2010–2019
พระวจนะที่น่าพึงพอใจของพระผู้เป็นเจ้า
ตุลาคม 2015


พระวจนะที่น่าพึงพอใจของพระผู้เป็นเจ้า

พระวจนะที่น่าพึงพอใจของพระผู้เป็นเจ้าแสดงให้เราเห็นถึงความจำเป็นในการกลับใจอย่างต่อเนื่องในชีวิตเพื่อเราจะรักษาอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์

พวกเรามากมายที่มารวมกันเพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่นี้มา ”เพื่อฟังพระวจนะที่น่าพึงพอใจของพระผู้เป็นเจ้า, แท้จริงแล้ว, พระวจนะซึ่งรักษาจิตวิญญาณที่บาดเจ็บ” (เจคอบ 2:8) เราพบพระวจนะนั้นในพระคัมภีร์และในข่าวสารจากผู้นำของเรา ซึ่งนำความหวังและการปลอบประโลมมาสู่เราในความมืดมิดแห่งความทุกข์

โดยผ่านประสบการณ์ในชีวิตของเรา เราเรียนรู้ว่าในโลกนี้ปีติของเราไม่บริบูรณ์ แต่ในพระเยซูคริสต์ปีติของเราบริบูรณ์ (ดู คพ. 101:36) พระองค์จะประทานกำลังให้เราเพื่อว่าเราจะไม่ต้องรับความทุกข์ใดๆ เลย นอกจากการถูกกลืนไปในปีติของพระองค์ (ดู แอลมา 31:38)

หัวใจของเราจะเต็มไปด้วยความระทมทุกข์เมื่อเราเห็นคนที่เรารักรับความเจ็บปวดจากโรคร้าย

ความตายของคนที่เรารักอาจทำให้เราเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อลูกของเราบางคนออกไปจากเส้นทางพระกิตติคุณ เราอาจรู้สึกผิดและไม่มั่นใจเกี่ยวกับจุดหมายนิรันดร์ของพวกเขา

ความหวังว่าจะบรรลุถึงการแต่งงานซีเลสเชียลและสร้างครอบครัวในชีวิตนี้อาจเริ่มเลือนลางเมื่อเวลายิ่งผ่านไป

การข่มเหงจากคนที่ควรจะรักเราอาจทิ้งร่องรอยความเจ็บปวดอันลึกซึ้งในจิตวิญญาณของเรา

การนอกใจของคู่สมรสอาจจะทำลายความสัมพันธ์ที่เราหวังว่าจะเป็นนิรันดร์

สิ่งเหล่านี้และความทุกข์อื่นๆ มีอยู่ในสภาพแห่งการทดลองนี้ บางครั้งทำให้เราถามตนเองด้วยคำถามเดียวกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้ถามว่า ”ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า, พระองค์ประทับอยู่ที่ใดเล่า?” (คพ. 121:1)

ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากเหล่านั้นในชีวิตของเรา พระวจนะที่น่าพึงพอใจของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งรักษาจิตวิญญาณที่บาดเจ็บนำข่าวสารแห่งการปลอบประโลมต่อไปนี้มาสู่หัวใจและความคิดของเรา:

”สันติสุขจงมีแก่จิตวิญญาณเจ้า; ความยากลำบากของเจ้าและความทุกข์ของเจ้าจะอยู่เพียงชั่วครู่;

”และจากนั้น, หากเจ้าอดทนมันด้วยดี, พระผู้เป็นเจ้าจะทรงยกเจ้าให้สูงส่งสู่เบื้องบน” (คพ. 121:7–8)

พระวจนะที่น่าพึงพอใจของพระผู้เป็นเจ้าเติมความหวังให้เรา เพราะเรารู้ว่าคนเหล่านั้นที่ซื่อสัตย์ในความยากลำบากจะได้รางวัลที่ยิ่งใหญ่ในอาณาจักรแห่งสวรรค์และว่า ”หลังจากความยากลำบากมากมาย จึงบังเกิดพร” (ดู คพ. 58:3–4)

พระวจนะที่น่าพึงพอใจของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งกล่าวผ่านศาสดาพยากรณ์ มอบความมั่นใจแก่เราว่าการผนึกนิรันดร์ของเรา สนับสนุนโดยความซื่อสัตย์ของเราต่อคำสัญญาแห่งสวรรค์ที่เราได้รับเนื่องจากการรับใช้อย่างองอาจในอุดมการณ์แห่งความจริง จะเป็นพรแก่เราและลูกหลานของเรา (ดู ออร์สัน เอฟ. วิทนีย์, ใน Conference Report, เม.ย. 1929, 110)

นั่นมอบความมั่นใจแก่เราด้วยว่า หลังจากเราดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ เราจะไม่สูญเสียพรใดๆ เนื่องจากไม่ได้ทำบางอย่างหากเราไม่ได้รับโอกาสที่จะทำ หากเราดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์จนถึงอายุขัยของเรา เรา ”จะมีพรทั้งปวง ความสูงส่ง และรัศมีภาพที่ชายหรือหญิงใด [ที่มีโอกาสนั้น] จะมี” (ดู The Teachings of Lorenzo Snow,, ed. Clyde J. Williams [1984], 138.)

บัดนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าใจว่าความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานบางอย่างจะเข้ามาสู่ชีวิตของเราด้วยหากเราล้มเหลวที่จะกลับใจจากบาปทั้งหลายของเราอย่างแท้จริง ประธานแมเรียน จี. รอมนีย์ สอนว่า “ความทุกข์และความเศร้าโศกที่คนในโลกนี้ต้องทนรับเป็นผลมาจากบาปที่ไม่ได้กลับใจและยังไม่ได้รับการให้อภัย … ความทุกข์และความเศร้าเสียใจเป็นผลจากบาปฉันใด ความสุขและปีติก็เป็นผลจากการให้อภัยบาปฉันนั้น” (ใน Conference Report, เม.ย. 1959, 11).

เหตุใดการไม่กลับใจทำให้เกิดความทุกข์และความเจ็บปวด

คำตอบที่เป็นไปได้อย่างหนึ่งคือการลงโทษ[ถูก]ตั้งไว้, และให้กฎที่เที่ยงธรรมไว้ซึ่งนำ [มา] ซึ่งความสำนึกผิดจากมโนธรรม (แอลมา 42: 18; ดู ข้อ 16 ด้วย) ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่าเราเป็นคนที่ตำหนิตนเอง และความทรมานที่เกิดจากความผิดหวังในใจเราซึ่งทำให้มันรุนแรงประหนึ่งทะเลไฟและเพลิงกำมะถันที่กำลังโหมไหม้ (ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 241)

หากเราพยายามระงับมโนธรรมของเราโดยพยายาม ”แก้ตัว [ของเรา] แม้แต่น้อยเพราะบาปของ [เรา] (แอลมา 42:30) หรือโดยพยายามซ่อนบาป สิ่งเดียวที่เราจะบรรลุคือการทำให้พระวิญญาณขุ่นเคือง (ดู คพ. 121:37) และทำให้การกลับใจของเราช้าออกไป การบรรเทาทุกข์แบบนี้ นอกจากจะอยู่เพียงชั่วคราว ในที่สุดจะนำความเจ็บปวดและความเศร้าโศกที่มากขึ้นมาสู่ชีวิตของเรา และจะลดความเป็นไปได้ในการรับการปลดบาปของเรา

สำหรับความทุกข์ประเภทนี้ พระวจนะที่น่าพึงพอใจของพระผู้เป็นเจ้านำการปลอบประโลมและความหวังมาให้ นี่บอกเราว่ามีการบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดโดยผลกระทบของบาป การปลดเปลื้องนี้มาจากการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และจะส่งผลหากเราใช้ศรัทธาในพระองค์ กลับใจและเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์

เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะตระหนักว่าเช่นเดียวกับการปลดบาป การกลับใจเป็นกระบวนการและไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในทันทีทันใด สิ่งนี้ต้องการความสม่ำเสมอในแต่ละขั้นตอน

ตัวอย่างเช่น เมื่อเรารับศีลระลึก เราแสดงให้พระเจ้าเห็นว่าเราจะระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลาและรักษาพระบัญญัติของพระองค์ นั่นเป็นการแสดงออกถึงความตั้งใจที่จริงใจของเรา

เมื่อเราเริ่มระลึกถึงพระองค์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ทุกวัน—และไม่ใช่แต่เพียงวันสะบาโต—เมื่อนั้นการปลดบาปของเราเริ่มส่งผลทีละน้อย และคำสัญญาของพระองค์ถึงการมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเราจะเกิดสัมฤทธิผล

หากปราศจากการเชื่อฟังอย่างถูกต้องที่พึงมาพร้อมกับความตั้งใจของเรา ผลของการปลดบาปอาจหายไปหลังจากนั้นไม่นาน และการมีพระวิญญาณอยู่เป็นเพื่อนจะเริ่มถอนตัวออกไป เราจะเสี่ยงต่อการให้เกียรติพระองค์ด้วยริมฝีปากของเรา แต่เอาใจเราออกห่างจากพระองค์ (ดู 2 นีไฟ 27:25)

นอกจากการปลอบประโลมเรา พระวจนะที่น่าพึงพอใจของพระผู้เป็นเจ้าเตือนเราว่ากระบวนการแห่งการได้รับการปลดบาปของเราจะถูกขัดจังหวะเมื่อเราพัวพัน ”กับเรื่องเหลวไหลของโลก” และจะกลับคืนมาผ่านทางศรัทธาหากเรากลับใจและถ่อมตนอย่างจริงใจ (ดู คพ. 20:5–6)

มีการกระทำที่ไม่ดีอะไรบ้างที่จะแทรกแซงกระบวนการแห่งการได้รับการปลดบาปของเราและที่เกี่ยวข้องกับการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์

