2010–2019
หลักคำสอนของพระคริสต์
ตุลาคม 2016


หลักคำสอนของพระคริสต์

หลักคำสอนของพระคริสต์ทำให้เราเข้าถึงพลังทางวิญญาณที่จะยกเราจากสภาพทางวิญญาณในปัจจุบันของเราขึ้นสู่สภาพที่เราจะได้รับการทำให้ดีพร้อม

การเสด็จเยือนชาวนีไฟของพระเยซูหลังจากฟื้นคืนพระชนม์จัดลำดับไว้อย่างดีเพื่อสอนเรื่องสำคัญที่สุดกับเรา เริ่มด้วยพระบิดาทรงเป็นพยานต่อผู้คนว่าพระเยซูทรงเป็น “บุตรที่รัก [ของพระองค์], ผู้ที่ [พระองค์] พอใจมาก”1 จากนั้นพระเยซูเสด็จลงมาและเป็นพยานถึงการพลีพระชนม์เพื่อการชดใช้2 ทรงเชื้อเชิญผู้คนให้ “รู้แน่แก่ใจ” ว่าพระองค์ทรงเป็นพระคริสต์โดยออกมาสัมผัสรอยแผลที่พระปรัศว์ และรอยตะปูที่พระหัตถ์และพระบาทของพระองค์3 ประจักษ์พยานเหล่านี้แสดงไว้โดยไม่ต้องสงสัยว่าการชดใช้ของพระเยซูเสร็จสมบูรณ์และพระบิดาทรงทำตามพันธสัญญาของพระองค์ว่าจะประทานพระผู้ช่วยให้รอด ต่อจากนั้นพระเยซูทรงสอนชาวนีไฟให้รู้วิธีได้รับพรจากแผนแห่งความสุขของพระบิดา ซึ่งมีให้เราเพราะการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด โดยทรงสอนหลักคำสอนของพระคริสต์กับพวกเขา4

ข่าวสารของข้าพเจ้าวันนี้เน้นเรื่องหลักคำสอนของพระคริสต์ พระคัมภีร์นิยามหลักคำสอนของพระคริสต์ว่าเป็นการใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ การกลับใจ รับบัพติศมา รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่5

หลักคำสอนของพระคริสต์ทำให้เราได้รับพรจากการชดใช้ของพระคริสต์

การชดใช้ของพระคริสต์สร้างเงื่อนไขให้เราพึ่งพา “ความดีงาม, และพระเมตตา, และพระคุณของพระเมสสิยาห์ผู้บริสุทธิ์”6 “ได้รับการทำให้ดีพร้อมใน [พระคริสต์]”7 ได้รับสิ่งดีทุกอย่าง8 และรับชีวิตนิรันดร์9

หลักคำสอนของพระคริสต์อีกนัยหนึ่งคือวิธี—วิธีเดียว—ซึ่งเราได้รับพรทั้งหมดที่มีให้เราผ่านการชดใช้ของพระเยซู หลักคำสอนของพระคริสต์ทำให้เราเข้าถึงพลังทางวิญญาณที่จะยกเราจากสภาพทางวิญญาณในปัจจุบันของเราขึ้นสู่สภาพที่เราจะได้รับการทำให้ดีพร้อมเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด10 เกี่ยวกับกระบวนการเกิดใหม่นี้ เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันสอนว่า “การเกิดอีกครั้ง ซึ่งไม่เหมือนการเกิดทางร่างกาย เป็นกระบวนการมากกว่าเป็นเหตุการณ์ และการได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการนั้นคือจุดประสงค์สำคัญของความเป็นมรรตัย”11

เราลองสำรวจองค์ประกอบของหลักคำสอนของพระคริสต์ด้วยกัน

หนึ่ง ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ ศาสดาพยากรณ์ทั้งหลายสอนว่าศรัทธาเริ่มจากการได้ยินพระวจนะของพระคริสต์12 พระวจนะของพระคริสต์เป็นพยานถึงการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้และบอกเราว่าเราจะได้รับการให้อภัย พร และความสูงส่งอย่างไร13

เมื่อได้ยินพระวจนะของพระคริสต์ เราใช้ศรัทธาโดยเลือกทำตามคำสอนและแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด14 เพื่อทำเช่นนี้ นีไฟสอนว่าเราต้องวางใจ “อย่างเต็มที่ในคุณงามความดีของ [พระคริสต์] ผู้ทรงอานุภาพที่จะช่วยให้รอด”15 เพราะพระเยซูทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าในการดำรงอยู่ก่อนเกิด16 ดำเนินพระชนม์ชีพไร้บาป17 และระหว่างการชดใช้ทรงสนองข้อเรียกร้องทั้งหมดของความยุติธรรมเพื่อท่านและข้าพเจ้า18 พระองค์จึงทรงมีเดชานุภาพและกุญแจที่จะทำให้ทุกคนฟื้นคืนชีวิต19 และทรงทำให้พระเมตตามีอำนาจเหนือความยุติธรรมตามเงื่อนไขของการกลับใจ20 เมื่อเราเข้าใจว่าเราสามารถรับพระเมตตาผ่านคุณงามความดีของพระคริสต์ เราย่อมสามารถ “มีศรัทธาสู่การกลับใจ”21 การวางใจอย่างเต็มที่ในคุณงามความดีของพระคริสต์คือการวางใจว่าพระองค์ทรงทำสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยให้เรารอดแล้วปฏิบัติตามความเชื่อของเรา22

ศรัทธาทำให้เราเลิกกังวลมากเกินเหตุกับสิ่งที่คนอื่นคิดกับเราและเริ่มสนใจมากขึ้นว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงคิดอย่างไรกับเรา

สอง การกลับใจ แซมิวเอลชาวเลมันสอนว่า “หากท่านเชื่อในพระนามของ [พระคริสต์] ท่านจะกลับใจจากบาปทั้งหมดของท่าน”23 การกลับใจเป็นของประทานล้ำค่าจากพระบิดาบนสวรรค์ที่เกิดขึ้นได้ผ่านการเสียสละของพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระองค์ อีกทั้งเป็นกระบวนการที่พระบิดาประทานแก่เราเพื่อให้เราเปลี่ยนความคิด การกระทำ และตัวตนของเรา ทั้งนี้เพื่อเราจะเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นเรื่อยๆ24 การกลับใจไม่ใช่สำหรับบาปเท่านั้นแต่เป็นกระบวนการประจำวันของการประเมินและปรับปรุงตนเอง25 ที่ช่วยเราเอาชนะบาป ความไม่ดีพร้อม ความอ่อนแอ และความไม่สมบูรณ์ของเรา26 การกลับใจทำให้เราเป็น “ผู้ติดตามแท้จริง” ของพระคริสต์ ซึ่งทำให้เราเปี่ยมด้วยความรัก27และขับความกลัวออกไป28 การกลับใจไม่ใช่แผนสำรองในกรณีที่แผนการดำเนินชีวิตให้ดีพร้อมของเราล้มเหลว29 การกลับใจอย่างต่อเนื่องเป็นเส้นทางเดียวที่จะทำให้เราเกิดปีติอันยั่งยืนและเปิดทางให้เรากลับไปอยู่กับพระบิดาบนสวรรค์ของเราได้

โดยผ่านการกลับใจเราจะว่าง่ายและเชื่อฟังพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า แต่ไม่ใช่กลับใจอย่างเดียว การยอมรับพระคุณความดีของพระผู้เป็นเจ้าและความไม่สลักสำคัญของเรา30 ผนวกกับการพยายามสุดความสามารถเพื่อให้ความประพฤติของเราสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า31 จะนำพระคุณเข้ามาในชีวิตเรา32 พระคุณคือ “วิธีช่วยเหลือหรือพลัง ประทานให้ผ่านพระเมตตาและความรักอันล้นเหลือของพระเยซูคริสต์ … เพื่อทำงานดีที่ [เรา] ไม่สามารถทำได้หากใช้วิธี [ของเรา] เอง”33 เพราะการกลับใจเกี่ยวข้องกับการเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด ซึ่งไม่อยู่ในวิสัยที่เราทำได้ เราจึงต้องการพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างยิ่งเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในชีวิตเรา

เมื่อเรากลับใจ เราแทนที่ความประพฤติเดิมๆ ที่ไม่ชอบธรรม ความอ่อนแอ ความไม่ดีพร้อม และความกลัวด้วยความประพฤติและความเชื่อใหม่ที่ดึงเราเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นและช่วยให้เราเป็นเหมือนพระองค์

สาม บัพติศมาและศีลระลึก ศาสดาพยากรณ์มอรมอนสอนว่า “ผลแรกของการกลับใจคือบัพติศมา”34 เพื่อให้สมบูรณ์เราต้องรวมการกลับใจกับศาสนพิธีบัพติศมาที่ปฏิบัติโดยผู้ดำรงสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้า สำหรับสมาชิกของศาสนจักร เราต่อพันธสัญญาที่ทำไว้เมื่อรับบัพติศมาและในโอกาสอื่นเมื่อเรารับศีลระลึก35

ในศาสนพิธีบัพติศมาและศีลระลึก เราทำพันธสัญญาว่าจะรักษาพระบัญญัติของพระบิดาและพระบุตร ระลึกถึงพระคริสต์ตลอดเวลา และเต็มใจรับพระนามของพระคริสต์ (หรืองานและพระคุณลักษณะของพระองค์36) ไว้กับเรา37 พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำพันธสัญญาเป็นการตอบแทนว่าจะให้อภัยหรือปลดบาปของเรา38 และเทพระวิญญาณของพระองค์ลงมาให้ [เรา] มากขึ้น39 พระคริสต์ทรงสัญญาจะเตรียมเราให้พร้อมรับชีวิตนิรันดร์เช่นกันโดยช่วยให้เราเป็นเหมือนพระองค์40

ดักลาส ดี. โฮลเมส ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานเยาวชนชายสามัญเขียนไว้ว่า “ศาสนพิธีบัพติศมาและศีลระลึกเป็นสัญลักษณ์ทั้งผลลัพธ์สุดท้ายและกระบวนการเกิดใหม่ ในบัพติศมา เราฝังคนเก่าและออกมารับชีวิตใหม่41 ในศีลระลึก เราเรียนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นกระบวนการทีละขั้น [ที่ซึ่ง] เปลี่ยนเราทีละน้อย ทีละสัปดาห์เมื่อเรากลับใจ ทำพันธสัญญา และ[เป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด] ผ่านการประสาทพระวิญญาณเพิ่มขึ้น”42

ศาสนพิธีและพันธสัญญาจำเป็นที่สุดในหลักคำสอนของพระคริสต์ โดยการรับศาสนพิธีของฐานะปุโรหิตอย่างมีค่าควรและรักษาพันธสัญญาที่เกี่ยวข้อง พลังอำนาจของความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าแสดงให้ประจักษ์ในชีวิตเรา43 เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันอธิบายว่า “‘พลังอำนาจของความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า’ มาในบุคคลนั้นและโดยอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์”44

สี่ ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ หลังจากบัพติศมาเราได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ผ่านศาสนพิธีการยืนยัน45 ของประทานดังกล่าว ถ้าเรารับ จะยอมให้เรามีความเป็นเพื่อนที่ยั่งยืนของพระผู้เป็นเจ้า46 และเข้าถึงพระคุณที่มากับอิทธิพลของพระองค์ได้อย่างต่อเนื่อง

ในฐานะเพื่อนที่ยั่งยืน พระวิญญาณบริสุทธิ์ประทานพลังหรือความเข้มแข็งเพิ่มเติมให้เรารักษาพันธสัญญาของเรา47 พระองค์ทรงชำระเราให้บริสุทธิ์ด้วย48 ซึ่งหมายความว่าทรงทำให้เรา “เป็นอิสระจากบาป บริสุทธิ์ สะอาด และศักดิ์สิทธิ์ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์”49 กระบวนการชำระให้บริสุทธิ์ไม่เพียงชำระเราให้สะอาดเท่านั้น แต่ประสาทพรเราด้วยของประทานฝ่ายวิญญาณที่จำเป็นหรือคุณลักษณะอันสูงส่งของพระผู้ช่วยให้รอดด้วย50 และเปลี่ยนธรรมชาตินิสัยของเรา51 จน “เราไม่มีใจที่จะทำความชั่วอีก”52 ทุกครั้งที่เรารับพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในชีวิตเราผ่านศรัทธา การกลับใจ ศาสนพิธี การรับใช้เหมือนพระคริสต์ และการพยายามทำความชอบธรรมอื่นๆ เราถูกเปลี่ยนจนเราเป็นเหมือนพระคริสต์53 ทีละเล็ก ทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไป

ห้า อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ศาสดาพยากรณ์นีไฟสอนว่าหลังจากได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์แล้วเราต้อง “อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่, ในการทำตามตัวอย่างของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์”54 เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์อธิบายขั้นตอนของการอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ดังนี้ “เราอาจจะดีพร้อมได้โดย … ใช้ศรัทธาใน [พระคริสต์] กลับใจ รับส่วนศีลระลึกเพื่อต่อพันธสัญญาและพรของบัพติศมา และรับพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นเพื่อนที่ยั่งยืนมากขึ้น เมื่อเราทำดังนั้น เราจะเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นและสามารถอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ รวมจนถึงทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง”55

อีกนัยหนึ่ง การรับพระวิญญาณบริสุทธิ์และการเปลี่ยนแปลงที่การรับนั้นก่อให้เกิดในเราทำให้เรามีศรัทธามากขึ้นไปอีก ศรัทธาที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่การกลับใจเพิ่มขึ้น จากนั้นเมื่อเราถวายใจเราและบาปของเราไว้บนแท่นศีลระลึก เราจะได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์มากขึ้น การได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์มากขึ้นนำเราไปตามเส้นทางของการเกิดใหม่ไกลขึ้น เมื่อเราดำเนินต่อไปในกระบวนการนี้และรับศาสนพิธีแห่งความรอดทั้งหมดและพันธสัญญาของพระกิตติคุณ เราจะได้รับ “พระคุณแทนพระคุณ” จนเราได้รับความบริบูรณ์56

เราต้องประยุกต์ใช้หลักคำสอนของพระคริสต์ในชีวิตเรา

พี่น้องทั้งหลาย เมื่อเราประยุกต์ใช้หลักคำสอนของพระคริสต์ในชีวิตเรา เราได้รับพรทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายวิญญาณ แม้ในการทดลอง สุดท้ายแล้วเราจะสามารถ “ยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่าง”57 ข้าพเจ้าเป็นพยานว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นแล้วและยังคงเกิดขึ้นในชีวิตข้าพเจ้าเอง ทีละเล็ก ทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไป

แต่สำคัญกว่านั้นคือเราต้องประยุกต์ใช้หลักคำสอนของพระคริสต์ในชีวิตเราเพราะหลักคำสอนให้เส้นทางเดียวในการกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ นั่นเป็นทางเดียวที่จะรับพระผู้ช่วยให้รอดและกลับเป็นบุตรธิดาของพระองค์58 โดยแท้แล้ว ทางเดียวที่จะรับการไถ่จากบาปและเจริญก้าวหน้าทางวิญญาณคือประยุกต์ใช้หลักคำสอนของพระคริสต์ในชีวิตเรา59 หรือจะเลือกอีกทาง อัครสาวกยอห์นสอนว่า “ผู้ … ไม่อยู่ในคำสั่งสอนของพระคริสต์ก็ไม่มีพระเจ้า”60 พระเยซูรับสั่งกับอัครสาวกสิบสองชาวนีไฟว่าถ้าเราไม่ใช้ศรัทธาในพระคริสต์ กลับใจ รับบัพติศมา และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เราจะ “ถูกโค่นและโยนเข้าไปในไฟ, ซึ่งจากที่นั้น [พวกเรา] จะกลับมาอีกไม่ได้”61

แล้วเราจะประยุกต์ใช้หลักคำสอนของพระคริสต์อย่างเต็มที่มากขึ้นในชีวิตเราได้อย่างไร ทางเดียวคือพยายามตั้งใจเตรียมรับศีลระลึกทุกสัปดาห์โดยใช้เวลาส่วนหนึ่งพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าเราต้องปรับปรุงอะไรมากที่สุด จากนั้นให้นำอย่างน้อยสิ่งหนึ่งที่กีดกั้นเราไม่ให้เป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มาถวายบนแท่นศีลระลึก โดยทูลขอความช่วยเหลือด้วยศรัทธา ทูลขอของประทานฝ่ายวิญญาณที่จำเป็น และทำพันธสัญญาว่าจะปรับปรุงในระหว่างสัปดาห์ที่จะมาถึง62 เมื่อเราทำดังนั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเข้ามาในชีวิตเรามากขึ้น และเราจะมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นเพื่อเอาชนะความไม่ดีพร้อมของเรา

ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลกและเราจะรอดได้ด้วยพระนามของพระองค์เท่านั้น63 ทุกสิ่งที่ดีล้วนผ่านมาทางพระองค์64 แต่เพื่อจะ “ยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่าง”65 รวมถึงชีวิตนิรันดร์ เราต้องประยุกต์ใช้หลักคำสอนของพระคริสต์อย่างต่อเนื่องในชีวิตเรา ในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสต์ เอเมน