)

  • ทำงานกับผู้นำวอร์ดและสมาชิกในท้องที่เพื่อประสานการทำงานเผยแผ่ศาสนา

  • รายงานต่อหัวหน้าโซนโดยตรง

ซิสเตอร์ผู้นำการอบรมและหัวหน้าโซน

ซิสเตอร์สองคนได้รับมอบหมายให้รับใช้เป็นคู่ในฐานะซิสเตอร์ผู้นำการอบรมในหนึ่งโซนหรือมากกว่านั้น พวกเธอรับผิดชอบเรื่องการอบรมและสวัสดิภาพของซิสเตอร์ผู้สอนศาสนาที่มอบหมายให้พวกเธอดูแล นอกจากนี้พวกเธอยังเป็นสมาชิกของดิสตริกท์และของโซน และช่วยเหลือประธานคณะเผยแผ่ หัวหน้าโซน และหัวหน้าดิสตริกท์ในการประชุมอบรมและการประชุมโซนด้วย

เอ็ลเดอร์สองคนได้รับมอบหมายให้รับใช้เป็นคู่ในฐานะหัวหน้าโซนในโซนเดียว พวกเขารับผิดชอบเรื่องการอบรมและสวัสดิภาพของผู้สอนศาสนาทุกคนในโซนของตน อีกทั้งช่วยเหลือประธานคณะเผยแผ่ในการประชุมอบรมและการประชุมโซนด้วย

ซิสเตอร์ผู้นำการอบรมและหัวหน้าโซน:

  • นำ อบรม และดำเนินการแลกคู่กับผู้สอนศาสนาในโซนหนึ่งหรือหรือโซนต่างๆ ที่มอบหมายให้พวกเขา ซิสเตอร์ผู้นำการอบรมดำเนินการแลกคู่กับซิสเตอร์ และหัวหน้าโซนดำเนินการแลกคู่กับเอ็ลเดอร์

  • ทำงานกับผู้นำและสมาชิกในท้องที่เพื่อประสานการทำงานเผยแผ่ศาสนา

  • มีส่วนร่วมในสภาผู้นำคณะเผยแผ่

  • รายงานโดยตรงต่อประธานคณะเผยแผ่

หัวหน้าโซนดำเนินการสัมภาษณ์บัพติศมาด้วย (ดู 2.3.6)

ผู้ช่วยประธาน

เอ็ลเดอร์สองคนได้รับมอบหมายเป็นคู่ให้รับใช้เป็นผู้ช่วยประธานคณะเผยแผ่ ผู้ช่วย:

  • ดำเนินการแลกคู่กับหัวหน้าโซนและเอ็ลเดอร์คนอื่นๆ (ดู 2.3.1)

  • ให้การอบรมในสภาผู้นำคณะเผยแผ่และการประชุมโซนตามที่ประธานคณะเผยแผ่ขอ

  • อาจให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการย้ายผู้สอนศาสนาหรือการมอบหมายหัวหน้า แต่พวกเขาไม่ทำการตัดสินใจขั้นสุดท้าย

  • รายงานโดยตรงต่อประธานคณะเผยแผ่

7.2

แนวทางสำหรับการรับใช้

ทำตามแนวทางการรับใช้ที่ระบุไว้ในหมวดย่อยต่อไปนี้

7.2.1

กิจกรรมการรับใช้ที่จัดอย่างเป็นทางการ

ท่านสามารถหาโอกาสรับใช้ผ่านองค์การต่างๆ เช่น JustServe.org (หากมีในภาษาของท่าน) ตามที่ผู้นำคณะเผยแผ่ของท่านแนะนำ

เมื่อมีส่วนร่วมในงานการรับใช้ที่จัดขึ้น พึงจดจำมาตรฐานต่อไปนี้:

  • จำกัดการรับใช้เฉพาะช่วงเวลากลางวัน

  • หลีกเลี่ยงการรับใช้ในช่วงเวลาที่หาและสอนได้มากที่สุดเว้นแต่ประธานคณะเผยแผ่ของท่านบอกให้ทำ

  • มีส่วนร่วมในโครงการรับใช้ชุมชนเมื่อทำได้

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมการรับใช้ในวันเตรียมหรือในช่วงเวลาเดียวกับสภาดิสตริกท์หรือการประชุมโซน

  • อย่ายกเลิกหรือทำนัดสอนใหม่เพื่อทำโครงการรับใช้เว้นแต่ประธานคณะเผยแผ่ของท่านบอกให้ทำ

  • อยู่กับคู่ขณะที่ท่านรับใช้

  • ติดป้ายชื่อของท่านหากได้รับอนุญาตและเห็นควรแม้ท่านจะสวมชุดทำงานก็ตาม

  • อย่ามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ทำให้ท่านเสียเงินหรือท่านได้รับค่าจ้าง

  • อย่ารับปากทำโครงการระยะยาวโดยไม่ได้รับอนุมัติจากผู้นำคณะเผยแผ่ของท่าน

7.2.2

ความปลอดภัยระหว่างโอกาสการรับใช้

เพื่อความปลอดภัยของท่านระหว่างโอกาสการรับใช้ ให้ใช้สามัญสำนึก ทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ และแนวทางต่อไปนี้:

  • ทำเฉพาะกิจกรรมที่ร่างกายของท่านสามารถทำให้สำเร็จได้

  • อย่าใช้เครื่องทุ่นแรงหรือขับหรือโดยสารบนเครื่องจักรกลใดๆ (เช่น รถแทรกเตอร์ รถพ่วง หรือกระบะรถ)

  • สวมเครื่องแต่งกายที่เหมาะสม (เช่น ถุงมือหรือเสื้อแขนยาว)

  • อย่าทำงานที่ท่านอาจตกจากที่สูงมาก (เช่น บนหลังคาหรือบนต้นไม้)

  • อย่าทำงานที่ท่านอาจติดหรือบาดเจ็บในพื้นที่ปิด (เช่นในคูลึก)

  • อย่ารับใช้ในโรงเรียน ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก หรือสถานที่ใดก็ตามที่ท่านจะอยู่ตามลำพังกับเด็ก รวมทั้งในปฐมวัยหรือบริบาล (ดู 3.5.2)

ดูวีดิทัศน์เรื่องนี้เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับใช้

7.3

การเคารพผู้อื่น

ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเมตตาและความเคารพเสมอ ทำตามแนวทางเพิ่มเติมในหมวดนี้ด้วย

7.3.1

หัวข้อสนทนาที่พึงหลีกเลี่ยง

เพื่อแสดงว่าท่านเคารพผู้อื่นและคุ้มครองความปลอดภัยของท่าน พึงหลีกเลี่ยงหัวข้อสนทนาที่อาจก่อให้เกิดปัญหา หัวข้อที่พึงหลีกเลี่ยงได้แก่การเมืองระดับท้องที่และระดับประเทศของเขตที่ท่านรับใช้ ไม่พูดเรื่องการเมืองทั้งเป็นส่วนตัวหรือต่อสาธารณชนด้วย นอกจากนี้ ท่านต้องไม่:

  • พูดเล่นเรื่องการก่อการร้ายหรือการกระทำของผู้ก่อการร้าย

  • เสนอให้คนย้ายไปอยู่ประเทศอื่น—แม้จะไปทำงานหรือไปเรียนก็ตาม

  • เสนอตัวหรือทำสัญญาว่าจะช่วยเหลือคนในเขตเผยแผ่ของท่านเรื่องเงินหรือวีซ่า รวมทั้งเรื่องงาน การเรียน ที่พักอาศัย หรือการรับเป็นบุตรบุญธรรม

