2019
มารีย์ พระมารดาของพระเยซู
มกราคม 2019


มารีย์ พระมารดาของพระเยซู

เรื่องราวของมารีย์เป็นเครื่องเตือนใจไม่เสื่อมคลายให้นึกถึงค่าและพรของการเป็นสานุศิษย์

ภาพ
Mary the Mother of Jesus

มารีย์เก็บสิ่งเหล่านั้นไว้ โดย ฮาเวิร์ด ลีออง

มารีย์พระมารดาของพระเยซูเป็นหนึ่งในสตรีไม่กี่คนที่พระคัมภีร์กล่าวถึงและเป็นคนเดียวที่ชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของเธอพยากรณ์ไว้นานหลายศตวรรษก่อนเธอเกิด (ดู 1 นีไฟ 11:15, 18; โมไซยาห์ 3:8; แอลมา 7:10)1 มัทธิว มาระโก ลูกา และยอห์นผู้เขียนพันธสัญญาใหม่ให้ข้อมูลเล็กน้อยเกี่ยวกับชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของเธอเพราะพวกเขาจะเน้นเรื่องพระผู้ช่วยให้รอดเป็นหลัก แต่คริสตจักรสมัยแรกตั้งฉายาให้มารีย์ว่า theotokos “ผู้ให้กำเนิดหรือพระมารดาของพระผู้เป็นเจ้า”2 อันเป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงบทบาทสำคัญของเธอในแผนของพระบิดาเช่นกัน

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเขียนไว้ว่า “เราพูดยกย่องเธอผู้ซึ่งพระเจ้าทรงอวยพรเหนือสตรีทั้งปวงเกินจริงไม่ได้หรือ มีพระคริสต์เพียงองค์เดียว และมีมารีย์เพียงคนเดียว ทั้งสองสูงส่งและยิ่งใหญ่ใน [การดำรงอยู่ก่อนเกิด] และทั้งสองได้รับแต่งตั้งล่วงหน้าสู่การปฏิบัติศาสนกิจที่เขาหรือเธอทำ เราอดคิดไม่ได้ว่าพระบิดาทรงเลือกวิญญาณสตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นมารดาของพระบุตรของพระองค์ เฉกเช่นทรงเลือกวิญญาณบุรุษเหมือนพระองค์ให้เป็นพระผู้ช่วยให้รอด … เราควร … เคารพนับถือมารีย์ตามที่เธอสมควรได้รับ”3

เรื่องราวของลูกาในการประกาศของเทพต่อมารีย์ (ดู ลูกา 1:26–56) เปิดช่องให้เราสำนึกคุณต่อหญิงสาวที่น่าทึ่งคนนี้มากขึ้น จากปฏิสัมพันธ์ของเธอกับกาเบรียลและเอลิซาเบธทำให้เรามองเห็นหญิงสาวที่พยายามเข้าใจการเรียกพิเศษจำเพาะของเธอจากพระผู้เป็นเจ้า ขนาดของการเรียกนั้นต้องหนักอึ้งเป็นแน่แท้สำหรับคนอายุน้อยเช่นนั้น แต่เธอยอมให้ความประสงค์ของเธอเป็นไปตามพระประสงค์ของพระบิดา เรื่องราวของเธอเตือนเราว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรู้จักบุตรธิดาทุกคนของพระองค์และทรงเรียกชายหญิงธรรมดาให้มีส่วนช่วยสร้างอาณาจักรของพระองค์ในวิธีที่ไม่ธรรมดา เธอกลายเป็นสานุศิษย์คนแรกของพระเยซู และด้วยเหตุนี้จึงเป็นต้นแบบสำหรับทุกคนที่เลือกติดตามพระองค์

นาซาเร็ธ: บ้านของมารีย์

น่าเสียดายที่พันธสัญญาใหม่ไม่บอกเราเกี่ยวกับบิดามารดาของมารีย์ การเกิด หรือเรื่องใดๆ เกี่ยวกับชีวิตเธอในนาซาเร็ธ ลูกาเรียกนาซาเร็ธว่า polis ซึ่งแปลว่าเมือง แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นสถานที่สำคัญแต่อย่างใด นอกจากพันธสัญญาใหม่แล้ว ไม่มีตำราเล่มใดกล่าวถึงนาซาเร็ธจนถึงปลายศตวรรษที่สองหลังคริสต์ศักราช

