2010–2019
ท่านอยากจะหายเป็นปกติหรือเปล่า?
ตุลาคม 2013


ท่านอยากจะหายเป็นปกติหรือเปล่า?

เมื่อเรากลับใจและเปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่พระเจ้า เราหายเป็นปกติ ความรู้สึกผิดของเราถูกลบล้างออกไป

ระหว่างช่วงเวลาเทศกาลที่เต็มไปด้วยความปีติในเยรูซาเล็ม พระผู้ช่วยให้รอดทรงละจากฝูงชนออกเสาะหาผู้ที่ขัดสนที่สุด พระองค์พบพวกเขาที่เบธซาธา สระน้ำที่มีศาลาห้าหลังที่ริมประตูแกะซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นที่รวมของคนทุกข์ยากจำนวนมาก

พระกิตติคุณของยอห์นสอนเราว่าใกล้สระน้ำนั้น “มีคนป่วยจำนวนมาก มีทั้งคนตาบอด คนง่อย และคนเป็นอัมพาตนอนอยู่ คอยน้ำกระเพื่อม

“เพราะมีทูตสวรรค์องค์หนึ่งของพระเจ้าลงมากวนน้ำในสระเป็นครั้งคราว และเมื่อน้ำกระเพื่อมอยู่ ใครก้าวลงไปในน้ำก่อนก็จะหายจากโรคร้ายที่เขาเป็นอยู่นั้น” (ยอห์น 5:3–4)

การมาเยือนของพระผู้ช่วยให้รอดถูกพรรณาไว้อย่างสวยงามในภาพวาดของคาร์ล บล็อค ชื่อภาพ พระคริสต์ทรงรักษาคนป่วยที่เบธซาธา บล็อควาดภาพพระเยซูกำลังยกกันสาดชั่วคราวขึ้นเพื่อมองเห็น “คนป่วยคนนั้น” (ยอห์น 5:7) ผู้นอนอยู่ใกล้สระและรอคอย คำว่า คนป่วย ในที่นี้หมายถึงคนที่หมดกำลังและเน้นให้เห็นถึงพระเมตตาและพระกรุณาธิคุณของพระผู้ช่วยให้รอด ผู้เสด็จมาอย่างเงียบๆ เพื่อปฏิบัติศาสนกิจแก่คนที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้

ในภาพวาดนี้ ชายผู้ทุกข์ยากนอนในร่มเงาบนพื้น เหน็ดเหนื่อยและสิ้นหวังจากการทนทุกข์ในความเจ็บป่วยเป็นเวลาถึง 38 ปี

ขณะที่พระผู้ช่วยให้รอดยกผ้าคลุมขึ้นมือหนึ่ง พระองค์กวักมือเรียกอีกข้างหนึ่ง และถามตรงๆ ว่า “ท่านอยากจะหายเป็นปกติหรือเปล่า?”

ชายคนนั้นทูลตอบว่า “ท่านเจ้าข้า เมื่อน้ำกำลังกระเพื่อมนั้น ไม่มีใครเอาตัวข้าพเจ้าลงไปในสระ แล้วพอจะลงไปเองคนอื่นก็ลงไปก่อนแล้ว” (ยอห์น 5:6–7)

สำหรับชายคนนี้แล้วดูเหมือนว่าเป็นการท้าทายที่เป็นไปไม่ได้ แต่พระเยซูทรงตอบอย่างลึกซึ้งและเหนือความคาดหมายว่า

“ลุกขึ้นเถิด จงยกแคร่ของท่านเดินไป

“ทันใดนั้นเขาก็หายเป็นปกติและยกแคร่ของเขาเดินไป” (ยอห์น 5:8–9)

มีอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับความอ่อนโยนนี้ ลูกาบอกเราว่าพระผู้ช่วยให้รอดขณะที่เดินทางไปยังเยรูซาเล็ม ทรงพบคนโรคเรื้อน 10 คน เพราะการเจ็บป่วยของเขา พวกเขา “ยืนอยู่แต่ไกล” (ลูกา 17:12) พวกเขาถูกขับไล่—ไม่สะอาดและไม่เป็นที่ต้องการ

พวกเขาร้องขึ้น “เยซู นายเจ้าข้า โปรดเมตตาเราเถิด” (ลูกา 17:13) ถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ “มีอะไร ที่พระองค์จะช่วยพวกเราบ้างได้ไหม?”

แพทย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ เต็มไปด้วยสงสาร และยังรู้ว่าศรัทธาจะทำให้เกิดปาฏิหาริย์ ดังนั้นพระองค์จึงบอกพวกเขาว่า “จงไปสำแดงตัวต่อพวกปุโรหิตเถิด” (ลูกา 17:14)

เมื่อเขาจากไปโดยศรัทธา ปาฏิหาริย์จึงเกิดขึ้น พวกท่านจินตนาการได้ไหมถึงปีติที่เปี่ยมล้นในแต่ละย่างก้าวเมื่อเขาได้รับพยานในช่วงเวลานั้นจริงๆ เมื่อร่างกายถูกชำระให้สะอาด รักษาให้หาย และได้รับการฟื้นฟูต่อหน้าต่อตา?

“คนหนึ่งในพวกนั้นเมื่อเห็นว่าตัวเองหายโรคแล้ว จึงกลับมาสรรเสริญพระเจ้าด้วยเสียงดัง

“และกราบลงที่พระบาท [ของพระอาจารย์] ขอบพระคุณพระองค์ …”

“แล้ว [พระเยซู] ตรัสกับคนนั้นว่า จงลุกขึ้นและไปเถิด ความเชื่อของท่านทำให้ท่านหายปกติแล้ว” (ลูกา 17:15–16, 19)

การทำงานในอดีตในฐานะแพทย์และศัลยแพทย์ ข้าพเจ้าเน้นไปที่การซ่อมแซมแก้ไขร่างกาย พระเยซูคริสต์ทรงรักษาทั้งร่างกาย จิตใจและวิญญาณ และการรักษาของพระองค์เริ่มต้นที่ศรัทธา

ท่านจำได้ไหมเมื่อศรัทธาและปีติของท่านล้นปริ่ม ท่านจำชั่วขณะที่ท่านค้นพบประจักษ์พยานของท่านเอง หรือเมื่อพระผู้เป็นเจ้ายืนยันกับท่านว่าท่านเป็นบุตรหรือธิดาของพระองค์และว่าพระองค์ทรงรักท่านมากและท่านรู้สึกว่าหายเป็นปกติ หากช่วงเวลานั้นหายไป ท่านจะหาพบได้อีก

พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำเราว่าทำอย่างไรจึงหายเป็นปกติ สมบูรณ์ หรือรักษาหาย

“บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก

“จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพอ่อนโยนและใจอ่อนน้อม และจิตใจของพวกท่านจะได้หยุดพัก

“ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะและภาระของเราก็เบา” (มัทธิว 11: 28–30)

“จงกลับมาติดตามเรา” (ลูกา 18: 22) เชื้อเชิญให้เราทิ้งชีวิตเก่าและความปรารถนาฝ่ายโลกไว้เบื้องหลังและมาเป็นคนใหม่ผู้ซึ่ง “สิ่งสารพัดที่เก่าๆ ก็ล่วงไป [และ] นี่แน่ะกลายเป็นสิ่งใหม่ทั้งนั้น” (2 โครินธ์ 5:17) แม้ด้วยหัวใจดวงใหม่ที่ซื่อสัตย์ และเราจะหายเป็นปกติ

“จงมาอยู่ใกล้เราและเราจะเข้ามาอยู่ใกล้เจ้า; จงแสวงหาเราอย่างขยันหมั่นเพียรและเจ้าจะได้พบเรา; ขอ, และเจ้าจะได้รับ; เคาะ, และจะเปิดมันให้เจ้า” (คพ. 88:63)

ขณะที่เราอยู่ใกล้พระองค์ เราจะตระหนักว่ามรรตัยหมายถึงความยากลำบาก และ “มีการตรงกันข้ามในสิ่งทั้งปวง” (2 นีไฟ 2:11)ไม่ได้เป็นจุดอ่อนในแผนแห่งความรอด แต่ที่จริงแล้ว การตรงกันข้ามเป็นสิ่งที่จำเป็นของความเป็นมรรตัยและเสริมสร้างจุดประสงค์ของเราและชำระล้างทางเลือกของเรา สถานการณ์ที่ไม่คาดคิดของชีวิตช่วยสร้างสัมพันธภาพนิรันดร์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้า—และจารึกรูปลักษณ์ของพระองค์ไว้บนสีหน้าของเราเมื่อเรามอบใจของเราใหพระองค์ (ดู แอลมา 5:19)

“จงทำอย่างนี้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเรา” (ลูกา 22:19) เป็นสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงขอเมื่อพระองค์ทรงสถาปนาสิ่งที่เราเรียกว่าศีลระลึก ศาสนพิธีนี้ที่มีขนมปังและน้ำต่อพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ที่เราทำกับพระผู้เป็นเจ้าและเชื้อเชิญอำนาจแห่งการชดใช้มาสู่ชีวิตเรา เราได้รับการรักษาโดยการทิ้งนิสัยและวิถีชีวิตที่ทำให้ใจเราแข็งกระด้างและดื้อรั้น เมื่อเราวาง “อาวุธแห่งการกบฏ [ของเราเอง]” (แอลมา 23: 7) เราเป็น “ผู้มีสิทธิ์เสรี[ของเราเอง]” (คพ. 58:28) อย่างแท้จริง ไม่มืดบอดอยู่ในกลลวงของซาตานอีกต่อไปหรืองงงวยกับเสียงอึกทึกของความรู้ฝ่ายโลกอีกต่อไป

เมื่อเรากลับใจและเปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่พระเจ้า เราหายเป็นปกติ ความรู้สึกผิดของเราถูกลบล้างออกไป เราอาจสงสัยเช่นเดียวกับอีนัสว่า “นี่เป็นไปได้อย่างไรหรือ?” พระเจ้าทรงตอบ “เพราะศรัทธาของเจ้าในพระคริสต์ … ดังนั้น, จงไปเถิด, ศรัทธาของเจ้าทำให้เจ้าสมบูรณ์แล้ว” (อีนัส 1:7, 8)

คอรี เทน บูม สตรีคริสตศาสนิกชนชาวดัดช์ผู้อุทิศตน ได้ค้นพบการรักษาดังกล่าวแม้ว่าจะถูกจับเป็นเชลยในค่ายกักกันระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอต้องทนทุกข์อย่างใหญ่หลวง แต่ไม่เหมือนพี่สาวที่รักของเธอ เบทซี่ ที่ถูกสังหารในอีกค่ายหนึ่ง คอรีรอดชีวิต

หลังสงคราม เธอได้เล่าประสบการณ์ของเธอต่อสาธารณชนหลายครั้งถึงเรื่องการรักษาและการให้อภัย มีอยู่ครั้งหนึ่งอดีตยามนาซีผู้ที่เป็นต้นเหตุให้คอรีถูกคุมขังอย่างทุกข์ทรมานในราเวนเบิร์ก เยอรมันนี ได้เข้ามาหาเธอและชื่นชมข่าวสารเกี่ยวกับการให้อภัยและความรักของพระคริสต์ที่เธอพูด

“ผมทราบซึ้งในข่าวสารของคุณ ฟรอเลียน” เขาพูด ‘ตามที่คุณพูด ผมคิดว่าพระองค์ชำระล้างบาปของผมไปแล้ว!’

“เขายื่นมือที่หยาบกร้านมาสัมผัสมือกับดิฉัน” คอรีเล่า “และดิฉัน ผู้ซึ่งสั่งสอน …เรื่องความจำเป็นของการให้อภัยอยู่บ่อยๆ ปล่อยมือลงข้างกาย”

“แม้จะโกรธ และความคิดพยาบาทเพิ่มขึ้น ดิฉันมองเห็นบาปเหล่านั้น … พระเยซูเจ้า ดิฉันสวดอ้อนวอน โปรดทรงให้อภัยข้าพระองค์ด้วยและโปรดช่วยข้าพระองค์ให้อภัยเขาด้วยเถิด

“ดิฉันฝืนยิ้ม [และ] พยายามอย่างยิ่งที่จะยกมือขึ้น ดิฉันทำไม่ได้ ไม่มีแต่ประกายของความอบอุ่นหรือจิตกุศล และดิฉันก็หายใจลึกๆ อีกครั้งและสวดอ้อนวอนในใจ ข้าแต่พระเยซู ข้าพระองค์ให้อภัยเขาไม่ได้ ขอประทานการให้อภัยของพระองค์แก่ข้าพระองค์เถิด

“ขณะที่ดิฉันจับมือของเขาได้มีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้น ดูเหมือนว่าความรักอันท่วมท้นที่มีต่อชายแปลกหน้าคนนี้ได้หลั่งไหลออกจากหัวใจผ่านหัวไหล่ลงไปยังแขนของดิฉันผ่านไปยังตัวเขา

“และดิฉันได้ค้นพบว่าไม่ใช่การให้อภัยของเราบนความดีงามที่รักษาโลกใบนี้แต่เป็นของพระองค์ เมื่อพระองค์บอกให้เรารักศัตรูของเรา พระองค์ทรงมอบความรักของพระองค์เองควบคู่ไปกับพระบัญชา”1

คอรี เทน บูมหายเป็นปกติแล้ว

ประธานโธมัส เอส. มอนสันกล่าวไว้ว่า “มีชีวิตหนึ่งที่สนับสนุนผู้ที่กำลังลำบากหรือกำลังแบกภาระของความเศร้าโศกและปวดร้าว—แม้พระเจ้าพระเยซูคริสต์”2

หากท่านรู้สึกไม่สะอาด ไม่เป็นที่รัก ไม่มีความสุข ไม่มีค่าควร หรือไม่บริสุทธิ์ จงจำไว้ว่า “ความอยุติธรรมทั้งหลายในชีวิตจะได้รับการแก้ไขโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์”3 จงมีศรัทธาและอดทนต่อเวลาและพระประสงค์ของพระผู้ให้รอดสำหรับท่าน “อย่าวิตกเลย จงเชื่อเท่านั้น” (มาระโก 5:36)

ให้มั่นใจว่าพระผู้ช่วยให้รอดยังแสวงหาที่จะซ่อมแซมจิตวิญญาณท่านและรักษาจิตใจของเรา พระองค์ทรงรอคอยอยู่ที่ประตูและเคาะ ขอให้เราต้อนรับพระองค์ด้วยการเริ่มต้นอีกครั้งที่จะสวดอ้อนวอน กลับใจ ให้อภัย และลืม ขอให้เรารักพระผู้เป็นเจ้าและรับใช้เพื่อนบ้านของเราและยืนในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยชีวิตที่ชำระสะอาดแล้ว คนป่วยที่สระน้ำเบธซาธา คนเป็นเรื้อนตามเส้นทางสู่เยรูซาเล็ม และคอรี เทน บูมหายเป็นปกติ “ท่านอยากจะหายเป็นปกติหรือเปล่า? จงลุกขึ้น และเดิน “การมีพระคุณของพระองค์ก็เพียงพอแล้ว” (2 โครินธ์ 12:9) และท่านจะไม่เดินตามลำพัง

ข้าพเจ้ารู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์ ข้าพเจ้ารู้ว่าเราทุกคนเป็นลูกของพระองค์และพระองค์ทรงรักเราดังที่เราเป็นอยู่และดังที่เราจะเป็น ข้าพเจ้ารู้ว่าพระองค์ทรงส่งพระบุตรของพระองค์ลงมายังโลกเพื่อพลีพระชนม์ชีพเพื่อชดใช้ให้แก่มนุษยชาติทั้งปวง และแก่ผู้เต็มใจยอมรับพระกิตติคุณของพระองค์และติดตามพระองค์จะหายเป็นปกติและสมบูรณ์—“​ใน​เวลา​ของ​พระองค์​เอง, และ​ใน​วิธีการ​ของ​พระองค์​เอง, และ​ตาม​พระ​ประสงค์​ของ​พระองค์​เอง.” (คพ. 88:68) ด้วยพระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระองค์ นี่คือพยานของข้าพเจ้าถึงท่านในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. คอรี เทน บูม, The Hiding Place (1971), 215;

  2. โธมัส เอส. มอนสัน, “Meeting Life’s Challenges,” Ensign, พ.ย. 1993, 71.

  3. สั่งสอนกิตติคุณของเรา : แนวทางการรับใช้งานเผยแผ่ศาสนา (2004), 54.