2010–2019
ท่านหันหน้าไปทางใด
ตุลาคม 2014


ท่านหันหน้าไปทางใด

การพยายามทำให้ผู้อื่นพึงพอใจมากกว่าทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยเป็นการสลับพระบัญญัติสำคัญข้อแรกกับข้อที่สอง

“คุณหันหน้าไปทางใด” ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจด้วยคำถามน่าพิศวงนี้ขณะเดินทางด้วยกันเพื่อทำงานมอบหมายครั้งแรกในฐานะสาวกเจ็ดสิบคนใหม่ โดยที่ไม่มีคำอธิบายว่าคำถามนี้อยู่ในบริบทใด ข้าพเจ้าถึงกับจนปัญญา “สาวกเจ็ดสิบ” ท่านกล่าวต่อ “ไม่ได้เป็นตัวแทนผู้คนต่อศาสดาพยากรณ์ แต่เป็นตัวแทนศาสดาพยากรณ์ต่อผู้คน อย่าลืมว่าคุณต้องหันหน้าไปทางไหน!” นั่นเป็นบทเรียนสำคัญยิ่ง

การพยายามทำให้ผู้อื่นพึงพอใจมากกว่าทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยเป็นการสลับพระบัญญัติสำคัญ ข้อแรกกับข้อที่สอง (ดู มัทธิว 22:37–39) นั่นเป็นการลืมว่าเราหันหน้าไปทางใด กระนั้นเราทุกคนเคยทำความผิดพลาดเพราะความกลัวมนุษย์ ในอิสยาห์พระเจ้าทรงเตือนเราว่า “อย่ากลัวการเยาะเย้ยของมนุษย์” (อิสยาห์ 51:7; ดู  2 นีไฟ 8:7 ด้วย) ในความฝันของลีไฮความกลัวนี้เกิดขึ้นโดย การชี้นิ้วเยาะเย้ย จากอาคารใหญ่และกว้าง ทำให้หลายคนลืมไปว่าพวกเขาหันหน้าไปทางใดและผละออกจากต้นไม้ด้วย “ความละอาย” (ดู 1 นีไฟ 8:25–28)

แรงกดดันจากเพื่อนนี้พยายามเปลี่ยนเจตคติของบุคคล หรือไม่ก็พฤติกรรม โดยทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกผิดจากการที่ไม่เห็นพ้องกับผู้อื่น เราพยายามอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพกับผู้ที่ชี้นิ้ว แต่เมื่อความกลัวมนุษย์ล่อลวงให้เราไม่ถือโทษต่อบาป สิ่งนี้กลายเป็น “บ่วง” ตามที่หนังสือสุภาษิตกล่าว (ดู สุภาษิต 29:25) บ่วงอาจทำให้ดูน่าสนใจอย่างชาญฉลาดโดยทำให้เรารู้สึกสงสารจึงยอมโอนอ่อนผ่อนปรนหรือแม้กระทั่งเห็นชอบกับบางสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวโทษ เพราะความอ่อนแอของศรัทธา สิ่งนี้จึงเป็นอุปสรรคสำคัญ ตัวอย่างเช่น ผู้สอนศาสนาหนุ่มสาวมีความกลัวมนุษย์ในสนามเผยแผ่และไม่ยอมรายงานให้ประธานคณะเผยแผ่ทราบถึงการฝ่าฝืนกฎที่เห็นได้อย่างชัดเจนของคู่เพราะพวกเขาไม่อยากขัดใจคู่ที่ออกนอกลู่นอกทาง ตัวกำหนดอุปนิสัยดูจากการระลึกถึงลำดับที่ถูกต้องของพระบัญญัติข้อสำคัญข้อหนึ่งและข้อสอง (ดู มัทธิว 22:37–39) เมื่อผู้สอนศาสนาที่สับสนตระหนักว่าพวกเขามีภาระรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าไม่ใช่คู่ของพวกเขา พวกเขาพึงกล้าหาญที่จะหันหน้าไปในทิศทางตรงกันข้าม