เรารู้ว่านาซาเร็ธตั้งอยู่บนเนินเขาในกาลิลีตอนล่างเหนือหุบเขายิสเรเอลที่อุดมสมบูรณ์ไปทางเหนือของเยรูซาเล็ม 105 กม. โบราณคดีระบุว่านาซาเร็ธในศตวรรษแรกเหมือนหมู่บ้านมากกว่าเมือง คาดว่ามีประชากรราว 400–500 คน4 ประชากรส่วนใหญ่ทั่วกาลิลีดิ้นรนเอาชีวิตรอดด้วยการเป็นคนงาน เลี้ยงสัตว์ หาปลา และทำไร่ไถนาเพียงเพื่อให้มีอาหารพอกินสำหรับครอบครัวและจ่ายภาษี หมู่บ้านไม่มีกำแพงล้อมรอบ ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีถนนลาดยางหรือสถาปัตยกรรมสำคัญ ทั้งไม่ใช้ของหรูหราอย่างเช่นหินอ่อน โมเสค หรือภาพปูนเปียกในอาคารต่างๆ และครัวเรือนไม่มีเครื่องปั้นดินเผานำเข้า5 บ้านเรือนสองศตวรรษแรกที่ถูกขุดค้นดูเหมือนจะเป็นที่อาศัยชั้นเดียวแบบเรียบง่าย มีสองห้อง หลังคามุงจาก และมีลานบ้านเล็กๆ6 พิธีฝังศพและเศษถ้วยโถโอชามที่เป็นหินปูนบ่งบอกว่าผู้อาศัยเป็นชาวยิวไม่ใช่คนต่างชาติ

แม้ไม่สามารถเชื่อมโยงการค้นพบเหล่านี้กับมารีย์หรือครอบครัวของเธอได้โดยตรง แต่ก็ทำให้เรารับรู้ว่าชีวิตของเธอในนาซาเร็ธน่าจะเป็นอย่างไร สาวบ้านนอกอาศัยอยู่ในหมู่บ้านชนบท ห่างจากศูนย์กลางทางศาสนาของเยรูซาเล็มที่มีพระวิหาร ชนชั้นสูงอย่างปุโรหิต และความมั่งคั่ง แม้จะเป็นเด็กสาว แต่เธอน่าจะทำงานเคียงข้างมารดาและสตรีคนอื่นๆ ของหมู่บ้าน ทอผ้า ทำอาหาร เก็บฟืน ตักน้ำจากถังเก็บน้ำในบ้านหรือบ่อของหมู่บ้าน และทำงานในเรือกสวนไร่นา—ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยให้ครอบครัวอยู่รอดไปวันๆ

การเรียกของมารีย์

เรื่องราวของมารีย์ในหนังสือของลูกาเริ่มต้นด้วยการปรากฏของเทพกาเบรียล เทพองค์เดียวกับที่เคยปรากฏต่อเศคาริยาห์ในพระวิหาร (ดู ลูกา 1:11, 19, 26) ตอนที่กาเบรียลปรากฏ มารีย์เป็นหญิงสาวผู้หมั้นหมายจะแต่งงานกับโยเซฟ (ดู ลูกา 1:27) ถึงแม้เราไม่ทราบว่าเวลานั้นมารีย์อายุเท่าใด แต่ในสมัยก่อนน่าจะตกลงทำสัญญาแต่งงานก่อนวัยสาว การปรากฏและคำประกาศของกาเบรียลว่ามารีย์เป็น “ผู้ที่พระเจ้าโปรดปรานมาก” ว่า “พระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่กับเธอ” ว่า “ในบรรดาสตรีเธอได้รับพรมาก” และจากงานแปลของโจเซฟ สมิธใน ลูกา 1:28 กล่าวว่าเธอ “ได้รับเลือก” (ดู แอลมา 7:10 ด้วย) คงทำให้มารีย์เกิดความสับสนระคนความกลัว เราจินตนาการได้เพียงว่าน่าจะมีความคิดหลายอย่างพรั่งพรูเข้ามาในขณะนั้น แต่น่าจะมีคำถามทำนองนี้รวมอยู่ด้วย “เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าทรงคิดว่า ‘ในบรรดาสตรี [ฉัน] ได้รับพรมาก’” “เหตุใดฉันจึงเป็น ‘ผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน’ และนั่นหมายความว่าอย่างไร” “เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าทรงส่งกาเบรียลมาหาฉันแทนที่จะไปหาหญิงสาวคนอื่นในนาซาเร็ธหรือในเยรูซาเล็ม” ใช่ เธอมาจากเชื้อสายของดาวิด (ดู ลูกา 1:32; โรม 1:3) แต่นั่นมีความหมายเล็กน้อยภายใต้การยึดครองของโรม เธอเป็นเพียงหญิงสาวจากครอบครัวชาวไร่ชาวนาที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ เท่านั้นเอง ดังที่นาธานาเอลถามในเวลาต่อมาว่า “สิ่งดีๆ จะมาจากนาซาเร็ธได้หรือ?” (ยอห์น 1:46)

