ภาค ๑๐๒
รายงานการประชุมการวางระเบียบสภาสูงชุดแรกของศาสนจักร, ที่เคิร์ทแลนด์, รัฐโอไฮโอ, วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๓๔ (History of the Church, 2:28–31). รายงานการประชุมฉบับดั้งเดิมบันทึกโดยเอ็ลเดอร์ออลิเวอร์ คาวเดอรี กับเอ็ลเดอร์ออร์สัน ไฮด์. สองวันต่อมา, รายงานการประชุมได้รับการแก้ไขโดยท่านศาสดาพยากรณ์, อ่านให้สภาสูงฟัง, และยอมรับโดยสภาสูง. ในปี ค.ศ. ๑๘๓๕ ท่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ เติมข้อ ๓๐ ถึง ๓๒, ซึ่งเกี่ยวกับสภาอัครสาวกสิบสอง, ขณะท่านเตรียมภาคนี้เพื่อจัดพิมพ์ในหลักคำสอนและพันธสัญญา.
๑–๘, กำหนดสภาสูงเพื่อหาข้อยุติสำหรับปัญหาสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในศาสนจักร; ๙–๑๘, มีระเบียบปฏิบัติให้ไว้สำหรับการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ; ๑๙–๒๓, ประธานสภาเป็นผู้ตัดสิน; ๒๔–๓๔, อธิบายถึงระเบียบปฏิบัติในการอุทธรณ์.
๑ วันนี้การประชุมสภาใหญ่ของมหาปุโรหิตยี่สิบสี่คนชุมนุมกันที่บ้านของโจเซฟ สมิธ, จูเนียร์, โดยการเปิดเผย, และเริ่มวางระเบียบสภาสูงของศาสนจักรของพระคริสต์, ซึ่งพึงประกอบด้วยมหาปุโรหิตสิบสองคน, และประธานหนึ่งหรือสามคนแล้วแต่ความจำเป็นของเรื่อง.
๒ มีการกำหนดสภาสูงโดยการเปิดเผย เพื่อจุดมุ่งหมายในการหาข้อยุติปัญหาสำคัญ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในศาสนจักร, ซึ่งศาสนจักรหรือสภาของอธิการหาข้อยุติให้เป็นที่พอใจของฝ่ายต่าง ๆ ไม่ได้.
๓ เสียงของสภารับรองโจเซฟ สมิธ, จูเนียร์, ซิดนีย์ ริกดัน และเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์เป็นประธาน; และเสียงเป็นเอกฉันท์ของสภาเลือก โจเซฟ สมิธ, ซีเนียร์, จอห์น สมิธ, โจเซฟ โค, จอห์น จอห์นสัน, มาร์ติน แฮร์ริส, จอห์น เอส. คาร์เตอร์, เจเร็ด คาร์เตอร์, ออลิเวอร์ คาวเดอรี, แซมิวเอล เอซ. สมิธ, ออร์สัน ไฮด์, ซิลเวสเตอร์ สมิธ, และลูค จอห์นสัน, มหาปุโรหิต, เป็นสภาถาวรให้แก่ศาสนจักร.
๔ สภาจึงถามสมาชิกสภาที่กล่าวนามข้างต้นนี้ว่าพวกเขาจะรับการมอบหมายของตนหรือไม่, และพวกเขาจะปฏิบัติหน้าที่นั้นตามกฎแห่งสวรรค์หรือไม่, ซึ่งคนเหล่านั้นทั้งปวงตอบว่าพวกเขารับการมอบหมายของตน, และจะทำหน้าที่ของตนตามพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า ที่ประทานแก่พวกเขา.
๕ จำนวนคนที่ประกอบเป็นสภา, ผู้ออกเสียงในนามและเพื่อศาสนจักรในการกำหนดสมาชิกสภาที่กล่าวนามข้างต้นมีสี่สิบสามคน, ดังต่อไปนี้ : มหาปุโรหิตเก้าคน, เอ็ลเดอร์สิบเจ็ดคน, ปุโรหิตสี่คน, และสมาชิกสิบสามคน.
๖ ออกเสียง : ว่าสภาสูงจะมีอำนาจกระทำไม่ได้ ถ้าไม่มีสมาชิกสภาที่กล่าวนามข้างต้นเจ็ดคน, หรือผู้สืบตำแหน่งของพวกเขาที่กำหนดไว้อย่างถูกต้องอยู่ที่นั่น.
๗ คนเจ็ดคนนี้จะมีอำนาจกำหนดมหาปุโรหิตคนอื่น ๆ, ผู้ที่พวกเขาจะพิจารณาว่ามีค่าควร และสามารถกระทำแทนสมาชิกสภาที่ไม่อยู่ที่นั่น.
