2016
เด็กเล็กและศีลระลึก
ตุลาคม 2016


เด็กเล็ก และศีลระลึก

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

เด็กเล็กของเรารู้สึกได้ว่าศีลระสึกสำคัญต่อเรา เราทำมากขึ้นได้เพื่อช่วยให้พวกเขาเห็นว่าศีลระลึกสำคัญต่อพวกเขาเช่นกัน

ภาพ
family partaking of the sacrament

ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าเหตุใดเราจึงยอมให้เด็กที่ยังไม่ได้รับบัพติศมารับส่วนศีลระลึก เพียงเพื่อไม่ให้พวกเขาร้องเสียงดังและเอะอะโวยวายเมื่อพวกเขาต้องการขนมปังสักชิ้นอย่างนั้นหรือ เพียงเพื่อทำให้ปฏิบัติศาสนพิธีง่ายขึ้น เพียงเพื่อรักษาความสงบอย่างนั้นหรือ

ผมไม่คิดเช่นนั้น ผมเชื่อว่ามีเหตุผลลึกซึ้งกว่านั้น ผมเชื่อเช่นนี้เพราะผมเชื่อว่าเมื่อพระเยซูตรัสว่า “ทั้งหลาย” พระองค์ทรงหมายถึงทุกคน และเมื่อพระองค์ตรัสกับฝูงชน พระองค์ไม่ได้ตัดคนใดออก

เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงแนะนำศีลระลึกกับผู้คนของพระองค์ในทวีปอเมริกา พระองค์ทรงเน้นว่าศาสนพิธีมีความหมายพิเศษต่อคนที่รับบัพติศมาแล้ว1 แต่กระนั้น พระองค์ทรงบัญชาให้เหล่าสานุศิษย์ “ให้ [ศีลระลึก] แก่ ฝูงชน2 ฝูงชนรวมถึง “เด็กเล็กๆ” ด้วย3

ปัจจุบันนี้เมื่อผู้ดำรงฐานะปุโรหิตเปล่งคำสวดอ้อนวอนศีลระลึก พวกเขาทูลขอให้พระบิดาบนสวรรค์ประทานพรและทำให้ขนมปังและน้ำศักดิ์สิทธิ์ “ต่อจิตวิญญาณของเขา ทั้งหลาย” ที่รับส่วน4 ทั้งหลาย แต่ละคนที่รับส่วน—รวมไปถึงเด็กเล็กแต่ละคนด้วย

ถ้าในการรับส่วนขนมปังและน้ำ เด็กได้รับเครื่องหมายเหล่านี้อันเป็นพรแก่จิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ของพวกเขา จะต้องมีวิธีช่วยให้พวกเขาพบความหมายในศาสนพิธี

ความเข้าใจนี้ทำให้ผมนึกถึงวันที่ลูกๆ ของผมยังเล็ก ผมกับภรรยาทำได้ดีมากเพื่อให้พวกเขาเงียบในระหว่างการปฏิบัติศีลระลึก ผมคิดว่าพวกเขารู้สึกว่าศาสนพิธีสำคัญต่อเรา แต่เราทำมากขึ้นได้เพื่อช่วยให้พวกเขาเห็นว่าศีลระลึกสำคัญต่อ พวกเขา

เราจะทำอะไรได้บ้าง เราจะจดจำว่าเด็กเล็กสามารถรักษาสัญญาในคำสวดอ้อนวอนศีลระลึกได้ พวกเขาเข้าใจได้จำกัดแต่เปี่ยมด้วยพลังว่า “ระลึกถึง [พระเยซู] ตลอดเวลา” หมายความว่าอย่างไร พวกเขาสามารถทำสัญญาว่าจะ “รักษาพระบัญญัติของพระองค์” พวกเขาสามารถแสดงให้เห็นว่าพวกเขา “เต็มใจยอมรับพระนาม” ของพระคริสต์ โดยรู้ว่าอีกไม่นานพวกเขาจะมีสิทธิพิเศษนั้นเมื่อพวกเขารับบัพติศมาและการยืนยัน5

แต่การต่อพันธสัญญาเล่า ผู้นำศาสนจักรเคยสอนว่าเมื่อเรารับส่วนศีลระลึก เราต่อพันธสัญญาทั้งหมดที่เราทำไว้กับพระเจ้า6 เด็กเล็กไม่มีพันธสัญญาต้องต่อ

ผมคิดอีกครั้งเมื่อลูกของเรายังเล็ก เราไม่ได้ช่วยให้พวกเขาหวนนึกถึงพันธสัญญา แต่เราได้ช่วยให้พวกเขาตั้งตารอพันธสัญญา ผมนึกภาพตัวผมกับลูกชายหรือลูกสาวในเช้าวันสะบาโตวันหนึ่ง

“เมื่อลูกอายุแปดขวบ” ผมพูด “ลูกจะรับบัพติศมาและรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ลูกจะทำพันธสัญญา พันธสัญญาที่ลูกทำ เวลานั้น จะเหมือนสัญญาที่ลูกทำ เวลานี้ เมื่อลูกรับศีลระลึก

“เมื่อพ่อรับศีลระลึกวันนี้ พ่อจะต่อพันธสัญญาบัพติศมาของพ่อ เหมือนพ่อกำลังทำสัญญาเหล่านั้นอีกครั้ง ลูกจะอยู่ที่นั่นกับพ่อ แต่ลูกจะไม่ต่อพันธสัญญา เพราะลูกยังไม่ได้ทำ แต่ลูกสามารถ ฝึก ทำพันธสัญญาได้ ทุกครั้งที่ลูกรับศีลระลึก ลูกได้เตรียมรับบัพติศมาและการยืนยัน วิธีนี้จะทำให้ลูกพร้อมเมื่อลูกอายุครบแปดขวบ”

ถ้าการใช้คำว่า ฝึก ในทำนองนี้ฟังดูแปลกๆ ลองพิจารณาดังนี้ ในสภาวะแวดล้อมที่มีความคารวะ พ่ออาจจะช่วยลูกเตรียมรับศาสนพิธีแห่งบัพติศมาโดยแสดงให้เห็นว่าจะยืนด้วยกันในน้ำอย่างไรและแบ่งปันคำสวดอ้อนวอนบัพติศมา เขาไม่ประกอบศาสนพิธีในสภาวะแวดล้อมดังกล่าว ในแง่หนึ่งคือเขาช่วยลูกฝึก วิธีนี้จะทำให้พวกเขาไม่กังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อลงไปในน้ำบัพติศมา ผมเชื่อว่าพ่อแม่สามารถช่วยลูกๆ ฝึกทำและรักษาพันธสัญญาบัพติศมาได้เช่นกัน การประชุมศีลระลึกแต่ละครั้งสามารถเป็นช่วงฝึกที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กเล็กเมื่อพวกเขารับเครื่องหมายแห่งการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด

และด้วยเหตุนี้ผมจึงกลับไปที่คำถามเดิมของผม เหตุใดเราจึงยอมให้เด็กที่ยังไม่ได้รับบัพติศมารับส่วนศีลระลึก เพียงเพื่อ “รักษาความสงบ” อย่างนั้นหรือ แน่นอนว่าไม่ เราช่วยเด็กเล็กๆ ของเรารับส่วนศีลระลึกเพื่อให้พวกเขาระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดและรักษาความสงบของพระองค์—ความสงบไม่เหมือนอย่างที่โลกให้ได้7 เราช่วยพวกเขาเตรียมรับความสงบนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตเมื่อพวกเขาจะทำและรักษาพันธสัญญากับพระองค์