กาเบรียลไม่ตอบคำถามใดๆ ที่น่าจะทำให้มารีย์อิ่มเอมใจ แต่กาเบรียลบอกข่าวสารต่อไปว่าเธอจะตั้งครรภ์เด็กคนหนึ่ง แต่ไม่ใช่เด็กธรรมดา และเด็กคนนี้จะมีชื่อเรียกว่า “บุตรของพระเจ้าสูงสุด” และจะได้รับ “บัลลังก์ของดาวิดบรรพบุรุษของท่าน” (ดู ลูกา 1:32–33) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กาเบรียลบอกมารีย์ว่าบุตรชายของเธอจะเป็นทั้งพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้ ถ้ามารีย์สับสนและกลัวก่อนการประกาศครั้งนี้ เราจินตนาการได้เพียงว่าเธอคงเครียดมากหลังจากนั้น

เราลองพิจารณาหลักธรรมหนึ่งที่เรื่องราวส่วนนี้ของมารีย์สอนเกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์ แผนของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับมารีย์ไม่ใช่สิ่งที่เธอขอ! กาเบรียลปรากฏต่อเศคาริยาห์เพราะเขากับเอลีซาเบธสวดอ้อนวอนขอบุตรซึ่งเป็นปาฏิหาริย์ แต่กาเบรียลมาหามารีย์ภายใต้สภาวการณ์ที่ต่างจากนั้นมาก ไม่ใช่เพื่อทำตามคำขอ แต่เพื่อประกาศพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าต่อเธอ เพราะใกล้จะแต่งงาน มารีย์จึงน่าจะคิดว่าเธออาจจะมีบุตรในอนาคต ถึงแม้จะมีกระแสความคาดหวังเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ในลัทธิยูดาห์ช่วงศตวรรษแรก แต่มารีย์จะเคยคิดไหมว่าสาวชนบทจากนาซาเร็ธอย่างเธอจะได้เป็นมารดาของพระเมสสิยาห์ อาจจะไม่เคยคิด ประเด็นสำคัญคือการเรียกให้เป็นสานุศิษย์บ่อยครั้งเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนแผนชีวิตส่วนตัว

ลูกาเน้นบันทึกของเขาที่คำประกาศของกาเบรียลและเอลีซาเบธหลังจากนั้น แต่มีสามครั้งที่มารีย์แสดงความคิดและความรู้สึกของเธอออกมา

ภาพ
Mary seeing the angel Gabriel

เทพกาเบรียลปรากฏต่อมารีย์พร้อมข่าวสารอันน่าประหลาดใจที่ว่า “ในบรรดาสตรีเธอได้รับพรมาก” และเธอจะให้กำเนิดพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

การประกาศของเทพต่อมารีย์ โดย โจเซฟ บริกคีย์

คำถามที่ได้รับการดลใจ

คำถามแรกที่เธอถามกาเบรียลคือ “เหตุการณ์นั้นจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะข้าพเจ้ายังไม่เคยหลับนอนกับชายใด?” (ลูกา 1:34) ตามสภาวการณ์ คำถามของเธอมีเหตุผล คำถามดังกล่าวทำให้ผู้อ่านนึกถึงคำถามของเศคาริยาห์ “ข้าพเจ้าจะรู้แน่ได้อย่างไร [ว่าเอลีซาเบธจะให้กำเนิดบุตรชาย]” (ข้อ 18) แต่คำถามของเศคาริยาห์แสดงถึงความกังขาในคำตอบของกาเบรียลต่อคำสวดอ้อนวอนที่เขาทูลถามพระผู้เป็นเจ้าด้วยตนเอง ส่วนคำถามของมารีย์มุ่งหมายจะได้ความชัดเจนเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่ประกาศต่อเธอ คำถามเกิดขึ้นแน่นอนเมื่อพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้เป็นเจ้าท้าทายให้สานุศิษย์ยกมาตรฐานและออกจากสิ่งที่พวกเขาเคยชิน คำถามที่ได้รับการดลใจนำไปสู่การเปิดเผย