7.3.2

กฎหมายและวัฒนธรรมในท้องที่

เชื่อฟังกฎหมายและกฎระเบียบในท้องที่เรื่องการแจกจ่ายสื่อสิ่งพิมพ์ ข้อบังคับเรื่องศุลกากรและชายแดน ข้อกำหนดเรื่องหนังสือเดินทางและวีซ่า หากท่านไม่คุ้นเคยกับกฎหมาย ประเพณี และมารยาทที่ยอมรับกันในท้องที่ ให้ขอความช่วยเหลือจากผู้นำคณะเผยแผ่ของท่าน

ดูวีดิทัศน์เรื่องนี้เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เหมาะสม

7.4

การเข้าพระวิหาร

เมื่อท่านเข้าพระวิหาร พึงจดจำดังนี้:

  • อยู่กับคู่ของท่าน

  • เข้าร่วมศาสนพิธีทุกอย่างที่ประกอบในพระวิหาร แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการตีความผิดๆ ของความรู้สึกทางวิญญาณว่าเป็นความรู้สึกรักใคร่แบบคนหนุ่มสาว ท่านต้องไม่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสามีหรือภรรยาในพิธีผนึกหรือเป็นพยานในภาคเอ็นดาวเม้นท์

  • ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการนำชุดพระวิหารไปด้วยเพราะทางพระวิหารจะจัดเตรียมชุดให้ผู้สอนศาสนาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

  • มีมารยาทที่ดีในการใช้โทรศัพท์ ท่านอาจนำโทรศัพท์เข้าไปในพระวิหารเพื่อพิมพ์บัตรศาสนพิธี แต่ท่านไม่ควรใช้กล้องถ่ายรูป พูดคุยทางโทรศัพท์ หรือส่งข้อความขณะอยู่ในพระวิหาร

  • อย่านำกล้องถ่ายรูปหรือสื่อการอ่านไปใช้ในพระวิหาร รวมทั้งปิตุพร

  • อย่าจับกลุ่มผู้สอนศาสนาหรือคุกเข่าสวดอ้อนวอนในห้องซีเลสเชียล

จำไว้ว่าต้องสวมการ์เม้นท์พระวิหารตามที่แนะนำเสมอ หากท่านมีคำถามเกี่ยวกับการสวมการ์เม้นท์หรือการเข้าพระวิหาร ให้ถามผู้นำคณะเผยแผ่ของท่าน

7.5

เทคโนโลยี

ทำตามมาตรฐานเทคโนโลยีที่ระบุไว้ในหมวดย่อยต่อไปนี้

7.5.1

การทำตามมาตรฐานทั่วไปด้านเทคโนโลยี

จดจ่ออยู่กับคน ไม่ใช่เทคโนโลยี เมื่อพบกันต่อหน้า จงให้ความสนใจบุคคลนั้นอย่างเต็มที่ การเช็คอีเมล ตอบข้อความ หรือดูโซเชียลมีเดียเมื่อท่านอยู่กับผู้อื่นถือเป็นการรบกวนและขาดความเคารพ

ท่านอาจใช้:

  • เครือข่ายไร้สายที่อาคารประชุมและสถานอำนวยความสะดวกอื่นของศาสนจักร

  • คอมพิวเตอร์สาธารณะ เช่น ในห้องสมุดและร้านอินเทอร์เน็ต

  • คอมพิวเตอร์ส่วนตัวของบุคคลสำหรับสอนหากบุคคลนั้นอนุญาต

  • อาจใช้หูฟังสำหรับกิจกรรมที่อนุมัติให้ผู้สอนศาสนาทำ เช่น สื่อสารกับครอบครัวท่านหรือเรียนหลักสูตรผู้สอนศาสนา

อย่าบริหารเทคโนโลยี เว็บไซต์ บล็อก หรือบัญชีโซเชียลมีเดียของวอร์ดหรือสเตคในท้องที่

ดูวีดิทัศน์เรื่องนี้เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์มือถือในงานเผยแผ่ศาสนา

7.5.2

การใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย

ท่านควรเรียนหลักสูตรออนไลน์ มาตรการป้องกันการใช้เทคโนโลยี ให้ครบขณะท่านอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรมผู้สอนศาสนา มาตรฐานต่อไปนี้จะช่วยให้ท่านใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัยตามจุดประสงค์ของผู้สอนศาสนาเช่นกัน:

  • ใช้เทคโนโลยีอย่างมีจุดมุ่งหมาย วางแผนกิจกรรมที่ช่วยท่านเชื้อเชิญให้ผู้อื่นมาหาพระผู้ช่วยให้รอด

  • อย่าใช้เทคโนโลยีคลายเครียดหรือแก้เบื่อ

  • ฟังและทำตามการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ความสัมพันธ์เหนียวแน่นกับพระวิญญาณของพระเจ้าเป็นวิธีป้องกันไม่ให้ท่านใช้เทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสมได้ดีที่สุด

  • อยู่ในตำแหน่งที่ท่านกับคู่มองเห็นหน้าจอของกันและกันได้เสมอ อย่าใช้อุปกรณ์มือถือเมื่อท่านอยู่ตามลำพัง เช่น ขณะอยู่ในห้องน้ำ

  • ทำงานกับคู่เมื่อหาหรือสอนทางออนไลน์ ทบทวนความเห็นและข้อความของกันและกันก่อนท่านโพสต์หรือส่งข้อความเพื่อให้ท่านทั้งคู่สามารถแบ่งปันความคิดและรับผิดชอบผลของการสื่อสารร่วมกันหมายเหตุ: นี่ไม่นำมาใช้กับการสื่อสารกับครอบครัวท่าน (ดู 3.9.1) สำนักงานคณะเผยแผ่ หรือประธานคณะเผยแผ่

  • อ่าน มาตรการป้องกันการใช้เทคโนโลยี เป็นประจำในการศึกษาส่วนตัวและกับคู่

7.5.3

การหลีกเลี่ยงสื่อลามก

สื่อลามกมาได้หลายรูปแบบ การวางแผนล่วงหน้าและการเลือกที่ชอบธรรมสามารถช่วยท่านหลีกเลี่ยงสื่อลามก (ดู มาตรการป้องกันการใช้เทคโนโลยี) เมื่อท่านบังเอิญเห็นสื่อลามก ให้หันหน้าไปทางอื่น ปิดมือถือ หรือออกจากสถานการณ์นั้น ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการที่จะช่วยท่านหลีกเลี่ยงสื่อลามก:

  • หลีกเลี่ยงเว็บไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสถานที่ซึ่งท่านอาจจะได้ยิน ได้อ่าน หรือเห็นเนื้อหาอนาจารหรือสื่อลามก

  • ฝึกรับรู้เวลาที่ท่านถูกล่อลวงมากที่สุดให้ใช้เทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสม เช่น เวลาที่ท่านเหนื่อยหรือเบื่อ

  • มีแผนสำหรับสิ่งที่ท่านจะทำแทน ผู้นำคณะเผยแผ่ของท่านสามารถช่วยได้ ท่านสามารถหาข้อมูลที่ ChurchofJesusChrist.org/addressing-pornography ได้เช่นกัน

คนที่พยายามหลีกเลี่ยงหรือเอาชนะสื่อลามกสามารถพบความช่วยเหลือและการเยียวยาผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ หากท่านกำลังประสบปัญหา ให้พูดคุยกับประธานคณะเผยแผ่ของท่านผู้จะให้การสนับสนุน คำแนะนำ และความช่วยเหลือด้วยความรัก

