การเรียกในคณะเผยแผ่
การปรับตัวให้เข้ากับ ชีวิตผู้สอนศาสนา


การเตรียมตัวเป็นผู้สอนศาสนา

การปรับตัวให้เข้ากับ ชีวิตผู้สอนศาสนา

ภาพ
Elder missionaries

ขอแสดงความยินดี ที่พบว่าท่านมีค่าควรและพร้อมจะได้รับการเรียกให้รับใช้พระเจ้า ไม่มีเวลาใดจะน่าตื่นเต้นไปกว่าการเป็นผู้สอนศาสนา ฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “ไม่มีงานใดดึงดูดใจมากไปกว่า [การเป็นผู้สอนศาสนา] ทั้งไม่มีงานใดสร้างความพึงพอใจมากไปกว่างานนี้ …ผู้สอนศาสนาทุกคนมีบทบาทสำคัญในการช่วย ‘ทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์’ (โมเสส 1:39)” (สั่งสอนกิตติคุณของเรา [2004], v) บัดนี้นี่คือโอกาสของท่านที่จะใช้เวลา 18–24 เดือนข้างหน้านี้ในการรับใช้พระเจ้าเต็มเวลา

งานสอนศาสนาเรียกร้องให้ละทิ้งวิถีชีวิตที่คุ้นเคยไว้เบื้องหลังและได้มาซึ่งทักษะที่จะช่วยให้ท่านประสบความสำเร็จในโลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย การเปลี่ยนแปลงนี้สามารถสร้างความตื่นเต้นหรือก่อความกังวลได้ นับเป็นเรื่องปกติที่จะมีความรู้สึกทั้งสองอย่าง

การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเปรียบได้กับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับบางคนที่ท่านให้บัพติศมาในคณะเผยแผ่ของท่าน ทั้งสมาชิกใหม่และผู้สอนศาสนาใหม่เข้าใจว่าพวกเขาต้องละทิ้งความมั่นคงของวิถีชีวิตเดิมแต่ไม่แน่ใจว่าจะคาดหวังสิ่งใดหรือจะปฏิบัติตนอย่างไรในชีวิตใหม่ที่พวกเขาเลือกในฐานะสานุศิษย์ของพระคริสต์ เมื่อผู้คนเผชิญหน้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ นิสัยและพฤติกรรมหลายอย่างที่เคยช่วยให้พวกเขาดำเนินชีวิตได้อย่างดีอาจไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป

ผู้สอนศาสนาคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ผู้สนใจคนหนึ่งของข้าพเจ้ารู้สึกถึงพระวิญญาณและต้องการทำตามพระผู้ช่วยให้รอด แต่เธอกังวลเช่นกันว่าเธอจะประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับหรือไม่ เธอรู้สึกอึดอัดใจเล็กน้อยและไม่แน่ใจว่าจะคาดหวังสิ่งใด ข้าพเจ้าทราบว่าข้าพเจ้าเข้าใจความรู้สึกของเธอ การเป็นผู้สอนศาสนาทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกอย่างเดียวกัน ข้าพเจ้าทั้งตื่นเต้นและกังวล ในตอนแรกข้าพเจ้ารู้สึกว่าตนเองไม่คู่ควร พระวิญญาณทรงเตือนข้าพเจ้าถึงประสบการณ์นั้น และนั่นช่วยให้ข้าพเจ้าเข้าใจความรู้สึกของเธอและรู้ว่าจะช่วยเธออย่างไร”

เช่นเดียวกับที่สมาชิกใหม่ละทิ้งความเชื่อ มิตรสหาย และนิสัยดั้งเดิมไว้เบื้องหลัง เป็นเรื่องปกติสำหรับผู้สอนศาสนาใหม่ที่จะประสบกับความเครียดหรือความไม่สบายใจอยู่บ้างเมื่อพวกเขาละทิ้งครอบครัว มิตรสหาย และบางสิ่งที่พวกเขาเคยทำ การละทิ้งจากสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยและเข้าไปสู่ชีวิตผู้สอนศาสนา—ซึ่งอาหาร ตารางเวลา การแต่งกายและบางทีแม้แต่ภาษาอาจจะแตกต่าง—ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากลำบากในระยะหนึ่ง การปรับตัวต่อวิถีชีวิตใหม่คล้ายกับประสบการณ์ของสมาชิกใหม่ซึ่งอาจรู้สึกในตอนแรกว่าการจ่ายส่วนสิบ การดำเนินชีวิตตามพระคำแห่งปัญญาหรือการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์เป็นเรื่องยาก ถึงแม้เขาจะมีความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะทำสิ่งเหล่านี้ก็ตาม

อย่าปล่อยให้กระบวนการนี้ทำให้ท่านตกใจ จงอดทนขณะที่ท่านได้รับพรของการอุทิศชีวิตท่านถวายแด่พระผู้ช่วยให้รอดโดยสมบูรณ์มากขึ้น จงระลึกว่า พระวิญญาณจะสถิตกับท่านขณะที่ท่านทำการเปลี่ยนแปลงนี้และจะช่วยท่านปรับตัวสู่ความรับผิดชอบใหม่ของการเป็นผู้สอนศาสนา

การปรับตัวสู่ประสบการณ์ใหม่

เช่นเดียวกับคนจำนวนมากที่เข้าสู่สถานการณ์ใหม่ ผู้สอนศาสนามักจะเข้าสู่ขั้นตอนหรือระยะเวลาของการปรับตัวทางอารมณ์สี่ขั้นตอนเมื่อพวกเขาเข้าเอ็มทีซีและอีกครั้งเมื่อพวกเขาเข้าสู่สนามเผยแผ่

1. ความคาดหวัง

  • ท่านอาจรู้สึกกระตือรือร้นต่อการท้าทาย (ดู 1 นีไฟ 3:7)

  • ท่านอาจรู้สึกถึงนัยของจุดประสงค์มากขึ้นและมีความภักดีต่อพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้น (ดู 3 นีไฟ 5:13)

2. ค้นพบสิ่งที่ไม่คาดฝัน

  • ท่านอาจเริ่มคิดถึงบ้าน ครอบครัว มิตรสหาย และแม้กระทั่งสงสัยถึงการที่ท่านตัดสินใจรับใช้ (ดู แอลมา 26:27)

  • ท่านอาจสังเกตเห็นปรากฏการณ์ของความเครียดที่เกิดขึ้นทางร่างกาย เช่น การนอนไม่หลับ ความอยากอาหารเปลี่ยนไป หรือมีอารมณ์ฉุนเฉียว

  • ท่านอาจรู้สึกตัวว่า ท่านวิพากษ์วิจารณ์ ไม่อดทนต่อกฎและความคาดหวังโดยไม่ตั้งใจ

สำหรับหลายคน ความรู้สึกเหล่านี้เป็นเรื่องปกติวิสัย ถ้าท่านมีปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งหมด ขอให้ทราบว่านี่เป็นสถานการณ์ชั่วคราวที่ผู้สอนศาสนาใหม่หลายคนต้องพบเจอ จงกล้าหาญที่จะรู้ว่าความรู้สึกเหล่านี้จะผ่านไปและท่านจะปรับตัวได้

ภาพ
Two sister missionaries stuying the scriptures

3. “ฉันทำสิ่งนี้ได้”

  • ทักษะการสอนและทักษะทางภาษาของท่านเริ่มพัฒนา

  • ท่านเรียนรู้ที่จะรักษากฎระเบียบและความคาดหวังของคณะเผยแผ่ด้วยความเต็มใจ

  • ท่านแสดงความอดทนกับตนเองขณะที่ท่านเรียนรู้ “กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์” (ดู อิสยาห์ 28:10; โมไซยาห์ 4:27)

  • ถ้าท่านมีอาการทางร่างกายอันเกิดจากความเครียด สิ่งนั้นจะเริ่มหายไป

4. การพึ่งพาตนเองทางอารมณ์

  • ท่านรู้สึกสบายใจในการทำกิจวัตรประจำวัน

  • ท่านเห็นความเข้มแข็งและความก้าวหน้าของตัวท่านเอง

  • ท่านเข้าใจความหมายของการดำเนินชีวิตทีละขั้น (ดู คพ. 98:12)

  • ท่านพัฒนาความมั่นใจในตนเองและปรารถนาจะรับใช้มากขึ้น

สิ่งที่ท่านทำได้เดี๋ยวนี้

  • หาวิธีรับใช้ผู้อื่น งานสอนศาสนาเป็นการเรียกให้รับใช้ ทูลขอพระผู้เป็นเจ้าให้มีโอกาสรับใช้ผู้ที่อยู่รอบข้างท่านเมื่อท่านรู้สึกวิตกหรือกังวล ให้ท่านมุ่งความสนใจออกไปจากความรู้สึกอึดอัดของตนเองโดยใส่ใจดูแลผู้ที่ต้องการคำพูดอ่อนโยน หรือการกระทำอันเกิดจากจิตกุศล หรือมิตรภาพ (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา 183–184)

  • มุ่งความสนใจไปที่การเสริมสร้างสัมพันธภาพของท่านกับพระบิดาบนสวรรค์ แสวงหาพระวิญญาณของพระองค์ผ่านการสวดอ้อนวอนส่วนตัว การศึกษาพระคัมภีร์ ดนตรีที่ยกระดับจิตใจ การอ่านปิตุพรของท่าน และวิธีอื่นๆ ที่จะช่วยท่านได้ ถามตนเองว่าพระองค์ทรงประสงค์สิ่งใดมากที่สุดที่จะให้ท่านเรียนรู้จากประสบการณ์งานเผยแผ่ของท่านและไตร่ตรองถึงวิธีที่พระองค์จะทรงช่วยให้ท่านเรียนรู้สิ่งนี้

    ภาพ
    Portrait of a happy, smiling, black missionary in his suit and tie and missionary name tag.
  • ขอให้อดีตผู้สอนศาสนาแบ่งปันความทรงจำของเขาถึงการปรับตัวในตอนแรกและให้คำแนะนำถึงวิธีที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้ง่ายขึ้น

  • อ่านบทความ “Preparing Emotionally for Missionary Service” โดยโรเบิร์ต เค. แวกสแตฟฟ์ (Ensign, มี.ค. 2011, 22–26; มีทางออนไลน์ที่ LDS.org)

  • พัฒนาเจตคติของความสำนึกคุณ มุ่งเน้นสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม และสร้างสรรค์เกี่ยวกับตนเองและการเรียกที่ท่านได้รับวันละสองสามนาที สวดอ้อนวอนด้วยความสำนึกคุณในแต่ละวันถึงเรื่องที่เจาะจงซึ่งท่านขอบคุณเกี่ยวกับการเรียกทำงานเผยแผ่ของท่าน

  • มีเมตตาต่อตนเอง พูดกับตนเองด้วยคำพูดอ่อนโยนมีเมตตาที่ท่านจะใช้กับผู้อื่น มีบ้างเป็นบางคราวที่ทุกคนจะรู้สึกท้อแท้หรือทำผิดพลาด จงทราบว่าพระเจ้าทรงเข้าใจ ลองจินตนาการว่าพระองค์ทรงนั่งใกล้ท่าน ทรงฟังและประทานกำลังใจ พึงจำไว้ว่า การคิดว่าหมดหนทาง ไร้ความหวัง หรือการกล่าวโทษอย่างรุนแรงไม่ใช่สิ่งที่มาจากพระเจ้า

  • จงคาดหวังสิ่งที่ไม่ได้คาดหวัง ประสบการณ์ของท่านในฐานะผู้สอนศาสนาจะไม่เป็นเหมือนประสบการณ์ของผู้อื่น ทุกอย่างจะไม่เป็นไปดังที่ท่านวางแผนหรือดังที่ท่านคิดว่าควรจะเป็นเสมอไป จงคาดหวังสิ่งที่แตกต่างจากที่ท่านคิดว่าจะเป็น การตรวจสอบความคาดหวังของท่านจะช่วยให้ท่านเปิดและยอมรับการเปลี่ยนแปลง

สนทนากับบิดามารดาหรือผู้นำ

การพูดคุยกับผู้อื่นเกี่ยวกับการปรับตัวที่จะมาถึงนี้สามารถช่วยได้ จัดเวลาเพื่อสนทนาเรื่องต่อไปนี้กับบิดามารดา ผู้นำฐานะปุโรหิต หรือเพื่อนที่เป็นอดีตผู้สอนศาสนา

  • เหตุใดเจตคติด้านบวกจึงสำคัญเมื่อมีการปรับตัวต่อสถานการณ์ใหม่

  • สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากแบบอย่างของพระผู้เป็นเจ้าในพระคัมภีร์เรียกร้องให้ผู้คนทำสิ่งที่เกินขีดความสามารถที่พวกเขารู้สึกว่าจะทำได้ (ดู อพยพ 4:10–12; ; เยเรมีย์ 1:6–9; แอลมา 17:10–12; 26:27; อีเธอร์ 12:23–27; โมเสส 6:31–32)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่จะเข้านอนและตื่นนอนตรงเวลา รักษาโภชนาการที่ดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และมีการสวดอ้อนวอนส่วนตัว (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, viii)

  • เหตุใดการมีอารมณ์ขันที่ดีและหัวเราะกับตนเองได้เมื่อทำผิดพลาดจึงช่วยให้การปรับตัวง่ายขึ้น

  • ท่านจะเตือนตนเองได้อย่างไรว่าความรู้สึกอึดอัดในช่วงแรกจะไม่เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดไป

  • บิดามารดาและเพื่อนๆ จะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยเรื่องการปรับตัวในช่วงแรก

  • การเขียนบันทึกประจำวันจะช่วยได้อย่างไรขณะประสบปัญหาที่ท้าทาย

  • จะตอบสนองได้ดีที่สุดอย่างไรเมื่อเกิดความคิดหรือความรู้สึกกลัดกลุ้มตลอดเวลา

สรุป

ช่วงเวลาปรับตัวของผู้สอนศาสนาเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่มักจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ใช่เครื่องบ่งบอกว่าท่านขาดศรัทธาหรือประจักษ์พยาน สำหรับผู้สอนศาสนาใหม่เกือบทุกคน นี่คือเวลาที่จะได้มาซึ่งทักษะที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จ จงระลึกถึงคำแนะนำที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับในช่วงเวลาที่ยากลำบากมากในชีวิตท่าน “จงรู้ไว้เถิด, ลูกพ่อ, ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์แก่เจ้า, และจะเกิดขึ้นเพื่อความดีของเจ้า” (คพ. 122:7)

ขณะที่ท่านเตรียมตัวเพื่อจากไปสู่งานเผยแผ่ จงพร้อมที่จะน้อมรับการเปลี่ยนแปลง ชีวิตในฐานะผู้สอนศาสนาค่อนข้างจะแตกต่างจากสิ่งที่ท่านเคยประสบมา แต่ถ้าท่านมาด้วยเจตคติที่ดี ใช้ศรัทธาในพระเจ้า และความคาดหวังที่ต้องอดทนต่อตนเองและผู้อื่น พระเจ้าจะประทานรางวัลและพรแก่ท่าน พระองค์ทรงสัญญาว่า “เราจะไปเบื้องหน้าเจ้า. เราจะอยู่ทางขวามือเจ้าและทางซ้ายเจ้า, และพระวิญญาณของเราจะอยู่ในใจเจ้า, และเหล่าเทพของเราห้อมล้อมเจ้า, เพื่อประคองเจ้าไว้” (คพ. 84:88)