2010–2019
ห้ามมีพระผู้เป็นเจ้าอื่น
ตุลาคม 2013


ห้ามมีพระผู้เป็นเจ้าอื่น

เรากำลังปรนนิบัติสิ่งสำคัญหรือพระผู้เป็นเจ้าเหล่านั้นก่อนพระผู้เป็นเจ้าที่เราประกาศว่านมัสการหรือไม่

พระบัญญัติสิบประการเป็นรากฐานของศาสนาคริสต์และศาสนายิว พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ลูกหลานอิสราเอลผ่านศาสดาพยากรณ์โมเสส พระบัญญัติสองข้อแรกมุ่งเน้นการนมัสการและลำดับความสำคัญของเรา ในข้อแรกพระเจ้าทรงบัญชาว่า “ห้ามมีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา” (อพยพ 20:3) หลายศตวรรษต่อมา เมื่อมีคนหนึ่งถามพระเยซูว่า “พระบัญญัติข้อไหนสำคัญที่สุด” พระองค์ตรัสตอบว่า “จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่านด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน” (มัทธิว 22:36–37)

พระบัญญัติข้อสองในสิบข้อนั้นให้รายละเอียดเกี่ยวกับคำแนะนำห้ามมีพระผู้เป็นเจ้าอื่นและระบุสิ่งที่ควรมีความสำคัญสูงสุดในชีวิตลูกๆ ของพระผู้เป็นเจ้า “ห้ามทำรูปเคารพสำหรับตน เป็นรูปสิ่งใด” ในฟ้าเบื้องบนหรือบนแผ่นดินโลก (อพยพ 20:4) จากนั้นพระบัญญัติเพิ่มเติมว่า “ห้ามกราบไหว้หรือปรนนิบัติรูปเหล่านั้น” (อพยพ 20:5) ไม่เพียงห้ามรูปเคารพทางวัตถุเท่านั้น แต่ข้อนี้กล่าวถึงลำดับความสำคัญขั้นพื้นฐานด้วย พระเยโฮวาห์ทรงอธิบายว่า “เพราะเราคือพระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า เป็นพระเจ้าที่หวงแหน … แต่แสดงความรัก … ต่อคนที่รักเรา และรักษาบัญญัติของเรา” (อพยพ 20:5–6) ความหมายของ หวงแหน คือเผยให้รู้ รากศัพท์ภาษาฮีบรูของคำนี้หมายถึง “มีความรู้สึกลึกซึ้งและละเอียดอ่อน” (อพยพ 20:5 ดู เชิงอรรถ ในพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาอังกฤษ) ดังนั้นเราทำให้พระผู้เป็นเจ้าขุ่นเคืองเมื่อเรา “ปรนนิบัติ” พระผู้เป็นเจ้าอื่น—เมื่อเราให้ลำดับความสำคัญอื่นๆ มาก่อน1

I.

ลำดับความสำคัญอื่นๆ อะไรบ้างที่คนเรา—แม้แต่คนเคร่งศาสนา—ก็ “ปรนนิบัติ” ก่อนพระผู้เป็นเจ้า—ในสมัยของเรา ลองพิจารณาความเป็นไปได้เหล่านี้ที่พบเห็นทั่วไปในโลก:

  • วัฒนธรรมและประเพณีครอบครัว

  • ความถูกต้องทางการเมือง

  • ความมุ่งหวังด้านอาชีพ

  • ทรัพย์สินทางโลก

  • การหาความบันเทิง

  • อำนาจ ชื่อเสียง และบารมี

ถ้าตัวอย่างเหล่านี้ใช้กับเราไม่ได้ เราอาจจะเสนอตัวอย่างอื่นที่ปรับใช้กับเราได้ แต่หลักธรรมสำคัญกว่าตัวอย่าง หลักธรรมไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีลำดับความสำคัญอื่นๆ หรือไม่ คำถามที่พระบัญญัติข้อสองถามคือ “อะไรคือลำดับความสำคัญ สูงสุด ของเรา” เรากำลังปรนนิบัติสิ่งสำคัญหรือพระผู้เป็นเจ้าเหล่านั้นก่อนพระผู้เป็นเจ้าที่เราประกาศว่านมัสการหรือไม่ เราลืมที่จะทำตามพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงสอนว่าถ้าเรารักพระองค์ เราจะรักษาพระบัญญัติของพระองค์หรือไม่ (ดู ยอห์น 14:15) หากเป็นเช่นนั้นแสดงว่าความเฉื่อยชาทางวิญญาณและความอยากตามอำเภอใจที่พบเห็นทั่วไปในสมัยของเราทำให้เราจัดลำดับความสำคัญผิดด้าน

II.

สำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายแล้ว พระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าตั้งอยู่บนและแยกไม่ออกจากแผนของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับลูกๆ พระองค์---แผนอันสำคัญยิ่งแห่งความรอด แผนนี้ บางครั้งเรียกว่า “แผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุข” (แอลมา 42:8) อธิบายต้นกำเนิดและจุดหมายของเรา ลูกๆ พระผู้เป็นเจ้า---เรามาจากไหน เราอยู่ที่นี่ทำไม และเราจะไปที่ไหน แผนแห่งความรอดอธิบายจุดประสงค์ของการสร้างและสภาพของความเป็นมรรตัย รวมถึงพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ความจำเป็นที่ต้องมีพระผู้ช่วยให้รอด และบทบาทสำคัญยิ่งของครอบครัวในมรรตัยและนิรันดร หากเราเหล่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้ได้รับความรู้นี้ ไม่จัดลำดับความสำคัญของเราตามแผนนั้น เราย่อมอยู่ในอันตรายของการปรนนิบัติพระผู้เป็นเจ้าอื่น

ความรู้เรื่องแผนของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับลูกๆ พระองค์ให้มุมมองไม่เหมือนใครแก่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายเกี่ยวกับการแต่งงานและครอบครัว เป็นที่รู้กันอย่างถูกต้องว่าศาสนจักรเรามีครอบครัวเป็นศูนย์กลาง คำสอนของศาสนาเราเริ่มต้นด้วยบิดามารดาบนสวรรค์ ความมุ่งหวังสูงสุดของเราคือได้รับความสมบูรณ์แห่งความสูงส่งนิรันดร์ เรารู้ว่าสิ่งนี้เป็นไปได้ในความสัมพันธ์ฉันครอบครัวเท่านั้น เรารู้ว่าการแต่งงานของชายหญิงจำเป็นต่อการทำให้แผนของพระผู้เป็นเจ้าบรรลุผล การแต่งงานนี้เท่านั้นจะเตรียมสภาพที่สมควรกับการเกิดและเตรียมสมาชิกครอบครัวให้พร้อมรับชีวิตนิรันดร์ เราถือว่าการแต่งงาน การให้กำเนิด และการเลี้ยงดูบุตรธิดาเป็นส่วนหนึ่งในแผนของพระผู้เป็นเจ้า และเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของผู้ได้รับโอกาสให้ทำเช่นนั้น เราเชื่อว่าสมบัติล้ำค่าที่สุดบนแผ่นดินโลกและในสวรรค์คือบุตรธิดาและลูกหลานของเรา

III.

เพราะสิ่งที่เราเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทนิรันดร์ของครอบครัว เราจึงเศร้าใจกับจำนวนการเกิดและการแต่งงานที่ลดลงมากในประเทศฝั่งตะวันตกส่วนใหญ่ซึ่งผู้คนนับถือศาสนาคริสต์และศาสนายิวมาตลอด แหล่งรับผิดชอบรายงานดังนี้:

  • ปัจจุบันสหรัฐมีอัตราการเกิดต่ำสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ2 อัตราการเกิดในหลายประเทศของสหภาพยุโรปและประเทศพัฒนาแล้วอีกหลายประเทศต่ำกว่าระดับที่จำเป็นต่อการรักษาระดับประชากรไว้3 สิ่งนี้คุกคามความอยู่รอดของวัฒนธรรมและแม้ของประเทศชาติ

  • ในอเมริกา เปอร์เซ็นต์ของคนหนุ่มสาวอายุ 18 ถึง 29 ปีที่แต่งงานลดจาก 59 เปอร์เซ็นต์ในปี 1960 เป็น 20 เปอร์เซ็นต์ในปี 20104 ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของการแต่งงานครั้งแรกอยู่ที่ระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์คือ 26 ปีสำหรับผู้หญิง และเกือบ 29 ปีสำหรับผู้ชาย5

  • ในหลายประเทศหลายวัฒนธรรม (1) ครอบครัวแบบดั้งเดิมที่บิดามารดาแต่งงานกันและมีบุตรกำลังเป็นข้อยกเว้นมากกว่ากฎ (2) การประกอบอาชีพแทนการแต่งงานและการให้กำเนิดบุตรเป็นสิ่งที่หญิงสาวจำนวนมากเลือกทำมากขึ้น และ (3) บทบาทและความจำเป็นของบิดาลดน้อยลง

ท่ามกลางแนวโน้มที่น่ากังวลเหล่านี้ เรายังคงสำนึกว่าแผนของพระผู้เป็นเจ้ามีไว้สำหรับลูกทุกคนของพระองค์และพระผู้เป็นเจ้าทรงรักลูกทุกคนของพระองค์ทุกแห่งหน6 พระคัมภีร์มอรมอนบทที่หนึ่งประกาศว่า “เดชานุภาพ [ของพระผู้เป็นเจ้า], และพระคุณความดี, และพระเมตตาอยู่เหนือผู้อยู่อาศัยทั้งปวงของแผ่นดินโลก” (1 นีไฟ 1:14) บทหลังๆ ประกาศว่า “พระองค์ประทาน [ความรอดของพระองค์] ให้มนุษย์ทั้งปวงเปล่าๆ” และ “มนุษย์ทั้งปวงได้รับอภิสิทธิ์ คนหนึ่งเหมือนกับอีกคนหนึ่ง, และไม่มีใครถูกห้าม” (2 นีไฟ 26:27–28) ด้วยเหตุนี้ พระคัมภีร์จึงสอนว่าเรามีหน้าที่ต้องเห็นอกเห็นใจและมีจิตกุศล (รัก) คนทั้งปวง (ดู 1 เธสะโลนิกา 3:12; 1 ยอห์น 3:17; คพ. 121:45)

IV.

เราเคารพความเชื่อทางศาสนาของคนทุกคนเช่นกัน แม้แต่คนไม่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าที่นับวันจะเพิ่มขึ้น เรารู้ว่าโดยผ่านอำนาจการเลือกที่พระผู้เป็นเจ้าประทาน หลายคนจะมีความเชื่อขัดกับของเรา แต่เราหวังว่าคนอื่นจะเคารพความเชื่อทางศาสนาของเราทัดเทียมกันและเข้าใจว่าความเชื่อของเราผลักดันให้เราต้องเลือกและประพฤติบางอย่างต่างจากพวกเขา ตัวอย่างเช่น เราเชื่อว่า ส่วนจำเป็นของแผนแห่งความรอดคือ พระผู้เป็นเจ้าทรงวางมาตรฐานนิรันดร์ว่าความสัมพันธ์ทางเพศควรเกิดขึ้นระหว่างชายหญิงที่แต่งงานกันเท่านั้น

อำนาจการสร้างชีวิตมรรตัยเป็นอำนาจสูงส่งที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ลูกๆ ของพระองค์ เราใช้อำนาจดังกล่าวตามพระบัญชาครั้งแรกที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่อาดัมและเอวา (ดู ปฐมกาล 1:28) แต่พระองค์ประทานพระบัญญัติสำคัญข้ออื่นเพื่อห้ามไม่ให้ใช้อำนาจนี้อย่างผิดๆ (ดู อพยพ 20:14; 1 เธสะโลนิกา 4:3) เราเน้นเรื่องกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศเพราะเราเข้าใจจุดประสงค์ของอำนาจการให้กำเนิดในการทำให้แผนของพระผู้เป็นเจ้าบรรลุผล การใช้อำนาจการให้กำเนิดทั้งหมดนอกพันธะของการแต่งงานระหว่างชายหญิงถือเป็นบาประดับหนึ่งและขัดกับแผนของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความสูงส่งของลูกๆ พระองค์

ความสำคัญที่เราให้กับกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศอธิบายความมุ่งมั่นของเราในการทำตามแบบแผนการแต่งงานที่เริ่มจากอาดัมและเอวา และต่อเนื่องมายาวนาน อันเป็นแบบแผนของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างบุตรธิดาของพระองค์ในการให้กำเนิดและเลี้ยงดูลูกๆ ของพระองค์ โชคดีที่ผู้นับถือนิกายอื่นหรือองค์กรอื่นจำนวนมากเห็นด้วยกับเราในเรื่องธรรมชาติและความสำคัญของการแต่งงาน บางคนเห็นด้วยกับพื้นฐานของหลักคำสอนด้านศาสนา และคนอื่นๆ เห็นด้วยกับพื้นฐานของสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าดีที่สุดสำหรับสังคม

ความรู้ของเราเรื่องแผนของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับลูกๆ พระองค์7 อธิบายว่าเหตุใดเราจึงหดหู่ใจที่มีเด็กเกิดนอกสมรสมากขึ้นเรื่อยๆ---ปัจจุบัน 41 เปอร์เซ็นต์ของการเกิดทั้งหมดในสหรัฐ8---และจำนวนชายหญิงที่อยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ห้าทศวรรษที่แล้ว เปอร์เซ็นต์การอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานครั้งแรกมีเพียงน้อยนิด ปัจจุบันการอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานมีมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์9 และคนทั่วไปยอมรับเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น ข้อมูลการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าวัยรุ่นประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์บอกว่าการให้กำเนิดบุตรนอกสมรสเป็น “วิถีชีวิตที่คุ้มค่า”10

V.

มีแรงกดดันมากมายทางการเมืองและสังคมให้เปลี่ยนกฎหมายและนโยบายเพื่อกำหนดพฤติกรรมขัดกับประกาศิตของพระผู้เป็นเจ้าเกี่ยวกับศีลธรรมทางเพศ และขัดกับธรรมชาตินิรันดร์และจุดประสงค์ของการแต่งงานและการให้กำเนิด แรงกดดันเหล่านี้อนุญาตให้คนหลายรัฐหลายประเทศแต่งงานกับเพศเดียวกัน แรงกดดันอื่นทำให้สับสนเรื่องเพศหรือเปลี่ยนความต่างระหว่างชายหญิงซึ่งจำเป็นต่อการทำให้แผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุขบรรลุผลเป็นความเหมือน

การเข้าใจแผนของพระผู้เป็นเจ้าและหลักคำสอนของพระองค์ให้มุมมองนิรันดร์ที่ไม่ยอมให้เราประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นหรือหาข้ออ้างในกฎหมายที่อนุญาตให้ทำ และไม่เหมือนองค์กรอื่นที่สามารถเปลี่ยนนโยบายแม้กระทั่งหลักคำสอนได้ นโยบายของเรากำหนดโดยความจริงที่พระผู้เป็นเจ้าทรงระบุว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

หลักแห่งความเชื่อข้อสิบสอง กล่าวว่าเราเชื่อในการอยู่ใต้อาณัติของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง “ในการเชื่อฟัง, การยกย่อง, และการสนับสนุนกฎหมาย” แต่กฎหมายของมนุษย์ไม่สามารถทำให้สิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประกาศว่าผิดศีลธรรมกลายเป็นถูกศีลธรรมได้ การยึดลำดับความสำคัญสูงสุดของเรา---รักและปรนนิบัติพระผู้เป็นเจ้า---เรียกร้องให้เราถือว่ากฎของพระองค์เป็นมาตรฐานความประพฤติของเรา ตัวอย่างเช่น เรายังอยู่ใต้บัญชาสวรรค์ไม่ให้ล่วงประเวณีหรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานแม้ว่ากฎหมายของรัฐหรือของประเทศที่เราอาศัยอยู่ถือว่าการกระทำเหล่านั้นไม่ผิด ทำนองเดียวกันกฎหมายที่อนุญาตให้ “แต่งงานกับเพศเดียวกัน” ไม่ได้เปลี่ยนกฎการแต่งงานของพระผู้เป็นเจ้าหรือพระบัญญัติของพระองค์และมาตรฐานของเราเกี่ยวกับเรื่องนั้น เรายังคงอยู่ภายใต้พันธสัญญาว่าจะรักพระผู้เป็นเจ้า รักษาพระบัญญัติ ละเว้นจากการปรนนิบัติพระผู้เป็นเจ้าอื่นและสิ่งสำคัญอื่นใด---แม้กระทั่งคนมีชื่อเสียงในยุคสมัยที่เราอยู่

ในความแน่วแน่เช่นนี้ คนอื่นอาจเข้าใจเราผิด และเราอาจถูกกล่าวหาว่าดื้อรั้น หัวแข็ง เลือกปฏิบัติ หรือต้องทนต่อการรุกล้ำการนับถือศาสนาของเราอย่างเสรี หากเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าเราควรจดจำความสำคัญอันดับแรกของเรา---ปรนนิบัติพระผู้เป็นเจ้า---และเช่นเดียวกับผู้บุกเบิกก่อนหน้าเรา จงดันรถลากของตัวเราไปข้างหน้าด้วยความทรหดเหมือนพวกท่านเหล่านั้น

คำสอนของประธานโธมัส เอส. มอนสันปรับใช้กับสภาวการณ์นี้ได้ ที่การประชุมใหญ่เมื่อ 27 ปีก่อน ท่านประกาศอย่างองอาจว่า “ขอให้เรากล้าคัดค้านประชามติ กล้ายึดมั่นหลักธรรม ความกล้า ไม่ใช่การคล้อยตาม ทำให้พระผู้เป็นเจ้าทรงแย้มสรวลเห็นชอบ ความกล้ากลายเป็นการดำเนินชีวิตและคุณธรรมดึงดูดใจเมื่อเราถือว่าความกล้าไม่ใช่แค่การยอมตายอย่างลูกผู้ชาย แต่คือการตั้งใจดำเนินชีวิตให้ถูกทำนองคลองธรรม คนขี้ขลาดทางศีลธรรมคือคนขี้กลัวไม่กล้าทำสิ่งที่ตนคิดว่าถูกต้องเพราะเกรงคนอื่นจะไม่เห็นด้วยหรือหัวเราะ จำไว้ว่าทุกคนมีความกลัว แต่คนที่เผชิญความกลัวอย่างสง่าผ่าเผยมีความกล้าเช่นกัน”11

ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้เราอย่าปล่อยให้เรื่องท้าทายชั่วคราวของความเป็นมรรตัยเป็นเหตุให้เราลืมพระบัญญัติข้อใหญ่และลำดับความสำคัญที่พระผู้สร้างและพระผู้ช่วยให้รอดของเราประทานแก่เรา เราต้องไม่ให้ใจเราหมกมุ่นกับสิ่งของทางโลกและมุ่งหวังเกียรติของมนุษย์ (ดู คพ. 121:35) จนเราหยุดพยายามที่จะไปถึงจุดหมายนิรันดร์ เราผู้รู้จักแผนของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับลูกๆ พระองค์---เราผู้ได้ทำพันธสัญญาว่าจะมีส่วนในแผนนั้น---มีความรับผิดชอบชัดเจน เราต้องไม่เบี่ยงเบนจากความปรารถนาสูงสุดของเรา ซึ่งคือบรรลุชีวิตนิรันดร์12 เราต้องไม่เจือจางความสำคัญอันดับแรกของเรา---ห้ามมีพระผู้เป็นเจ้าอื่นและไม่ปรนนิบัติสิ่งสำคัญอื่นก่อนพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์

ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยให้เราเข้าใจลำดับความสำคัญดังกล่าวและช่วยให้คนอื่นเข้าใจขณะที่เราพยายามทำตามนั้นอย่างฉลาดและด้วยความรัก ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. ดูตัวอย่างใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:84.

  2. ดู จอยซ์ เอ. มาร์ตินและคนอื่นๆ, “Births: Final Data for 2011,” National Vital Statistics Reports, vol. 62, no. 1 (June 28, 2013), 4; Gloria Goodale, “Behind a Looming Baby Bust,” Christian Science Monitor Weekly, Feb. 4, 2013, 21, 23.

  3. ดู Population Reference Bureau, “2012 World Population Data Sheet,” www.prb.org/Publications/Datasheets/2012/world-population-data-sheet/data-sheet.aspx.

  4. ดู D’Vera Cohn and others, “Barely Half of U.S. Adults Are Married—a Record Low,” Pew Research Center, Social and Demographic Trends, Dec. 14, 2011, ดูได้ที่ www.pewsocialtrends.org/2011/12/14/barely-half-of-u-s-adults-are-married-a-record-low; “Rash Retreat from Marriage,” Christian Science Monitor, Jan. 2 and 9, 2012, 34.

  5. U.S. Census Bureau, “Estimated Median Age at First Marriage, by Sex: 1890 to Present,” ดูได้ที่ www.census.gov/population/socdemo/hh-fam/ms2.xls.

  6. ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “มนุษย์ทั้งปวงทุกแห่งหน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 93–98.

  7. ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “The Great Plan of Happiness,” Ensign, Nov. 1993, 72–75.

  8. ดู มาร์ติน, “Births: Final Data for 2011,” 4.

  9. ดู The State of Our Unions: Marriage in America, 2012 (2012), 76.

  10. ดู The State of Our Unions, 101, 102.

  11. โธมัส เอส. มอนสัน, “Courage Counts,” Ensign, พ.ย. 1986, 41.

  12. ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ความปรารถนา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 53–57.