2010–2019
รักผู้อื่นและอยู่ร่วมกับผู้ที่แตกต่าง
ตุลาคม 2014


รักผู้อื่นและอยู่ร่วมกับผู้ที่แตกต่าง

ในฐานะผู้ติดตามพระคริสต์ เราควรอยู่อย่างสงบสุขกับผู้อื่นที่ไม่มีค่านิยมเหมือนกับเราหรือไม่ยอมรับคำสอนที่สร้างค่านิยมเหล่านั้น

I.

ในช่วงวันเวลาสุดท้ายของการปฏิบัติศาสนกิจในชีวิตมรรตัยของพระเยซู พระองค์ประทานสิ่งที่พระองค์ทรงเรียกว่า “บัญญัติใหม่” แก่เหล่าสานุศิษย์ (ยอห์น 13:34) รับสั่งซ้ำถึงสามครั้ง พระบัญญัติข้อนั้นเรียบง่ายแต่ยาก “ให้พวกท่านรักกันและกัน เหมือนอย่างที่เรารักท่าน” (ยอห์น 15:12; ดู ข้อ 17 ด้วย) คำสอนให้รักกันและกันเป็นคำสอนหลักของการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด พระบัญญัติข้อใหญ่อันดับสองคือ “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 22:39) แม้พระเยซูทรงสอนว่า “จงรักศัตรูของท่าน” (มัทธิว 5:44) แต่พระบัญญัติที่ให้ รักผู้อื่นดังที่พระองค์ทรงรักผู้คนของพระองค์ เป็นการท้าทายที่พิเศษมากต่อสานุศิษย์ของพระองค์—และต่อเรา ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนเราเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า “โดยแท้แล้ว ความรักคือแก่นแท้ของพระกิตติคุณ และพระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างของเรา พระชนม์ชีพของพระองค์เป็นมรดกแห่งความรัก”1

เหตุใดจึงเป็นเรื่องยากที่จะมีความรักแบบพระคริสต์ต่อกันและกัน เป็นเรื่องยากเพราะเราต้องดำเนินชีวิตท่ามกลางผู้ที่ไม่ได้มีความเชื่อ ค่านิยม และความผูกมัดต่อพันธสัญญาเหมือนกับเรา ในคำสวดอ้อนวอนเพื่อสานุศิษย์ของพระองค์ก่อนถูกตรึงกางเขน พระเยซูทรงสวดอ้อนวอนให้ผู้ติดตามพระองค์ว่า “ข้าพระองค์มอบพระดำรัสของพระองค์ให้แก่พวกเขาแล้ว และโลกนี้เกลียดชังเขา เพราะเขาไม่ใช่ของโลก เหมือนอย่างที่ข้าพระองค์ไม่ใช่ของโลก” (ยอห์น 17:14) จากนั้นพระองค์ทรงวิงวอนพระบิดาว่า “ข้าพระองค์ไม่ได้ขอให้พระองค์เอาพวกเขาออกไปจากโลก แต่ขอให้ปกป้องเขาไว้ให้พ้นจากมารร้าย” (ข้อ 15)

เราต้องอาศัยอยู่ ใน โลกแต่ไม่เป็น ของ โลก เราต้องอาศัยอยู่ในโลกเพราะว่า ดังที่พระเยซูทรงสอนในอุปมา อาณาจักรของพระองค์ก็เป็น “เหมือนเชื้อ” ซึ่งมีหน้าที่คือทำให้ขนมปัง (โลก) ทั้งหมดฟู (ยก) ขึ้น (ดู ลูกา 13:21; มัทธิว 13:33; ดู 1 โครินธ์ 5:6–8 ด้วย) ผู้ติดตามพระองค์ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้หากพวกเขาคบหาสมาคมเฉพาะกับผู้ที่มีความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติเดียวกันเท่านั้น แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่าถ้าเรารักพระองค์ เราก็จะประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์ (ดู ยอห์น 14:15)

II.

พระกิตติคุณมีคำสอนมากมายเกี่ยวกับการรักษาพระบัญญัติขณะอยู่ร่วมกับผู้คนที่มีความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติแตกต่างกัน คำสอนเกี่ยวกับความขัดแย้งเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อพระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงพบว่าชาวนีไฟกำลังโต้เถียงกันเรื่องวิธีบัพติศมา พระองค์ทรงบอกวิธีอย่างชัดเจนว่าควรประกอบศาสนพิธีนี้อย่างไร จากนั้นพระองค์ทรงสอนหลักธรรมสำคัญนี้

“จะไม่มีการโต้เถียงในบรรดาพวกเจ้า, ดังที่เคยมีมาก่อน; ทั้งจะไม่มีการโต้เถียงในบรรดาพวกเจ้าเกี่ยวกับประเด็นของหลักคำสอนเรา, ดังที่เคยมีมาก่อน.

“เพราะตามจริงแล้ว, ตามจริงแล้วเรากล่าวแก่เจ้า, คนที่มีวิญญาณของความขัดแย้งย่อมไม่เป็นของเรา, แต่เป็นของมาร, ผู้เป็นบิดาแห่งความขัดแย้ง, และเขายั่วยุใจมนุษย์ให้ขัดแย้งด้วยความโกรธ, ต่อกัน.

“ดูเถิด, …นี่เป็นหลักคำสอนของเรา, ว่าเรื่องเช่นนั้นจะหมดไป” (3 นีไฟ 11:28–30; เพิ่มตัวเอน)

พระผู้ช่วยให้รอดไม่ได้ทรงจำกัดคำเตือนของพระองค์เรื่องความขัดแย้งต่อผู้ที่ไม่รักษาพระบัญญัติเรื่องบัพติศมาเท่านั้น พระองค์ทรงห้ามความขัดแย้งจากทุกคน แม้ผู้ที่รักษาพระบัญญัติก็ต้องไม่ยั่วยุใจมนุษย์ให้ขัดแย้งด้วยความโกรธ มารคือ “บิดาแห่งความขัดแย้ง” พระผู้ช่วยให้รอดคือเจ้าชายแห่งสันติ

ในทำนองเดียวกันพระคัมภีร์ไบเบิลสอนว่า “คนมีปัญญาทำให้ความโกรธเกรี้ยวสงบลง” (สุภาษิต 29:8) อัครสาวกในสมัยแรกเริ่มสอนว่าเราควร “มุ่งประพฤติในสิ่งซึ่งทำให้เกิดความสงบสุข” (โรม 14:19) และ “[พูด] ความจริงด้วยความรัก” (เอเฟซัส 4:15) “เพราะว่าความโกรธของมนุษย์ไม่ก่อให้เกิดความชอบธรรมของพระเจ้า” (ยากอบ 1:20) ในการเปิดเผยสมัยใหม่พระเจ้าทรงบัญชาว่าข่าวอันน่ายินดีของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูควรประกาศโดย “มนุษย์ทุกคนเตือนเพื่อนบ้านของเขา, ในความนุ่มนวลและในความอ่อนโยน” (ค.พ. 38:41) “ด้วยสุดความนอบน้อมถ่อมตน, …ไม่สบประมาทคนที่สบประมาท” (ค.พ. 19:30)

III.

แม้ว่าเราจะสุภาพเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่เราต้องไม่อะลุ้มอล่วยหรือผ่อนผันคำมั่นสัญญาของเราต่อความจริงที่เราเข้าใจ เราต้องไม่ละทิ้งมุมมองหรือค่านิยมของเรา พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และพันธสัญญาที่เราทำจะทำให้เรารับบทเป็นนักสู้ในการแข่งขันนิรันดร์ระหว่างความจริงกับความผิดพลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีพื้นที่ตรงกลางในการแข่งขันนั้น

พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงวิธีเมื่อปฏิปักษ์เผชิญหน้ากับพระองค์พร้อมหญิงคนหนึ่งซึ่ง “ถูกจับขณะกำลังล่วงประเวณีอยู่” (ยอห์น 8:4) เมื่ออับอายเพราะความหน้าซื่อใจคดของตนเอง พวกที่กล่าวหาก็ถอนตัวจากไปเหลือแต่พระเยซูกับหญิงนั้น พระองค์ทรงปฏิบัติต่อเธอด้วยความกรุณาโดยปฏิเสธที่จะประณามเธอในเวลานั้น แต่พระองค์ทรงกำชับเธออย่างหนักแน่นว่า “อย่าทำบาปอีก” (ยอห์น 8:11) ความการุณย์รักเป็นสิ่งที่ต้องการ แต่ผู้ติดตามพระคริสต์—เช่นเดียวกับพระอาจารย์—ต้องหนักแน่นในความจริงเช่นกัน

IV.

เช่นเดียวกับพระผู้ช่วยให้รอด บางครั้งผู้ติดตามพระองค์เผชิญกับพฤติกรรมที่เป็นบาป และทุกวันนี้เมื่อพวกเขาปกป้องความถูกผิดตามที่พวกเขาเข้าใจ บางครั้งเราเรียกพวกเขาว่า “คนดื้อรั้น” หรือ “พวกคลั่งศาสนา” ค่านิยมและธรรมเนียมปฏิบัติของโลกหลายๆ อย่างสร้างความท้าทายให้วิสุทธิชนยุคสุดท้าย สิ่งที่เห็นได้ชัดในทุกวันนี้คือกระแสผลักดันให้การแต่งงานเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายในหลายรัฐและเมืองของสหรัฐและแคนาดา และในอีกหลายประเทศทั่วโลก เรายังอยู่กับผู้ที่ไม่เชื่อในการแต่งงานเลยสักนิดด้วย บางคนไม่เชื่อในการมีลูก บางคนต่อต้านการควบคุมสื่อลามกหรือยาอันตราย อีกตัวอย่างหนึ่ง—เป็นที่คุ้นเคยกันดีต่อผู้เชื่อส่วนใหญ่—คือความท้าทายในการอยู่กับคู่ครองหรือสมาชิกครอบครัวที่ไม่มีความเชื่อเดียวกัน หรือคบหาสมาคมกับเพื่อนร่วมงานที่ไม่มีความเชื่อเดียวกับเรา

ในสถานที่ซึ่งได้รับการอุทิศ เช่นพระวิหาร บ้านแห่งการนมัสการ และบ้านของเราเอง เราควรสอนความจริงและพระบัญญัติอย่างชัดแจ้งและครอบคลุมดังที่เราเข้าใจสิ่งนั้นจากแผนแห่งความรอดซึ่งเปิดเผยในพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู สิทธิ์ของเราในการทำเช่นนั้นได้รับความคุ้มครองโดยการรับรองในรัฐธรรมนูญถึงเสรีภาพทางความคิดและทางศาสนา เช่นเดียวกับสิทธิเฉพาะส่วนตัวซึ่งต้องเคารพแม้ในประเทศที่ไม่มีการรับรองรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ

ในที่สาธารณะ สิ่งที่คนมีศาสนาพูดและทำจะเกี่ยวข้องกับวิจารณญาณอื่นๆ เสรีภาพในการนับถือศาสนาใช้ได้กับการกระทำที่เป็นสาธารณะส่วนใหญ่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมซึ่งจำเป็นต่อการปรับให้เข้ากับความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติของผู้อื่นด้วย กฎหมายอาจห้ามพฤติกรรมที่โดยทั่วไปถือว่าผิดหรือยอมรับไม่ได้ เช่นพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์ทางเพศ ความรุนแรง หรือพฤติกรรมก่อการร้ายอื่นๆ แม้ว่าจะกระทำโดยพวกหัวรุนแรงในนามของศาสนา พฤติกรรมที่ร้ายแรงน้อยกว่า แม้ผู้เชื่อบางคนจะยอมรับไม่ได้ แต่ก็ต้องอดทนต่อไปหากสิ่งนั้นชอบด้วยกฎหมายโดยสิ่งที่ศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนเรียกว่า “เสียงของผู้คน” (โมไซยาห์ 29:26)

ในเรื่องคำปราศรัยในที่สาธารณะ เราทุกคนควรทำตามคำสอนพระกิตติคุณที่ให้รักเพื่อนบ้านและหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ผู้ติดตามพระคริสต์ควรเป็นแบบอย่างของการเป็นพลเมืองดี เราพึงรักทุกคน เป็นผู้ฟังที่ดี และแสดงความห่วงใยต่อความเชื่ออันจริงใจของพวกเขา แม้ว่าเราไม่เห็นด้วย เราก็ไม่ควรหยาบคาย จุดยืนและการสื่อสารของเราในหัวข้อซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันไม่ควรก่อให้เกิดความขัดแย้ง เราควรฉลาดเมื่อกำลังอธิบายและปฏิบัติตามจุดยืนของเรา และเมื่อเรามีอิทธิพลต่อผู้อื่น ในการทำเช่นนั้น เราขอให้ผู้อื่นไม่ขุ่นเคืองต่อความเชื่อทางศาสนาอันจริงใจของเราและต่อการใช้เสรีภาพทางศาสนาของเรา เรากระตุ้นให้พวกเราทุกคนปฏิบัติตามกฎทองคำของพระผู้ช่วยให้รอด “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่พวกท่านต้องการให้พวกเขาปฏิบัติต่อท่าน” (มัทธิว 7:12)

เมื่อความคิดเห็นของเราไม่เหนือกว่า เราควรยอมรับผลที่ไม่น่าพอใจด้วยความสุภาพ และปฏิบัติตัวเป็นพลเมืองดีต่อปฏิปักษ์ของเรา ในเหตุการณ์ใดก็ตาม เราควรเป็นคนมีไมตรีจิตต่อทุกคน ปฏิเสธการข่มเหงทุกรูปแบบ รวมถึงการข่มเหงทางสีผิว เชื้อชาติ ความเชื่อทางศาสนาหรือไม่มีศาสนา ตลอดจนความแตกต่างในรสนิยมทางเพศ

V.

ข้าพเจ้าได้พูดถึงหลักธรรมทั่วไป ต่อจากนี้ข้าพเจ้าจะพูดถึงการประยุต์ใช้หลักธรรมเหล่านั้นในหลากหลายสภาวการณ์ที่คุ้นเคย ซึ่งควรทำตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างซื่อสัตย์มากขึ้น

ข้าพเจ้าขอเริ่มด้วยสิ่งที่ลูกเล็กๆ ของเราเรียนรู้ขณะที่เล่น บ่อยครั้งผู้ที่ไม่ใช่ชาวมอรมอนที่นี่ในยูทาห์ได้รับความขุ่นเคืองและหมางเมินจากสมาชิกของเราบางคนที่ไม่อนุญาตให้ลูกของเขาเป็นเพื่อนกับเด็กจากศาสนาอื่น แน่นอนว่าเราสอนลูกของเราถึงค่านิยมและมาตรฐานความประพฤติได้โดยไม่ต้องให้พวกเขาออกห่างหรือแสดงความไม่เคารพต่อใครก็ตามที่แตกต่าง

ครูหลายคนในศาสนจักรและในโรงเรียนเสียใจกับวิธีที่เด็กวัยรุ่นบางคนปฏิบัติต่อกัน รวมถึงเยาวชนแอลดีเอส แน่นอนว่าพระบัญญัติที่ให้รักกันและกันนั้นรวมถึงความรักและเคารพข้ามศาสนา ตลอดจนเชื้อชาติ วัฒนธรรม และระดับเศรษฐกิจด้วย เราท้าทายให้เยาวชนทุกคนหลีกเลี่ยงการข่มเหง การดูหมิ่น หรือการใช้คำพูดและการกระทำที่จงใจก่อความเจ็บปวดให้ผู้อื่น ทั้งหมดนี้ละเมิดพระบัญชาของพระผู้ช่วยให้รอดที่ให้รักกันและกัน

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่าความขัดแย้งเป็นเครื่องมือของมาร แน่นอนว่าคำสอนนั้นขัดกับภาษาหรือการปฏิบัติของการเมืองในปัจจุบัน การอยู่กับความแตกต่างทางนโยบายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเมือง แต่ความแตกต่างทางนโยบายไม่จำเป็นต้องมีส่วนในการโจมตีเรื่องส่วนตัวซึ่งเป็นพิษภัยต่อกระบวนการของฝ่ายปกครองและลงทัณฑ์ผู้มีส่วนร่วม เราทุกคนควรกำจัดการสื่อสารที่แสดงความเกลียดชังและปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีต่อความเห็นที่แตกต่าง

สภาพแวดล้อมที่สำคัญที่สุดในการขจัดความขัดแย้งและฝึกแสดงความเคารพในความแตกต่างคือในบ้านและความสัมพันธ์ในครอบครัวของเรา ความแตกต่างหลีกเลี่ยงไม่ได้—น้อยบ้างมากบ้าง ในความแตกต่างมาก สมมุติว่าสมาชิกครอบครัวคนหนึ่งมีความสัมพันธ์แบบอยู่กินด้วยกันก่อนแต่งงาน สิ่งนั้นทำให้คุณค่าสำคัญสองอย่างขัดแย้งกัน—คือความรักที่เรามีให้สมาชิกครอบครัวกับคำมั่นสัญญาที่เรามีต่อพระบัญญัติ โดยการทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด เราแสดงความการุณย์รักได้และยังคงหนักแน่นในความจริงโดยการละทิ้งการกระทำที่ส่งเสริมหรือดูเหมือนยอมรับสิ่งที่เรารู้ว่าผิด

ข้าพเจ้าขอทิ้งท้ายด้วยอีกตัวอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่การประชุมใหญ่สเตคในมิดเวสต์ประมาณ 10 ปีมาแล้ว ข้าพเจ้าพบซิสเตอร์คนหนึ่งซึ่งบอกข้าพเจ้าว่าสามีที่ไม่ใช่สมาชิกของเธอมาโบสถ์กับเธอเป็นเวลา 12 ปีแล้วแต่ไม่เคยเข้าร่วมศาสนจักร เธอถามว่าเธอควรทำอย่างไร ข้าพเจ้าแนะนำให้เธอทำสิ่งที่ถูกต้องทุกอย่างต่อไปและให้อดทนและมีเมตตาต่อสามีของเธอ

ประมาณหนึ่งเดือนต่อมาเธอเขียนมาหาข้าพเจ้าว่า “ดิฉันคิดว่า 12 ปีนั้นเป็นการแสดงความอดทนที่ดี แต่ดิฉันไม่เคยรู้ว่าดิฉันมีเมตตาหรือเปล่า ดังนั้นดิฉันจึงพยายามอย่างมากในเดือนที่ผ่านมา และเขาก็รับบัพติศมาแล้ว”

ความเมตตาเป็นสิ่งที่มีพลัง โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมของครอบครัว เธอเขียนต่อว่า “ดิฉันยิ่งต้องพยายามมีเมตตามากขึ้นอีกเพราะเราวางแผนจะไปแต่งงานในพระวิหารปีนี้!”

หกปีต่อมาเธอเขียนมาหาข้าพเจ้าอีกว่า “สามีดิฉัน [เพิ่ง] ได้รับเรียกและแต่งตั้งเป็นอธิการ [ของวอร์ดเรา]” 2

VI.

ในความสัมพันธ์และสภาวการณ์ทั้งหลายในชีวิต เราต้องอยู่กับผู้ที่แตกต่าง สำคัญมากที่เราไม่ควรปฏิเสธหรือละทิ้งความแตกต่างในฝั่งของเรา แต่ในฐานะผู้ติดตามพระคริสต์ เราควรอยู่อย่างสงบสุขกับผู้อื่นที่ไม่มีค่านิยมเหมือนกับเราหรือไม่ยอมรับคำสอนที่สร้างค่านิยมเหล่านั้น แผนแห่งความรอดของพระบิดา ซึ่งเราทราบโดยการเปิดเผยผ่านศาสดาพยากรณ์ ทำให้เราอยู่ในสภาพความเป็นมรรตัยที่ต้องรักษาพระบัญญัติของพระองค์ ซึ่งรวมถึงการรักเพื่อนบ้านผู้มีวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างดังที่พระองค์ทรงรักเรา ดังที่ศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนสอนไว้ เราต้องรุดหน้าต่อไป โดยมี “ความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อมนุษย์ทั้งปวง” (2 นีไฟ 31:20)

แม้จะยากลำบากอยู่แล้วในการดำเนินชีวิตท่ามกลางความวุ่นวาย แต่พระบัญชาของพระผู้ช่วยให้รอดที่ให้รักกันและกันดังที่พระองค์ทรงรักเรานั้นคงเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนว่าเราจะเข้าใจสิ่งนี้และพยายามดำเนินชีวิตตามนั้นในความสัมพันธ์และการกระทำทุกอย่างของเรา ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. โธมัส เอส. มอนสัน, “ความรัก—แก่นแท้ของพระกิตติคุณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 91.

  2. จดหมายถึงดัลลิน เอช. โอ๊คส์, 23 ม.ค. 2006 และ 30 ต.ค. 2012.