7.5.4

การสอนด้วยเทคโนโลยี

หากที่ใดอนุมัติ ให้ใช้เทคโนโลยีออนไลน์กับสมาชิกและคนที่ท่านสอนเพื่อติดต่อกับพวกเขา ช่วยเหลือพวกเขา และแบ่งปันข่าวสารพระกิตติคุณให้กับพวกเขา

  • ช่วยให้คนอื่นๆ เรียนรู้วิธีแบ่งปันพระกิตติคุณอย่างมีประสิทธิภาพและสนับสนุนสมาชิกศาสนจักรขณะพวกเขาใช้เทคโนโลยีในการทำงานเผยแผ่ศาสนา

  • ทำงานออนไลน์กับคนที่ท่านกำลังสอนผู้อยู่นอกเขตมอบหมายของท่าน และช่วยพวกเขาตลอดการเปลี่ยนใจเลื่อมใส

  • เมื่อท่านสอนคนที่อยู่นอกเขต ให้ทำงานใกล้ชิดกับผู้สอนศาสนาที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเขตที่บุคคลนั้นอยู่ ช่วยกันทำให้บุคคลนั้นเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้น

  • ใช้ภาพถ่าย วีดิทัศน์ และสื่ออื่นจาก Media Library ของศาสนจักรและเว็บไซต์ทางการอื่นๆ ของศาสนจักรในงานสอนของท่านเมื่อเห็นควร ในการสื่อสารของท่าน อย่าใช้สื่อที่ศาสนจักรไม่อนุมัติ (ตัวอย่างเช่น วีดิทัศน์ที่สมาชิกหรือหน่วยท้องที่จัดทำขึ้นมา)

  • เมื่อโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ให้แบ่งปันข่าวสารเกี่ยวกับพระกิตติคุณและประสบการณ์เผยแผ่ศาสนาของท่านแทนที่จะเน้นเรื่องการเดินทางของท่าน

ปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้เพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนตัวของผู้คน:

  • รู้ว่าท่านไม่พึงเปิดเผยชื่อนามสกุล ภาพถ่าย (ดู 3.7) ข้อมูลติดต่อ และสถานการณ์ส่วนตัวของคนที่ท่านสอน การแบ่งปันหรือโพสต์ข้อมูลนี้อาจละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จงระวังเป็นพิเศษในสิ่งที่ท่านเขียนถึงสมาชิกครอบครัวเนื่องจากพวกเขาอาจโพสต์จดหมายและข้อความอีเมลของท่านทางออนไลน์

  • ขออนุญาตบุคคลที่ปรากฎในภาพหรือวีดิทัศน์ก่อนแบ่งปันกับผู้อื่นหรือโพสต์ทางออนไลน์ ขออนุญาตผู้ปกครองก่อนแบ่งปันภาพถ่ายหรือวีดิทัศน์ของเด็ก (ดู 3.7)

ดูวีดิทัศน์เรื่องนี้เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น

7.5.5

การใช้อีเมล

ระหว่างงานเผยแผ่ ท่านได้รับบัญชีอีเมลรายบุคคลให้ใช้แทนบัญชีอีเมลส่วนตัวอื่นๆ ทั้งหมด ให้ใช้บัญชีอีเมลนี้สำหรับการสื่อสารทั้งหมดยกเว้นจดหมายประจำสัปดาห์ของท่านถึงประธานคณะเผยแผ่ ซึ่งท่านจะส่งผ่าน Missionary Portal

7.5.6

การใช้โซเชียลมีเดีย

ท่านสามารถใช้โซเชียลมีเดียแบ่งปันพระกิตติคุณ พึงแน่ใจว่าท่านใช้เฉพาะไซต์โซเชียลมีเดียที่อนุมัติสำหรับคณะเผยแผ่ของท่านเท่านั้น เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียต่างกันไปในแต่ละประเทศ

ทำตามมาตรฐานของคณะเผยแผ่นั้นๆ เกี่ยวกับโซเชียลมีเดียรวมทั้งมาตรฐานต่อไปนี้:

  • พึงแน่ใจว่าบัญชีโซเชียลมีเดียของท่านสะท้อนจุดประสงค์และการเรียกของท่านในฐานะผู้สอนศาสนา

  • พึงแน่ใจว่ารูปโปรไฟล์ของท่านและบุคคลตลอดจนกลุ่มที่ท่านติดตามแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้สอนศาสนาคนหนึ่งของพระเจ้า

  • อย่าสร้างบัญชีที่สองบนไซต์โซเชียลมีเดียเพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงบัญชีที่มีอยู่ นี่เป็นการละเมิดข้อตกลงการใช้สำหรับไซต์โซเชียลมีเดียหลายๆ ไซต์

  • อย่าใช้คำนำหน้าว่า “เอ็ลเดอร์” หรือ “ซิสเตอร์” ในชื่อบัญชีของท่าน แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียบางแพลตฟอร์มไม่อนุญาตให้ใช้คำนำหน้าดังกล่าว

  • มุ่งเน้นการปฏิสัมพันธ์ตัวต่อตัวที่มีความหมาย แทนที่จะกด “ไลค์” หรือแบ่งปันข้อความของท่านทางออนไลน์

  • อย่าบอกเป็นนัยว่าโพสต์ของท่านเป็นการสื่อสารทางการของศาสนจักร

  • คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของท่านเอง จงระวังเมื่อแบ่งปันกำหนดการและตำแหน่งที่อยู่ของท่านทางออนไลน์ จงระวังคนที่ท่านยอมรับเข้ามาในเครือข่ายสังคมของท่าน บางคนจะหาประโยชน์จากผู้สอนศาสนา

  • คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น หากท่านต้องการโพสต์บางอย่างเกี่ยวกับคนที่ท่านทำงานด้วย ท่านต้องขออนุญาตเขา (ไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร) ก่อนโพสต์สิ่งใดก็ตามที่กล่าวถึงชื่อหรือมีรูปภาพของเขา (ดู 3.7) เพราะกฎหมายความเป็นส่วนตัวในท้องที่ ในบางคณะเผยแผ่ไม่อนุญาตให้ผู้สอนศาสนาแบ่งปันภาพถ่ายของคนที่กำลังสอนต่อสาธารณชน

ดูวีดิทัศน์เรื่องนี้เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น

7.6

สถานการณ์ยากๆ

ทำตามแนวทางด้านล่างเพื่อรับมือกับสถานการณ์ยากๆ

7.6.1

การรับมือกับสถานการณ์เชิงลบ

เฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอด ศาสดาพยากรณ์ และผู้สอนศาสนาหลายคนก่อนท่าน ท่านจะประสบการปฏิเสธและอาจประสบความไม่เคารพแบบอื่นในฐานะผู้สอนศาสนา แนวทางต่อไปนี้จะช่วยท่านจัดการกับการปฏิเสธ:

  • อย่าเพิกเฉยต่ออารมณ์ของท่าน

    • ตระหนักว่าไม่เป็นไรถ้าท่านแสดงความคับข้องใจและความท้อใจกับคู่ หัวหน้าผู้สอนศาสนาหนุ่มสาว ผู้นำคณะเผยแผ่ และสมาชิกครอบครัวที่สนิทกัน

    • เข้าใจว่าบางครั้งการพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์เชิงลบจะช่วยให้ตวามรู้สึกนั้นผ่านไป

    • อย่าหมกมุ่นกับสถานการณ์เชิงลบหรือปล่อยให้สถานการณ์นั้นเปลี่ยนเจตคติของท่านเป็นเวลานาน