๘ ออกเสียง : ว่าเมื่อใดก็ตามที่มีตำแหน่งว่างจะเกิดขึ้นโดยการถึงแก่กรรม, การปลดจากหน้าที่เพราะการล่วงละเมิด, หรือการย้ายจากเขตปกครองของศาสนจักรนี้, ของสมาชิกสภาคนใดที่กล่าวนามข้างต้นแล้ว, ตำแหน่งว่างนั้นจะบรรจุโดยการเสนอชื่อประธานหรือเหล่าประธาน, และอนุมัติโดยเสียงของการประชุมสภาใหญ่ของมหาปุโรหิต, ที่ประชุมกันเพื่อจุดมุ่งหมายนั้น, เพื่อกระทำในนามของศาสนจักร.
๙ ประธานศาสนจักร, ผู้เป็นประธานสภาด้วย, กำหนดไว้โดยการเปิดเผย, และรับรองในการบริหารงานของท่านโดยเสียงของศาสนจักร.
๑๐ และเป็นไปตามศักดิ์ศรีของหน้าที่ของท่านว่าท่านจะควบคุมสภาของศาสนจักร; และเป็นเอกสิทธิ์ของท่านที่จะมีประธานอื่นสองคนช่วยเหลือ, ที่กำหนดขึ้นในแบบเดียวกับที่ตัวท่านเองได้รับการกำหนด.
๑๑ และในกรณีที่ผู้ได้รับการกำหนดให้ช่วยท่านไม่อยู่หนึ่งคนหรือทั้งสองคน, ท่านมีอำนาจควบคุมสภาโดยไม่มีผู้ช่วย; และในกรณีที่ตัวท่านเองไม่อยู่, ประธานคนอื่นมีอำนาจเป็นประธานแทนท่าน, ทั้งสองคนหรือคนใดคนหนึ่งในสองคนนั้น.
๑๒ เมื่อใดก็ตามที่วางระเบียบสภาสูงของศาสนจักรของพระคริสต์อย่างถูกต้อง, ตามแบบฉบับที่กล่าวมาก่อนนี้, จะเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาสิบสองคนที่จะจับสลากเลขหมาย, และโดยการนี้จะรู้ว่าผู้ใดในสิบสองคนจะพูดเป็นคนแรก, โดยเริ่มจากหมายเลขหนึ่งและต่อไปตามลำดับจนถึงหมายเลขสิบสอง.
๑๓ เมื่อใดก็ตามที่สภานี้ประชุมเพื่อดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง, สมาชิกสภาสิบสองคนจะพิจารณาว่าเรื่องยากหรือไม่; หากไม่ยาก, สมาชิกสภาสองคนเท่านั้นจะพูดเรื่องนี้, ตามแบบที่เขียนไว้ข้างต้น.
๑๔ แต่หากคิดว่ายาก, จะกำหนดไว้สี่คน; และหากยากมากกว่านั้นก็หกคน; แต่ไม่มีเรื่องใดจะกำหนดให้พูดเกินหกคน.
๑๕ จำเลย, ในทุกเรื่อง, มีสิทธิในครึ่งหนึ่งของสภา, เพื่อป้องกันการหมิ่นประมาทหรือความอยุติธรรม.
๑๖ และสมาชิกสภาที่กำหนดให้พูดต่อหน้าสภาพึงเสนอเรื่อง, หลังจากตรวจหลักฐานแล้ว, ในรูปของความจริงต่อหน้าสภา; และทุกคนพึงพูดตามความเที่ยงธรรมและความยุติธรรม.
๑๗ สมาชิกสภาเหล่านั้นที่จับสลากได้เลขคู่, นั่นคือ ๒, ๔, ๖, ๘, ๑๐ และ ๑๒, เป็นบุคคลที่พึงยืนในนามของจำเลย, และป้องกันการหมิ่นประมาทและความอยุติธรรม.
๑๘ ในทุกเรื่องโจทก์และจำเลยมีเอกสิทธิ์พูดเพื่อตนเองต่อหน้าสภา, หลังจากพิจารณาหลักฐานและสมาชิกสภาที่กำหนดให้พูดเรื่องนั้นได้ออกความเห็นของพวกเขาแล้ว.
๑๙ หลังจากพิจารณาหลักฐาน, สมาชิกสภา, โจทก์และจำเลยพูดแล้ว, ประธานพึงให้การชี้ขาดตามความเข้าใจซึ่งเขาจะมีเกี่ยวกับเรื่องนั้น, และเสนอขอต่อสมาชิกสภาสิบสองคนให้อนุมัติการชี้ขาดนั้นโดยการออกเสียงของพวกเขา.
๒๐ แต่หากสมาชิกสภาที่เหลืออยู่, ผู้ที่ยังไม่พูด, หรือคนหนึ่งคนใดในพวกเขา, หลังจากพิจารณาหลักฐานและคำวิงวอนอย่างไม่มีอคติ, พบความผิดพลาดในการชี้ขาดของประธาน, พวกเขาจะแสดงให้ประจักษ์, และเรื่องนั้นจะมีการพิจารณาใหม่.
๒๑ และหากว่า, หลังจากการพิจารณาใหม่อย่างละเอียด, มีความกระจ่างใด ๆ เพิ่มเติมให้ประจักษ์ในเรื่องนั้น, ก็จะเปลี่ยนการชี้ขาดตามนั้น.
๒๒ แต่ในกรณีที่ไม่มีการให้ความกระจ่างเพิ่มเติม, พึงยืนอยู่ที่การชี้ขาดครั้งแรก, โดยเสียงข้างมากของสภามีอำนาจตัดสินอย่างเดียวกัน.
๒๓ ในกรณีของอุปสรรคอันเกี่ยวกับหลักคำสอนหรือหลักธรรม, หากไม่มีเขียนไว้พอที่จะทำให้เรื่องกระจ่างต่อความคิดของสภาแล้ว, ประธานจะทูลถามและรับพระดำริของพระเจ้าโดยการเปิดเผย.
๒๔ มหาปุโรหิต, เมื่ออยู่ที่อื่น, มีอำนาจที่จะเรียกและจัดตั้งสภาตามวิธีที่กล่าวมาก่อนนี้, เพื่อจัดการข้ออุปสรรคต่าง ๆ, เมื่อคู่กรณีหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในพวกเขาจะขอมา.
๒๕ และสภามหาปุโรหิตดังกล่าวจะมีอำนาจกำหนดคนหนึ่งในจำนวนพวกเขาเองให้ควบคุมสภาเช่นนั้นเฉพาะเวลานี้.
๒๖ จะเป็นหน้าที่ของสภาดังกล่าวที่จะส่งสำเนาการดำเนินงานของพวกเขาหนึ่งฉบับ, โดยทันที, พร้อมด้วยรายการหลักฐานอันครบถ้วนซึ่งมาพร้อมกับการชี้ขาดของพวกเขา, ถึงสภาสูงจากที่ทำการฝ่ายประธานสูงสุดของศาสนจักร.
๒๗ หากคู่กรณีหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจการชี้ขาดของสภาดังกล่าวนั้น, พวกเขาจะอุทธรณ์ต่อสภาสูงจากที่ทำการฝ่ายประธานสูงสุดของศาสนจักร, และมีการพิจารณาใหม่, ซึ่งเรื่องนี้พึงดำเนินการที่นั่น, ตามแบบฉบับเดิมที่เขียนไว้, ราวกับไม่มีการชี้ขาดเช่นนั้นมาเลย.
๒๘ สภามหาปุโรหิตนี้ในที่อื่นพึงเรียกมาในกรณีที่เป็นเรื่องยากที่สุดของศาสนจักรเท่านั้น; และเรื่องธรรมดาหรือปรกติไม่พึงเป็นเหตุเพียงพอที่จะเรียกสภาเช่นนั้น.
๒๙ มหาปุโรหิตที่เดินทางไปที่อื่นหรือประจำอยู่ที่อื่นมีอำนาจจะกล่าวว่าจำเป็นที่จะเรียกสภาเช่นนั้นหรือไม่.
๓๐ มีข้อแตกต่างระหว่างสภาสูงหรือมหาปุโรหิตที่เดินทางไปที่อื่น, และสภาสูงสัญจรซึ่งประกอบด้วยอัครสาวกสิบสอง, ในการชี้ขาดของพวกเขา.
๓๑ จากการชี้ขาดของพวกแรกจะมีการอุทธรณ์ได้; แต่จากการชี้ขาดของพวกหลังมีไม่ได้.
๓๒ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของศาสนจักรเท่านั้นจะเรียกพวกหลังมาสอบถามในเรื่องการล่วงละเมิด.
๓๓ ลงมติ : ว่าประธานหรือประธานทั้งหลายจากที่ทำการฝ่ายประธานสูงสุดของศาสนจักรจะมีอำนาจตัดสินว่าเรื่องเช่นนั้นเรื่องใด, ดังที่อุทธรณ์ไว้, มีสิทธิ์โดยเที่ยงธรรมต่อการพิจารณาใหม่หรือไม่, หลังจากตรวจการอุทธรณ์และหลักฐานและข้อแถลงความที่แนบมาพร้อมกัน.
๓๔ จากนั้นสมาชิกสภาสิบสองคนจึงเริ่มจับสลากหรือลงคะแนน, เพื่อรู้ว่าใครจะพูดก่อน, และต่อไปนี้เป็นผลที่ได้รับ, กล่าวคือ : ๑, ออลิเวอร์ คาวเดอรี; ๒, โจเซฟ โค; ๓, แซมิวเอล เอช. สมิธ; ๔, ลูค จอห์นสัน; ๕, จอห์น เอส. คาร์เตอร์; ๖, ซิลเวสเตอร์ สมิธ; ๗, จอห์น จอห์นสัน; ๘, ออร์สัน ไฮด์; ๙, เจเร็ด คาร์เตอร์; ๑๐, โจเซฟ สมิธ, ซีเนียร์; ๑๑, จอห์น สมิธ; ๑๒, มาร์ติน แฮร์ริส. หลังจากการสวดอ้อนวอนแล้วจึงปิดการประชุม.
ออลิเวอร์ คาวเดอรี,
ออร์สัน ไฮด์,
พนักงาน.