2010–2019
เป็นสานุศิษย์ของพระเจ้าของเรา พระเยซูคริสต์
เมษายน 2017


เป็นสานุศิษย์ของพระเจ้าของเรา พระเยซูคริสต์

อุปนิสัยต่างๆ อันเป็นผลมาจากศรัทธาในพระคริสต์ล้วนจำเป็นต่อการยืนหยัดของเราในวันเวลาสุดท้าย

การเป็นสานุศิษย์ของพระเจ้าของเรา พระเยซูคริสต์หมายความว่าอย่างไร สานุศิษย์คือผู้ที่รับบัพติศมาและเต็มใจรับพระนามของพระผู้ช่วยให้รอดไว้กับตนเองและติดตามพระองค์ สานุศิษย์พยายามเป็นเหมือนพระองค์โดยรักษาพระบัญญัติของพระองค์ในความเป็นมรรตัย เฉกเช่นศิษย์พยายามเป็นเหมือนอาจารย์

หลายคนได้ยินคำว่า สานุศิษย์ และคิดว่ามีความหมายเพียงเป็น “ผู้ติดตาม” เท่านั้น แต่สานุศิษย์ที่แท้จริงเป็นสภาวะหนึ่งซึ่งแนะว่าต้องทำมากกว่าศึกษาและประยุกต์ใช้คุณลักษณะส่วนตัวในด้านต่างๆ สานุศิษย์ดำเนินชีวิตโดยให้พระอุปนิสัยของพระคริสต์ถักทอเข้าไปในทุกอณูของพวกเขาราวกับเป็นผ้าทอทางวิญญาณ

ขอให้ท่านฟังคำเชื้อเชิญของอัครสาวกเปโตรที่ให้เป็นสานุศิษย์ของพระผู้ช่วยให้รอด

“พวกท่านจงพยายามอย่างที่สุดที่จะเอาคุณธรรมเพิ่มความเชื่อของพวกท่าน เอาความรู้เพิ่มคุณธรรม

“เอาการควบคุมตัวเองเพิ่มความรู้ เอาความทรหดอดทนเพิ่มการควบคุมตัวเอง และเอาความยำเกรงพระเจ้าเพิ่มความทรหดอดทน

“เอาความรักฉันพี่น้องเพิ่มความยำเกรงพระเจ้า และเอาความรักเพิ่มความรักฉันพี่น้อง”1

ดังที่ท่านเห็น การทอผ้าทางวิญญาณของการเป็นสานุศิษย์ส่วนตัวต้องการด้ายมากกว่าหนึ่งเส้น ในสมัยของพระผู้ช่วยให้รอด มีหลายคนที่อ้างตนว่ามีความชอบธรรมในด้านใดด้านหนึ่งของชีวิต พวกเขาทำสิ่งที่ข้าพเจ้าเรียกว่าการเชื่อฟังที่เลือกปฏิบัติ ตัวอย่างเช่นพวกเขารักษาพระบัญญัติที่ไม่ทำงานในวันสะบาโตแต่วิพากษ์วิจารณ์พระผู้ช่วยให้รอดที่ทรงรักษาคนในวันศักดิ์สิทธิ์นั้น2 พวกเขาบริจาคสิ่งของให้คนยากไร้แต่ก็ให้เฉพาะของเหลือใช้—สิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ3 พวกเขาอดอาหารแต่ด้วยสีหน้าเศร้าหมอง4 พวกเขาสวดอ้อนวอนเฉพาะเวลาที่มีคนเห็น5 พระเยซูตรัสว่า “พวกเขาเข้าใกล้เราด้วยริมฝีปากพวกเขา, แต่ใจพวกเขาอยู่ไกลจากเรา”6 ชายหญิงเช่นนั้นจะให้ความสำคัญในการปฏิบัติคุณลักษณะหรือการกระทำเฉพาะอย่างแต่ไม่จำเป็นว่าใจเขาจะเป็นดังที่พระองค์ทรงเป็น

พระเยซูทรงประกาศถึงสิ่งเหล่านี้ว่า

“เมื่อถึงวันนั้นจะมีคนจำนวนมากร้องแก่เราว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพระองค์ได้เผยพระวจนะในพระนามพระองค์ และได้ขับผีออกในพระนามของพระองค์ และได้ทำการแห่งฤทธานุภาพมากมายในพระนามของพระองค์ไม่ใช่หรือ?