ตัวอย่างบางประการรวมถึงการเข้าประชุมศีลระลึกสายโดยไม่มีเหตุอันควร การเข้าประชุมโดยที่ไม่ได้สำรวจตัวเองล่วงหน้าเพื่อรับขนมปังและดื่มจากถ้วยอย่างมีค่าควร (ดู 1 โครินธ์ 11:28); และการเข้าประชุมโดยไม่ได้สารภาพบาปของเราและทูลขอพระผู้เป็นเจ้าให้อภัยบาปเหล่านั้น

ตัวอย่างอื่นๆ คือ การไม่คารวะโดยแลกเปลี่ยนข้อความผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเรา ออกจากการประชุมหลังจากรับส่วนศีลระลึก และทำกิจกรรมในบ้านของเราที่ไม่เหมาะสมสำหรับวันศักดิ์สิทธิ์นั้น

เหตุผลประการหนึ่งที่เราล้มเหลวในการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ โดยที่รู้สิ่งทั้งหมดนี้แล้วคืออะไร

ในหนังสืออิสยาห์ เราจะพบคำตอบว่า แม้จะเกี่ยวข้องกับวันสะบาโต แต่ก็นำไปใช้กับพระบัญญัติอื่นๆ ที่เราต้องรักษาด้วย: ” หัน​เท้า​จาก​การ​เหยียบ‍ย่ำ​วัน‍สะ‌บา‌โต คือ​จาก​การ​ทำ​ตาม‍ใจ​ของ​เจ้า​ใน​วัน‍บริ‌สุทธิ์​ของ​เรา” (อิสยาห์ 58:13)

คำสำคัญคือ ”หันไป…จากการกระทำที่พอพระทัย” หรืออีกนัยหนึ่งคือทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า บ่อยครั้งความประสงค์ของเรา—ก่อร่างจากความปรารถนา ความอยาก และความลุ่มหลงของมนุษย์ปุถุชน—ขัดแย้งกับพระประสงค์ของพระเจ้า ศาสดาพยากรณ์บริคัม ยังก์สอนว่า ”เมื่อความประสงค์ ความลุ่มหลง และความรู้สึกของคนหนึ่งยอมต่อพระผู้เป็นเจ้าและข้อกำหนดของพระองค์โดยสมบูรณ์ คนนั้นได้รับการชำระให้บริสุทธิ์—กล่าวคือ เพื่อความประสงค์ของข้าพเจ้าจะถูกกลืนไปในพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า นั่นจะนำข้าพเจ้าเข้าสู่ความดีทั้งมวล และสวมมงกุฎให้ข้าพเจ้าด้วยความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ในที่สุด” (Deseret News, Sept. 7, 1854, 1)

พระวจนะที่น่าพึงพอใจของพระผู้เป็นเจ้าเชื้อเชิญเราให้ใช้พลังของการชดใช้ของพระคริสต์เพื่อประยุกต์ใช้กับเราและคืนดีกับพระประสงค์ของพระองค์—และมิใช่กับความประสงค์ของมารและเนื้อหนัง—เพื่อว่าเราจะได้รับการช่วยให้รอดโดยผ่านพระคุณของพระองค์ (ดู 2 นีไฟ 10:24–25)

พระวจนะที่น่าพึงพอใจของพระผู้เป็นเจ้าที่เราแบ่งปันในวันนี้แสดงให้เราเห็นถึงความจำเป็นในการกลับใจอย่างต่อเนื่องในชีวิตเพื่อเราจะรักษาอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้อยู่กับเรานานเท่าที่เป็นไปได้

การมีพระวิญญาณเป็นเพื่อนจะช่วยให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น “พระวิญญาณจะกระซิบสันติสุขและความปีติยินดีแก่จิตวิญญาณ[ของเรา]... จะนำความเคียดแค้น ความเกลียดชัง ความอิจฉาริษยา การทะเลาะวิวาท และความชั่วร้ายทั้งหมดออกไปจากใจ [ของเรา] และความปรารถนาทั้งหมด [ของเรา] คือจะต้องทำความดี นำความชอบธรรมออกมา และเสริมสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า (ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ 105)

ด้วยอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะไม่ขุ่นเคืองหรือจะไม่ทำให้คนอื่นขุ่นเคือง เราจะรู้สึกมีความสุขมากขึ้นและความคิดของเราจะสะอาดมากขึ้น ความรักของเราสำหรับคนอื่นจะเพิ่มขึ้น เราจะเต็มใจให้อภัยมากขึ้นและกระจายความสุขสู่คนที่อยู่รอบๆ ตัวเรา

เราจะรู้สึกสำนึกคุณที่ได้เห็นว่าคนอื่นก้าวหน้าเพียงใด และเราจะแสวงหาความดีในคนอื่น

นี่เป็นคำสวดอ้อนวอนของข้าพเจ้าว่าเราจะพบกับปีติที่มาจากความพยายามในการดำเนินชีวิตในความชอบธรรมและเราจะคงไว้ในการมีพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นเพื่อนในชีวิตของเราผ่านทางการกลับใจอย่างจริงใจและต่อเนื่อง เราจะเป็นคนที่ดีขึ้น และครอบครัวของเราจะได้รับพร ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงหลักธรรมเหล่านี้ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน