2010–2019
แผนและถ้อยแถลง
ตุลาคม 2017


แผนและถ้อยแถลง

ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวเป็นการที่พระเจ้าทรงเน้นย้ำอีกครั้งถึงความจริงพระกิตติคุณที่เราต้องการเพื่อจะค้ำจุนเราตลอดความท้าทายในปัจจุบันที่เกิดกับครอบครัว

จากถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวของเรา เห็นได้ชัดว่าสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายได้รับพรด้วยหลักคำสอนที่ไม่เหมือนใครและวิธีที่แตกต่างในการมองโลก เรามีส่วนร่วมและแม้แต่เป็นเลิศในกิจกรรมของโลกหลายๆ ด้าน แต่ในบางเรื่องเราสละสิทธิ์เมื่อเราทำตามคำสอนของพระเยซูคริสต์และอัครสาวกของพระองค์ ทั้งในสมัยโบราณและปัจจุบัน

I.

ในอุปมาเรื่องหนึ่ง พระเยซูทรงบรรยายถึงคนเหล่านั้นที่ “ได้ฟังพระวจนะ” แต่กลับ “ไม่เกิดผล” เมื่อพระวจนะนั้นถูก “รัด” ด้วย “ความกังวลของโลก และการล่อลวงของทรัพย์สมบัติ” (มัทธิว 13:22). ต่อมา พระเยซูทรงตำหนิเปโตรที่ไม่ได้คิด “อย่างพระเจ้า แต่ … คิดอย่างมนุษย์” โดยประกาศว่า “เพราะ​เขา​จะ​ได้​ประ‌โยชน์​อะไร ถ้า​ได้​สิ่ง‍ของ​หมด​ทั้ง‍โลก​แต่​ต้อง​เสีย​ชีวิต​ของ​ตน?” (มัทธิว 16:23, 26). ในคำสอนสุดท้ายของพระองค์ในพระชนม์ชีพมรรตัย พระองค์ตรัสกับอัครสาวกว่า “ถ้า​พวก‍ท่าน​เป็น​ของ​โลก โลก​ก็​ย่อม​จะ​รัก​คน​ที่​เป็น​ของ​โลก​เอง แต่​เพราะ​ท่าน​ไม่‍ได้​เป็น​ของ​โลก…โลก​จึง​เกลียด‍ชัง​ท่าน” (ยอห์น 15:19; ดู ยอห์น 17:14, 16 ด้วย).

เช่นเดียวกัน งานเขียนของอัครสาวกรุ่นแรกของพระเยซูมักจะใช้รูปลักษณ์ของ “โลก” เพื่อแสดงถึงสิ่งตรงกันข้ามกับคำสอนพระกิตติคุณ “อย่า​ลอก‍เลียน‍แบบ​อย่าง​คน​ใน​ยุค‍นี้” (โรม 12:2), อัครสาวกเปาโลสอนว่า “เพราะว่าปัญญาของโลกนี้ เป็นความโง่ในสายพระเนตรของพระเจ้า” (1 โครินธ์ 3:19). ท่านเตือนว่า “จงระวังให้ดี อย่า​ให้​ใคร​ทำ​ให้​พวก‍ท่าน​ตก​เป็น​ทาส​ … ​ตาม​ตำ‍นาน​ของ​มนุษย์ ตาม​พวก​ภูต‍ผี​ที่​ครอบ‍งำ​ของจักรวาล ไม่‍ใช่​ตาม​พระ‍คริสต์” (โคโลสี 2:8). อัครสาวกยากอบสอนว่า “การ​เป็น​มิตร​กับ​โลก​นั้น​คือ​การ​เป็น​ศัตรู​กับ​พระ‍เจ้า … เพราะฉะนั้น ใคร​ก็​ตาม​ที่​ต้อง‍การ​เป็น​มิตร​กับ​โลก ก็​ตั้ง‍ตัว​เป็น​ศัตรู​กับ​พระ‍เจ้า” (ยากอบ 4:4).

พระคัมภีร์มอรมอนใช้รูปลักษณ์สิ่งตรงกันข้ามของ “โลก” บ่อยครั้ง นีไฟพยากรณ์ถึงการทำลายล้างในท้ายที่สุดของ “คนเหล่านั้นที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่นิยมในสายตาของโลก, และคนเหล่านั้นที่แสวงหา…สิ่งต่างๆ ของโลก” (1 นีไฟ 22:23; ดู 2 นีไฟ 9:30 ด้วย). แอลมาประณามคนเหล่านั้นที่ “ผยอง…กับสิ่งไร้ประโยชน์ของโลก” (แอลมา 31:27). ความฝันของลีไฮแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านั้นที่พยายามเดินตามราวเหล็ก พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า จะพบกับสิ่งตรงกันข้ามของโลก ผู้อยู่ใน “อาคารใหญ่และกว้าง” ซึ่งลีไฮเห็นว่ากำลัง “ล้อเลียนและชี้” “นิ้วเยาะเย้ย” (1 นีไฟ 8:26–27, 33). ในการตีความนิมิตเกี่ยวกับความฝันนี้ นีไฟเรียนรู้ว่าการเยาะเย้ยและการตรงกันข้ามนี้มาจาก“ฝูงชนของแผ่นดินโลก, …โลกและปัญญาของโลก…ความหยิ่งจองหองของโลก” (1 นีไฟ 11:34–36).

ภาพ
ภาพประธานโธมัสเอส. มอนสัน

คำเตือนจากพระคัมภีร์และพระบัญชาเหล่านี้ที่ไม่ให้เป็น “ของโลก” หรือพระบัญชาในปัจจุบันที่ให้ “ละทิ้งโลก” (คพ. 53:2). หมายความว่าอย่างไร ประธานโธมัส เอส. มอนสันสรุปคำสอนเหล่านี้ไว้ว่า “เราต้องตื่นตัวเสมอในโลกที่ออกห่างจากเรื่องทางวิญญาณ เราจำเป็นต้องปฏิเสธสิ่งใดก็ตามที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของเรา โดยไม่ยอมทิ้งสิ่งซึ่งเราปรารถนามากที่สุด นั่นคือ ชีวิตนิรันดร์ในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า”1

พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างโลกนี้ตามแผนของพระองค์เพื่อให้บุตรธิดาทางวิญญาณของพระองค์มีสถานที่รับประสบการณ์ของความเป็นมรรตัยในฐานะเป็นขั้นตอนสำคัญสู่รัศมีภาพที่พระองค์ทรงประสงค์ให้บุตรธิดาทุกคนของพระองค์ได้รับ ถึงแม้จะมีอาณาจักรและรัศมีภาพหลายระดับ แต่ความปรารถนาสูงสุดที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีให้บุตรธิดาของพระองค์คือสิ่งที่ประธานมอนสันเรียกว่า “ชีวิตนิรันดร์ในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งได้แก่ความสูงส่งในครอบครัว สิ่งนี้เป็นมากกว่าความรอด ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเตือนเราว่า “ในแผนนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้า ความรอดเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล [แต่] ความสูงส่งเป็นเรื่องของครอบครัว”2

พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์และถ้อยแถลงที่ได้รับการดลใจเรื่องครอบครัว ซึ่งข้าพเจ้าจะสนทนาในภายหลัง เป็นคำสอนสำคัญยิ่งในการนำทางและเตรียมตัวในชีวิตมรรตัยเพื่อรับความสูงส่ง แม้ว่าเราต้องดำเนินชีวิตอยู่กับกฎหมายว่าด้วยการสมรสและขนบประเพณีอื่นๆ ของโลกที่กำลังเสื่อมทราม แต่คนเหล่านั้นที่พยายามแสวงหาความสูงส่งต้องทำการเลือกส่วนตัวในชีวิตครอบครัวตามทางของพระเจ้าเมื่อใดก็ตามที่สิ่งนั้นแตกต่างจากวิถีของโลก

ในชีวิตมรรตัยนี้ เราไม่มีความทรงจำถึงเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนเราเกิด และปัจจุบันนี้เรากำลังประสบกับการตรงกันข้าม เราเติบโตและมีวุฒิภาวะทางวิญญาณโดยการเลือกเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าในการเลือกที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้รวมถึงพันธสัญญา ศาสนพิธี และการกลับใจเมื่อเราเลือกผิด ในทางกลับกัน หากเราไม่มีศรัทธาในแผนของพระผู้เป็นเจ้าและไม่เชื่อฟังหรือจงใจละเว้นจากการกระทำที่กำหนดไว้ เราสละสิทธิ์การเติบโตและวุฒิภาวะดังกล่าว พระคัมภีร์มอรมอนสอนว่า “ชีวิตนี้เป็นเวลาสำหรับมนุษย์ที่จะเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 34:32).

II.

วิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้เข้าใจแผนแห่งความรอดของพระผู้เป็นเจ้ามีมุมมองของโลกที่ไม่เหมือนใครซึ่งช่วยให้พวกเขาเห็นเหตุผลสำหรับพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ลักษณะที่ไม่เปลี่ยนแปลงของศาสนพิธีที่จำเป็นของพระองค์ และบทบาทสำคัญของพระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูคริสต์ การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยให้เราเอาชนะความตายและรอดจากบาปของเรา โดยขึ้นอยู่กับการกลับใจของเรา ด้วยมุมมองของโลกเช่นนั้น วิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีลำดับความสำคัญและธรรมเนียมปฏิบัติที่เด่นชัด ทั้งยังได้รับพรด้วยพลังที่จะอดทนต่อความผิดหวังและความเจ็บปวดของชีวิตมรรตัย

การกระทำของคนที่พยายามทำตามแผนแห่งความรอดของพระผู้เป็นเจ้าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือแม้แต่ขัดแย้งกับสมาชิกครอบครัวหรือมิตรสหายที่ไม่เชื่อในหลักธรรมของแผนนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความขัดแย้งเช่นนั้นจะมีอยู่เสมอ คนทุกรุ่นที่พยายามทำตามแผนของพระผู้เป็นเจ้ามีความท้าทายสารพัด ในสมัยโบราณ ศาสดาพยากรณ์อิสยาห์ให้กำลังแก่ชาวอิสราเอล ผู้ที่ท่านเรียกว่า “พวก‍เจ้าผู้รู้‍จักความชอบ‍ธรรม … ที่มีธรรม‍บัญญัติของเราอยู่ในใจ” ท่านกล่าวกับพวกเขาว่า “อย่ากลัวการเยาะ‍เย้ยของมนุษย์และอย่าวิตกต่อการถาก‍ถางของเขา” (อิสยาห์ 51:7; ดู 2 นีไฟ 8:7 ด้วย). แต่ไม่ว่าอะไรคือสาเหตุของความขัดแย้งกับคนที่ไม่เข้าใจหรือไม่เชื่อแผนของพระผู้เป็นเจ้า คนที่เข้าใจจะได้รับบัญชาให้เลือกทางของพระเจ้าแทนที่จะเลือกทางของโลกเสมอ

III.

แผนพระกิตติคุณที่แต่ละครอบครัวควรทำตามเพื่อเตรียมรับชีวิตนิรันดร์และความสูงส่งมีสรุปไว้ในถ้อยแถลงของศาสนจักรเมื่อปี 1995 ชื่อว่า “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”3 สิ่งที่ถ้อยแถลงประกาศไว้นั้น แน่นอนว่าแตกต่างชัดเจนจากกฎหมาย ขนบธรรมเนียม และการสนับสนุนในปัจจุบันของโลกที่เราอาศัยอยู่ ในสมัยของเรา ความแตกต่างที่เห็นชัดที่สุดคือการอยู่กินโดยไม่แต่งงาน การแต่งงานเพศเดียวกันและการเลี้ยงดูบุตรในความสัมพันธ์เช่นนั้น คนที่ไม่เชื่อในความสูงส่งหรือไม่ปรารถนาจะรับความสูงส่งและถูกชักจูงด้วยวิถีของโลกมากที่สุด พิจารณาว่าถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวฉบับนี้เป็นเพียงคำแถลงนโยบายที่ควรจะเปลี่ยนแปลง ในทางกลับกัน วิสุทธิชนยุคสุดท้ายยืนยันว่าถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวนิยามรูปแบบความสัมพันธ์ของครอบครัวที่ส่วนสำคัญที่สุดของการพัฒนานิรันดร์ของเราจะเกิดขึ้นได้

เราได้เห็นสาธารณชนยอมรับการอยู่กินโดยไม่แต่งงานและการแต่งงานเพศเดียวกันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การสนับสนุนของสื่อที่คล้อยตามกัน การศึกษา และแม้แต่ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับงานอาชีพสร้างความท้าทายที่ยากลำบากให้วิสุทธิชนยุคสุดท้าย เราต้องพยายามสร้างความสมดุลกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการทำตามกฎพระกิตติคุณในชีวิตส่วนตัวของเราและคำสอนแม้ขณะที่เราพยามยามแสดงความรักต่อทุกคน4 ในการทำเช่นนั้น บางครั้งเราต้องเผชิญแต่ไม่จำเป็นต้องกลัวสิ่งที่อิสยาห์เรียกว่า “​การ​เยาะ‍เย้ย​ของ​มนุษย์”

วิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสเชื่อว่าถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ที่ออกมาเกือบยี่สิบห้าปีแล้วและปัจจุับันมีแปลในหลายภาษามากมายนั้น เป็นการที่พระเจ้าทรงเน้นย้ำอีกครั้งถึงความจริงพระกิตติคุณที่เราต้องการเพื่อจะค้ำจุนเราตลอดความท้าทายในปัจจุบันที่เกิดกับครอบครัว ตัวอย่างทั้งสองคือการแต่งงานเพศเดียวกันและการอยู่กินโดยไม่แต่งงาน เพียง 20 ปีหลังจากถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ศาลสูงสุดของสหรัฐอนุญาตให้มีการแต่งงานเพศเดียวกันได้ ล้มล้างการสมรสของหลายพันปีที่จำกัดแค่ชายหนึ่งและหญิงหนึ่ง จำนวนเปอร์เซ็นต์ของเด็กในสหรัฐที่เกิดจากมารดาซึ่งไม่ได้แต่งงานกับบิดาค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ5 เปอร์เซ็นต์ในปี 19605 32 เปอร์เซ็นต์ในปี 19956 และเวลานี้มี 40 เปอร์เซ็นต์7

IV.

ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวเริ่มต้นโดยประกาศว่า “การแต่งงานระหว่างชายและหญิงได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้าและว่าครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนของพระผู้สร้างเพื่อจุดหมายปลายทางนิรันดร์ของบุตรธิดาของพระองค์” ถ้อยแถลงยังยืนยันด้วยว่า “เพศเป็นบุคลิกภาพสำคัญยิ่งของแต่ละบุคคลก่อนชีวิตมรรตัย ขณะมีชีวิตมรรตัย และเป็นเครื่องบ่งบอกอัตลักษณ์และจุดประสงค์นิรันดร์” ถ้อยแถลงประกาศต่อไป “ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาว่าอำนาจการสร้างอันศักดิ์สิทธิ์นั้นจะต้องใช้ระหว่างชายและหญิงผู้ซึ่งแต่งงานตามกฎหมายในฐานะสามีและภรรยาเท่านั้น”

ถ้อยแถลงยืนยันถึงหน้าที่ต่อเนื่องของสามีและภรรยาในการขยายเผ่าพันธุ์และเพิ่มพูนให้เต็มแผ่นดินโลกและ “ความรับผิดชอบสำคัญที่จะรักและดูแลกันรวมทั้งรักและดูแลบุตรธิดา” ของตน “เด็กมีสิทธิ์ถือกำเนิดภายในพันธะของการสมรสและได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาที่รักษาคำปฏิญาณของการแต่งงานด้วยความซื่อสัตย์อย่างแท้จริง” ถ้อยแถลงเตือนอย่างจริงจังถึงการกระทำทารุณกรรมต่อคู่ครองหรือบุตรหลานและยืนยันว่า “ความสุขในชีวิตครอบครัวส่วนมากจะสำเร็จได้เมื่อมีพื้นฐานบนคำสอนของพระเจ้าพระเยซูคริสต์” สุดท้าย ถ้อยแถลงเรียกร้องให้มีการส่งเสริมอย่างเป็นทางการถึง “มาตรการเหล่านั้นเพื่อธำรงและเสริมสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวในฐานะหน่วยพื้นฐานของสังคม”

ในปี 1995 ประธานศาสนจักรและอัครสาวกอีก 14 ท่านของพระเจ้าออกถ้อยแถลงหลักคำสอนสำคัญเหล่านี้ ในฐานะอัครสาวกคนหนึ่งในเจ็ดคนเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าจะเล่าว่าสิ่งใดนำไปสู่ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวฉบับนั้นสำหรับทุกคนที่อยากทราบข้อมูล

การดลใจที่บ่งบอกความจำเป็นสำหรับถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวมาสู่ผู้นำศาสนจักรเมื่อประมาณ 23 ปีที่แล้ว เป็นที่น่าประหลาดใจแก่บางคนผู้คิดว่าความจริงของหลักคำสอนเกี่ยวกับการแต่งงานและครอบครัวเป็นที่เข้าใจดีแล้วโดยไม่ต้องมีการแถลงซ้ำอีก8 กระนั้นก็ตาม เรารู้สึกถึงการยืนยัน เราจึงลงมือดำเนินการ สมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองระบุหัวข้อและสนทนาถึงหัวข้อต่างๆ เป็นเวลาเกือบหนึ่งปี มีการนำเสนอ ทบทวน และแก้ไขการใช้ภาษาสภาอัครสาวกสิบสองสวดอ้อนวอนวิงวอนขอการดลใจจากพระเจ้าว่าควรพูดอะไรและควรพูดอย่างไร เราทุกคนเรียนรู้ “เป็นบรรทัดมาเติมบรรทัด, กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์” ตามที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ (คพ. 98:12).

ภาพ
ภาพประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

ในระหว่างขั้นตอนของการเปิดเผยนี้ มีการนำเสนอต้นฉบับไปยังฝ่ายประธานสูงสุด ผู้ควบคุมดูแลและเผยแพร่คำสอนและหลักคำสอนศาสนจักร หลังจากฝ่ายประธานสูงสุดปรับเปลี่ยนบางอย่างเพิ่มเติมแล้ว ประธานศาสนจักร กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ได้ประกาศถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ในการประชุมสตรีวันที่ 23 กันยายน ปี 1995 ท่านแนะนำถ้อยแถลงด้วยถ้อยคำเหล่านี้ “ด้วยการอ้างเหตุผลมากมายจนหลอกให้คนยอมรับว่าเป็นความจริง ด้วยการหลอกลวงมากมายเกี่ยวกับมาตรฐานและค่านิยม ด้วยสิ่งยั่วยวนและสิ่งล่อใจมากมายให้ยอมรับความสกปรกโสมมที่เกิดขึ้นช้าๆ ของโลก เราจึงรู้สึกว่าต้องเตือนและเตือนล่วงหน้า”9

ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวเป็นคำแถลงความจริงนิรันดร์ พระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับบุตรธิดาของพระองค์ผู้แสวงหาชีวิตนิรันดร์ ถ้อยแถลงนี้เป็นพื้นฐานของคำสอนและธรรมเนียมปฏิบัติของศาสนจักรใน 22 ปีที่ผ่านมาและจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกในอนาคต จงพิจารณาว่าเป็นเช่นนั้น จงสอนและดำเนินชีวิตตามนั้น และท่านจะได้รับพรขณะที่ท่านรุดหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์

สี่สิบปีที่แล้ว ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันสอนว่า “คนทุกรุ่นมีการทดสอบและโอกาสให้อดทนและพิสูจน์ตนเอง”10 ข้าพเจ้าเชื่อว่าเจตคติของเราที่มีต่อถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวตลอดจนการใช้ถ้อยแถลงนั้นเป็นการทดสอบอย่างหนึ่งสำหรับคนรุ่นนี้ ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนเพื่อวิสุทธิชนยุคสุดท้ายทุกคนขอจงยืนหยัดอย่างมั่นคงในการทดสอบนั้น

ข้าพเจ้าทิ้งท้ายด้วยคำสอนของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ซึ่งกล่าวไว้เมื่อสองปีหลังจากประกาศถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นอนาคตอันน่าพิศวงในโลกที่ไม่แน่นอน ถ้าเราจะแนบสนิทกับคุณค่าของเรา ถ้าเราจะสร้างบนมรดกของเรา ถ้าเราจะดำเนินชีวิตในการเชื่อฟังต่อพระพักตร์พระเจ้า ถ้าเราจะดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายตามพระกิตติคุณ เราจะได้รับพรอย่างงดงามและน่าพิศวง พวกเขาจะมองว่าเราเป็นคนไม่ธรรมดาผู้พบกุญแจสู่ความสุขที่ไม่ธรรมดา”11

ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงความจริงและความสำคัญนิรันดร์ของถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ซึ่งพระเจ้า พระเยซูคริสต์ทรงเปิดเผยแก่อัครสาวกของพระองค์เพื่อความสูงส่งของบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 131:1–4) ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. โธมัส เอส. มอนสัน, “ยืนอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 106.

  2. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ความรอดและความสูงส่ง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 11.

  3. ดู “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165.

  4. ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ความรักและกฎ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 31–34.

  5. ดู “‘Disastrous’ Illegitimacy Trends,” Washington Times, Dec. 1, 2006, washingtontimes.com.

  6. ดู Stephanie J. Ventura and others, “Report of Final Natality Statistics, 1996,” Monthly Vital Statistics Report, June 30, 1998, 9.

  7. ดู Brady E. Hamilton and others, “Births: Provisional Data for 2016,” Vital Statistics Rapid Release, June 2017, 10.

  8. ประธานเยาวชนหญิงสามัญของเรากล่าวไว้อย่างดี เมื่อ20 ปีต่อมา “เรารู้สึกสักนิดหรือไม่ว่าจำเป็นเพียงใดที่เราจะต้องมีข้อประกาศพื้นฐานเหล่านี้ในโลกยุคปัจจุบันเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ที่เราจะตัดสินกระแสลมใหม่แห่งลัทธิความเชื่อทางโลกแต่ละกระแส ที่พัดมาสู่เราจากสื่อ อินเทอร์เน็ต นักวิชาการ ทีวีและภาพยนตร์ และแม้กระทั่งสมาชิกสภานิติบัญญัติ ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวกลายเป็นเครื่องวัดมาตรฐานของเราในการตัดสินปรัชญาของโลก และดิฉันเป็นพยานว่าหลักธรรมที่กำหนดออกมาในถ้อยแถลงนี้เป็นความจริงในปัจจุบันเท่าๆ กับที่เคยเป็นมาในอดีตเมื่อประทานให้เราผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อ 20 ปีก่อน” (บอนนี่ แอล. ออสคาร์สัน, “ผู้ปกป้องถ้อยแถลงครอบครัว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 14–15).

  9. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ยืนหยัดต่อต้านแผนการร้ายของโลก,” เลียโฮนา, ม.ค. 1996, 112.

  10. เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน, “Our Obligation and Challenge” (address given at the regional representatives’ seminar, Sept. 30, 1977), 2; ใน เดวิด เอ. เบดนาร์, “อยู่ฝ่ายพระเจ้า: บทเรียนจากค่ายไซอัน,” เลียโฮนา, ก.ค. 2017, 19.

  11. คำสอนของประธานศาสนจักร: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (2016), 186; ดู Gordon B. Hinckley, “Look to the Future,” Ensign, Nov. 1997, 69 ด้วย.