“เมื่อนั้นเราจะกล่าวแก่พวกเขาว่า เราไม่เคยรู้จักพวกเจ้าเลย เจ้าผู้ทำความชั่ว จงไปเสียให้พ้นหน้าเรา”7

คุณลักษณะของพระผู้ช่วยให้รอดตามที่เราเข้าใจนั้นไม่ใช่บทที่เขียนไว้ให้ทำตามหรือรายการที่ให้ขีดฆ่า สิ่งเหล่านี้เป็นอุปนิสัยผสมผสาน เสริมกันและกัน ซึ่งเกิดขึ้นในเราด้วยวิธีปฏิสัมพันธ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราไม่สามารถได้รับอุปนิสัยเหมือนพระคริสต์โดยไม่ได้รับและมีอิทธิพลต่ออุปนิสัยอื่นด้วย เมื่ออุปนิสัยหนึ่งมั่นคง อุปนิสัยอีกมากมายก็มั่นคงเช่นกัน

ใน 2 เปโตร และใน หลักคำสอนและพันธสัญญาภาคที่ 4 เราเรียนรู้ว่าศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์คือรากฐาน เราวัดศรัทธาจากสิ่งที่ศรัทธานำเราให้ทำ—โดยการเชื่อฟังของเรา “หากเจ้าจะมีศรัทธาในเรา” พระเจ้าทรงสัญญา “เจ้าจะมีพลังความสามารถทำสิ่งใดก็ตามที่เราเห็นสมควร”8 ศรัทธาคือตัวเร่ง หากไร้งาน ไร้การดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม ศรัทธาของเราก็ไม่มีพลังอำนาจที่จะทำให้เกิดความเป็นสานุศิษย์ แน่นอนว่า ศรัทธานั้นไร้ผล9

เปโตรอธิบายว่า “เอาคุณธรรมเพิ่มความเชื่อของพวกท่าน” คุณธรรมนี้เป็นมากกว่าความสะอาดทางเพศ คุณธรรมคือความสะอาดบริสุทธิ์ในความคิดและร่างกาย คุณธรรมเป็นพลังอำนาจเช่นกัน ขณะที่เราดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณอย่างซื่อสัตย์ เราจะมีพลังอำนาจที่จะทำให้ความคิด ความรู้สึก และการกระทำทุกอย่างของเรามีคุณธรรม จิตใจเราจะเปิดรับการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์และแสงสว่างของพระคริสต์มากขึ้น10 เราเป็นตัวแทนของพระคริสต์ไม่เพียงสิ่งที่เราพูดและทำเท่านั้นแต่ในสิ่งที่เราเป็นด้วย

เปโตรกล่าวต่อไปว่า “เอาความรู้ [ของท่าน] เพิ่มคุณธรรม” ขณะที่เราดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม เราจะรู้จักพระบิดาบนสวรรค์ของเราและพระบุตรของพระองค์ในวิธีพิเศษ “ถ้าใครตั้งใจประพฤติตามพระประสงค์ของพระองค์ คนนั้นก็จะรู้ว่าคำสอนนี้มาจากพระเจ้า”11 ความรู้นี้คือประจักษ์พยานส่วนตัวอันเกิดจากประสบการณ์ส่วนตัว เป็นความรู้ที่เปลี่ยนแปลงเรา เพื่อให้ “ความรู้แจ้ง [ของพระองค์] แนบสนิทกับความรู้แจ้ง” ของเราและ “คุณธรรม [ของพระองค์] รักคุณธรรม”12 ของเรา โดยการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม เราเดินทางจาก “ฉันเชื่อ” ไปสู่จุดหมายอันรุ่งโรจน์ของ “ฉันรู้”

เปโตรกระตุ้นให้เรานำเอา “การควบคุมตนเองเพิ่มความรู้ เอาความทรหดอดทนเพิ่มการควบคุมตนเอง” ในฐานะสานุศิษย์ที่ควบคุมตนเองได้ เราดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณในวิธีที่แน่วแน่และสมดุล เราไม่ “วิ่งไปเร็วเกินกำลัง [ของเรา]”13 วันแล้ววันเล่าเรารุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้งจากความท้าทายที่ช่วยขัดเกลาความเป็นมรรตัย

โดยที่ควบคุมตนเองในวิธีนี้ เราพัฒนาความอดทนและวางใจในพระเจ้า เราสามารถพึ่งพาแผนของพระองค์ที่ทรงออกแบบให้ชีวิตเรา ถึงแม้เราจะมองไม่เห็นด้วยดวงตาฝ่ายธรรมชาติ14 ดังนั้นเราสามารถ “นิ่งเถิดและรู้ว่า [พระองค์] คือพระผู้เป็นเจ้า”15 เมื่อเราเผชิญกับพายุแห่งการทดลอง เราถามว่า “พระองค์จะทรงให้ข้าพระองค์เรียนรู้สิ่งใดจากประสบการณ์นี้” โดยที่มีแผนและจุดประสงค์ของพระองค์อยู่ในใจเรา เราไม่เพียงรุดหน้าไปโดยอดทนทุกสิ่งเท่านั้นแต่อดทนอย่างใจเย็นและด้วยดีด้วย16

เปโตรสอนว่าความอดทนนี้นำเราไปสู่ความเป็นพระผู้เป็นเจ้า ดังที่พระบิดาทรงอดทนกับเรา บุตรธิดาของพระองค์ เราจะอดทนซึ่งกันและกันและอดทนกับตนเอง เราสุขใจกับสิทธิ์เสรีของผู้อื่นและโอกาสที่สิทธิ์เสรีนั้นช่วยให้พวกเขาเติบโต “บรรทัดมาเติมบรรทัด”17 “เจิดจ้ายิ่งขึ้น ๆ จนถึงวันที่สมบูรณ์”18

จากการควบคุมตนเองไปสู่ความอดทน และจากความอดทนไปสู่ความเป็นพระผู้เป็นเจ้า ธรรมชาติวิสัยของเราเปลี่ยน เรามีความกรุณาฉันพี่น้องซึ่งเป็นเครื่องหมายของการเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริง เฉกเช่นชาวสะมาเรียใจดี เราข้ามถนนไปช่วยเหลือผู้ใดก็ตามที่ตกทุกข์ได้ยากถึงแม้พวกเขาจะไม่อยู่ในแวดวงมิตรสหายของเรา19 เราอวยพรผู้ที่สาปแช่งเรา เราทำดีต่อผู้ที่ปฏิบัติต่อเราอย่างเหยียดหยาม20 มีคุณลักษณะใดที่เป็นพระผู้เป็นเจ้าหรือเหมือนพระคริสต์มากไปกว่านี้หรือ

ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าความพยายามที่เราทำเพื่อเป็นสานุศิษย์ของพระผู้ช่วยให้รอดนั้นจะเพิ่มเติมจนความรักของพระองค์ “ครอบครอง” เรา21 ความรักนี้คืออุปนิสัยที่นิยามไว้ของสานุศิษย์พระคริสต์

“แม้ข้าพเจ้าจะพูดภาษาแปลกๆ ที่เป็นภาษามนุษย์หรือทูตสวรรค์ได้ แต่ไม่มีความรัก ข้าพเจ้าเป็นเหมือนฆ้องหรือฉาบที่กำลังส่งเสียง

“แม้ข้าพเจ้าจะเผยพระวจนะได้ จะรู้ความล้ำลึกทุกอย่างและมีความรู้ทั้งสิ้น และแม้จะมีความเชื่อมากยิ่งที่จะย้ายภูเขาไปได้ แต่ไม่มีความรัก ข้าพเจ้าก็ไม่มีค่าอะไรเลย”22

ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศลที่ทำให้เราคู่ควรกับงานของพระผู้เป็นเจ้า23 “และบัดนี้ทั้งสามสิ่งนี้ยังดำรงอยู่ … แต่ความรัก (จิตกุศล) นั้นใหญ่ที่สุดในสามสิ่งนี้”24

พี่น้องทั้งหลาย เวลานี้เราไม่สามารถเป็น “สานุศิษย์แบบครึ่งๆ กลางๆ ” ได้อีกต่อไป เราไม่สามารถเป็นสานุศิษย์แค่หลักคำสอนประเด็นใดประเด็นหนึ่ง อุปนิสัยต่างๆ อันเป็นผลมาจากศรัทธาในพระคริสต์—ได้แก่สิ่งที่เราพูดถึงในวันนี้—ล้วนจำเป็นต่อการยืนหยัดของเราในวันเวลาสุดท้าย

เมื่อเราพยายามอย่างจริงจังที่จะเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ อุปนิสัยเหล่านี้จะได้รับการผสมผสาน เพิ่มเติม และเสริมสร้างอย่างมีปฏิสัมพันธ์ในเรา จะไม่มีความแตกต่างระหว่างความกรุณาที่เรามีต่อศัตรูกับความกรุณาที่เรามีต่อมิตรสหาย เราจะเป็นคนซื่อสัตย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เราจะอุทิศตนต่อพระผู้เป็นเจ้าทั้งในที่สาธารณะและในห้องส่วนตัว

ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าทุกคนสามารถเป็นสานุศิษย์ของพระผู้ช่วยให้รอด ความเป็นสานุศิษย์ไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ เพศ ชาติกำเนิด หรือการเรียก โดยผ่านการเป็นสานุศิษย์ในความเป็นส่วนตัว เราในฐานะวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เสริมสร้างความเข้มแข็งร่วมกันเพื่อเป็นพรแก่พี่น้องของเราทั่วโลก บัดนี้ถึงเวลาที่เราจะผูกมัดตนอีกครั้งในการเป็นสานุศิษย์ของพระองค์ด้วยสุดความพากเพียร

พี่น้องทั้งหลาย เราได้รับเรียกเป็นสานุศิษย์ของพระผู้ช่วยให้รอด ขอให้การประชุมใหญ่ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ท่านจะ “เริ่มต้นดังในสมัยโบราณ, และมาหา [พระองค์] ด้วยสุดใจท่าน”25 นี่คือศาสนจักรของพระองค์ ข้าพเจ้ากล่าวคำพยานพิเศษว่าพระองค์ทรงพระชนม์ ขอพระองค์ประทานพรเราในการค้นหาอันเป็นนิรันดร์เพื่อเป็นสานุศิษย์ที่อุทิศตนและกล้าหาญ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน