2010–2019
ท่านจงอ่อนน้อมถ่อมตน
เมษายน 2016


ท่านจงอ่อนน้อมถ่อมตน

ความอ่อนน้อมถ่อมตนช่วยให้เราเป็นบิดามารดา บุตรธิดา สามีภรรยา เพื่อนบ้านและมิตรที่ดีขึ้น

เราได้รับพรในศาสนจักรที่มีเพลงสวดไว้ช่วยเรานมัสการผ่านเสียงเพลง ในการประชุมศาสนจักรของเรา “เพลงสวดทูลเชิญพระวิญญาณของพระเจ้า สร้างความรู้สึกแห่งความคารวะ ให้ความสามัคคีแก่เราในฐานะสมาชิก และจัดหนทางให้เราที่จะถวายการสรรเสริญแด่พระเจ้า คำเทศนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบางอย่างเป็นการเทศนาโดยการร้องเพลงสวด”1

ไม่กี่เดือนหลังจากการจัดตั้งศาสนจักร โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยสำหรับเอ็มมา ภรรยาท่าน พระเจ้าทรงกำกับให้เธอ “เลือกเพลงสวดอันศักดิ์สิทธิ์, ดังที่จะให้แก่เจ้า, ซึ่งเป็นที่พอใจแก่เรา, ที่จะให้มีในศาสนจักรของเรา.”2

เอ็มมา สมิธรวบรวมเพลงสวดซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือเพลงฉบับเคิร์ทแลนด์ในปี 18393 มีเพลงสวดเพียง 92 เพลงอยู่ในหนังสือเล่มเล็กนี้ เพลงสวดหลายเพลงเป็นเพลงสวดจากนิกายโปรเตสแตนต์ อย่างน้อยยี่สิบหกเพลงประพันธ์โดยวิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพส์ ผู้ซึ่งต่อมาจัดเตรียมและช่วยในการจัดพิมพ์หนังสือเพลง มีเพียงคำร้องเขียนไว้ไม่มีโน้ตเพลงคู่ไปกับตัวหนังสือ หนังสือเพลงสวดอันต่ำต้อยนี้พิสูจน์ว่าเป็นพรอันยิ่งใหญ่แก่สมาชิกในยุคแรกของศาสนจักร

ภาพ
หน้าหนังสือเพลงสวดของเอมมา สมิธ
ภาพ
หน้าชื่อเรื่องหนังสือเพลงสวดของเอมมา สมิธ

เพลงสวดภาษาอังกฤษฉบับล่าสุดตีพิมพ์ในปี 1985 มีหลายเพลงที่เอ็มมาเลือกไว้เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ยังคงอยู่ในหนังสือเพลงสวดของเราเช่น “ฉันรู้พระผู้ใหญ่ทรงพระชนม์” และ “ฐานมั่นคงหนักหนา”4

เพลงหนึ่งเป็นเพลงใหม่ในเพลงสวดฉบับปี 1985 “ท่านจงถ่อมใจ”5 เพลงสวดที่สงบนี้แต่งโดยกริทช์ เทอร์เบิร์ก โรว์ลี ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อปีที่แล้ว เธอเข้าร่วมกับศาสนจักรในปี 1950 ที่ฮาวายซึ่งเธอสอนในโรงเรียนที่นั่น ซิสเตอร์โรว์ลีรับใช้ในคณะกรรมการดนตรีสามัญและช่วยดัดแปลงเพลงสวดไปสู่หลายภาษา เธอเขียนเนื้อเพลงของ “ท่านจงถ่อมใจ” จากพระคัมภีร์สองข้อคือหลักคำสอนและพันธสัญญา 112:10 และอีเธอร์ 12:27 ข้อความจากอีเธอร์อ่านว่า “และหากมนุษย์มาหาเรา เราจะแสดงให้พวกเขาเห็นความอ่อนแอของพวกเขา. เราให้ความอ่อนแอแก่มนุษย์เพื่อพวกเขาจะนอบน้อม; … เพราะหากพวกเขานอบน้อมถ่อมตนต่อหน้าเรา, และมีศรัทธาในเรา, เมื่อนั้นเราจะทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็งสำหรับพวกเขา.”

เหมือนกับเพลงสวดทั้งหมดของศาสนจักร “ท่านจงถ่อมใจ” สอนความจริงอันบริสุทธิ์และเรียบง่าย สอนเราว่าถ้าเรานอบน้อมถ่อมตน คำสวดอ้อนวอนของเราจะได้รับคำตอบ เราจะชื่นชมสันติในใจ เรารับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการเรียกของเรา และถ้าเรายังคงมีศรัทธาต่อไป ในที่สุดเราจะกลับไปที่ประทับของพระบิดาบนสวรรค์ของเรา

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนผู้ติดตามของพระองค์ว่าพวกเขาจะต้องอ่อนน้อมถ่อมตนเหมือนเด็กเล็กๆ เพื่อจะเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์6 ขณะที่เราเลี้ยงดูลูก เราต้องช่วยให้พวกเขาคงความอ่อนน้อมถ่อมตนขณะที่พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เราไม่ทำสิ่งนี้โดยการทำลายวิญญาณของพวกเขาผ่านการอบรมสั่งสอนที่ไร้เมตตาหรือเกรี้ยวกราดเกินไป ขณะที่บำรุงเลี้ยงความมั่นใจและความเคารพตนของพวกเขา เราต้องสอนคุณสมบัติของความไม่เห็นแก่ตัว ความเมตตา การเชื่อฟัง การไม่จองหอง ความมีมารยาท และการไม่โอ้อวดตน เราต้องให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะมีความสุขในความสำเร็จของพี่น้องเพื่อนฝูง ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์สอนว่า “ความกังวลที่แท้จริงของเราควรมีต่อความสำเร็จของผู้อื่น”7 ถ้าไม่เช่นนั้น ลูกของเราจะเป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับการผลักดันตนเองและเอาชนะคนอื่น อิจฉาริษยาต่อชัยชนะของมิตรสหาย ข้าพเจ้าสำนึกคุณสำหรับคุณแม่ผู้ที่เห็นข้าพเจ้าเริ่มเป็นเด็กผยองแล้วจะพูดว่า “ลูกเอ๋ย ถ้ามีความอ่อนน้อมถ่อมตนตอนนี้จะไปได้ไกล”

แต่ความอ่อนน้อมถ่อมตนไม่ใช่บางสิ่งที่สงวนไว้สอนเฉพาะเด็กเท่านั้น เราทุกคนต้องพยายามอ่อนน้อมถ่อมตน ความอ่อนน้อมถ่อมตนจำเป็นต่อการได้รับพรแห่งพระกิตติคุณ ความอ่อนน้อมถ่อมตนช่วยให้เรามีใจที่ชอกช้ำเมื่อเราทำบาปหรือทำผิดและทำให้เราสามารถกลับใจได้ ความอ่อนน้อมถ่อมตนช่วยให้เราเป็นบิดามารดา บุตรธิดา สามีภรรยา เพื่อนบ้านและมิตรที่ดีขึ้น

อีกนัยหนึ่งความจองหองที่เกินเลยสามารถทำให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวเจือจาง ทำการแต่งงานแตกแยกและทำลายมิตรภาพ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะนึกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนเมื่อท่านรู้สึกว่ามีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นในบ้านของท่าน นึกถึงเรื่องปวดร้าวใจที่ท่านหลีกเลี่ยงได้โดยมีความอ่อนน้อมถ่อมตนที่จะพูดว่า “ฉันขอโทษ” “ฉันขาดความเกรงใจเอง” “คุณอยากให้ฉันทำอะไร” “ฉันไม่ทันได้คิด” หรือ “ฉันภูมิใจในตัวคุณ” ถ้าวลีสั้นๆ เหล่านี้ใช้อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน จะมีการขัดแย้งน้อยลงและมีสันติในบ้านเรามากขึ้น

การดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายสามารถเป็นและมักเป็นประสบการณ์อันอ่อนน้อมถ่อมตน อุบัติเหตุและความเจ็บป่วย ความตายของคนที่รัก ปัญหาของสัมพันธภาพ แม้ว่าความผันผวนทางการเงินสามารถทำให้เราเข่าทรุดได้ ไม่ว่าประสบการณ์อันยากลำบากนี้เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของเรา หรือจากการตัดสินใจที่ไม่ดีและวิจารณญาณที่ผิดก็ตาม การทดลองเหล่านี้ทำให้เราทุกคนนอบน้อม ถ้าเราเลือกที่จะยังคงรักษาระดับจิตวิญญาณและอ่อนน้อมถ่อมตนและว่านอนสอนง่าย คำสวดอ้อนวอนของเราจะจริงใจขึ้น ศรัทธาและประจักษ์พยานจะเติบโตขึ้นขณะที่เราเอาชนะความยากลำบากของการดำรงอยู่ในมรรตัย เราทุกคนตั้งตารอความสูงส่ง แต่ก่อนที่สิ่งนี้เกิดขึ้น เราจะต้องบากบั่นฝ่าฟันกับสิ่งที่เราว่า “หุบเขาแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตน”8

เมื่อหลายปีก่อน อีริค ลูกชายวัย 15 ปีของเราทรมานด้วยอาการบาดเจ็บทางศีรษะขั้นรุนแรง หัวใจเราแหลกสลายที่เห็นเขาอยู่ในโคม่านานกว่าหนึ่งสัปดาห์ แพทย์บอกเราว่าพวกเขาไม่แน่ใจว่าอาการจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าเราตื่นเต้นเมื่อเขาเริ่มได้สติ เราคิดว่าตอนนี้ทุกอย่างจะดี แต่เราคิดผิด

เมื่อเขาฟื้น เขาเดิน พูด หรือรับประทานอาหารเองไม่ได้ ซ้ำร้าย เขาสูญเสียความทรงจำระยะสั้น เขาจำเกือบทุกสิ่งเมื่อก่อนเกิดอุบัติเหตุได้ แต่เขาไม่มีความสามารถในการจำเหตุการณ์ต่างๆ หลังจากนั้น แม้กระทั่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงเมื่อไม่กี่นาทีก่อน

ช่วงเวลาหนึ่ง เรากังวลว่าเราจะมีลูกชายที่ติดอยู่ในความคิดของคนอายุ 15 ปี ก่อนเกิดอุบัติเหตุทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดีสำหรับลูกชายของเรา เขาเป็นนักกีฬา มีชื่อเสียง และเรียนเก่ง ก่อนหน้านี้อนาคตเขาดูสดใส ตอนนี้เรากังวลว่าเขาอาจจะไม่มีอนาคต อย่างน้อยก็ที่เขาจำได้ ตอนนี้เขาต่อสู้ดิ้นรนกับการเรียนรู้ทักษะพื้นฐานอีกครั้ง นี่เป็นเวลาที่เขาอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ที่สุด และเป็นเวลาที่พ่อแม่อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ที่สุดด้วย

พูดตรงๆ ก็คือ เราสงสัยว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราได้พยายามทำสิ่งที่ถูกต้องมาตลอด การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณมีความสำคัญสูงสุดในครอบครัว เราไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เจ็บปวดเช่นนี้เกิดขึ้นกับเราได้อย่างไร เราจำต้องคุกเข่าลงทันทีที่รู้ว่าการฟื้นฟูสมรรถภาพของเขาต้องใช้เวลาหลายเดือน อาจเป็นหลายปี สิ่งที่ยากกว่าก็คือการที่ค่อยๆ รู้ว่าเขาจะไม่เป็นเหมือนเดิม

ช่วงเวลานี้ เราหลั่งน้ำตาหลายครั้งและคำสวดอ้อนวอนของเราเริ่มมาจากใจ ผ่านความอ่อนน้อมถ่อมตน เราค่อยเริ่มเห็นปาฏิหาริย์เล็กๆ น้อยๆ ที่ลูกชายเราประสบระหว่างช่วงเวลาอันเจ็บปวด เขาเริ่มพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ มีเจตคติและทัศนคติดีมาก

ปัจจุบัน อีริค ลูกชายของเราแต่งงานกับคู่ครองที่ยอดเยี่ยม และพวกเขามีลูกที่สวยงามห้าคน เขาเป็นนักการศึกษาที่เปี่ยมด้วยความรักและเป็นผู้ที่อุทิศตนให้ชุมชนของเขาและแก่ศาสนจักรเช่นกัน สำคัญที่สุดคือเขายังคงดำเนินชีวิตอยู่ในวิญญาณแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตนที่เขาได้มาเมื่อนานมาแล้ว

แต่ถ้าเราสามารถอ่อนน้อมถ่อมตนก่อนที่เราจะเดินผ่าน “หุบเขาแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตน” เล่า แอลมาสอนว่า

“ความสุขเกิดแก่พวกเขาผู้ซึ่งนอบน้อมถ่อมตนโดยปราศจากการถูกบีบบังคับให้ถ่อมตน”

“แท้จริงแล้ว [พวกเขา], จะได้รับพรมากยิ่งไปกว่าคนที่ถูกบีบบังคับให้ถ่อมตน”9

ข้าพเจ้าขอบคุณสำหรับศาสดาพยากรณ์ เหมือนเช่นแอลมา ผู้สอนเราถึงความสำคัญของคุณลักษณะที่สำคัญนี้ ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ ประธานคนที่ 12 ของศาสนจักรกล่าวว่า “คนจะอ่อนน้อมถ่อมตนได้อย่างไร สำหรับข้าพเจ้าแล้วคนนั้นจะต้องได้รับการเตือนเป็นประจำถึงการพึ่งพาของเขา เขาพึงพาใครหรือ? พระเจ้า เขาจะเตือนตนเองได้อย่างไร โดยการสวดอ้อนวอนที่แท้จริง อย่างต่อเนื่อง อย่างคารวะ และสำนึกคุณ”10

ไม่น่าแปลกใจเลยที่เพลงสวดอันโปรดปรานของประธานคิมบัลล์คือ “ขอพึ่งพระทุกโมงยาม”11 เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์รายงานว่านี่เป็นเพลงสวดเปิดที่พี่น้องชายร้องบ่อยที่สุดในพระวิหารช่วงสมัยต้นของท่านในโควรัมอัครสาวกสิบสอง ท่านกล่าวว่า “นึกถึงผลทางวิญญาณจากผู้รับใช้ของพระเจ้าจำนวนหยิบมือร้องเพลงนั้นก่อนการสวดอ้อนวอนขอการนำทางของท่านเพื่อทำให้หน้าที่รับผิดอันใหญ่หลวงเกิดสัมฤทธิผล”12

ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงความสำคัญของความอ่อนน้อมถ่อมตนในชีวิตเรา ข้าพเจ้าขอบคุณบุคคลต่างๆ เช่นซิสเตอร์กริทช์ โรว์ลีผู้ที่ได้ประพันธ์คำร้องที่เป็นแรงบันดาลใจ และดนตรีที่ช่วยให้เราเรียนรู้หลักคำสอนแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ซึ่งได้แก่ความอ่อนน้อมถ่อมตน ข้าพเจ้าขอบคุณที่เรามีมรดกแห่งเพลงสวดซึ่งช่วยให้เรานมัสการผ่านเสียงเพลง และข้าพเจ้าขอบคุณความอ่อนน้อมถ่อมตน นี่คือคำสวดอ้อนวอนของข้าพเจ้าว่าเราทุกคนจะพยายามให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนในชีวิตของเราเพื่อเราจะเป็นบิดามารดา บุตรธิดาและผู้ติดตามพระผู้ช่วยให้รอดที่ดีขึ้น ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. “คำกล่าวของฝ่ายประธานสูงสุด,” หนังสือเพลงสวดของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (1985), ix.

  2. หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:11.

  3. หน้าชื่อเรื่องของหนังสือเพลงสวดวิสุทธิชนยุคสุดท้ายฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกลงปีที่ตีพิมพ์ไว้ว่า 1835 แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์จนกระทั่งต้นปี 1836 จึงได้ตีพิมพ์ออกมา

  4. เพลงสวด 26 เพลงที่มีอยู่ในหนังสือเพลงปี 1835 มีอยู่ในหนังสือเพลงเล่มปัจจุบัน (ดู Kathleen Lubeck, “The New Hymnbook: The Saints Are Singing!” Ensign, Sept. 1985, 7).

  5. “ท่านจงถ่อมใจ,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 55.

  6. ดู มัทธิว 18:1–4.

  7. Howard W. Hunter, “The Pharisee and the Publican,” Ensign, May 1984, 66.

  8. Anthon H. Lund, in Conference Report, Apr. 1901, 22.

  9. แอลมา 32:16, 15.

  10. The Teachings of Spencer W. Kimball, ed. Edward L. Kimball (1982), 233.

  11. “ขอพึ่งพระทุกโมงยาม,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 44; ดู Brent H. Nielson, “I Need Thee Every Hour,” Ensign,Apr. 2011, 16 ด้วย.

  12. Dallin H. Oaks, “Worship through Music,” Ensign, Nov. 1994, 10.