ด้วยวัยหนุ่มอายุ 22 ปี แม้แต่โจเซฟ สมิธยังลืมว่าท่านควรหันหน้าไปทางใดเมื่อท่านรบเร้าพระเจ้าซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อขออนุญาตให้มาร์ติน แฮร์ริสยืมต้นฉบับ 116 หน้า บางทีโจเซฟ อาจต้องการแสดงความขอบคุณมาร์ตินที่คอยช่วยเหลือ เราทราบว่าโจเซฟ ร้อนใจมากที่จะให้มีพยานคนอื่นๆ ยืนข้างท่านเพื่อต่อต้านความเท็จและคำโกหกที่ผู้คนว่าร้ายท่าน

ไม่ว่าเหตุผลของโจเซฟคืออะไร หรืออาจฟังดูมีเหตุผลมากเพียงไร พระเจ้าไม่ได้ทรงยกโทษให้สิ่งเหล่านั้นและทรงตำหนิท่านอย่างรุนแรงว่า “เจ้าล่วงละเมิดพระบัญชาและกฎของพระผู้เป็นเจ้าบ่อยเพียงไร …และดำเนินตามการชักนำของมนุษย์ เพราะ, ดูเถิด, เจ้าไม่ควร กลัว มนุษย์ยิ่งกว่าพระผู้เป็นเจ้า” (คพ. 3:6–7; เพิ่มตัวเอน) ประสบการณ์อันปวดร้าวนี้ช่วยให้โจเซฟจำไปตลอดหลังจากนั้นว่าท่านควรหันหน้าไปทางใด

เมื่อผู้คนพยายาม รักษาหน้า กับมนุษย์ พวกเขาสามารถ เสียหน้า อย่างไม่รู้ตัวกับพระผู้เป็นเจ้า ลองนึกถึงคนที่สามารถทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยและในเวลาเดียวกันก็ไม่ถือโทษการไม่เชื่อฟังของมนุษย์ นั่นไม่ใช่การวางตัวเป็นกลางแต่เป็นการกลับกลอก หรือเป็น คนตีสองหน้า หรือพยายามเป็น “บ่าวสองนาย” (มัทธิว 6:24; 3 นีไฟ 13:24)

แน่นอนว่าจะต้องใช้ความกล้าที่จะเผชิญอันตราย เครื่องหมายของความกล้าหาญที่แท้จริงคือการเอาชนะความกลัวมนุษย์ ตัวอย่างเช่น คำสวดอ้อนวอนของดาเนียลช่วยให้เขาเผชิญหน้ากับสิงโต แต่สิ่งที่ทำให้เขามีใจสิงห์คือการท้าทายกษัตริย์ดาริอัส (ดู ดาเนียล 6) ความกล้าหาญแบบนั้นเป็นของประทานแห่งพระวิญญาณแก่ผู้ เกรงกลัวพระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่กล่าวคำสวดอ้อนวอน คำสวดอ้อนวอนของราชินีเอสเธอร์ได้ให้ความกล้าหาญแบบเดียวกันเพื่อจะเผชิญหน้ากับกษัตริย์อาหสุเอรัส สามีของเธอ โดยที่รู้ว่าเธอเสี่ยงชีวิตในการทำเช่นนั้น (ดู  เอสเธอร์ 4:8–16)

ความกล้าหาญไม่ได้เป็นเพียงคุณธรรมพื้นฐานอย่างหนึ่ง แต่ ซี. เอส. ลิวอิส ให้ข้อสังเกตว่า “ความกล้าหาญคือ …คุณธรรมทุกรูปแบบในยามที่ต้องพิสูจน์ตน…ปิลาตเปี่ยมด้วยความเมตตาจนกลายเป็นความเสี่ยง”1 กษัตริย์เฮโรดเสียพระทัยที่ออกคำสั่งให้ตัดศีรษะยอห์นผู้ถวายบัพติศมาเพราะเห็นแก่หน้า “แขก” (มัทธิว 14:9) กษัตริย์โนอาห์พร้อมที่จะปล่อยอบินาไดจนกระทั่งได้รับแรงกดดันจากปุโรหิตชั่วร้ายซึ่งทำให้เขาโอนเอน (ดู โมไซยาห์ 17:11–12) กษัตริย์ซาอูลไม่เชื่อฟังพระคำของพระเจ้าโดยทำแต่สงครามเพราะเขา “กลัวพวกพวกทหารและฟังเสียงของพวกเขา” (1 ซามูเอล 15:24) เพื่อเอาใจอิสราเอลที่เป็นกบฎตรงเชิงเขาซีนาย อาโรนหล่อโคทองคำโดยลืมไปว่าเขาหันหน้าไปทางใด (ดู อพยพ 32) เจ้าหน้าที่หลายคนในพันธสัญญาใหม่ “วางใจใน [พระเจ้า] แต่พวกเขาไม่ยอมรับพระองค์อย่างเปิดเผยเพราะกลัวพวกฟาริสี เขากลัวว่าจะถูกขับออกจากธรรมศาลา เพราะว่าพวกเขารักการชมของมนุษย์มากกว่าการชมของพระเจ้า” (ยอห์น 12:42–43) พระคัมภีร์เต็มไปด้วยตัวอย่างเช่นนั้น

ทีนี้ขอให้ฟังตัวอย่างบางเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจ

  • อับดับแรก มอรมอน: “ดูเถิด, พ่อพูดด้วยความอาจหาญ, โดยมีอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้า; และพ่อไม่กลัว สิ่งที่มนุษย์จะทำได้; เพราะความรักที่บริบูรณ์ย่อมขับความกลัวออกไปสิ้น.” (โมโรไน 8:16; เพิ่มตัวเอน)

  • นีไฟ: “ดังนั้น, เรื่องอันเป็นที่พอใจแก่โลกข้าพเจ้าไม่เขียน, แต่เขียนเรื่องอันเป็นที่พอพระทัยต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อผู้ที่มิได้เป็นของโลก.” (1 นีไฟ 6:5)

  • แม่ทัพโมโรไน: “ ดูเถิด, ข้าพเจ้าคือโมโรไน, แม่ทัพของท่าน. ข้าพเจ้าไม่ได้แสวงหาอำนาจ, แต่จะดึงมันลงมา. ข้าพเจ้าไม่ได้แสวงหาเกียรติยศของโลก, แต่เพื่อรัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า, และอิสรภาพและความผาสุกของประเทศข้าพเจ้า.” (แอลมา 60:36)

โมโรไนมีความกล้าหาญอย่างยิ่งในการจดจำว่าเขาหันหน้าไปทางใดจนมีผู้กล่าวถึงเขาว่า “หากคนทั้งปวงได้เป็นแล้ว, และได้เป็น, และจะเป็นอยู่ตลอดไป, เหมือนกับโมโรไน, ดูเถิด, พลังนั้นของนรกจะสั่นสะเทือนตลอดกาล; แท้จริงแล้ว, มารจะไม่มีวันมีอำนาจเหนือใจลูกหลานมนุษย์.” (แอลมา 48:17)

ศาสดาพยากรณ์ทุกยุคทุกสมัยตกอยู่ภายใต้การจู่โจมจากการชี้นิ้วเยาะเย้ย ทำไมหรือ ตามพระคัมภีร์ เป็นเพราะ “คนผิดรับความจริงได้ยาก, เพราะความจริงบาดพวกเขาถึงส่วนลึกที่สุด.” (1 นีไฟ 16:2) หรือ ดังที่ประธานฮาโรลด์ บี. ลี ให้ข้อสังเกตว่า “นกที่ถูกยิงจะกระพือปีก”2 ในความเป็นจริง ปฏิกริยาเยาะเย้ยคือความพยายามที่เกิดขึ้นเพราะความรู้สึกผิดเพื่อจะทำให้ตนรู้สึกดี เช่นเดียวกับคอริฮอร์ ซึ่งสุดท้ายก็ยอมรับว่า “ข้าพเจ้ารู้เสมอว่ามีพระผู้เป็นเจ้า.” (แอลมา 30:52) คอริฮอร์เชื่อมั่นในการหลอกลวงของเขามากจนเชื่อคำโกหกของตนเอง (ดู แอลมา 30:53)

คนเยาะเย้ยมักจะแย้งว่าศาสดาพยากรณ์ไม่ได้อยู่ในศตรวรรษที่ 21 หรือเป็นคนมีทิฐิ พวกเขาพยายามชักจูง แม้กระทั่งกดดันศาสนจักรให้ลดมาตรฐานของพระผู้เป็นเจ้าไปสู่ระดับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพวกเขา ในคำพูดของเอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กเวลลส์กล่าวว่า สิ่งนี้จะ “ทำให้เกิดความพอใจส่วนตนแทนที่จะแสวงหาการปรับปรุงตน”3 และการกลับใจ  การลดมาตรฐานของพระเจ้าไปสู่ระดับพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของสังคมคือ—การละทิ้งความเชื่อ สองศตวรรษหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเยือนศาสนจักรหลายแห่งท่ามกลางชาวนีไฟ พวกเขาเริ่ม “ลดระดับ” หลักคำสอน นี่เป็นการขอยืมคำพูดจากเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์4

ขณะที่ท่านฟังข้อความนี้จาก 4 นีไฟ มองหาสิ่งที่คล้ายกันในยุคสมัยของเรา “และเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือเมื่อสองร้อยสิบปีผ่านไปมีศาสนจักรหลายแห่งอยู่ในแผ่นดิน; แท้จริงแล้ว, มีหลายศาสนจักรซึ่งประกาศว่ารู้จักพระคริสต์, กระนั้นพวกเขาก็ยังได้ปฏิเสธพระกิตติคุณส่วนใหญ่ของพระองค์, ถึงขนาดที่พวกเขายอมรับความชั่วร้ายนานัปการ, และได้ปฏิบัติสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์แก่ผู้นั้นซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวถูกห้ามไว้สำหรับเขาเพราะความไม่มีค่าควร.” (4 นีไฟ 1:27)

เดจาวูในยุคสุดท้าย! สมาชิกบางคนไม่รู้ว่าพวกเขากำลังตกลงไปในบ่วงเดียวกันเมื่อพวกเขาวิ่งเต้นเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในท้องที่หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ “ประเพณีบรรพบุรุษของพวกเขา” (คพ. 93:39) ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของพระกิตติคุณ ยังคนมีคนอื่นๆ ที่หลอกตนเองหรือปฏิเสธตนเอง วิงวอนหรือเรียกร้องให้อธิการลดมาตรฐานกับใบรับรองพระวิหาร การลงนามรับรองสำหรับเข้าเรียน หรือใบสมัครเป็นผู้สอนศาสนา การเป็นอธิการภายใต้ความกดดันเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงชำระพระวิหารเพื่อปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหาร (ดู ยอห์น 2:15–16) อธิการในปัจจุบันได้รับเรียกให้ปกป้องมาตรฐานของพระวิหารอย่างองอาจ พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า “เราจะแสดงตนให้ประจักษ์แก่ผู้คนของเราในความเมตตา … หากผู้คนของเราจะรักษาบัญญัติของเรา, และไม่ทำให้นิเวศน์ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้แปดเปื้อน.” (คพ. 110:7–8)

พระผู้ช่วยให้รอด พระผู้ทรงเป็นแบบอย่างอันประเสริฐ ทรงหันพระพักตร์ไปทางพระบิดาเสมอ พระองค์ทรงรักและทรงรับใช้เพื่อนมนุษย์แต่ตรัสว่า “เราไม่ยอมรับเกียรติจากมนุษย์” (ยอห์น 5:41) พระองค์ทรงประสงค์ให้ผู้ที่ทรงสอนทำตามพระองค์ แต่พระองค์ไม่ทรงแสวงหาความนิยมชมชอบจากพวกเขา เมื่อพระองค์ทรงกระทำสิ่งที่เป็นจิตกุศลเช่นการรักษาผู้ป่วย ของประทานมักจะมาพร้อมกับคำขอร้อง “อย่าเล่าให้ใครฟัง” (มัทธิว 8:4; มาระโก 7:36; ลูกา 5:14; 8:56) ส่วนหนึ่งก็คือเพื่อหลีกเลี่ยงกิตติศัพท์ที่จะติดตามพระองค์ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงพยายามหลีกเลี่ยง (มัทธิว 4:24) พระองค์ทรงประณามพวกฟาริสีที่ทำความดีเพื่อให้คนเห็น (ดู มัทธิว 6:5)

พระผู้ช่วยให้รอด พระสัตภาวะผู้ดีพร้อมเพียงหนึ่งเดียวที่เคยมีชีวิตอยู่ ไม่ทรงเกรงกลัวสิ่งใด ในพระชนม์ชีพของพระองค์ พระองค์ทรงเผชิญกับผู้กล่าวหาจำนวนมากแต่ไม่ทรงยอมต่อนิ้วที่เยาะเย้ย พระองค์ทรงเป็นเพียงผู้เดียวที่ไม่เคยลืมแม้แต่ครั้งเดียวว่าพระองค์จะทรงหันพระพักตร์ไปทางใด “เราทำตามชอบพระทัย [พระบิดา] เสมอ” (ยอห์น 8:29เพิ่มตัวเอน) และ “เราไม่ได้มุ่งที่จะทำตามใจของเราเอง แต่ตามพระประสงค์ของผู้ทรงใช้เรามา” (ยอห์น 5:30)

ระหว่าง 3 นีไฟบทที่ 11 กับ 3 นีไฟบทที่ 28 พระผู้ช่วยให้รอดทรงเอ่ยพระนาม พระบิดา อย่างน้อย 163 ครั้ง ทำให้ชาวนีไฟเข้าใจอย่างชัดเจนว่าพระองค์ทรงอยู่ที่นั่นเพื่อเป็นตัวแทนพระบิดาของพระองค์ และจากยอห์นบทที่ 14 ถึง 17 พระผู้ช่วยให้รอดทรงอ้างถึงพระบิดาอย่างน้อย 50 ครั้ง พระองค์ทรงเป็นสานุศิษย์ที่ดีพร้อมของพระบิดาในทุกทางที่ทรงทำได้ พระองค์ทรงเป็นตัวแทนพระบิดาของพระองค์อย่างสมบูรณ์แบบจนกระทั่งการรู้จักพระผู้ช่วยให้รอดคือการได้รู้จักพระบิดาเช่นกัน การเห็นพระบุตรคือการเห็นพระบิดา (ดู ยอห์น 14:9) การได้ยินพระบุตรคือการได้ยินพระบิดา (ดู ยอห์น 5:36) พระองค์ไม่อาจแยกจากพระบิดาในทุกกรณี พระบิดากับพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียว (ดู ยอห์น 17:21–22) พระองค์ทรงทราบแน่นอนว่าพระองค์ทรงหันพระพักตร์ไปทางใด

ขอให้แบบอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจของพระองค์เสริมสร้างความเข้มแข็งให้เราไม่ตกหลุมพรางของคำเยินยอหรือความยโสโอหังจากผู้อื่นหรือจากตัวเราเอง ขอให้แบบอย่างดังกล่าวทำให้เรากล้าหาญ ไม่เกรงกลัวหรือยอมศิโรราบให้แก่ผู้ที่คุกคามเรา ขอให้สิ่งนี้สร้างแรงบันดาลใจให้เราออกไปทำความดีมากที่สุดโดยไม่ออกนามและไม่ “แสวงหาเกียรติจากมนุษย์” (คพ. 121:35) ขอให้แบบอย่างอันหาที่เปรียบมิได้ของพระองค์ช่วยให้เราระลึกไว้เสมอว่าอะไรคือ “พระบัญญัติข้อสำคัญอันดับแรก” (มัทธิว 22:38) เมื่อผู้อื่นเรียกร้องให้เราขัดขืนพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ขอให้เราระลึกอยู่เสมอว่าเราคือสานุศิษย์ของใคร และเราหันหน้าไปทางใด นี่คือคำสวดอ้อนวอนของข้าพเจ้าในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. C. S. Lewis, The Screwtape Letters, rev. ed. (1982), 137–138.

  2. Harold B. Lee, in Mine Errand from the Lord: Selections from the Sermons and Writings of Boyd K. Packer (2008), 356.

  3. Neal A. Maxwell, “Repentance,” Ensign, Nov. 1991, 32.

  4. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “การเรียกให้เป็นเหมือนพระคริสต์,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2014, 35.