2019
แหล่งกำเนิดความสงบสุขและพลัง
มีนาคม 2019


แหล่งกำเนิด ความสงบสุข และ พลัง

คนที่ประสบความท้าทายจะยังสงบสุข เบิกบาน และเข้มแข็งได้อย่างไร

ภาพ
stargazing

นักดาราศาสตร์ตัวน้อย, โดย ไบรอัน เคอร์ชิสนิก

หนึ่งในประสบการณ์ประทับใจที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยมีขณะเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่คือการรับใช้ในหมู่วิสุทธิชนที่รักของเราในเวเนซุเอลา คนที่นั่นรวมทั้งสมาชิกศาสนจักรอยู่ในสภาวการณ์ที่ยากลำบาก ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ข้าพเจ้าเห็นจากการไปเยือนประเทศนั้นบ่อยครั้งว่ามีความแตกต่างระหว่างประชาชนทั่วไปกับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

ประสบการณ์ในเวเนซุเอลา

วิสุทธิชนในเวเนซุเอลากำลังทำสุดความสามารถ จริงอยู่ที่หลายคนกำลังประสบความยากลำบากและศาสนจักรช่วยเหลือคนขัดสนเหล่านั้นผ่านเงินบริจาคอดอาหาร โปรแกรมสวัสดิการ และโครงการพึ่งพาตนเอง แต่ขณะวิสุทธิชนหาเหตุให้เศร้าได้ไม่ยาก แม้จะมีความท้าทายทั้งหมดที่ประสบ พวกเขาก็ยังเป็นผู้คนที่มีความสุข—สงบสุขกับตนเอง ยิ้มบ่อย และหวังว่าวันข้างหน้าจะดีขึ้น

เยาวชนของศาสนจักรในเวเนซุเอลาเป็นเช่นนี้ ความท้าทายของพวกเขาและของครอบครัวทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้นและเตรียมพวกเขาสำหรับอนาคต ผู้สอนศาสนาชาวเวเนซุเอลาก็เช่นกัน พวกเขาต้องเข้มแข็งเพื่อตนเอง เพื่อผู้สนใจ และเพื่อครอบครัวของพวกเขา และพวกเขาเข้มแข็ง พวกเขาทำให้เรานึกถึงนักรบหนุ่ม 2,000 คนของฮีลามัน แม้มีจำนวนน้อย แต่พวกเขา “องอาจยิ่งในด้านความกล้าหาญ” (ดู แอลมา 53:20–21) ในเวเนซุเอลาพระเจ้าทรงกำลังเตรียมมารดา บิดา และผู้นำให้เข้มแข็ง เมื่อใดก็ตามที่เราอยู่ในหมู่วิสุทธิชนที่นั่น เรารู้สึกว่าตัวเราเปี่ยมด้วยศรัทธาในพระกิตติคุณและในอนาคต

ความสงบสุขในยามเดือดร้อน

สมาชิกเหล่านี้ผู้เผชิญความท้าทายเช่นนั้นยังคงสงบสุข เบิกบาน และเข้มแข็งได้อย่างไร ข้าพเจ้าเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาจำนวนมากคือพวกเขาพึ่งพาพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงได้รับพลังจากแหล่งกำเนิดพลังทั้งมวล พวกเขารับรู้พรที่ได้รับจากพระบิดาบนสวรรค์ พวกเขาพึ่งเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ พวกเขาได้รับการปลอบโยน การสนับสนุน และพลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ด้วยเหตุนี้ภาระของพวกเขาจึงเบาลง พวกเขาคลายความเศร้าเสียใจ และพบความสงบสุขท่ามกลางการทดลองของพวกเขา

สมาชิกชาวเวเนซุเอลากำลังประสบแบบอย่างยุคปัจจุบันของสิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางแอลมากับผู้คนของเขาในพระคัมภีร์มอรมอน

“และบัดนี้เหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือพระเจ้าทรงทำให้สัมภาระซึ่งวางอยู่บนแอลมาและพี่น้องของท่านเบาลง; แท้จริงแล้ว, พระเจ้าทรงเพิ่มพละกำลังให้พวกเขา เพื่อพวกเขาจะทนแบกสัมภาระได้โดยง่าย, และพวกเขายอมรับอย่างชื่นบานและด้วยความอดทนต่อพระประสงค์ทั้งหมดของพระเจ้า” (โมไซยาห์ 24:15)

เดชานุภาพการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

การใช้เวลาอยู่ในหมู่สมาชิกของเราในเวเนซุเอลาทำให้ข้าพเจ้ามีประจักษ์พยานแรงกล้ามากขึ้นว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงปรารถนาจะอวยพรเรา ดังในประสบการณ์ของแอลมาและผู้ติดตามท่าน วิสุทธิชนในเวเนซุเอลาเข้มแข็งขึ้น และสามารถแบกภาระของตนได้ง่ายขึ้น พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้เรามาหาพระองค์ถ้าเรามีภาระหนัก และเราจะได้หยุดพัก (ดู มัทธิว 11:28–30) สมาชิกที่ดีเหล่านี้มีพลังแบกภาระของพวกเขาด้วยพละกำลังของพระเจ้า

ภาพ
Venezuelan Saints

วิสุทธิชนในเวเนซุเอลาเป็นผู้คนที่มีความสุข—สงบสุขกับตนเอง ยิ้มบ่อย และหวังว่าวันข้างหน้าจะดีขึ้น

เนื่องจากการทดลองของพวกเขา และพรของการวางใจในพระผู้ช่วยให้รอดและพระคุณของพวกเขา พวกเขาจึงประสบการเปลี่ยนแปลงในใจและพวกเขาแต่ละคนได้ “กลายเป็นดังเด็ก, ว่าง่าย, อ่อนโยน, ถ่อมตน, อดทน, เปี่ยมด้วยความรัก, เต็มใจยอมในสิ่งทั้งปวงที่พระเจ้า ทรงเห็นควรจะอุบัติแก่ [พวกเขา], แม้ดังเด็กยินยอมต่อบิดาตน” (โมไซยาห์ 3:19)

สรุปคือ การทดลองทำให้พวกเขาพัฒนาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ที่สานุศิษย์ทุกคนของพระคริสต์หวังจะได้มา

สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาเป็นขั้นตอนเดียวกันกับที่ควรเกิดขึ้นกับเราแต่ละคน เราทุกคนจะมีความท้าทายและการทดลองในชีวิตเรา เมื่อเรามี เราควรถามตัวเราว่า

  • เรากำลังหวังให้พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยให้เราเอาชนะความยากลำบากเหล่านั้นหรือไม่

  • เราเต็มใจจ่ายราคาเพื่อเป็นคนดีขึ้นและพัฒนาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ที่จำเป็นต่อความก้าวหน้าของเราหรือไม่

  • เราเข้าใจหรือไม่ว่าเราสามารถพบความเข้มแข็งและความหวังผ่านเดชานุภาพแห่งการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถให้การปลอบโยนและพลังเช่นนั้นอย่างไรและเหตุใด พระคัมภีร์บอกเราว่า “และพระองค์จะเสด็จออกไป, ทรงทนความเจ็บปวดและความทุกข์และการล่อลวงทุกอย่าง; และนี่ก็เพื่อคำซึ่งกล่าวว่าพระองค์จะทรงรับความเจ็บปวดและความป่วยไข้ของผู้คนของพระองค์จะได้เกิดสัมฤทธิผล.

“และพระองค์จะทรงรับเอาความตาย, เพื่อพระองค์จะทรงทำให้สายรัดแห่งความตายที่ผูกมัดผู้คนของพระองค์หลุดออก; และพระองค์จะทรงรับเอาความทุพพลภาพของพวกเขา, เพื่ออุทรของพระองค์จะเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา, ตามเนื้อหนัง, เพื่อพระองค์จะทรงรู้ตามเนื้อหนังว่าจะทรงช่วยผู้คนของพระองค์ตามความทุพพลภาพของพวกเขาได้อย่างไร” (แอลมา 7:11–12)

พระเจ้าทรงทราบ

ดังที่เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่ง โควรัมอัครสาวกสิบสองสอน “พระผู้ช่วยให้รอดมิได้ทรงทนรับเพียงความชั่วช้าสามานย์ของเราเท่านั้น แต่ทรงทนรับความไม่เสมอภาค ความอยุติธรรม ความเจ็บปวด ความปวดร้าว และความหดหู่ทางอารมณ์ที่รุมเร้าเราอยู่เนืองๆ ด้วย … ในชั่วขณะของความอ่อนแอท่านและข้าพเจ้าอาจร้องออกมาว่า ‘ไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีใครรู้’ อาจไม่มีมนุษย์คนใดรู้ แต่พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าทรงรู้และเข้าพระทัยอย่างสมบูรณ์ เพราะพระองค์ทรงรู้สึกและทรงแบกภาระของเรามาก่อน เพราะพระองค์ทรงจ่ายราคาสุดท้ายและทรงแบกภาระนั้น พระองค์จึงทรงมีความเห็นใจอย่างสมบูรณ์และทรงสามารถยื่นพระพาหุแห่งความเมตตามาให้เราในช่วงต่างๆ ของชีวิต” (“การชดใช้และการเดินทางของความเป็นมรรตัย,” เลียโฮนา, เม.ย. 2012, 19)

จากนั้นเอ็ลเดอร์เบดนาร์อ้างพระคัมภีร์ข้อนี้ ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจว่าเพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราแต่ละคนจะพบความสงบสุข

“บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก

“จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพอ่อนโยนและใจอ่อนน้อม และจิตใจของพวกท่านจะได้หยุดพัก

“ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา” (มัทธิว 11:28–30)

ภาพ
oxen with a yoke

ส่วนหนึ่งจากภาพ การย้ายถิ่นฐานของวิสุทธิชน โดย ไบรอัน เคอร์ชิสนิก

ข้าพเจ้าต้องการเพิ่มประจักษ์พยานของข้าพเจ้าเข้ากับคำพูดของเอ็ลเดอร์เบดนาร์ ข้าพเจ้ารู้ผ่านประสบการณ์ส่วนตัวเช่นกันว่าเราสามารถพบพลังและความสงบสุขในอ้อมพระพาหุอันเปี่ยมด้วยความรักของพระผู้ช่วยให้รอด เดชานุภาพการไถ่และเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถของพระผู้ช่วยให้รอดไม่เพียงเป็นแหล่งกำเนิดการให้อภัยบาปของเราเท่านั้นแต่เป็นแหล่งกำเนิดความหวัง ความสงบสุข ความเข้มแข็ง การปลอบโยน พรสวรรค์ การดลใจ และทั้งหมดที่จำเป็นต่อการช่วยให้เราฟันฝ่าการเดินทางในชีวิตนี้และประสบผลสำเร็จด้วย เราสามารถพึ่ง “ความดีงาม, และพระเมตตา, และพระคุณของพระเมสสิยาห์ผู้บริสุทธิ์” ได้แน่นอน (2 นีไฟ 2:8)

การประยุกต์ใช้กับชีวิตเราเอง

เราจะเข้าถึงแหล่งกำเนิดพลังนี้ได้อย่างไร เราต้องทำอะไรจึงจะได้ความช่วยเหลือที่เราต้องการ

หนึ่ง เราควรมีศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ เราต้องเข้าใจว่าพระองค์และพระบิดาของพระองค์ทรงเป็นแหล่งกำเนิดความสงบสุขและพลัง ทั้งสองพระองค์ทรงทำให้ทุกสิ่งเป็นไปได้

จากนั้นเราต้องปฏิบัติและทำให้ดีที่สุดกับอะไรก็ตามที่เรากำลังประสบ เราอาจจะกำลังพยายามเอาชนะความอ่อนแอ เสาะหาวิธีบรรเทาความเศร้าเสียใจ หรือพยายามพัฒนาพรสวรรค์ ถึงแม้บางครั้งสุดความสามารถของเราอาจดูเหมือนไม่มากพอ แต่ถ้าเราพยายามสุดความสามารถ พระเจ้าจะทรงอวยพรเราด้วยสิ่งที่เราจำเป็นต้องมีผ่านพระคุณของพระองค์

“เมื่อท่านกับข้าพเจ้าเข้าใจและใช้เดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถของการชดใช้ในชีวิตส่วนตัว” เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าว “เราจะสวดอ้อนวอนและทูลขอให้มีพลังเปลี่ยนสภาวการณ์ของเราแทนที่จะสวดอ้อนวอนขอให้สภาวการณ์เปลี่ยน เราจะเป็นผู้กระทำไม่ใช่วัตถุที่ถูกกระทำ (ดู 2 นีไฟ 2:14)” (“การชดใช้และการเดินทางของความเป็นมรรตัย,” เลียโฮนา, 16)

เราควรจำไว้เช่นกันว่าเมื่อเราทำส่วนของเรา พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างเรา เราไม่จำเป็นต้องต่อสู้ในส่วนของเราเพียงลำพัง พระองค์จะทรงอยู่กับเรา ตั้งแต่ต้นจนจบ ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าถ้อยคำของอิสยาห์เป็นความจริง “เพราะเราคือยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า เราฉวยมือขวาของเจ้าไว้ คือเราที่พูดกับเจ้าว่า อย่ากลัวเลย เราเองจะช่วยเจ้า” (อิสยาห์ 41:13) วิสุทธิชนในเวเนซุเอลาเป็นเช่นนั้น และวิสุทธิชนทุกแห่งในโลกก็เช่นกัน