คำตอบของกาเบรียลต่อคำถามของมารีย์มีสามส่วน ได้แก่

  1. หนึ่ง กาเบรียลบอกมารีย์ว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จลงมาเหนือเธอ” (ข้อ 35) พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพลังอำนาจที่สานุศิษย์ในทุกยุคทุกสมัยใช้ขยายการเรียกของพวกเขา “จำไว้ว่านี่ไม่ใช่งานของท่านหรือของข้าพเจ้าเท่านั้น” ประธานโธมัส เอส. มอนสัน (1927–2018) สอน “นี่คืองานของพระเจ้า และเมื่อเรากำลังทำกิจธุระของพระเจ้า เรามีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า จำไว้ว่าคนที่พระเจ้าทรงเรียก พระเจ้าทรงทำให้คู่ควร”7 จากนั้นกาเบรียลให้ข้อมูลตามสถานการณ์ของมารีย์ว่า “ฤทธิ์เดชของผู้สูงสุดจะปกเธอ:8 เพราะฉะนั้นองค์บริสุทธิ์ที่เกิดมานั้นจะได้ชื่อว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้า” (ข้อ 35)

  2. สอง กาเบรียลบอกมารีย์เกี่ยวกับเอลีซาเบธ คนที่กำลังประสบการตั้งครรภ์คล้ายกันอย่างน่าอัศจรรย์แม้ไม่เหมือนกันทุกประการก็ตาม (ดูข้อ 36) การตั้งครรภ์ของเอลีซาเบธเป็นการบอกใบ้ให้มารีย์รู้ว่าเธอไม่โดดเดี่ยว อย่างน้อยก็มีอีกคนหนึ่งเข้าใจสิ่งที่เธอกำลังประสบ

  3. สาม กาเบรียลประกาศชัดเจนว่า “เพราะว่าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พระเจ้าทรงทำไม่ได้” (ข้อ 37) พระผู้เป็นเจ้าทรงทำเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปได้เมื่อเอลีซาเบธตั้งครรภ์9 คำประกาศของกาเบรียลเป็นเครื่องเตือนใจสานุศิษย์ในทุกยุคทุกสมัยว่าเมื่อเราตอบรับพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้เป็นเจ้า ปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้น

ความเต็มใจของสานุศิษย์

คำตอบรับครั้งที่สองของมารีย์ในเรื่องนี้ในความคิดของผมถือว่าเป็นตัวอย่างชัดเจนของคำมั่นสัญญาและทัศนคติของสานุศิษย์ “นี่แน่ะข้าพเจ้าเป็นทาสขององค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าพร้อมที่จะเป็นไปตามคำของท่าน” (ลูกา 1:38) “ทาส” บ่งบอกว่ามารีย์ได้เลือกยอมรับการเรียกที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้เธอ คำกล่าวนี้เป็นวิธีพูดของมารีย์ที่พระบุตรจะตรัสในเกทเสมนี “อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” (ลูกา 22:42) แม้ดูเหมือนจะชัดเจน ณ จุดนี้ในการเดินทางของเธอ แต่เธอไม่น่าจะเข้าใจทั้งหมดที่เรียกร้องจากเธอได้—สิเมโอนพยากรณ์ต่อเธอในเวลาต่อมาว่า “ถึงหัวใจของท่านเองก็จะถูกดาบแทงทะลุด้วย” (ลูกา 2:35)—แต่มารีย์ก็เลือกเดินหน้าต่อไปด้วยศรัทธา

“แล้วทูตสวรรค์ก็จากนางไป” (ลูกา 1:38) เมื่อกาเบรียลจากไป มารีย์ถูกทิ้งไว้ตามลำพัง แม้การประกาศต่อหน้าทูตสวรรค์เหมือนที่เธอทำจะเป็นสิ่งหนึ่งที่สานุศิษย์พึงทำ แต่เธอจะทำอย่างไรเพราะเทพไปแล้ว เธอจะอธิบายประสบการณ์นี้กับบิดามารดาของเธอ และกับโยเซฟอย่างไร เธอจะสูญเสียอะไรถ้าพวกเขาหรือผู้อาศัยอยู่ในนาซาเร็ธไม่เชื่อเธอ เวลานี้คนใกล้ชิดกับเธอในนาซาเร็ธอาจทำให้เธอลำบากใจ

ภาพ
Elisabeth greeting Mary

การพบกันของมารีย์กับเอลีซาเบธ โดย คาร์ล เฮียนริช บลอช

ด้วยเหตุนี้เธอจึงนึกถึงคำตอบส่วนที่สองของกาเบรียลต่อคำถามของเธอและการเดินทางไปบ้านของเอลีซาเบธ เรื่องราวสองเรื่องตอนต้นหนังสือลูการ้อยเรียงเข้าด้วยกันอีกครั้ง ทันทีที่มารีย์ทักทายเอลีซาเบธ “ทารกในครรภ์ของนางก็ดิ้น และนางเอลีซาเบธก็เต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ จึงร้องเสียงดังว่า ในบรรดาสตรีเธอได้รับพรมาก และทารกในครรภ์ของเธอก็ได้รับพระพรด้วย” (ลูกา 1:41–42) คำทักทายของเธอตามที่พระวิญญาณทรงนำเสริมสิ่งที่กาเบรียลประกาศไว้แล้วเกี่ยวกับสถานะได้รับพรของมารีย์ในบรรดาสตรีทั้งหลาย เวลานี้มารีย์มีพยานปากที่สองยืนยันการเรียกของเธอ แต่มาหลังจากเธอเต็มใจยอมรับการเรียกเท่านั้น

เรื่องราวของมารีย์กับเอลีซาเบธเป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงสองด้านสำคัญในชีวิตของสานุศิษย์ยุคปัจจุบัน เป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงคุณค่าเชิงสัญลักษณ์อันเป็นหัวใจของสมาคมสงเคราะห์ทั่วโลก นั่นคือ สตรีที่วัยต่างกันและสถานภาพในชีวิตต่างกันมารวมกันเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือกันในยามยาก อีกทั้งเป็นเครื่องเตือนใจด้วยว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงทอดทิ้งคนที่พระองค์ทรงเรียกในยามยากของพวกเขาแต่บ่อยครั้งพระองค์ทรงตอบสนองโดยทรงโอบพวกเขาไว้ในอ้อมแขนของคนที่พระองค์ทรงเรียกเช่นกัน

การถวายสดุดี

คำกล่าวสุดท้ายของมารีย์รู้กันว่าเป็นการถวายสดุดีและเป็นการแสดงความยินดีต่อคำประกาศของเอลีเซเบธ เธอแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งที่อุบัติขึ้นในชีวิตเธอและสะท้อนความเข้าใจที่เกิดขึ้นใหม่เกี่ยวกับบทบาทของเธอในแผนของพระผู้เป็นเจ้า แรกสุดและสำคัญที่สุดคือเธอรู้สึกว่าต้องยกย่องสรรเสริญและถวายพระเกียรติพระผู้เป็นเจ้าของเธอผู้ซึ่งเธอชื่นชมยินดีในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดของเธอ (ดู ลูกา 1:46–47) เธอเห็นพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าอย่างต่อเนื่องในประสบการณ์ของเธอ ทั้งในข้อเท็จจริงที่ว่าพระองค์ทรงเลือกคนมี “ฐานะอันต่ำต้อย” เช่นเธอ (ดู ข้อ 48–50) และในข้อเท็จจริงที่ว่าพระองค์ทรงเลือกเธอให้มีบทบาทสำคัญในการทำให้พันธสัญญาอับราฮัมเกิดสัมฤทธิผล (ดู ข้อ 54–55)

“มารีย์อาศัยอยู่กับนางเอลีซาเบธประมาณสามเดือน แล้วจึงกลับไปยังบ้านของตน” (ข้อ 56) เวลานี้มารีย์พร้อมทำการเรียกจากสวรรค์มากขึ้นแล้ว

ภาพ
Mary holding baby Jesus

ในอ้อมแขนของมารีย์ โดย ไซมอน ดิวอีย์

แบบอย่างของมารีย์สำหรับเรา

วัฒนธรรมและเวลา 2,000 ปีทำให้สานุศิษย์ยุคปัจจุบันไม่เข้าใจเรื่องราวของมารีย์ กระนั้นก็ตาม เรื่องราวของเธอยังเป็นเครื่องเตือนใจไม่สิ้นสุดให้นึกถึงค่าของการเป็นสานุศิษย์ พระผู้เป็นเจ้าทรงคาดหวังให้ผู้ติดตามพระองค์ก้าวขึ้นมารับพระดำรัสเชื้อเชิญที่พระองค์ทรงมอบให้ ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเตือนเราว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้บุตรธิดาในพันธสัญญาทำเรื่องยากเสมอ”10 มารีย์ไม่ได้รับยกเว้น และเราก็เช่นกัน ความท้าทายของเราคือมีศรัทธาว่าจะยอมให้ความประสงค์ของเราเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ ยอมรับการเรียกจากพระองค์ด้วยศรัทธาว่าพระวิญญาณของพระองค์จะทรงขยายผลให้เราในการรับใช้พระองค์ บอนนี่ เอช. คอร์ดอนประธานเยาวชนหญิงสามัญเตือนเราเช่นกันว่า “เราทำเรื่องยากๆ ได้” และเพิ่มเติมต่อจากนั้นว่า “แต่เราทำได้อย่างเบิกบาน”11

ในฐานะสานุศิษย์ยุคปัจจุบัน เราจะถวายสดุดีว่าอย่างไร เราจะแสดงความชื่นชมยินดีในพระผู้เป็นเจ้าของเราอย่างไร เราจะกล่าวถึงความยิ่งใหญ่แห่งพระเมตตาของพระองค์ในชีวิตเราว่าอย่างไร เราจะหาวิธีฉลองบทบาทของเราในการทำให้พันธสัญญาอับราฮัมเกิดสัมฤทธิผลในสมัยของเราอย่างไร วิธีที่กล่าวมาข้างต้นน่าจะช่วยให้เราได้เรียนรู้จากเรื่องราวการเป็นสานุศิษย์อันน่าทึ่งของมารีย์

อ้างอิง

  1. มัทธิวเข้าใจเช่นกันว่ามารีย์เป็นสัมฤทธิผลแห่งคำพยากรณ์ของอิสยาห์ที่ว่าหญิงสาวผู้หนึ่งจะให้กำเนิดบุตรชายนามอิมมานูเอล (ดู อิสยาห์ 7:14 คำพูดอ้างอิง “หญิงสาว” ของเขามาจากงานแปลอิสยาห์เป็นภาษากรีกในศตวรรษที่สองก่อนคริสตกาล ซึ่งชาวคริสต์ยุคแรกใช้และใน อิสยาห์ 7:14 ฉบับคิงเจมส์ใช้

  2. ในพระคัมภีร์มอรมอนฉบับปี 1830 1 นีไฟ 11:18 เรียกมารีย์ว่า “พระมารดาของพระผู้เป็นเจ้า” เช่นกัน

  3. บรูซ อาร์. แมคคองกี, Mortal Messiah, 4 vols. (1981), 1:326–27, footnote 4.

  4. ดู James E. Strange, “Nazareth,” Anchor Bible Dictionary, 4:1050; Jonathan L. Reed, Archaeology and the Galilean Jesus: A Re-examination of the Evidence (2002), 131.

  5. ดู Reed, Archaeology and the Galilean Jesus, 131.

  6. ดู Ken Dark, “Has Jesus’ Nazareth House Been Found?” Biblical Archaeology Review, vol. 41, no. 2 (March/April 2015), 54–63; ดู Ken Dark, “Early Roman-Period Nazareth and the Sisters of Nazareth Convent,” The Antiquities Journal, vol. 92 (2012), 37–64 ด้วย.

  7. โธมัส เอส. มอนสัน, “การเรียกให้ทำหน้าที่,” เลียโฮนา, ก.ค. 1996, 54.

  8. คำภาษากรีกที่แปลว่า “ปก” (episkiazō) เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในงานแปลพันธสัญญาเดิมภาษากรีกเพื่อพูดถึงเมฆที่ลอยอยู่เหนือพลับพลาเมื่อสร้างเสร็จแล้ว ซึ่งหมายถึงรัศมีภาพของพระเจ้า

  9. พระเจ้าตรัสกับอับราฮัมทำนองเดียวกันเมื่อเขากับซาราห์ทราบว่าพวกเขาจะมีบุตรในวัยชรา (ดู ปฐมกาล 18:14; โรม 4:19–21)

  10. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “เป็นตัวแทนชาวมิลเลเนียมตัวจริง,” เลียโฮนา, ต.ค. 2016, 49.

  11. บอนนี่ เอช. คอร์ดอน: ประธานเยาวชนหญิงสามัญ, เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 129.