  • เข้าใจบริบทของการปฏิเสธให้ถูกต้อง

    • รู้ว่าสถานการณ์เชิงลบไม่ได้นิยามว่าท่านเป็นใคร ท่านได้รับเรียกให้ทำอะไร หรือท่านสามารถทำได้ดีเพียงใด

    • พยายามอย่าพูดประโยคเหมารวมเช่น “ไม่มีใครฟัง”

    • เข้าใจว่าสิทธิ์เสรีอนุญาตให้บุคคลยอมรับหรือปฏิเสธข่าวสารของท่านได้

    • ตระหนักว่าชีวิตและสภาวการณ์ของผู้คนเปลี่ยนแปลง การปฏิเสธไม่ได้หมายความเสมอไปว่าบุคคลนั้นจะไม่มีวันสนใจพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู

  • ปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่นด้วยความเห็นอกเห็นใจ

    • แสวงหาการปลอบโยนในการสวดอ้อนวอน จำไว้ว่าพระเจ้าทรงรู้จักท่าน สถานการณ์ของท่าน และความต้องการของท่านเสมอ

    • อย่าวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง สถานการณ์ หรือคนที่เกี่ยวข้อง

    • พยายามสุดความสามารถที่จะคิดบวก

  • เรียนรู้จากประสบการณ์ พิจารณาว่าคราวหน้าท่านจะทำอะไรต่างจากเดิมได้บ้าง

7.6.2

การรับมือกับคนที่ชอบปะทะ

ท่านอาจเผชิญหน้ากับคนที่คิดลบหรือก้าวร้าว หากมีคนหยาบคาย จงสุภาพและออกจากสถานการณ์นั้น หากท่านรู้สึกว่าจะมีอันตราย ให้ออกมาทันที ความปลอดภัยของท่านกับคู่ (ดู 4.5) เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของท่าน

คนที่ชอบปะทะและปฏิสัมพันธ์เชิงลบทำให้เครียด จงดำเนินขั้นตอนที่ท่านต้องใช้รับมือกับความเครียด (ดู 4.3) และดูแลตนเองทางอารมณ์และทางวิญญาณ

รู้ว่าการกระทำทารุณกรรมทางวาจา อารมณ์ หรือร่างกายรูปแบบใดก็ตามโดยใครก็ตาม รวมทั้งคู่ ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ทั้งนี้รวมถึงคำพูด กิริยาท่าทาง หรือการกระทำที่ทำให้อีกฝ่ายตกใจกลัวหรือกระทำทารุณกรรมอีกฝ่าย

ติดต่อประธานคณะเผยแผ่ ภรรยาของประธาน หรือผู้นำอีกคนที่ไว้ใจได้ทันทีหากท่านประสบ พบเห็น หรือได้ยินเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศหรือทางร่างกาย การทำร้าย หรือการข่มขู่ (ดู 7.8.2–7.8.4)

7.7

ความกังวลด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต

ทำตามแนวทางสุขภาพที่ระบุไว้ในหมวดย่อยต่อไปนี้

7.7.1

การติดต่อสำนักงานคณะเผยแผ่เมื่อมีความกังวลด้านการแพทย์

อย่าเชื่อถือการวินิจฉัยตนเองหรือความคิดเห็นของผู้อื่น ถึงแม้คำแนะนำด้านการแพทย์จากคู่ของท่าน สมาชิกศาสนจักรคนอื่นๆ ครอบครัว หรือเพื่อนจะเป็นประโยชน์ แต่จงติดต่อผู้ประสานงานการแพทย์ของคณะเผยแผ่เมื่อท่านมีคำถามหรือความกังวล โดยเฉพาะเกี่ยวกับการบาดเจ็บร้ายแรงหรือปัญหาสุขภาพ ประธานคณะเผยแผ่ของท่านจะสื่อสารกับประธานสเตคและครอบครัวของท่านเกี่ยวกับการบาดเจ็บร้ายแรงและความกังวลด้านสุขภาพ

ติดต่อผู้ประสานงานการแพทย์ของคณะเผยแผ่หากท่านประสบปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้:

  • ความเจ็บป่วยนอกเหนือจากโรคหวัดธรรมดาและอาการระยะสั้น

  • การบาดเจ็บร้ายแรง

  • ชีพจรเต้นเร็ว (เกิน 100 ครั้งต่อนาที) เมื่อท่านไม่ได้ออกกำลังกาย

  • มีไข้สูงเกิน 101 องศาฟาเรนไฮต์ (38.3 องศาเซลเซียส) ไข้สูง 101 องศาฟาเรนไฮต์ (38.3 องศาเซลเซียส) นานเกินสองวัน หรือไข้ที่กินยาแล้วไม่หาย

  • น้ำหนักลดหรือเพิ่มเร็วหรือมากผิดปกติ

  • กระหายน้ำหรือปัสสาวะมากผิดปกติ

  • อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ไอ หรือมีผื่นเรื้อรัง

  • เท้า ขา ท้อง หรือหน้าบวม

  • เสียเลือดหรืออุจจาระดำ

  • ท้องผูกหรือท้องเดินนานเกินสองวัน

  • ปวดฟัน

  • เล็บขบ

7.7.2

การดูแลสุขภาพกาย

ท่านจะมีประสบการณ์งานเผยแผ่ที่เพลิดเพลินมากขึ้นและสามารถรับใช้พระเจ้าได้ดีขึ้นเมื่อท่านดูแลสุขภาพกายของตน จงขยันทำงานเผยแผ่ศาสนา อย่าผลักดันตนเองมากเกินควร

เพื่อช่วยท่านรักษาสุขภาพกาย ท่านต้อง:

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ

  • นอนหลับให้เพียงพอ

  • กินอาหารที่มีประโยชน์อุดมไปด้วยผัก ผลไม้ และธัญพืช

  • ดื่มน้ำมากๆ

  • ล้างมือบ่อยๆ

  • ทาครีมกันแดดและยาทาไล่แมลงเมื่อเห็นควร

  • หาวิธีผ่อนคลาย

  • เพลิดเพลินกับนันทนาการที่ดีงามในวันเตรียม

7.7.3

การดูแลสุขภาพจิต

เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเศร้าเสียใจ วิตกกังวล คิดถึงบ้าน และท้อแท้บ้างบางครั้งขณะรับใช้งานเผยแผ่ แต่ท่านจำเป็นต้องแก้ไขอารมณ์และพฤติกรรมที่ทำให้ท่านไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาการเหล่านี้ได้แก่:

  • อารมณ์แปรปรวน

  • กังวลหรือรู้สึกผิดเกินเหตุ

  • อารมณ์ซึมเศร้า

  • รูปแบบการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

  • จัดการกับความรู้สึกทางเพศได้ยาก

จงเข้าใจว่าการรับรู้และรักษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงความกังวลด้านอารมณ์และจิตใจไม่ใช่เรื่องน่าอาย หากท่านรู้สึกว่าท่านหรือคู่ต้องได้รับความช่วยเหลือ ให้พูดคุยกับประธานคณะเผยแผ่ ภรรยาของประธาน หรือผู้ประสานงานการแพทย์ พวกเขาเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพจิต ท่านสามารถหาคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ใน การปรับตัวให้เข้ากับชีวิตผู้สอนศาสนา ได้เช่นกัน

7.7.4

การดูแลเมื่อถูกแมลงสัตว์กัดต่อย

แมลงสัตว์กัดต่อยสามารถทำให้เกิดโรคร้ายแรงและบางครั้งถึงตายได้ หากแมลงกัดจนบวมหรือเจ็บปวดผิดปกติ ให้โทรแจ้งสำนักงานคณะเผยแผ่ทันที

การป้องกัน

ท่านสามารถช่วยป้องกันไม่ให้แมลงดูดเลือด ยุง และแมลงอื่นกัดโดยทำตามแนวทางเหล่านี้:

  • หลีกเลี่ยงน้ำนิ่งและน้ำขังที่ยุงมักอาศัยอยู่

  • หลีกเลี่ยงภูมิประเทศแบบป่ารกทึบที่แมลงดูดเลือดมักอาศัยอยู่

  • สวมเสื้อผ้าคลุมแขนขาแม้ในสภาพอากาศอบอุ่น

  • ดูวีดิทัศน์การป้องกันโรคที่มียุงเป็นพาหะ>

  • ใช้ยาไล่แมลงทาผิวที่ไม่มีอะไรปกปิดและฉีดสารกำจัดแมลงบนเสื้อผ้า

การรักษา

หากท่านถูกแมลงดูดเลือดหรือยุงหรือแมลงหรือสัตว์ชนิดอื่นกัด ให้ทำตามแนวทางเหล่านี้:

  • ประคบบริเวณที่ถูกกัดเล็กน้อยด้วยน้ำแข็งหรือหาซื้อยามาทาเอง

  • พบแพทย์เพื่อเอาแมลงดูดเลือดที่ติดบนผิวหนังออกอย่างปลอดภัยและตรวจหาโรคไลม์

  • ล้างรอยหรือบาดแผลที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อยด้วยสบู่และน้ำ (ประมาณ 15 นาที) และโทรแจ้งสำนักงานคณะเผยแผ่ บอกชื่อเจ้าของสัตว์หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้เพื่อทางสำนักงานคณะเผยแผ่จะสามารถตัดความเป็นไปได้ของโรคพิษสุนัขบ้าหรือความเจ็บป่วยร้ายแรงอื่นๆ ออก

  • หากแมลงดูดเลือดหรือแมลงหรือสัตว์อื่นกัดต่อยจนบวม เจ็บปวดผิดปกติ หรือมีผื่นผิดปกติหรือผื่นกลมแดงให้โทรแจ้งสำนักงานคณะเผยแผ่ทันที

ดูวีดิทัศน์เรื่องนี้เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากแมลงสัตว์กัดต่อย

7.8

สถานการณ์อันตราย

ทำตามแนวทางความปลอดภัยที่ระบุไว้ในหมวดหมู่ต่อไปนี้

7.8.1

การเตรียมรับสถานการณ์อันตราย

แนวทางต่อไปนี้สามารถช่วยท่านเตรียมรับและตอบสนองสถานการณ์อันตราย:

  • สวดอ้อนวอนขอความคุ้มครองจากพระเจ้าทุกวัน

  • ฟังและทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณซึ่งสามารถเตือนท่านเรื่องอันตราย

  • ทำความคุ้นเคยกับแผนปฏิบัติการฉุกเฉินของคณะเผยแผ่ ทำตามขั้นตอนสำหรับวิธีปฏิบัติตัวระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉิน

  • ใส่ข้อมูลติดต่อฉุกเฉินสำหรับภาคและประเทศของท่านไว้ในโทรศัพท์ของท่าน ชาร์จโทรศัพท์และพกติดตัวตลอดเวลา

  • หลีกเลี่ยงบริเวณที่คณะเผยแผ่ระบุว่าเป็นอันตราย

  • อย่าทำให้เข้าใจว่าท่านมีของมีค่า (ตัวอย่างเช่น ถือกระเป๋าใบใหญ่)

  • สังเกตสิ่งผิดปกติ เช่น มีคนจับตามองท่าน ถามคำถามส่วนตัว หรือเดินตามท่าน

  • พยายามใช้ภาษากายสื่อว่าท่านมั่นใจและไม่กลัว

  • มีรหัสคำหรือวลีที่ใช้ส่งสัญญาณบอกคู่ว่าท่านต้องการออกจากสถานการณ์นั้น ใช้คำหรือวลีดังกล่าวหากท่านพบตนเองอยู่ในสถานการณ์ซึ่งท่านรู้สึกไม่ปลอดภัย

ฝึกใช้แนวทางเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้คนอื่นๆ (รวมทั้งผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ) สนับสนุนให้ท่านเสี่ยงอันตรายเพื่อทำงานเผยแผ่ศาสนาของท่านให้สำเร็จ

7.8.2

การรับรู้สถานการณ์อันตราย

ติดต่อผู้นำคณะเผยแผ่หนึ่งคนหรือผู้นำอีกคนที่ท่านไว้ใจได้ทันทีหากท่านประสบ พบเห็น หรือได้ยินว่ามีความประพฤติผิดทางกายหรือทางเพศแบบใดก็ตาม นี่อาจรวมถึงการทำร้าย การข่มขู่ หรือการคุกคาม ถึงแม้กฎหมายในท้องที่นิยามอันตรายต่อไปนี้ต่างกันไป แต่ท่านต้องรายงานทุกอย่างที่ทำให้ท่านกังวล:

  • การทำร้าย เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทำร้ายร่างกายหรือทางเพศต่อคนบางคน ตัวอย่างได้แก่ การลวนลาม ถูกเนื้อต้องตัวอย่างไม่เหมาะสม หรือความรุนแรงทางกาย

  • การข่มขู่ทางกาย เกิดขึ้นเมื่อมีคนถูกทำให้กลัวว่าจะบาดเจ็บทางร่างกายหรือตาย ตัวอย่างได้แก่ การข่มขู่ด้วยวาจาหรือพฤติกรรมข่มขู่ทุกรูปแบบ

  • การคุกคามทางเพศ รวมถึงคำพูดหรือท่าทางหยาบโลน การขอให้ตอบสนองทางเพศ หรือการกระทำทางเพศที่ไม่พึงประสงค์ ตัวอย่างอาจได้แก่ การสะกดรอย (เดินตามด้วยเจตนาจะทำให้ตกใจกลัวหรือรำคาญ) หรือเผยของลับ

7.8.3

การตอบสนองต่อการทำร้าย การข่มขู่ หรือการคุกคาม

ทำดังต่อไปนี้หากท่านหรือคู่ถูกชิงทรัพย์:

  • ยอมให้ข้าวของของท่านทันที นี่อาจทำให้ขโมยจากไปโดยไม่ทำร้ายท่าน ชีวิตและสวัสดิภาพของท่านมีค่ามากกว่าทรัพย์สินของท่าน

  • พยายามอย่าอารมณ์เสียหรือตอบโต้ในทางลบ เพราะอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง

ทำดังต่อไปนี้หากท่านหรือคู่รู้สึกว่าถูกข่มขู่หรือคุกคามและ มากกว่าทรัพย์สินของท่าน อยู่ในอันตราย

  • เฉพาะท่านเท่านั้นสามารถตัดสินใจใช้วิธีที่ดีที่สุดในการตอบสนองต่อสถานการณ์ ท่านอาจจะเลือกวิ่ง ป้องกันตัว หรือยินยอม ตัวอย่างเช่น:

    • หากท่านวิ่ง ท่านอาจจะหลีกเลี่ยงการจู่โจมได้

    • หากท่านป้องกันตัว ท่านอาจจะสามารถปกป้องตัวท่านได้โดยกรีดร้อง ตี ข่วน กัด เตะ หรือสวดอ้อนวอน

    • หากท่านอยู่นิ่งหรือเลือกยินยอม ซึ่งสามารถเป็นการตอบสนองตามปกติ โปรดอย่าโทษตนเองในภายหลัง

  • ท่านอาจขอความช่วยเหลือหรือดึงความสนใจจากผู้อื่น ตัวอย่างเช่น:

    • ท่านอาจขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น โดยเฉพาะจากคนที่มีอำนาจช่วยได้ (เช่นคนขับรถโดยสาร) ตรงที่ซึ่งท่านอยู่

    • หากท่านอยู่ในที่สาธารณะ มีคนอยู่รายรอบ และไม่สามารถหนีรอดจากการทำร้ายทางกายหรือทางเพศได้ (ตัวอย่างเช่นเมื่อท่านโดยสารรถสาธารณะ) ให้ลองพูดเสียงแข็งเพื่อพยายามเตือนไม่ให้บุคคลนั้นทำร้ายหรือคุกคามมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ท่านสามารถใช้ภาษากายที่ขึงขัง มองหน้าผู้กระทำผิด และพูดเสียงดัง ท่านอาจจะพูดกับบุคคลนั้น ระบุพฤติกรรมล่วงเกิน และพูดสิ่งที่ท่านต้องการให้เขาทำ เช่น “เฮ้ คนเสื้อเหลือง อย่าถูกเนื้อต้องตัวฉัน เขยิบออกไปห่างๆ”

    • หากไม่มีใครอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ท่านอาจกรีดร้อง ตะโกน หรือพยายามดึงดูดความสนใจ อาจมีบางคนสังเกตเห็นท่านและสามารถช่วยเหลือได้

7.8.4

การรายงานการทำร้าย การข่มขู่ หรือการคุกคาม

หากมีคนทำร้าย ข่มขู่ หรือคุกคามท่าน (ดู 7.8.2) ให้ติดต่อผู้นำคณะเผยแผ่คนหนึ่งของท่าน คนที่สำนักงานคณะเผยแผ่ หรือผู้นำที่ไว้ใจได้อีกคนทันที ผู้นำคณะเผยแผ่ของท่านมีแหล่งช่วยสนับสนุนท่านเรื่องการรักษาพยาบาล การให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ การย้ายที่ หรือความช่วยเหลืออื่นที่จำเป็น พึงทราบว่าท่านอาจอยู่ในภาวะตกใจสุดขีดหลังเกิดเหตุการณ์นั้นและท่านอาจประสบความกระทบกระเทือนจิตใจด้วย ทันทีที่ท่านรู้สึกปลอดภัยให้พยายามบันทึกเหตุการณ์นั้นเท่าที่ท่านจำได้

เข้าใจว่าหากท่านถูกทำร้าย ไม่ว่าท่านจะทำอะไรก็ตาม การทำร้ายไม่ใช่ความผิดของท่าน ท่านมีทางเลือกเสมอ ให้ปรึกษาคนที่ท่านไว้ใจและอยู่ด้วยแล้วสบายใจ เช่น ประธานคณะเผยแผ่ ภรรยาของเขา เจ้าหน้าที่บ้านเมือง หรือคนที่บ้าน ท่านต้องตัดสินใจว่าจะให้ตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่

เป็นธรรมดาที่ท่านจะถามตัวท่านเองว่าท่านหรือคู่จะทำอะไรต่างจากนี้ได้บ้าง จงวางใจว่าท่านทำดีที่สุดแล้วในช่วงวิกฤติ คนเราประมวลประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจต่างกัน พระเจ้าจะทรงช่วยเหลือขณะที่ท่านเยียวยา

ดูวีดิทัศน์เรื่องนี้เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเตรียมตัว การรับรู้ และการจัดการกับสถานการณ์อันตรายและการข่มขู่

7.9

ความปลอดภัยเรื่องที่พักอาศัย

ทำตามแนวทางด้านล่างเพื่อรักษาที่พักอาศัยของท่านให้เป็นส่วนตัว ปลอดภัย และสะอาดอยู่เสมอ

7.9.1

ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย

ปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้เพื่อให้ที่พักอาศัยของท่านเป็นส่วนตัวและปลอดภัย:

  • ติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องตรวจจับก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์และควัน ทำการตรวจเช็คและเปลี่ยนแบตเตอรี่ตามเวลาที่ผู้ประสานงานที่พักอาศัยของคณะเผยแผ่กำหนด อย่าปิดการใช้งานอุปกรณ์ช่วยชีวิตเหล่านี้

  • อย่าจุดเทียนทุกชนิด

  • ล็อกประตูที่ใช้เข้าออกบ้านและหน้าต่าง หากจำเป็น ผู้นำคณะเผยแผ่ของท่านอาจเสนอทางเลือกที่ทำให้อากาศไหลเวียนจากภายนอกได้

  • ปิดม่านหรือมู่ลี่หลังค่ำเสมอ

  • อย่าบอกที่อยู่ของท่านกับสาธารณชนหรือคนที่ท่านกำลังสอน

  • อย่าเปิดประตูหากท่านไม่รู้จักคนข้างนอกหรือหากท่านรู้สึกไม่สบายใจกับบุคคลนั้น

  • อย่าสอนคนในที่พักของท่านหรือชวนคนนอกเข้ามาเว้นแต่พวกเขาเป็นผู้สอนศาสนาหรือผู้นำศาสนจักรในท้องที่ซึ่งผู้นำคณะเผยแผ่ของท่านอนุมัติให้เขามาเยี่ยม

  • อย่าอยู่ในบ้านที่คนโสดเพศตรงข้ามกับท่านอยู่หรือบ้านที่คู่สมรสเพศเดียวกันกับท่านไม่ค่อยอยู่

  • รายงานสำนักงานคณะเผยแผ่ทันทีหากมีความกังวลด้านความปลอดภัย หรือมีคนจับตามองที่พักของท่านหรือทำให้ท่านรู้สึกไม่ปลอดภัย

  • อนุญาตให้เฉพาะผู้สอนศาสนาเพศเดียวกับท่านพักค้างคืนในที่พักอาศัยของท่านด้วยกรณีได้รับอนุมัติให้แลกคู่

  • ใช้เงินเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาที่พักอาศัยของท่านให้ปลอดภัย ตัวอย่างเช่น เปลี่ยนหลอดไฟที่ไม่ติดแล้วเมื่อจำเป็น

7.9.2

ความสะอาดและการซ่อมบำรุง

รักษาที่พักอาศัยของท่านให้สะอาดเป็นระเบียบอยู่เสมอ:

  • ทำความสะอาดในวันเตรียม (ดู 2.5.1) และทุกวันเมื่อจำเป็น

  • ดำเนินการป้องกันแมลง (ดู 7.7.4) ภายในที่พักอาศัยของท่าน

  • รู้วิธีใช้เครื่องไฟฟ้าอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะเตาทำอาหารและเครื่องทำความร้อน

  • อย่าเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด

ที่พักอาศัยของท่านจะได้รับการตรวจตราเป็นประจำเพื่อให้ครบครัน ปลอดภัย และได้รับการซ่อมบำรุงอย่างดี

ดูวีดิทัศน์สองเรื่องนี้เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยเรื่องที่พักอาศัย

7.10

ความปลอดภัยเรื่องการเดินทาง

ทำตามแนวทางความปลอดภัยที่ระบุไว้ในหมวดหมู่ต่อไปนี้

7.10.1

การเดิน

เมื่อเดิน:

  • หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้เดินไปด้านที่รถสวนทางมา

  • อยู่ในบริเวณที่มีแสงสว่างเมื่อมืดค่ำ

  • ใช้เส้นทางและเวลาที่หลากหลายเมื่อท่านเดินทางในบริเวณเขตของท่าน ทำตามการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณเพื่อเปลี่ยนเส้นทางหรือกิจวัตรของท่าน

ดูวีดิทัศน์เรื่องนี้เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยเมื่อเดิน

7.10.2

การขี่จักรยาน

เมื่อขี่จักรยาน:

  • ทำตามกฎและแนวทางความปลอดภัยเรื่องจักรยาน รวมถึงการสวมหมวกนิรภัยที่ผ่านการรับรองความปลอดภัย ใช้เสื้อสะท้อนแสง และใช้สัญญาณมือเมื่อเหมาะสม

  • อย่าคิดไปเองว่าท่านมีสิทธิ์ไปก่อน

  • พยายามเลี่ยงการใช้จักรยานเมื่อสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย การจราจรหนาแน่น หรือหลังมืดค่ำ หลีกเลี่ยงการขี่จักรยานคู่กันหรือชิดกันเกินไป

  • อยู่ห่างจากคู่ในระยะที่ปลอดภัยแต่มองเห็นกัน

  • รักษาจักรยานให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี รวมทั้งไฟหน้า ไฟท้าย ไฟสะท้อนด้านข้างและด้านหลัง

  • ล็อกหรือจัดเก็บจักรยานให้แน่นหนาเมื่อไม่ใช้งาน

ดูวีดิทัศน์เรื่องนี้เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยเรื่องจักรยาน

7.10.3

การใช้รถ

หากท่านได้รับมอบหมายให้ขับรถระหว่างงานเผยแผ่ของท่าน ให้ใช้รถของคณะเผยแผ่เท่านั้น เพื่อขับรถของคณะเผยแผ่ ท่านต้องมีใบขับขี่ในประเทศที่ท่านรับใช้ แสดงให้เห็นว่าท่านเข้าใจมาตรฐานยานพาหนะของคณะเผยแผ่ และได้รับอนุมัติจากผู้นำคณะเผยแผ่ อีกทั้งทำตามแนวทางเหล่านี้ด้วย:

  • เข้าใจว่าทั้งท่านและคู่ต้องรับผิดชอบเรื่องความปลอดภัย ไม่ว่าใครขับก็ตาม

  • คาดเข็มขัดนิรภัย ขับอย่างระมัดระวัง ใช้ไฟหน้าทั้งกลางวันและกลางคืน ระแวดระวังอยู่เสมอไม่ว่าท่านเป็นผู้โดยสารหรือคนขับ

  • หากท่านเป็นคนขับ อย่าวอกแวก และอย่าใช้อุปกรณ์มือถือหรือระบบเสียงในรถ

  • หากท่านเป็นผู้โดยสาร ให้ช่วยคนขับโดยคอยระแวดระวัง

  • หากท่านเป็นผู้โดยสาร ให้ยืนที่ระยะปลอดภัยนอกรถเพื่อกำกับคนขับเมื่อเขากำลังถอยรถ

  • เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัยและความรับผิดชอบ ท่านจะไม่ให้ใครโดยสารรถยกเว้นผู้สอนศาสนาเต็มเวลาคนอื่นๆ ที่เป็นเพศเดียวกันกับท่าน

  • จำกัดการขับเท่ากับไมล์ที่ท่านได้รับอนุญาต

  • อย่ายุ่งกับมาตรวัดระยะทางหรืออุปกรณ์ความปลอดภัยใดๆ ที่ติดตั้งในรถ

  • รักษารถให้สะอาดและอยู่ในสภาพดีเสมอ

  • หากท่านอยู่ในอุบัติเหตุ ให้ดูซอง สิ่งที่ต้องทำหากท่านมีอุบัติเหตุ ซึ่งควรจะอยู่ในช่องเก็บของของรถ ติดต่อผู้ประสานงานยานพาหนะของคณะเผยแผ่ทันทีที่ปลอดภัยจะทำเช่นนั้น

ดูวีดิทัศน์เรื่องนี้เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยเรื่องยานพาหนะ

7.10.4

การใช้ขนส่งสาธารณะ

เมื่อใช้ขนส่งสาธารณะ:

  • ใช้ขนส่งสาธารณะเฉพาะที่คณะเผยแผ่ของท่านอนุมัติเท่านั้น

  • ทำความคุ้นเคยกับเส้นทางขนส่งสาธารณะและเขตที่ท่านรับใช้

  • นั่งใกล้คนขับเมื่อทำได้ วางกระเป๋าไว้ข้างหน้าท่านหากปลอดภัยจะทำเช่นนั้น

7.11

ศาสนพิธีและการให้พรฐานะปุโรหิต

ใช้แนวทางทั่วไปเหล่านี้สำหรับประกอบศาสนพิธีและการให้พรฐานะปุโรหิต ข้อมูลในหมวดนี้ย่อมาจากบทที่ 20 ของ คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร (2010)

หมายเหตุ: ตามที่อธิบายไว้ในหมวดต่อไปนี้ บางศาสนพิธีต้องได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตที่ถูกต้อง

7.11.1

การปฏิบัติเพื่อให้พรในฐานะปุโรหิต: แนวทางทั่วไปสำหรับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคควรพยายามมีค่าควรสำหรับและรับการนำทางจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เสมอ พวกเขาพึงประกอบศาสนพิธีและการให้พรแต่ละครั้งด้วยความสง่างาม โดยแน่ใจว่าได้ทำตามข้อกำหนดต่อไปนี้:

  1. ต้องประกอบศาสนพิธีและการให้พรในพระนามของพระเยซูคริสต์

  2. ต้องประกอบศาสนพิธีโดยสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิต

  3. ต้องประกอบศาสนพิธีตามระเบียบปฏิบัติที่จำเป็นทุกอย่าง เช่น ใช้คำที่กำหนดหรือใช้น้ำมันที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์แล้ว

  4. ต้องได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ถือกุญแจที่ถูกต้อง (ปกติคืออธิการ ประธานสเตค หรือประธานคณะเผยแผ่) หากจำเป็นตามคำแนะนำในหมวดนี้

คนที่ให้พรฐานะปุโรหิตกล่าวคำให้พร (“ข้าพเจ้า [หรือพวกข้าพเจ้า] ให้พรท่านว่า …”) แทนที่จะกล่าวคำสวดอ้อนวอน (“พระบิดาบนสวรรค์ โปรดประทานพรบุคคลนี้ที่จะ …”)

เมื่อพี่น้องชายหลายคนมีส่วนร่วมในศาสนพิธีหรือการให้พร แต่ละคนวางมือขวาอย่างแผ่วเบาบนศีรษะของผู้รับ (หรือใต้ตัวทารกที่รับพร) และวางมือซ้ายบนไหล่ของพี่น้องชายทางซ้ายมือ

เฉพาะพี่น้องชายผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่จำเป็นและมีค่าควรเท่านั้นจึงจะประกอบศาสนพิธีหรือการให้พร อธิการและประธานสเตคมีดุลยพินิจตามพระวิญญาณทรงนำที่จะเชิญพี่น้องชายฐานะปุโรหิตผู้ไม่มีค่าควรเข้าพระวิหารอย่างเต็มที่ให้ประกอบพิธีหรือมีส่วนร่วมในศาสนพิธีและการให้พรบางอย่าง (ดู คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร, 20.1.2)

ไม่สนับสนุนให้เชิญครอบครัว เพื่อน และผู้นำจำนวนมากมาช่วยในศาสนพิธีหรือการให้พรเพราะอาจดูแปลกสำหรับบางคนและอาจทำให้เคอะเขินในการประกอบศาสนพิธี

7.11.2

การให้บัพติศมา

ประธานคณะเผยแผ่ถือกุญแจสำหรับการให้บัพติศมาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ควบคุม ปุโรหิตหรือผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคที่มีค่าควรจะประกอบศาสนพิธีบัพติศมา เพื่อให้บัพติศมา เขา:

  1. ยืนในน้ำกับผู้รับบัพติศมา

  2. ใช้มือซ้ายจับข้อมือขวาของผู้รับ (เพื่อความสะดวกและความปลอดภัย) ผู้รับบัพติศมาใช้มือซ้ายจับข้อมือซ้ายของผู้ดำรงฐานะปุโรหิต

  3. ยกมือขวาทำแขนตั้งฉาก

  4. เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับและกล่าว “โดยได้รับมอบหมายจากพระเยซูคริสต์, ข้าพเจ้าให้บัพติศมาท่านในพระนามของพระบิดา, และของพระบุตร, และของพระวิญญาณบริสุทธิ์. เอเมน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:73)

  5. ให้ผู้รับใช้มือขวาบีบจมูกของตน (เพื่อความสะดวก) ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตใช้มือขวารองหลังของผู้รับแล้วทำให้ผู้รับและเสื้อผ้าจมลงไปในน้ำจนมิด

  6. ช่วยผู้รับขึ้นมาจากน้ำ

ตามที่อธิบายไว้ใน คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร, 20.3.7 พยานสองคนต้องแน่ใจว่าการประกอบพิธีบัพติศมาแต่ละครั้งถูกต้อง ต้องทำบัพติศมาซ้ำหากกล่าวคำไม่ตรงกับที่ให้ไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:73 หรือหากร่างกายหรือเสื้อผ้าส่วนใดของผู้รับไม่ได้จมลงไปในน้ำจนมิด

7.11.3

การยืนยัน

ประธานคณะเผยแผ่ถือกุญแจสำหรับการยืนยันผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส แต่อธิการควบคุมดูแลการประกอบการยืนยันทั้งหมด อธิการพึงแน่ใจว่าผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสได้รับการยืนยันในการประชุมศีลระลึกของวอร์ดที่พวกเขาอยู่ ถ้าจะให้ดีคือในวันอาทิตย์ถัดจากบัพติศมา ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสไม่ได้รับการยืนยันที่พิธีบัพติศมา

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นอาจมีส่วนร่วมในการยืนยัน พวกเขาวางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ จากนั้นบุคคลผู้ประกอบศาสนพิธี:

  1. เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับ

  2. กล่าวว่าศาสนพิธีนี้ประกอบโดยสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

  3. ยืนยันผู้รับเป็นสมาชิกของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

  4. ใช้คำว่า “จงรับพระวิญญาณบริสุทธิ์” (ไม่ใช่ “จงรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์”)

  5. ให้พรตามที่พระวิญญาณทรงนำ

  6. จบในพระนามของพระเยซูคริสต์

7.11.4

การทำให้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นต้องทำให้น้ำมันมะกอกศักดิ์สิทธิ์ก่อนใช้เจิมผู้ป่วยหรือผู้มีทุกข์ จะใช้น้ำมันอื่นไม่ได้ เพื่อทำให้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ผู้ดำรงฐานะปุโรหิต:

  1. ถือขวดน้ำมันมะกอกที่เปิดฝาไว้

  2. เอ่ยพระนามพระบิดาบนสวรรค์

  3. กล่าวว่าเขากระทำโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

  4. ทำให้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ (ไม่ใช่ขวดน้ำมัน) และกันไว้สำหรับเจิมและให้พรผู้ป่วยและผู้มีทุกข์

  5. จบในพระนามของพระเยซูคริสต์

7.11.5

การปฏิบัติและให้พรผู้ป่วยและผู้มีทุกข์

พระเยซูประทานสิทธิ‍อำนาจฐานะปุโรหิตแก่อัครสาวกเพื่อ “[รักษาความเจ็บป่วย] และขับ‍ผีออกได้” (มาระโก 3:15) ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคมีสิทธิอำนาจเดียวกัน จงใช้ของประทานนี้อย่างเหมาะสมและบ่อยครั้ง

เฉพาะผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคเท่านั้นจึงจะปฏิบัติเพื่อให้พรผู้ป่วยหรือผู้มีทุกข์ได้ โดยปกติผู้ดำรงฐานะปุโรหิตสองคนหรือมากกว่านั้นจะปฏิบัติเพื่อให้พรผู้ป่วย แต่คนเดียวก็ประกอบได้ทั้งการเจิมและการผนึกการให้พรหากจำเป็น

หากไม่มีน้ำมันที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ อาจให้พรด้วยสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตโดยไม่ต้องเจิมน้ำมัน

โดยปกติสามีหรือบิดาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคที่มีค่าควรจะปฏิบัติและให้พรสมาชิกที่เจ็บป่วยในครอบครัวของตน

พี่น้องชายควรปฏิบัติและให้พรผู้ป่วยตามคำขอของบุคคลที่เจ็บป่วยหรือคนที่สนิทกับผู้ป่วยมากทั้งนี้เพื่อพรจะเป็นไปตามศรัทธาของคนเหล่านั้น ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคที่ไปเยี่ยมโรงพยาบาลไม่ควรขอโอกาสในการปฏิบัติและให้พรผู้ป่วย

หากบุคคลขอพรมากกว่าหนึ่งครั้งสำหรับความเจ็บป่วยเดิม ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตไม่จำเป็นต้องเจิมน้ำมันหลังจากให้พรครั้งแรกไปแล้ว แต่เขาจะให้พรโดยการวางมือบนศีรษะและโดยสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตแทน

การปฏิบัติเพื่อให้พรผู้ป่วยมีสองส่วน: (1) การเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ และ (2) การผนึกการเจิม

การเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์

การเจิมน้ำมันทำโดยผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งคน เขา:

  1. หยดน้ำมันศักดิ์สิทธิ์บนศีรษะผู้รับหนึ่งหยด

  2. วางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับ

  3. กล่าวว่าเขากระทำโดยสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

  4. กล่าวว่าเขากำลังเจิมน้ำมันที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์แล้วสำหรับการเจิมและการให้พรผู้ป่วยและผู้มีทุกข์

  5. จบในพระนามของพระเยซูคริสต์

การผนึกการเจิม

โดยปกติผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคสองคนหรือมากกว่านั้นวางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับเพื่อผนึกการเจิม แต่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคนเดียวก็สามารถให้พรได้หากจำเป็น เมื่อผนึกการเจิม ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค:

  1. เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับ

  2. กล่าวว่าเขากำลังผนึกการเจิมโดยสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

  3. กล่าวคำให้พรตามที่พระวิญญาณทรงนำ

  4. จบในพระนามของพระเยซูคริสต์

7.11.6

การให้พรแห่งการปลอบโยนและคำแนะนำ

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดอาจให้พรแห่งการปลอบโยนและคำแนะนำแก่คนอื่นๆ ที่ขอพร สำหรับการให้พรดังกล่าว ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นวางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ จากนั้นผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ให้พร:

  1. เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับ

  2. กล่าวว่าการให้พรนี้ประกอบโดยสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

  3. กล่าวคำให้พรตามที่พระวิญญาณทรงนำ

  4. จบในพระนามของพระเยซูคริสต์

ผู้สอนศาสนาที่ให้พรแก่สมาชิกควรรายงานการให้พรต่ออธิการของสมาชิกโดยตรงหรือผ่านประธานโควรัมเอ็ลเดอร์หรือหัวหน้าเผยแผ่วอร์ดผู้จะบอกอธิการหลังจากนั้น